อาจารย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และนักวิชาการ รวม 110 คน ลงนามในแถลงการณ์ร่วม ถึงการชุมนุมของกลุ่ม ‘ธรรมศาสตร์จะไม่ทน’ ในวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รังสิต โดยระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ.2560 มาตรา 34 ที่รับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน และสอดรับกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยได้ให้การยอมรับว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
โดยคณาจารย์กลุ่มนี้มองว่า เนื้อหาการปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว โดยเฉพาะการเรื่องบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ปรากฎข้อความใดที่เข้าข่ายจะละเมิดกฎหมายอาญา “ในทางตรงกันข้าม ข้อเสนอเหล่านี้เป็นข้อเสนออย่างตรงไปตรงมาในการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
แถลงการณ์ดังกล่าวยังเสนอว่า มหาวิทยาลัยในฐานะสถาบันทางวิชาการ ควรจะเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสในการแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะประเด็นอันเป็นประโยชน์สาธารณะ มิใช่หลีกเลี่ยงหรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นนั้น มหาวิทยาลัยควรจะแสดงและสนับสนุนให้สังคมไทยเผชิญหน้ากับปัญหาความท้าทายนี้ด้วยความอดทนอดกลั้น อันเป็นลักษณะที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย
“สังคมไทยควรจะเรียนรู้การยกระดับเพดานความอดทนอดกลั้นและการพูดคุยกันด้วยเหตุผล เพื่อความยั่งยืนของประชาธิปไตยต่อไปในสังคม” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ
– ดูเนื้อหาแถลงการณ์ร่วมและรายชื่ออาจารย์ทั้งหมดที่ลงนามได้ที่: https://www.facebook.com/sayaininanong/posts/10223596008158295
#Brief #TheMATTER