‘Design converts shelters into homes, housing into communities, and cities into magnets of opportunities’
งานออกแบบเปลี่ยนเพิงพักให้เป็นบ้าน เปลี่ยนการจัดสรรบ้านเป็นชุมชน และเปลี่ยนเมืองเป็นแหล่งดึงดูดโอกาสทั้งหลาย
Balkrishna Vithaldas Doshi
ฟังข้อความข้างต้นจาก Balkrishna Doshi สถาปนิก นักวางผังเมืองและนักการศึกษาก็รู้สึกแล้วว่าไม่ธรรมดา ล่าสุดในปี 2018 สถาปนิกชาวอินเดียผู้อยู่ในวงการมากว่า 70 ปี (ปัจจุบันอายุ 90 ปี) ได้รับรางวัล The Pritzker Architecture Prize ที่ถือกันว่าเป็นเกียรติสูงสุดในทางสถาปัตยกรรม พร้อมคำประกาศกิตติคุณในฐานะสถาปนิกผู้สร้างสถาปัตยกรรมที่ส่งผลต่อมนุษย์อย่างลึกซึ้ง
Doshi ถือเป็นหนึ่งในสถาปนิกคนสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการออกแบบทางสถาปัตย์ทั้งในอินเดียและในระดับนานาชาติ ซึ่งลักษณะสำคัญของงานออกแบบอยู่ที่การสร้างอาคารและพื้นที่ที่เคารพวัฒนธรรมตะวันออกและส่งผลเพิ่มพูนต่อคุณภาพชีวิตในอินเดียไปพร้อมๆ กัน ตัวตนและงานออกแบบของ Doshi ได้รับอิทธิพลจาก Le Corbusier (Charles-Édouard Jeanneret)- (Doshi เคยเป็นสถาปนิกฝึกหัดกับ Le Corbusier ในช่วงปี 1951-1955) และ Louis Kahn สองสถาปนิกผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 โดยมีแกนความคิดสำคัญอยู่ที่การตั้งคำถามกับตัวตน จนกลายเป็นแนวคิดที่จะสร้างที่พักอาศัยที่มีความยั่งยืนและมีความสัมพันธ์กันในระดับองค์รวม
งานสถาปัตยกรรมของ Doshi ได้พาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างความต้องการพื้นฐานของชีวิต, ความเชื่อมโยงระหว่างตัวตนและวัฒนธรรม, และความเข้าใจในสังคมประเพณีนั้นๆ ทั้งยังมองเห็นความเชื่อมต่อระหว่างบริบทของสถานที่นั้นๆ และสิ่งที่แวดล้อมตัวสถานที่นั้นอยู่ ซึ่ง Doshi ให้ความสำคัญกับภาวะโดยรอบของอาคารทั้งในเชิงวัฒนธรรมและในแง่ภูมิอากาศ โดยตัวเขาเองพูดถึงอาคารบ้านเรือนว่าเป็นส่วนขยายของเรือนร่างและตัวตนของเรา
กรรมการให้รางวัลเองก็ดูจะให้ความสำคัญกับงานออกแบบที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ตั้ง โดยเชิดชู Doshi ว่าเป็นคนที่ใส่ใจกับบริบทรายรอบอาคารเสมอ งานออกแบบของเขาใส่ใจในทุกมิติทั้งในทางสังคม ในเชิงสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงในเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้งานออกแบบของเขาโดดเด่นเรื่องความยั่งยืน(sustainability)
ผลงานสำคัญของ Doshi มีตั้งแต่งานออกแบบอาคาร อนุสาวรีย์ ไปจนถึงการออกแบบบ้านต้นทุนต่ำของรัฐ ทั้งยังมีบทบาทในการส่งเสริมแผนพัฒนาที่อยู่อาศัยในหลายประเทศ อาคาร The Indian Institute of Management ในเมือง Bangalore ก็เป็นงานออกแบบที่ได้รับอิทธิพลจากการออกแบบเมืองและวัดในวัฒนธรรมอินเดียที่มีลักษณะเป็นเขาวงกต โดยตัวอาคาร ลานกว้างและหอศิลป์ถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกัน ซึ่งพื้นที่เหล่านั้นสามารถป้องกันอากาศร้อนจากภายนอกได้ด้วย
Doshi มีส่วนร่วมในการออกแบบให้กับทางการของรัฐฉัตติสครห์ เมืองหลวงรัฐปัญจาบและรัฐหรยาณา ผลงานสำคัญของเขาคือการออกแบบพื้นที่พักอาศัยของข้าราชการชั้นผู้น้อย ซึ่งจากงานนี้ทำให้ Doshi สนใจการออกแบบพื้นที่ชุมชนที่ดีที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานและได้ราคาต่ำที่สุด the Aranya Low Cost Housing Township ในเมืองอินดอร์ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญที่ออกแบบเพื่อให้คนจากหลายฐานะทางเศรษฐกิจสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยตัวโครงการนี้เป็นการจัดสรรที่อยู่สำหรับคนกว่า 80,000 คน
จากผลงานและคำประกาศกิตติคุณ ดูเหมือนว่าสถาปัตยกรรมจึงไม่ใช่แค่ตัวตึก ตัวอาคาร แต่เป็นพื้นที่ที่สัมพันธ์กับทั้งผู้ใช้งานและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งอินเดียนั้นเป็นดินแดนแห่งความหลากหลายและผู้คนมหาศาล การมีสถาปนิกที่ตระหนักถึงงานของตัวเองในมิติที่แสนลึกซึ้ง และใช้การออกแบบเพื่อคนทุกชนชั้นก็น่าอิจฉาดีเนอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก