จากกรณีร้านลาบแห่งหนึ่งใน อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ถูกกล่าวโทษว่าทำผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกออล์ พ.ศ.2551 ที่ห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเชื่อกันว่าสาเหตุมาจากรูปเบียร์ในเมนูอาหาร จนต้องไปจ่ายเงินค่าปรับเป็นเงิน 17,000 บาท
The MATTER ติดต่อไปขอคำอธิบายว่าเพียงสาเหตุดังกล่าวก็เข้าข่ายผิดกฎหมายแล้วหรือ? ซึ่ง นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สคอ.) กรมควบคุมโรค ขอเวลาตรวจสอบข้อมูล ก่อนจะติดต่อกลับมาเพื่อให้คำอธิบายว่า ข่าวที่ออกไปคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สาเหตุที่ร้านลาบดังกล่าวทำผิด พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ไม่ได้มาจากภาพเบียร์ในเมนูอาหาร หากสื่อมวลชนใดต้องการดูหลักฐาน ให้เข้ามาดูที่ สคอ.ได้เลย
นพ.นิพนธ์ มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของ สคอ. ชี้แจงกับ The MATTER เพิ่มเติม ได้รับคำอธิบายว่า กรณีร้านลาบ มีรายละเอียดดังนี้
– 22 มกราคม พ.ศ.2562 มีผู้ร้องเรียนเข้ามาว่า ร้านลาบดังกล่าวอาจทำผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
– 24 มกราคม พ.ศ.2562 สคอ.ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมด้วยตำรวจเข้าไปตรวจสอบ โดยถ่ายคลิปเป็นหลักฐานความยาว 21 นาทีไม่มีการตัดต่อใดๆ ในคลิปบันทึกช่วงจังหวะที่เจ้าหน้าที่ของ สคอ. อธิบายกับเจ้าของร้านลาบว่า มีจุดใดบ้างที่สุ่มเสี่ยงจะผิดกฎหมาย เช่น ป้ายไฟ ป้ายโลโก้ ตู้แช่ และสาวเชียร์เบียร์ ที่ทั้งหมดมีโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบรนด์หนึ่งชัดเจน พร้อมกับให้เวลาปรับแก้ 1 เดือน ซึ่งเจ้าของร้านก็ระบุว่าจะนำสิ่งของที่มีโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออก
– 5 มีนาคม พ.ศ.2562 เจ้าหน้าที่ของ สคอ.ไปตรวจสอบร้านลาบดังกล่าวอีกครั้ง พบว่า สิ่งของที่มีโลโก้ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่างๆ ยังอยู่เหมือนเดิม จึงต้องดำเนินการตามกฎหมาย
– เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2562 สคอ.ส่งสำนวนกรณีร้านลาบไปที่ สภ.ปากเกร็ดให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ
– เดือนสิงหาคม พ.ศ.2563 ทาง สภ.ปากเกร็ดส่งหนังสือไปถึงเจ้าของร้านลาบ ให้ไปที่ สคอ. เพื่อติดต่อกรณีจ่ายค่าปรับ แต่เจ้าตัวบอกว่ายังไม่มีเงิน ขอเวลาผัดผ่อนไปอีก 1 เดือน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาต
“ยืนยันว่าเราไม่ได้บังคับให้เจ้าของร้านลาบต้องจ่ายเงินค่าปรับเพียงอย่างเดียว แต่ยังแนะนำว่าหากเชื่อมั่นว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิดก็สามารถสู้คดีต่อไปได้ และมีหลายๆ กรณีที่แม้จะแพ้คดี แต่ศาลก็สั่งปรับเงินเพียงหลักพันบาท หรือไม่สั่งปรับเงินเลยก็มี” เจ้าหน้าที่รายดังกล่าวระบุ
ผู้สื่อข่าว The MATTER ได้ถามถึงแนวคำพิพากษาว่ากรณีใกล้เคียงกับร้านลาบดังกล่าว เคยมีคำตัดสินของศาลฎีกาเป็นบรรทัดฐานหรือไม่ ทางเจ้าหน้าที่ของ สคอ. ก็ส่งคำพิพากษาศาลจังหวัดแพร่ คดีหมายเลขดำที่ 2449/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 3627/2561, คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดีหมายเลขดำที่ อ 254/2561 คดีหมายเลขแดงที่ 577/2561 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3624/2560 มาให้พิจารณา
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของ สคอ.รายดังกล่าวยอมรับว่า ค่าปรับจากการทำผิดมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ทั้งกรณีร้านลาบและกรณีอื่นๆ เจ้าหน้าที่จะได้รับ ‘เงินรางวัล’ ด้วย โดยแบ่งให้กับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดลดหลั่นกันในแต่ละระดับ แต่ยืนยันว่านี่ไม่ใช่ ‘แรงจูงใจ’ ให้ทำคดีลักษณะนี้ เพราะก่อนหน้าที่จะมีระเบียบให้เงินรางวัล ทางเจ้าหน้าที่ก็ยังทำงานหนักเช่นเดิม
“หากเราไม่ทำ ก็อาจถูกฟ้องร้องว่าทำผิดฐานะละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และถ้าเราไม่ทำตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ก็ไม่รู้ว่าจะมี สคอ.ขึ้นมาทำไม” เจ้าหน้าที่รายนี้ชี้แจง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีความพยายามรณรงค์ให้แก้ไขมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ เพราะไม่เพียงตัวบทจะกำกวมเปิดช่องให้ใช้ดุลยพินิจตีความได้กว้างขวาง บางฝ่ายยังมองว่าไปสกัดกั้นการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย และเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่
– ชวนดูปัญหาและเสียงวิจารณ์ต่อเนื้อหาและการบังคับใช้มาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่ง The MATTER เคยนำเสนอไปแล้วหลายครั้ง
https://thematter.co/social/alcohol-ads-control/114500
https://thematter.co/social/thai-craft-beer-and-alcohol-law/121069
https://thematter.co/social/alcohol-ban-on-social-media/114277
https://www.youtube.com/watch?v=ZA1jbVBW0_E
#Brief #TheMATTER