มีคำกล่าวว่า โควิดไม่ได้แค่สร้างปัญหาใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น แต่ยังรวมถึงไปการขุดปัญหาเดิมที่เคยถูกซุกไว้ใต้พรมให้โผล่ขึ้นมาเด่นชัดยิ่งกว่าที่เคยเป็น – ปัญหาเรื่องการศึกษาไทยก็เช่นกัน
อย่างที่เรารู้กันว่า กระทรวงศึกษาธิการตัดสินใจเลื่อนวันเปิดเทอมไปเป็นวันที่ 1 ก.ค.นี้ พร้อมทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล (distance learning) ในกรณีที่นักเรียนไม่สามารถไปที่โรงเรียนได้ ด้วยการนำเนื้อหาจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาฉายทางโทรทัศน์ 17 ช่อง สำหรับนักเรียน ป.1-ม.6 อาชีวศึกษา และ กศน.
ผลการทดลองก็เป็นอย่างที่หลายฝ่ายคาดหมายไว้ล่วงหน้า คือแสดงให้เห็นถึงความไม่พร้อมต่างๆ นานา ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำ นักเรียนจำนวนมากไม่มีอุปกรณ์ ผู้ปกครองไม่มีเวลาเพียงพอมาช่วยลูกหลานเรียน เนื้อหาที่นำมาสอนบางส่วนถูกติติงว่าผิดพลาด-วิธีการไม่น่าสนใจ ไปจนถึงการประเมินสถานการณ์ผิดจากกระทรวงศึกษาธิการเอง
ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รมว.ศึกษาธิการ เคยบอกกับ The MATTER ว่า เดิมเข้าตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอนอยู่แล้ว แต่วิกฤตโควิดเป็นตัว ‘เร่งปฏิกิริยา’ ให้เกิดเร็วขึ้นเท่านั้นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยวิกฤตโควิดที่เริ่มคลี่คลาย ทำให้เริ่มมีเสียงเรียกร้องให้เปิดเทอมเร็วขึ้น และกลับไปเรียนสอนที่โรงเรียนจะดีกว่า
ขณะที่ตัว รมว.ศึกษาธิการก็เริ่มออกมาเปรยแล้วว่า การเรียนการสอนทางไกลจะใช้กับเด็ก ม.4-6 เท่านั้น ไม่ได้ใช้ในทุกระดับ และเชื่อว่า 80% จะกลับไปโรงเรียนได้ โดยอาจใช้การรักษาความสะอาด เว้นระยะห่าง และให้ผลัดเวรกันมาเรียนครั้งละ 20 คน/ห้องเรียน
คำถามก็คือ หากวิกฤตจบลงแล้ว การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการเรียนการสอนยังจะถูกใช้ต่อไปหรือไม่ (ไม่ใช่แค่การเปิดเทปจาก DLTV ให้ดู แต่ยังรวมไปถึงการใช้เครื่องมือต่างๆ ที่ถูกตระเตรียมไว้มากมาย โดยเฉพาะในรูปแบบออนไลน์)
ที่สุดแล้วการศึกษาไทยจะถูกวิกฤตโควิดกดดันให้ก้าวเข้าสู่ ‘ความปรกติใหม่’ หรือ new normal หรือไม่
เรียนทางไกลจะยังไม่ใช่ new normal ?
หนึ่งในปัญหาที่สะท้อนออกมาชัดเจน ผ่านการทดลองเรียนทางไกลของกระทรวงศึกษาธิการ คือเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ เพราะขนาดผู้เกี่ยวข้องเลือกสื่อสารผ่านสื่อโทรทัศน์ที่คาดว่าจะมีอยู่เกือบทุกครัวเรือนก็ยังเจอปัญหาใหม่ๆ เช่น กล่องรับสัญญาณไม่ได้ หนึ่งบ้านมีทีวีเครื่องเดียวแต่มีเด็กนักเรียนหลายคน พ่อแม่หาเช้ากินค่ำต้องไปทำงานไม่สะดวกอยู่ช่วยลูกเรียน ไปจนกระทั่งบางบ้านไม่มีโทรทัศน์ – นี่คือปัญหาที่มีอยู่จริง ถูกพูดถึงบ่อย และถูกย้ำอีกครั้งในวิกฤตรอบล่าสุด
อีกสิ่งที่เพิ่งพบก็คือ พฤติกรรมคนดูทีวีน้อยลง เด็กนักเรียนจำนวนไม่น้อยไปดูการเรียนการสอนผ่านออนไลน์จนเว็บไซต์ล่ม ซึ่งแน่นอนว่า หากจะเรียนผ่านออนไลน์ตลอดเวลา ปัญหาที่จะตามมาคือค่าใช้จ่ายด้านอินเทอร์เน็ต
ณิชา พิทยาพงศกร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า การเรียนทางไกล ไม่ว่าจะผ่านโทรทัศน์หรือออนไลน์อาจไม่ใช่คำตอบสำหรับการศึกษาไทยในระยะเวลาอันใกล้ เพราะถ้าจะจัดการเรียนการสอนลักษณะนี้ให้มีประสิทธิภาพ จะต้องพึ่งพาปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านเทคโนโลยี ครู พ่อแม่ และเด็กๆ นอกจากนี้ ยังต้องใช้ต้นทุนที่สูงมาก ทั้งค่าอินเทอร์เน็ต ค่าอาหารกลางวัน ค่าเสียโอกาสที่พ่อแม่จะต้องมาช่วยดูแลลูกๆ ฯลฯ
ขณะที่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ประเมินว่า การสนับสนุนอุปกรณ์สำหรับเรียนทางไกลให้ได้ผลสำหรับทุกๆ คน โดยเฉพาะนักเรียนในกลุ่มยากจนพิเศษกว่า 700,000 คน ทั่วประเทศ รัฐอาจต้องใช้เงินกว่า 7,000 ล้านบาท
เมื่อพิจารณาจากทั้งปัจจัย ต้นทุน และงบประมาณแล้ว การเรียนทางไกลจึงน่าจะยังห่างไกลจากการเป็น new normal ของการศึกษาไทย
แต่ถามว่า การทดลองเรียนทางไกลนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ไม่ทิ้งอะไรไว้ให้กับระบบการศึกษาไทยเลยหรือ – คำตอบคงไม่ใช่
EdTech กับการพัฒนาการศึกษา
ในช่วงวิกฤตโควิดที่ทำให้สถาบันการศึกษาต้องปิดตัวลงชั่วคราว หลายคนพูดถึง ‘เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา’ หรือ EdTech (ตัวย่อของ educational technology) ว่าจะมาช่วยแก้ไขปัญหาในช่วงเวลาที่นักเรียนกับครู/อาจารย์ต้องอยู่ห่างกัน
ความจริงหลายๆ มหาวิทยาลัยในไทย รวมถึงบางโรงเรียน ก็นำโปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่น EdTech มาใช้ในการจัดการเรียนการสอนบ้างแล้ว อย่าง ZOOM, Google Classroom, Microsoft Teams เป็นต้น และความจริงแล้ว การที่กระทรวงศึกษาธิการใช้ DLTV มาช่วยก็ถือเป็นการใช้ EdTech มาเป็นตัวช่วยเช่นกัน แม้จะยังผ่านสื่อดั้งเดิมอย่างทีวี ไม่ใช่สื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมกว่าในปัจจุบันก็ตาม
อย่างไรก็ตาม EdTech สำหรับการศึกษา ไม่ได้หมายรวมถึงแค่เทคโนโลยีที่ใช้สำหรับให้นักเรียนเจอกับครู/อาจารย์เท่านั้น ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่ช่วยจัดการการศึกษาด้านอื่นๆ ด้วย เช่น ประเมินผล สอบ พัฒนาความสามารถครู ประชุม ฯลฯ
TDRI ได้จัดกลุ่ม EdTech ออนไลน์ไว้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ แพล็ตฟอร์มและซอฟต์แวร์ แหล่งรวมเนื้อหา และแหล่งรวมความรู้สำหรับครู ขณะที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ซอยย่อยไปกว่านั้นอีก เป็น 8-9 กลุ่มด้วยกัน มีเครื่องมือให้เลือกใช้นับร้อย ตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานเพื่อการศึกษา
ที่ไล่เรียงมาข้างต้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบัน มี EdTech รองรับสำหรับพัฒนาการศึกษาอยู่อย่างมากมาย ที่แม้ว่าการเรียนทางไกลซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังทดลองอยู่ จะถูกมองโดยบางฝ่ายว่า “ยังไม่น่าจะกลายเป็น new normal ของการศึกษาไทยในระยะเวลาอันใกล้”
แต่สิ่งที่หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาจะได้จากวิกฤตนี้ คือการบีบให้ต้องทดลองใช้เครื่องมือใหม่ๆ โดยเฉพาะสารพัด EdTech ที่มีคนพัฒนาเอาไว้แล้วมาใช้ในการศึกษา ได้ออกจากเซฟโซนการใช้เครื่องมือเดิมๆ ที่คุ้นชินในการเรียนการสอน ซึ่งการมี ‘ประสบการณ์’ ลองของใหม่ และรู้ว่ายังมีตัวเลือกอื่นๆ ให้ทดลองใช้ได้ สิ่งนี้ อาจเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการศึกษาในอนาคต ไม่ว่าในวันนั้น โควิดจะยังอยู่กับเราหรือไม่ก็ตาม
สิ่งที่ชวนผลักดันให้เป็นความปกติใหม่
วิกฤตโควิดทำให้รู้ว่า การจัดการเรียนการสอนแบบ fit-for-all ทำเหมือนกันทั่วประเทศ นั้นไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งความจริงกระทรวงศึกษาธิการเองก็พอรู้ปัญหานี้อยู่บ้างแล้ว ก่อนเริ่มทดลองเรียนทางไกลจึงให้แต่ละโรงเรียนสำรวจความพร้อมในพื้นที่ของตัวเอง แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องแก้ไขปัญหาจริงๆ สิ่งที่เราเห็นได้ชัดก็คือ หลายๆ ฝ่ายก็ยังต้องรอคำสั่งจากส่วนกลางอยู่ดี
การกระจายอำนาจในการจัดการศึกษา – จึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการไทยถูกเรียกร้องมาโดยตลอด
หลักสูตรแกนกลางการศึกษา – ก็ถูกตั้งคำถามว่ายืดหยุ่นเพียงพอที่จะช่วยให้เกิดอิสระในการจัดการศึกษาหรือไม่
ถ้าสมมุติในอนาคต เกิดวิกฤตเช่นโควิดอีกครั้ง เราจะมีวิธีใดที่จะช่วยแก้ไขปัญหา โดยไม่ต้องมาลองผิดลองถูกกันทั้งประเทศอีกเช่นปัจจุบัน
ส่วนเรื่องการจัดการเรียนการสอน สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธาน TDRI มองว่า ทั้งการเรียนออนไซต์ (ในห้องเรียน) ออนแอร์ (ผ่านทีวี) และออนไลน์ สามารถนำมาใช้ร่วมกันได้ โดยเขามองว่า การเรียนในห้องเรียนยังมีความจำเป็นที่สุด ส่วนสื่อออนไลน์สามารถนำมาช่วยครูให้หาความรู้ใหม่ๆ หรือลดเวลาที่ต้องทำงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอนได้ ส่วนการเรียนผ่านทีวี ที่น่าจะมีประสิทธิภาพต่ำที่สุด อาจใช้เป็นการเติมในส่วนที่ขาดเท่านั้น
การใช้เครื่องมือแบบผสมผสาน ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีศัพท์เรียกว่า blended learning ที่ใช้วิธีการเรียนการสอนแบบออฟไลน์และออนไลน์มาผสมผสานและเพิ่มประสิทธิภาพกันและกัน
หวังว่า บทเรียนจากโควิดครั้งนี้จะช่วยให้ระบบการศึกษาไทยก้าวไปข้างหน้า ไม่กลับไปทำแบบเดิม เป็น old normal ที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต