มีอะไรให้เราช่วยไหม? ให้ช่วยอะไรบอกนะ เป็นประโยคหวังดีกับคนอื่น แต่บางทีก็เป็นประโยคที่ทำร้ายตัวเอง
งานวิจัยบอกเลยว่า การหยิบยื่นความช่วยเหลือให้เพื่อนร่วมงานบ่อยเกินไปทำให้เราทำงานได้แย่ลง
ช่วยเหลือคนอื่นมันเป็นเรื่องดีอยู่แล้วแหละ แต่คนช่วยมันก็เหนื่อยเหมือนกันนะ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะเป็นการรับฟังปัญหาหรือความรู้สึก มันก็สามารถสร้างภาระทางอารมณ์และบั่นทอนพลังงานของเราได้ โดยเฉพาะถ้าคุณคือคนที่นักจิตวิทยาเรียกว่า ‘toxic handler’ ของออฟฟิศ หรือก็คือคนที่คนอื่นมักจะมาปรึกษาหรือระบายด้วยบ่อยๆ
บทความใน Harvard Business Review บอกว่าการเป็นคนชอบช่วยเหลือคนอื่นในที่ทำงาน ก็เหมือนกับการเดินไต่ลวด มันอาจจะทำให้ตื่นเต้น แต่ก็ทำให้อ่อนแอและผุพังไปพร้อมๆ กัน
เคยมีงานวิจัยที่ทำการศึกษาคนทำงาน 68 คนเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ โดยให้พวกเขาจดบันทึกเมื่อมีเพื่อนร่วมงานมาขอความช่วยเหลือ พร้อมบอกว่าพวกเขาช่วยคนเหล่านั้นหรือไม่ แล้วก็ให้ประเมินระดับพลังงานที่ใช้ในการทำงานแต่ละวัน
ทีมวิจัยเปรียบเทียบสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเหมือนเป็นการวิ่งระยะไกล ในช่วงแรกที่รับปากช่วยเหลือหรือให้คำปรึกษาเพื่อร่วมงาน (สักครั้งสองครั้งแรก) พวกเขายังไม่รู้สึกว่ามีผลมากมายอะไรนัก แต่เมื่อเพิ่มเป็นหลายๆ ครั้ง พวกเขาจะรู้สึกเหมือนกับวิ่งมาราธอน คือเริ่มเหนื่อยล้าขึ้นเรื่อยๆ
ความรู้สึกเหนื่อยและถูกดูดพลังนี้ ก็ทำให้พวกเขาไม่มีกำลังใจและสมาธิในการทำงาน ไม่สามารถจัดการอารมณ์ตัวเองได้ และไม่สามารถอดทนกับงานที่ยากๆ ได้ ผลวิจัยยังชี้ให้เห็นด้วยว่า ความอ่อนล้าที่เกิดขึ้นในวันนี้ ยังส่งผลไปถึงเช้าวันรุ่งขึ้น แม้ว่าจะนอนพักแล้วก็ตาม
งานวิจัยอีกชิ้นทำการสำรวจในลักษณะเดียวกันกับคนทำงาน 82 คน ในระยะเวลา 2 สัปดาห์ แต่ครั้งนี้โฟกัสที่ความรู้สึกมากกว่าการใช้พลังงาน ผู้เข้าร่วมการทดสอบบอกว่า ในตอนที่ช่วยเหลือคนอื่นนั้นจะรู้สึกดี รู้สึกว่าตัวเองมีพลัง มีความพึงพอใจ และมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ทำ แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นพร้อมกัน (โดยบางคนอาจจะไม่รู้ตัว แต่มาพบทีหลัง) คือรู้สึกว่าพลังในตัวถูกใช้จนหมด และไม่พอใจในงานของตัวเอง
ถ้าตอนนี้คุณเป็นคนที่ยื่นมือช่วยเหลือคนอื่นๆ อยู่ ต่อให้รู้สึกว่าต้องแบกภาระของความไว้วางใจมากแค่ไหน คุณก็ต้องพยายามหาวิธีการหลุดพ้นจากการเป็นผู้รับ ‘พิษ’ เหล่านั้นให้ได้ และสิ่งที่ต้องทำคือการพูดว่า ‘ไม่’
นักจิตวิทยา Shaunacy Ferro แนะนำว่าให้ใช้คำว่า ‘ไม่’ (I don’t) ตรงๆ ไปเลยในการปฏิเสธ เช่น ฉันไม่ช่วยเธอหาข้อมูลทำพรีเซนต์นี้นะ (แต่ก็อาจจะต้องอธิบายเหตุผลตามสักหน่อย) งานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Journal of Consumer Research บอกว่า หากเราใช้คำว่า ‘ไม่’ (don’t) จะทำให้เราหนักแน่นกับการปฏิเสธมากกว่า เช่น ถ้าบอกว่า ฉัน ‘ไม่’ กินของทอด แล้วเวลาเจอของทอด คนเรามีแนวโน้มจะหักห้ามใจได้มากกว่าการบอกตัวเองว่า ฉัน ‘ไม่ควร’ (I shouldn’t) หรือ ‘ไม่สามารถ’ (I can’t) กินของทอด
สรุปก็คือว่า เรียนรู้ที่จะพูดคำว่า ‘ไม่’ กับคนอื่นบ้าง ไม่ต้องแบกภาระการเป็นทุกอย่างให้ทุกคนไว้มากนัก เพราะการแบกของหนัก ก็ทำร้ายเราเหมือนกัน
อ้างอิงจาก
nymag.com/being-helpful
nymag.com/say-no