อ่านหนังสือเป็นเรื่องดี ไม่รู้จะอ่านตอนไหน ก็อ่านตอนที่นั่งรถไปไหนมาไหนสิ
วันๆ นึงยิ่งถ้าเป็นในกรุงเทพฯ เราใช้เวลาอยู่เฉยๆ อยู่บนถนน อยู่บนขนส่งสาธารณะกันนาน ในต่างประเทศเองก็มีโครงการที่ส่งเสริมว่า นี่ไง เวลาที่เราว่างๆ การอ่านหนังสือบนขนส่งมวลชน อ่านในที่สาธารณะเป็นเรื่องดี
รัฐเองอยากส่งเสริมคนไทยให้อ่านกันเยอะๆ หน่อย แต่ก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้เราไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน หนึ่งในวัฒนธรรมการอ่านสำคัญเกิดจากการที่รัฐสามารถจัดหา ‘ขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดี’ โดยเฉพาะขนส่งมวลชนระบบรางให้เราได้ สมัยก่อนตอนที่คนยังเดินทางกันด้วยรถไฟ มีการผลิตหนังสือที่ราคาไม่แพงมากเพื่อให้คนอ่านเอาสนุก จบพอดีเมื่อรถไฟถึงที่หมายการมีขนส่งมวลชนที่มีความสะดวกสบาย วิ่งนิ่มๆ ไฟสว่าง เสียงเงียบๆ เป็นปัจจัยและเป็นพื้นที่ให้ผู้โดยสารใช้เวลาอ่านได้อย่างสะดวกสบายและมีประสิทธิภาพ
นึกภาพเวลาเห็นคนอ่านหนังสือ เรามักมีความรู้สึกว่าคนนี้ดี คนนี้น่าสนใจ จึงมีพวกโครงการแอบถ่ายหนุ่มสาวที่อ่านหนังสือบนขนส่งมวลชน จนมีคำขวัญว่า Reading is sexy ทำให้การอ่านในที่สาธารณะเป็นพฤติกรรมที่มีความหมายเชิงบวก
ที่นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา รถใต้ดินเองก็เห็นว่าผู้โดยสารใช้เวลาไปเปล่าๆ บนรถ เลยจัดโครงการ ‘ห้องสมุดรถใต้ดิน’ ในช่วงเดือนมิถุนายนนี้ยาวไป 6 สัปดาห์ นอกจากจะตกแต่งภายในและภายนอกของขบวนรถในคอนเซปต์ห้องสมุดแล้ว ยังมีบริการแจกฟรี E-Book สำหรับคนที่ล็อคอินผ่านเครือข่ายของรถไฟฟ้า
ใกล้บ้านเราเข้ามาหน่อย ที่สิงคโปร์ก็มีคนพยายามสร้างกระแสการอ่านบนรถไฟฟ้า Aaron Ho เป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาวรรณคดีที่สร้างอินสตาแกรมชื่อ MRT Reads เป็นแอคเคาท์เก็บภาพของคนที่กำลังอ่านหนังสือบนรถใต้ดิน พร้อมกับเขียนคำบรรยายคมๆ น่ารักๆ ประกอบ หรือแอคเคาท์ของ Wei นักศึกษาปริญญาโทสาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่ลงภาพแนะนำหนังสือต่างๆ ที่เธออ่าน จนมีผู้ติดตามกว่า 63,000 คน
บางคนอาจจะบอกว่า การอ่านหนังสือบนรถชวนเวียนหัว หรือบางคนต้องขับรถเอง เดี๋ยวนี้การฟัง audio book จึงเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง คือไม่ต้องอ่านเอง บางคนก็บอกว่าถ้าเป็นในรถหรือบนรถไฟ การอ่านๆ แล้วพักสายตามองออกไปนอกหน้าต่างบ้างก็ช่วยเรื่องเวียนหัวได้