เวลาเราดูรายการทำอาหารหรือสารพัดสูตรอาหารที่ต้องใช้เตาอบ ส่วนใหญ่ตำราและเหล่าเชฟ(อเมริกัน) จะบอกให้เราอบที่ 350 องศาฟาเรนไฮต์ (เตาบ้านเราคือ 190 องศาเซลเซียส) การทำวัตถุดิบต่างๆ ให้สุกส่วนใหญ่ เช่นการอบไก่ อบเนื้อ อบขนมปัง เราก็จะต้องใช้เตาที่ร้อน ใช้อุณหภูมิที่สูง เราถึงจะได้เนื้อสัตว์ที่นุ่ม ได้ขนมปังที่สุกเหลืองและนุ่มฟูด้านใน ถ้าอุณหภูมิไม่สูงพอเราก็จะได้เนื้อสัตว์หรือขนมที่แบนๆ แฟ่บๆ แห้งเหี่ยว กินไม่อร่อย
สารพัดหนังสือทำอาหารทั้งหลาย เช่นตำราทำอาหาร Cooking hints & tips ในปี 1997 เรื่อยมาจนถึงตำราของ Martha Stewart ในปี 2000 ต่างบอกว่าอุณหภูมิเตาที่ 350 องศาเป็นอุณหภูมิร้อนปานกลาง (moderate) ในภาค Cooking จากหนังสือ The World Book Encyclopedia 2004 edition บอกว่า อาการที่อบในเตาอบส่วนใหญ่จะอบสุกที่อุณหภูมิตั้งแต่ 300-450 องศาฟาเรนไฮต์
ตัวเลขอุณหภูมิวิเศษที่ใช้อบอาหารนี้ต้องให้เครดิตกับ Louis Camille Maillard ผู้ค้นพบปฏิกิริยาที่เรียกว่า Maillard Reaction ในปี 1912 เป็นการค้นพบที่พบว่าอาหารหรือวัตถุดิบต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพเมื่อได้รับความร้อนที่ 300-350 องศาฟาเรนไฮต์ สิ่งที่เกิดขึ้นที่อุณหภูมิที่ว่า คือโปรตีนและน้ำตาลจะเกิดการเปลี่ยนสี พูดภาษาบ้านๆ คือเกิดอาการสุกเหลือง หอมอร่อย
จริงๆ แล้วมนุษย์เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าการทำอาหารให้สุกอร่อยต้องทำที่อุณหภูมิที่สูงอย่างเหมาะสมตั้งแต่โบราณ เพียงแต่ว่าก่อนหน้านี้เรายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอนและไม่มีชื่อตายตัวจนกระทั่งคุณมิลลาร์ดนักเคมีชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบและอธิบายอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ในสมัยโบราณเราเองก็รู้จักการอบอาหารและมีเตาอบใช้ ชาวอียิปต์ ยิว และโรมันต่างรู้จักการทำเตาฟืนจากหินและอิฐเพื่อใช้อบขนมปังและแป้งต่างๆ ในยุคสมัยใหม่ช่วงปี 1728 นักออกแบบชาวเยอรมันถึงได้เริ่มผลิตเตาอบที่ผลิตจากเหล็กกล้า เตาอบที่แข็งแรง ทนทาน และควบคุมอุณหภูมิได้ดีเลยค่อยๆ ถูกพัฒนา เรื่อยมาจนกระทั่งเป็นเตาอบแก๊สในช่วงปี 1800s เรื่อยมาจนเป็นเตาอบไฟฟ้าในช่วงปลายทศวรรษ
อุณหภูมิและความแม่นยำคือสิ่งสำคัญของการปรุงอาหารให้อร่อย การควบคุมอุณหภูมิในเตาอบถือเป็นสิ่งที่แม่บ้านและพ่อครัวทั้งหลายต้องเผชิญจนกระทั่งต้นศตวรรษที่ 20 (มีการอ้างอิงเลขปีที่ 1915) ในปีนั้นมีการคิดค้นและใช้ตัวควบคุมอุณหภูมิ (Thermostats) ในเตาอบ การมีตัวจับและตัดการทำงานของเตานี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญและสร้างความสะดวกสบาย เกิดระบบตัวเลขและแก๊สอันเป็นพิกัดมาตราฐานของเตาอบที่เรารู้จักและใช้กันในทุกวันนี้
ว่ากันว่าพ่อครัวขนมอบสมัยก่อนใช้วิธีการทดสอบอุณหภูมิเตาว่าร้อนใช้ได้ยังด้วยการเอามือใส่ไปในเตา ถ้าทนได้เกิน 30 วินาที ก็ถือว่าความร้อนเหมาะสม เตาไม่เย็น
อ้างอิงข้อมูลจาก