4 มกราคม – วันนี้ในปี 1785 ยาค็อบ กริมม์ เป็นวันเกิดของพี่ชายคนโตจากสองพี่น้องตระกูลกริมม์ ก่อนที่หนึ่งปีต่อมา วิลเฮล์ม กริมม์ ผู้น้องจึงได้เกิดตามมา
ในบันทึกประวัติของพี่น้องสองคนบอกว่า กริมม์พี่น้องดูจะเข้ากับยุคเราได้ นิยามของยาค็อบ พี่ชายที่เกิดวันนี้บอกว่า กริมม์คนพี่เป็นคนที่ออกจะยากๆ และเป็นคน ‘อินโทรเวิร์ต’ ในขณะที่กริมม์คนน้องกลับเป็นคนง่ายๆ ทั้งชีวิตของการผลิตผลงาน พี่น้องทั้งสองใช้ห้องทำงานร่วมกัน โดยหันหน้าโต๊ะเข้าหากัน
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ต่อต้นศตวรรษที่ 19 เยอรมนีจากที่เป็นแคว้นเล็กแคว้นน้อยกำลังเกิดกระแสการรวมชาติขึ้น ในตอนนั้น การที่เราจะวัดว่า เอ๊ะ เรานี่ใช่คนพวกเดียวกัน หมู่เดียวกันรึเปล่า ก็ต้องดูและสร้างว่า เรามีอะไรร่วมกันบ้าง ง่ายและชัดเจนที่สุดคือการมีภาษาและเรื่องเล่าชุดเดียวกัน ดังนั้น การที่พี่น้องตระกูลกริมม์ลุกขึ้นเดินทางไปทั่วเยอรมนีเพื่อรวบรวมเรียบนิทานชุดที่เรียกว่าเป็น ‘นิทานเยอรมัน’ ก็เลยเป็นหนึ่งในการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สร้าง ‘ความเป็นเยอรมัน’ ให้มีเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ลองนึกภาพดูว่าเวลาเราไปเจอใคร แล้วพบว่า เฮ้ย เราพูดภาษาเดียวกัน เล่านิทานเรื่องทำนองเดียวกัน – เฮ้ย เรามันคนบ้านเดียวกันนี่เอง
ในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 พี่น้องหนุ่มน้อยตระกูลกริมม์จึงได้ออกสำรวจและรวบรวมนิทานที่เล่ากันปากต่อปากในเขตต่างๆ ของเยอมนี และเขียนบันทึกเรื่องเล่าเหล่านั้น ก่อนจะออกตีพิมพ์เผยแพร่เป็นชุดนิทานในช่วงปี 1812-1822 ภายใต้ชื่อ นิทานของเด็กๆ และเรื่องเล่าในครัวเรือน (Children’s and Household Tales) ก่อนจะกลายมาเป็นนิทานกริมม์ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้
Jack Zipes เจ้าของงานเขียนที่กลับไปสงสัยและทบทวนที่มาของนิทานกริมม์ ตั้งคำถามว่า อะไรนะที่ทำให้คนหนุ่มสองคนต้องมนตร์ของนิทานและอุทิศชีวิตให้กับการรวบรวมเรื่องเล่าอัศจรรย์ในบ้านเรือนเหล่านี้ คำตอบคืออยู่ในภูมิหลังและสายเลือดของสองพี่น้อง
ยาค็อบและวิลเฮล์มเริ่มเข้าเรียนสาขาวรรณกรรมท้องถิ่นเยอรมัน (German folk literature) ในช่วงปี 1805 พี่น้องทั้งสองต้องมนตร์กับชุดเรื่องเล่าและความรู้ ซึ่งทั้งสองเริ่มทำงานทางวรรณกรรมโดยแบ่งสายกัน ยาค็อบศึกษาเน้นไปทางภาษาศาสตร์ ส่วนน้องชายเน้นศึกษาเชี่ยวชาญไปทางวรรณคดีศึกษา
นิทานเยอรมันขึ้นชื่อเรื่องความโหด ด้วยตัวเรื่องเองและด้วยภาวะแวดล้อมในยุคนั้นที่เรื่องต้องโหดๆ เพื่อสั่งสอนเด็กๆ อย่างจริงจัง ในตอนนั้นพี่น้องตระกูลกริมม์ในฐานะนักวิชาการก็ถกเถียงกันว่า เอ๊ะ ในที่สุดแล้วงานรวบรวมเรียบเรียงของเราต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมั้ย ก่อนที่ทั้งสองจะตกลงว่างานเขียนของทั้งคู่ต้องทำหน้าที่สะท้อนเรื่องต้นฉบับอย่างตรงไปตรงมา – นิทานกริมม์ในเวอร์ชั่นต้นทางจึงเต็มไปด้วยตอนจบที่แสนสยอง ราชินีตัวร้ายในสโนไวท์ถูกบังคับให้สวมรองเท้าเหล็กแดงและเต้นรำจนขาดใจตาย แม่มดจากฮันเซลและเกรเทลที่สุดท้ายก็ถูกอบทั้งเป็น
หลังจากตีพิมพ์รวมนิทานอันเป็นผลงานสำคัญของช่วงชีวิต ในปี 1829 สองพี่น้องเข้ารับตำแหน่งศาสตราจารย์และบรรณารักษ์ประจำ University of Göttingen หลังจากนั้น ยาค็อบก็ยังคงทำงานวิชาการรวบรวมศึกษาภาษาและเรื่องเล่าก่อนจะตีพิมพ์ German Mythologies งานเขียนสำคัญของยาค็อบที่สำรวจชุดความเชื่อดั้งเดิมและตำนานของเยอรมันในยุคก่อนที่คริสศาสนาจะเข้ามา
สิ่งที่พี่น้องตระกูลกริมม์ทิ้งไว้ให้เราคือพลังของนิทาน ภาษาและเรื่องเล่ามหัศจรรย์
อ้างอิงข้อมูลจาก