ถือเป็นอีกหนึ่งการค้นพบครั้งสำคัญ เมื่อปลาชนิดหนึ่งในแม่น้ำโขงหายไปกว่า 20 ปี แต่แล้วก็มีคนค้บพบมันอีกครั้ง พร้อมกับความกังวลเรื่องสภาพแวดล้อมแม่น้ำโขงที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งสภาพอากาศ และการกระทำข้องมนุษย์
ในปี 2020 มีรายงานเกี่ยวกับปลาขนาดใหญ่ ลักษณะลึกลับตัวหนึ่ง ทั้งปากรูปร่างประหลาด มีปุ่มยื่นออกมาที่ขากรรไกร ถูกจับได้ในกัมพูชา ทำให้นักวิจัยคิดว่ามันน่าจะเป็นปลาฉายา ‘ผีแม่น้ำโขง’ ปลาหายากซึ่งไม่มีใครพบเห็นมาตั้งแต่ปี 2005 และคิดว่าอาจสูญพันธุ์ไปแล้ว
แต่แล้ว เจ้าปลาตัวยักษ์ที่โตได้มากที่สุดถึงน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ก็ถูกขายออกไปก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะมีโอกาสได้ไปตรวจสอบใกล้ๆ
แต่ใน 3 ปีต่อมา พวกเขาก็พบสิ่งมีค่านี้ใหม่อีกครั้ง เมื่อชาวประมงกัมพูชาจับปลาได้ 2 ตัวในแม่น้ำโขง น้ำหนักระหว่าง 5-7 กิโลกรัม และยาว 2 ถึง 3 ฟุต โดยนักวิจัยได้เข้าซื้อและตรวจสอบปลาด้วยตนเอง
“แม้ว่าชาวประมงจะไม่เคยเห็นปลาชนิดนี้มาก่อน แต่พวกเขาก็รู้ว่ามีบางอย่างที่น่าทึ่งและไม่ธรรมดา พวกเขารู้ว่าการติดต่อมาหาเรานั้นคุ้มค่า” กล่าวโดย เซบ โฮแกน (Zeb Hogan) นักชีววิทยาวิจัยจากมหาวิทยาลัยเนวาดา รีโน และหัวหน้าโครงการ Wonders of the Mekong ที่ได้รับทุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อเป็นโครงการศึกษาและอนุรักษ์แม่น้ำที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกอย่างแม่น้ำโขง
นักวิจัยได้เผยแพร่ผลการวิจัยในวารสาร Biological Conservation ถือเป็นหนึ่งในความสำเร็จสำหรับทีมนักวิจัยที่ทำงานเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง หนึ่งในแม่น้ำที่ยาวที่สุดในโลก และเป็นเส้นเลือดใหญ่ของประชากรหลายสิบล้านคน
ในภาษาไทยและลาว แม่น้ำโขงมีความหมายว่าแม่แห่งแม่น้ำ โดยเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และมีความหลากหลายทางชีวภาพที่อุดมสมบูรณ์ แต่ยังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย รวมถึงการพัฒนาพลังงานน้ำ การทำประมงมากเกินไป และการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่อาศัย
ความท้าทายเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิจัยกังวลกันมานานว่า ปลาผีแม่น้ำโขง หรือปลาแซลมอนขนาดยักษ์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งและมีความยาวถึง 4 ฟุต อาจสูญพันธุ์ไปอย่างเงียบๆ เมื่อเวลาผ่านไปหลายปีโดยไม่มีใครพบเห็นมันอีกเลย
ปลาชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำโขง เป็นปลาที่ลึกลับ และเพิ่งมีการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการในปี 1991 นับตั้งแต่นั้นมา มีการบันทึกปลาชนิดนี้ไว้ได้ไม่ถึง 30 ตัว จึงเรียกได้ว่าป็นสายพันธุ์ที่หายากมาก
ทีมนักวิจัยของโฮแกน ได้จับตาดูเจ้าปลายักษ์นี้ โดยเดินดูตลาดปลาและทำโครงการเผยแพร่ข้อมูลกับชาวประมงในท้องถิ่น โฮแกนได้อุทิศอาชีพส่วนใหญ่ให้กับการศึกษาปลาในลุ่มแม่น้ำโขง แต่เขากลับได้พบเห็นปลาชนิดนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงต้นทศวรรษ 2000
“ผมตามหาปลาชนิดนี้มาตั้งแต่ตอนนั้น และรู้สึกสนใจมันมาก เพราะมันเป็นปลายักษ์ที่แปลกประหลาดมาก” โฮแกนกล่าว “ผมคิดว่ามันคงสูญพันธุ์ไปแล้ว แต่แล้วก็ได้ยินว่ามีคนพบมันอีกครั้ง ผมรอคอยข่าวนี้มานานถึง 20 ปี” เขากล่าวเสริมว่า การศึกษาพวกมันยังไม่สายเกินไป และนี่คือสัญญาณแห่งความหวัง
บุนเยธ ชาน (Bunyeth Chan) หัวหน้าคณะการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสวายเรียงในกัมพูชา แสดงความคิดเห็นว่า “การค้นพบปลาแซลมอนยักษ์อีกครั้ง ทำให้ความหวังจุดประกายขึ้น ไม่เพียงแต่สำหรับสายพันธุ์นี้เองเท่านั้น แต่เป็นความหวังสำหรับระบบนิเวศแม่น้ำโขงทั้งหมดด้วย”
แต่จนถึงตอนนี้ นักวิจัยก็ยังไม่ทราบจำนวน และแหล่งอาศัยที่แน่ชัดของพวกมัน โดยมีปลา 3 ตัวที่พบระหว่างปี 2020-2023 ที่เหมือนจะอยู่นอกขอบเขตปกติของพวกมัน หมายความว่าอาจมีปลาอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยพบมาก่อน หรืออาจเป็นเพราะพวกมันอพยพมาจากลาวและไทยซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน
แม้จะฟังดูแปลกไปสักหน่อย ที่อยู่ๆ จะพบปลา 3 ตัวติดต่อกันอย่างรวดเร็วหลังจากที่สายพันธุ์นี้หายไปเกือบ 20 ปี แต่โฮแกนได้ให้เครดิตกับงานที่พวกเขาทำในพื้นที่ นั่นคือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับชุมชนในท้องถิ่น ทำให้ชาวบ้านรู้ว่าหากพบสิ่งปกติ ก็ควรจะติดต่อแจ้งพวกเขา
อย่างไรก็ดี รายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กร 25 แห่ง รวมถึงกองทุนสัตว์ป่าโลกและ Wonders of the Mekong ระบุว่า ปลาในแม่น้ำโขงเกือบ 1 ใน ถ อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์
ดังนั้น จากสถานการณ์แม่น้ำโขงในขณะนี้ สิ่งที่ทำอยู่อาจไม่เพียงพอ แม่น้ำโขงกำลังต่อสู้กับภัยคุกคามจากแนวรบต่างๆ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนต้องเผชิญกับน้ำท่วมและภัยแล้งที่รุนแรงมากขึ้นทุกปี
โครงการของมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สภาพแวดล้อมเกิดความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและเหมืองทราย ทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลเสื่อมโทรมลง และทำลายชีวิตของปลาในแม่น้ำโขงกว่า 1,100 สายพันธุ์ ซึ่งหลายชนิดไม่สามารถพบได้ที่อื่นบนโลก
ที่ผ่านมา มีข้อสังเกตว่า กัมพูชาอาจไม่ใช่สถานที่ที่ง่ายการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมมากนัก หลายคนถูกจำคุกหรือถูกฆ่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จากการที่พวกเขาพยายามสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการทุจริตและโครงการธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เมื่อต้นปี 2024 นักเคลื่อนไหวเยาวชน 10 คนจากกลุ่ม Mother Nature Cambodia ถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 6 ปี โดยแต่ละคนถูกตั้งข้อหาสมคบคิดต่อต้านรัฐ ซึ่งเป็นการตัดสินที่ถูกนักการเมืองฝ่ายค้านในต่างแดนและนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเยาวชนชื่อดังอย่างเกรตา ทุนเบิร์ก ประณาม
นักวิจัยที่อยู่เบื้องหลังรายงานล่าสุดหวังว่า การค้นพบในครั้งนี้ จะช่วยสร้างแรงผลักดันให้เกิดการศึกษาวิจัยและการดำเนินการอนุรักษ์เพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการสร้างทีมงานนานาชาติในกัมพูชา ลาว และไทย เพื่อศึกษาปลาผีแม่น้ำโขงต่อไป
“ปลาชนิดนี้เป็นตัวบ่งชี้ความสมบูรณ์ของแม่น้ำ เนื่องจากเป็นปลาขนาดใหญ่และอยู่ในภาวะเสี่ยง” โฮแกนกล่าว “แต่ปลาชนิดนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของปลาชนิดอื่นๆ ที่พบในพื้นที่ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ปลาที่สำคัญและมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คน และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อโภชนาการและอาหารของผู้คนอีกด้วย”
อ้างอิงจาก