แฟนๆ จิบลิเตรียมตัวให้พร้อม อีกสี่ปีข้างหน้า (ปี 2022) สตูดิโอจิบลิร่วมกับจังหวัดไอจิ (Aichi Prefecture) เตรียมเปิดสวนสนุกตีมสตูดิโอจิบลิ คราวนี้แหละ เราจะได้ไปโลดแล่นท่องเที่ยวในดินแดนที่เราเคยฝัน ทั้งหอคอยจาก Howl’s Moving Castle บ้านกิกิจาก Kiki’s Delivery Service ซึ่งโครงการสวนสนุกนี้เป็นโครงการร่วมเพื่อใช้พื้นที่และทรัพยากรเดิมจาก Aichi Expo เมื่อปี 2005
ปีที่แล้วทางโปรดิวเซอร์ของสตูดิโอจิบลิประกาศความร่วมมือในการสร้างสวนสนุกที่จะพาเราไปยังดินแดนสำคัญในอนิเมชั่นเรื่องต่างๆ ของจิบลิ ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ผ่านมาทางสตูดิโอเผยงานออกแบบเบื้องต้นของเจ้าสวนสนุกจิบลินี้ออกมา ซึ่งเจ้าภาพที่ปล่อยออกมานี้ก็พาเรานั่งฝันกลับไปสู่ดินแดนมหัศจรรย์ของมิยาซากิเรียบร้อย
ทางการจังหวัดไอจิบอกว่า ตัวสวนสนุกจะมีเครื่องเล่นและส่วนผจญภัยที่อ้างอิงจากการ์ตูนสำคัญๆ เช่น My Neighbor Totoro, Kiki’s Delivery Service และ Howl’s Moving Castle ซึ่งจากงานออกแบบที่ปล่อยออกมา สวนนี้น่าจะเต็มไปด้วยสิ่งที่ชวนให้นึกถึงงานของมิยาซากิ คราวนี้แหละเราจะได้ขึ้นหอคอยก่ออิฐสีแดงแบบยุโรป ขี่แมงมุมและหมูป่าจำลองท่ามกลางทุ่งหญ้าป่าครึ้มแสนมหัศจรรย์
สวนสนุกจิบลิ (The Ghibli park) จะสร้างบนพื้นที่สวน Moricoro Park หรืออีกชื่อคือ Expo Memorial Park สวนที่ใช้จัดงาน Aichi Expo ปี 2005 ซึ่งการสร้างสวนใหม่บนพื้นที่ expo เก่านี้นอกจากจะเป็นการจัดการทรัพยากรใหม่แล้ว ทางการยังบอกว่า แนวคิดของสตูดิโอจิบลินั้นมีประเด็นที่เชื่อมต่อกับงาน expo เดิมที่ว่าด้วยความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ แนวคิดที่เทคโนโลยี มนุษย์และธรรมชาติสามารถอยู่กันอย่างกลมเกลียวได้ ในขณะที่สตูดิโอก็หวังว่าจะใช้พื้นที่ป่าและสวนที่มีในการสร้างจินตนาการแบบจิบลิให้เป็นรูปธรรม
ตั้งแต่จัดงาน Expo ในครั้งนั้น สวน Moricoro ได้มีการสร้างบ้านของ Satsuki และ Mei จากเรื่อง My Neighbor Totoro ซึ่งหลังจากจบงานในปี 2005 บ้านหลังนี้ก็ยังเปิดให้เข้าเรื่อยมา (แต่ค่อนข้างเป็นที่นิยมและต้องจองล่วงหน้า) โดยบ้านดังกล่าวถูกจำลองขึ้นมาอย่างดีและเต็มไปด้วยรายละเอียดจุกจิก ลิ้นชัก ตู้ โต๊ะ ของใช้ ที่สามารถหยิบจับได้ตามสมควร ซึ่งบ้านนี้เองก็เป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่น่าจะพัฒนาไปเป็นส่วนสำคัญของสวนสนุก เป็นดินแดนจากเรื่องโตโตโร่ต่อไป
โครงการสวนสนุกนี้นอกจากจะเป็นการสร้างโลกจินตนาการระดับตำนานขึ้นมา ยังเป็นโครงการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชน เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เดิม ทางเมืองพูดถึงการปรับปรุงและใช้พื้นที่โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์และธรรมชาติโดยรอบ แถมทางการยังเน้นให้ความสำคัญกับประเด็นเรื่องการ ‘เดิน’ อันเป็นรากฐานของการใช้ ‘สวน’
อ้างอิงข้อมูลจาก