ใครๆ ก็อยากเป็นคนฉลาด แต่ความฉลาด (Intelligence) มันคืออะไรกันแน่?
เรามีระบบวัด IQ (Intelligence Quotient) เพื่อใช้บอกอย่างกว้างๆ ว่าคนนี้เฉลียวฉลาดประมาณไหนนะ คำว่าความฉลาดโดยรวมก็หมายถึงว่าคนนั้นมีความสามารถในการแก้ปัญหาแค่ไหน มีความคิดเชื่อมโยงเชิงพื้นที่ได้ดีแค่ไหน มีทักษะการเรียนรู้ทางภาษาได้อย่างดีมั้ย
Robert J. Sternberg นักจิตวิทยาเห็นว่าไม่ใช่แค่นั้น ไอ้เจ้าความฉลาดมันยังมีอย่างอื่นที่มากกว่าตัวเลขหรือการแก้โจทย์ปัญหาเชาว์อย่างที่เราชินๆ กันจากข้อสอบ IQ แต่ความฉลาดมีมิติและขอบเขตที่หลากหลายกว่านั้น Sternberg เสนอแนวคิดเรื่อง ‘ความฉลาดสามด้าน (the Triarchic Theory of Intelligence)’ อันเป็นแง่มุมความฉลาดที่คนเราควรจะพัฒนาเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จด้วย เจ้าสติปัญญาสามแง่นั้นก็ได้แก่ ความฉลาดด้านการวิเคราะห์ (Analytical Intelligence) ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Intelligence) และความฉลาดในการอยู่กับโลกแห่งความจริง (Practical Intelligence)
ความฉลาดด้านการวิเคราะห์ (Analytical Intelligence) หมายถึงความสามารถในการจัดการและย่อยข้อมูลต่างๆ เป็นทักษะในการวิเคราะห์เรื่องราวและสิ่งต่างๆ ไปจนถึงการแก้ไขปัญหา ความฉลาดประเภทนี้เป็นความฉลาดประเภทที่ทดสอบได้จากแบบทดสอบ IQ ดังนั้นในมุมมองของ Sternberg มองว่าการเอาความฉลาดด้านนี้ด้านเดียวไปวัดความเฉลียวฉลาดทั้งหมดเลยไม่ค่อยถูกต้องและครบถ้วนเท่าไหร่นัก
ความฉลาดด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Intelligence) เป็นสิ่งที่สำคัญที่เกี่ยวข้องเมื่อคนๆ นั้นต้องคิดอย่างสร้างสรรค์และปรับตัวอย่างมีประสิทธิภาพเข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ความฉลาดประเภทนี้ยังเกี่ยวข้องกับการเชื่อมโยงข้อมูลเข้าหากันและการมองเห็นมุมมองเชิงลึกของเรื่องราวต่างๆ ความฉลาดเชิงสร้างสรรค์หลักๆ แล้วเกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้ความรู้และทักษะต่างๆ ที่มีเข้ากับเหตุการณ์ใหม่ๆ หรือเหตุการณ์ที่เราไม่เคยชิน
ความฉลาดในการอยู่กับโลกแห่งความจริง (Practical Intelligence) คือคนที่สามารถรับมือหรืออยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงได้ดี คนที่ไม่ว่าจะเผชิญกับเหตุการณ์อย่างไรก็สามารถที่จะจัดการชีวิตและปรับตัวกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ดี แน่นอนว่าคนฉลาดจะไปฉลาดแต่การคิดเลขหรือสร้างสรรค์อย่างเดียวคงไม่ได้ แต่ต้องฉลาดที่จะปรับตัวเข้ากับโลกภายนอกได้ดีด้วย
โดยสรุปแล้วความฉลาดก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เราจะใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพและสามารถนำไปสู่ความสำเร็จได้ ประเด็นสำคัญคือความฉลาดที่จำเป็นก็มีตั้งหลายแง่มุมและเราก็ต้องพัฒนาความฉลาดทุกด้านเพื่อให้มีชีวิตที่ดีได้ Sternberg เองบอกว่าความฉลาดที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้นั้นยังหมายถึงความฉลาดที่ว่าคนๆ หนึ่งจะรู้ตัวว่าเมื่อไหร่ที่เราอยู่ผิดที่ ผิดเวลา ผิดงาน อยู่ในความสัมพันธ์ที่ผิดพลาด คนที่ฉลาดพอก็จะรู้แล้วเอาตัวเองออกมาได้
ที่มา