เมื่อวันที่ 6-9 มิถุนายน 2024 ที่ผ่านมา สหภาพยุโรป (European Union หรือ EU) ได้จัดการเลือกตั้งสภาฯ ครั้งล่าสุด โดยมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 373 ล้านคน จากประเทศสมาชิกของ EU ทั้งหมด 27 ประเทศ สิ่งที่น่าสนใจคือปรากฎการณ์ที่พรรคอุดมการณ์ฝ่ายขวาได้ที่นั่งสมาชิกสภาฯ (Member of the European Parliament หรือ MEP) เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน
ผลการเลือกตั้งเป็นอย่างไร?
ในภาพรวม การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาฯ EU ว่ากำลังเอียงไปทางขวา โดยพรรคที่ได้ที่นั่งสูงที่สุดคือพรรคที่มีอุดมการณ์ ‘กลางขวา’ พร้อมทั้งพรรคฝ่าย ‘ขวาจัด’ ก็ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ในทางตรงกันข้าม พรรคฝ่ายซ้ายที่มักสนับสนุนนโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมกลับได้ที่นั่งลดลง
ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคที่ได้คะแนนสูงที่สุดยังคงเป็นพรรคประชาชนยุโรป (European People’s Party หรือ EPP) ซึ่งเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ ‘ขวากลาง’ ที่ได้ 189 ที่นั่ง ส่วนอันดับสองคือ กลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าแห่งสังคมนิยมและประชาธิปไตย (Progressive Alliance of Socialists and Democrats หรือ S&D) ซึ่งเป็นพรรค ‘กลางซ้าย’ ที่ได้ 135 ที่นั่ง
แล้วคะแนนเลือกตั้งเลื่อนไปทางขวาอย่างไร?
แม้พรรคที่มีคะแนนนำทั้งสองพรรค จะเป็นพรรคที่ยังคงมีอุดมการณ์อยู่ตรงกลาง แต่ความน่าสนใจของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือความนิยมของพรรค ‘ขวาจัด’ ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
โดยสองพรรคที่เรียกได้ว่ามีอุดมการณ์ ‘ขวา’ อย่าชัดเจนคือ กลุ่มอนุรักษ์นิยมและนักปฏิรูปแห่งยุโรป (European Conservatives and Reformists Group หรือ ECR) และพรรคอัตลักษณ์และประชาธิปไตย (Identity and Democracy Party หรือ ID) ทั้งสองพรรคนี้ได้ที่นั่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ไปถึง 131 ที่นั่ง ซึ่งนับได้ว่าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ประเทศที่น่าจับตามองคือฝรั่งเศสและออสเตรีย ที่พรรค ID ชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง
พรรคฝ่ายซ้ายหายไปไหนกัน?
ในทางกลับกัน คะแนนพรรคฝ่ายซ้ายที่สนับสนุนสิ่งแวดล้อมลดลงอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือ พรรคกรีน (Greens) ที่ได้ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งนี้เพียง 53 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการสูญเสียที่นั่งมากถึง 20 ที่นั่งจากการเลือกตั้งครั้งก่อน
แล้วทำไมยุโรปถึงกำลังเอียงไปทางขวา?
แน่นอนว่าปรากฎการณ์ครั้งนี้ สะท้อนความนิยมและความไว้วางใจต่อพรรคที่มีอุดมการณ์เอียงขวาในหลายๆ ประเทศทั่วยุโรป ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพแวดล้อมทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา มีผลกระทบต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่น่าสังเกตคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมองว่าพรรคฝ่ายขวาอาจขับเคลื่อน EU ได้ดีว่าในหลายๆ เรื่อง
หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือวิกฤตผู้อพยพในยุโรป โดยถ้าพิจารณาจากคะแนนเสียงในสโลวีเนีย ซึ่งพรรคประชาธิปไตยสโลวีเนีย (Slovenian Democratic Party หรือ SDS) ที่เป็นพรรคฝ่ายขวา ได้คะแนนสูงสุดในประเทศ คือ 30.8% ซึ่งผู้นำพรรค SDS หรือ ยาแน็ส ยานชา (Janez Janša) เป็นผู้ที่มีจุดยืนอย่างชัดเจนในการต่อต้านผู้โยกย้ายถิ่นฐานในยุโรป
อีกทั้ง ล่าสุด (9 มิถุนายน 2024) อเล็กซานเดอร์ เดอ ครู (Alexander De Croo) นายกฯ ของเบลเยียม ได้ประกาศลาออกหลังจากทราบผลการเลือกตั้ง เพราะพรรคเสรีนิยม (Open VLD) ของเขาพ่ายแพ้การเลือกตั้งครั้งนี้ ซึ่งพรรคฝ่ายขวา (New Flemish Alliance หรือ N-VA) ที่สนับสนุนการต่อต้านผู้อพยพ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนถึง 22%
อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่มองข้ามไม่ได้คือ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2024 เอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ประธานาธิบดีของฝรั่งเศส ได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร ทันทีที่ผลการเลือกตั้งถูกเผยแพร่ โดยพรรคชุนนุมแห่งชาติ (National Rally หรือ RN) ที่นำโดย มารีน เลอ แปง (Marine Le Pen) กวาดคะแนนในฝรั่งเศสถึง 31.5% นำหน้าพรรคเรอแนซ็องส์ (Renaissance Party) ของมาครง ที่ได้คะแนนเพียง 15.2% โดยจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาฯ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ขึ้น ในวันที่ 30 มิถุนายน และ 7 กรกฎาคม ปีนี้
“เราพร้อมแล้วที่จะพลิกประเทศ พร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของฝรั่งเศส และพร้อมทำให้การอพยพถึงจุดจบ” คือคำพูดของ เลอ แปง ที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์การประกาศยุบสภาฯ ในฝรั่งเศส
อนาคตของยุโรปจะเป็นอย่างไร?
ท่ามกลางภาวะความไม่แน่นอนของสถานการณ์ต่างๆ ในโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน หรือปัญหาภาวะโลกร้อน ที่สภาฯ EU จะต้องรับมือ
แน่นอนว่าต่อจากนี้พรรคที่มีอุดมการณ์ฝ่ายขวาจะมีอิทธิพลในการกำหนดนโยบายในสภาฯ มากขึ้น และการตัดสินใจนโยบายต่างๆ จะกำหนดว่าในอีก 5 ปี ต่อจากนี้ไป สถานการณ์ต่างๆ ในทวีปยุโรป จะมีทิศทางอย่างไร
อ้างอิงจาก