โครงการปล่อยยุงตัดแต่งพันธุกรรมชนิด ‘OX5034’ จำนวน 750 ล้านตัว ในหมู่เกาะฟลอริดา คีย์ รัฐฟลอริดา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรค อาทิ ไข้เลือดออก, ไข้ซิกา, ชิคุนกุนยา และไข้เหลือง ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลท้องถิ่น ให้เริ่มต้นได้ในปี ค.ศ.2021 เรียบร้อยแล้ว ภายใต้เสียงคัดค้านของประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
ยุงชนิด ‘OX5034’ เป็นยุงเพศผู้ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรม ทำให้เมื่อผสมพันธุ์กับยุงเพศเมียแล้ว ตัวอ่อนจะไม่เติบโตเป็นยุงที่แพร่เชื้อโรคต่อไปได้ เพราะพวกมันจะตายตั้งแต่ก่อนฟักออกจากไข่ ซึ่งปกติแล้ว ยุงเพศผู้มักจะไม่ต้องสัมผัสกับมนุษย์อยู่แล้ว เพราะอาหารหลักของพวกมันคือน้ำหวานจากดอกไม้ ส่วนยุงที่ดูดเลือดและแพร่โรคไปสู่มนุษย์เป็นเพศเมีย
โดยจุดเริ่มต้นของโครงการดังกล่าว ต้องเท้าความไปในช่วงปี ค.ศ.2009-2010 หมู่เกาะฟลอริดา คีย์ ในรัฐฟลอริดา ทุ่มเทงบประมาณปีละกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก แต่ความพยายามในการทุ่มงบประมาณและทรัพยากรลงไปมหาศาลกลับไม่สำเร็จ จนทำให้พวกเขาตัดสินใจติดต่อ Oxitec บริษัทวิจัยและพัฒนาพืชและสัตว์ GMO ที่เคยได้ดัดแปลงพันธุกรรมยุงชนิดที่เรียกว่า ‘OX513A’ และนำไปทดลองในพื้นที่หมู่เกาะเคลย์แมน ประเทศปานามา และประเทศบราซิล จนสามารถลดประชากรยุงลายลงได้มากถึง 95% มาแล้ว
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่บางส่วนไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว และโต้ตอบโครงการดังกล่าวว่าเป็น ‘การทดลองจูราสิคปาร์ค’ หรือการสร้าง ‘ยุงโรโบแฟรงเกนไสตน์’ และพวกเขาได้ร่วมกันลงชื่อในเว็บไซต์ Change.org จนได้มากกว่า 240,000 รายชื่อ เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว
เช่นเดียวกับทางด้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ต่างก็ออกมาแสดงความเป็นกังวลว่า โครงการดังกล่าวอาจทำให้ระบบนิเวศในพื้นที่ปั่นปวน จนอาจทำให้พืชและสัตว์ในพื้นที่เกิดความเสี่ยงได้
นอกจากนี้ ในเว็บไซต์ของ Oxitec ยังมีการระบุว่า ในปี ค.ศ.2021 พวกเขาได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ให้ดำเนินโครงการดังกล่าวในเมืองแฮริส คันทรี รัฐเท็กซัส อย่างไรก็ตาม หน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ ได้ออกมาตอบโต้ว่ายังไม่มีความคิดจะดำเนินแผนดังกล่าว และตอนนี้กำลังทุ่มแรงให้กับการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19
อ้างอิง:
https://edition.cnn.com/2020/08/19/health/gmo-mosquitoes-approved-florida-scn-wellness/index.html
https://www.bbc.com/news/world-us-canada-53856776
#Brief #TheMATTER