เป้าหมายสำหรับวันนี้
1 กินอาหารขยะ
2 สะสมงานที่ค้างไว้ให้กองสูงขึ้น
3 ทะเลาะกับคนรอบตัว
ใช่! นี่คือเป้าหมายสำหรับวันนี้ แต่เป็น ‘เป้าหมายที่มีไว้ไม่ทำ’ หรือ ‘anti-goal’ ซึ่งตามหลักจิตวิทยาแล้ว มีแนวโน้มจะสำเร็จมากกว่าการตั้งเป้าหมายแบบเดิมๆ ซะอีก
‘anti-goal’ เป็นกลยุทธ์ของ Andrew Wilkinson ผู้ก่อตั้ง MetaLab and Flow ว่าด้วยการลิสต์สิ่งที่ไม่อยากทำไปจนถึงสิ่งที่อยากทำน้อยที่สุด แล้วตั้งใจ ‘ไม่ทำ’ มันอย่างสุดความสามารถ (เย่!)
ซึ่งเขาเองได้รับแรงบันดาลใจมาจากหลักคิดของ Charlie Munger หุ้นส่วนและเพื่อนซี้ของ Warren Buffet นักธุรกิจชื่อดังอีกที Munger เชื่อว่าความสำเร็จของชีวิตและธุรกิจของเขา เกิดจาก ‘การรู้ว่าไม่ควรและไม่อยากทำอะไร’ และวิธีคิดแบบผกผัน
“Tell me where I’m going to die, so I’ll never go there.”
“บอกฉันสิว่าฉันจะตายที่ไหน ฉันจะได้ไม่ไปที่นั่น”
คือคำพูดที่ Charlie Munger พูดอยู่เสมอๆ
Andrew Wilkinson และคู่หู Chris Sparling ได้ร่าง anti-goal ของพวกเขาไว้ในแต่ละวัน อย่างเช่น
1. ประชุมต่อเนื่องกันนานๆ
2. วางตารางงานแน่นๆ
3. คุยกับคนที่ไม่ชอบหรือไม่สบายใจ
4. เป็นหนี้บุญคุณคนอื่นหรือยอมให้คนอื่นเข้ามาควบคุม
ด้วย anti-goal ที่พวกเขาตั้งไว้ สิ่งที่พวกเขาต้องทำเพื่อไม่ให้บรรลุเป้าหมายก็คือ
1. ไม่นัดประชุมรายบุคคล ถ้าสามารถส่งอีเมลหรือคุยทางโทรศัพท์แทนได้
2. ไม่รับงานเกินสองชั่วโมงต่อวัน
3. ปฏิเสธการดีลงานกับคนที่ไม่สบายใจจะคุยด้วย (ถึงจะดูแย่ แต่ก็อย่าแคร์นัก)
4. อย่ายอมให้การโหวตมาควบคุมธุรกิจ และอย่าขอหรือรับความช่วยเหลือจากคนที่จะเรียกร้องจากเราทีหลัง
ไม่ใช่แค่เรื่องงาน แต่เราก็สามารถตั้ง anti-goal ให้กับเรื่องอื่นๆ ของชีวิตได้ เช่น ‘เราจะอ้วนและโง่’ หรือ ‘เราจะล้มเหลวและรู้สึกไร้ค่าตลอดไป’
การตั้งเป้าหมายแบบนี้ ไม่ใช่การก่นด่าตัวเอง แต่ Harvard Business School บอกว่าการพลิกจากการ ‘ไล่ตาม’ เป็นการ ‘วิ่งหนี’ มีแนวโน้มจะทำให้เราบรรลุเป้าหมายได้ดีกว่า เพราะเป็นการเปลี่ยนความคิดจาก ‘ผลลัพธ์’ ไปสู่ ‘วิธีการ’ ทำให้เรามองเห็นขั้นตอนการปฏิบัติที่ชัดเจน และมีแรงจูงใจแบบวันต่อวันมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยของหลายมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ที่ลองทดสอบกับนักศึกษาโดยแบ่งเป็นสามกลุ่ม คือ 1. ไม่ตั้งเป้าหมายอะไรเลย 2. ตั้งเป้าหมายที่คะแนนปลายเทอม (ผลลัพธ์) 3. ตั้งเป้าหมายที่แบบทดสอบย่อยในแต่ละครั้ง (วิธีการ) ผลปรากฏว่า เด็กกลุ่มที่สามมีแนวโน้มที่จะทำคะแนนดีกว่ากลุ่มอื่นๆ
ซึ่งทางทีมวิจัยได้ให้เหตุผลว่า การคิดการตั้งเป้าหมายที่ ‘วิธีการ’ นั้นให้ผลดีกว่าก็เพราะ เด็กๆ จะรู้สึกถึงความเร่งด่วนที่ต้องพยายามทำมากกว่า เมื่อเทียบกับการวัดผลในระยะยาว และหลายครั้งที่เด็กๆ (รวมถึงเราๆ) มั่นใจว่าสิ่งที่สะสมไว้จะให้ผลในระยะยาว ซึ่งก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะฉะนั้น การตั้ง anti-goal ที่สน ‘วิธีการ’ มากกว่า ‘ผลลัพธ์’ ก็เลยมีแนวโน้มที่จะได้ผลดีกว่าเช่นกัน
การใช้ปัจจัยตรงข้าม หรือแค่คำว่า ‘anti’ เนี่ย ยังเป็นการใช้อคติในการรับรู้ (cognitive bias ) ของเราให้เป็นประโยชน์ด้วย เนื่องจากสมองของเราถูกสร้างมาเพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดหรือความทุกข์ วิธีการคิดแบบ anti-goal จึงได้รับความร่วมมือจากสมองมากกว่า เพราะเป็นกากหลีกหนีสิ่งที่ไม่อยากทำในระยะสั้น มากกว่าจะรอเห็นผลสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว
ถ้าการตั้งเป้าหมายแบบเดิมๆ ที่ตั้งไว้พุ่งชนนั้นมันทำให้เราเครียด หรือเหนื่อยใจที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่ชน เอ้ย ไม่สำเร็จสักที ก็ลองใช้วิธีแบบ anti-goal ดู เพราะบางเป้าหมาย ก็มีไว้ ‘ไม่ทำ’ ไง!
อ้างอิงจาก
medium.com
humanunlimited.com
qz.com