บางครั้งความผิดพลาดก็นำมาซึ่งการค้นพบที่น่าตื่นเต้นกว่า!
ทีมวิจัยพัฒนา “Nanorods” ได้อย่างบังเอิญในห้องทดลอง มันคือ ก้านคาร์บอนขนาดเล็กจิ๋ว ที่สามารถสกัดและคายน้ำจากอากาศได้ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งก็ตาม ซึ่งเป็นไปได้ว่าเทคโนโลยีนี้จะสามารถนำไปปรับปรุงเป็น “เครื่องกรองน้ำจากอากาศ” ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ใช้พลังงานนิดเดียว หรือนำไปผลิตเป็นเส้นใยสำหรับสวมใส่ เพื่อการดูดซับเหงื่อจากร่างกายดีกว่าเส้นใยใดๆในโลก
David Lao จาก Pacific Northwest National Laboratory (PNNL) และทีมงานบังเอิญค้นพบ “Nanorods” ในขณะกำลังพัฒนาเส้นใยแม่เหล็กนาโน (Magnetic Nanowires) แต่กลายเป็นว่าเส้นใยที่พวกเขาทำ กลับมีน้ำหนักมากขึ้นตามความชื้นในห้องอย่างมีนัยยะ จนตอนแรกพวกเขาคิดว่าสิ่งประดิษฐ์นั้น “เจ๊งบ๊ง” ไปแล้ว
แต่เมื่อส่องดูในกล้องจุลทรรศน์ ปรากฏว่าเส้นใย Nanorods โอบอุ้มน้ำในห้องไว้ โดยน้ำจะยึดปลายเส้นใยไว้ด้วยกัน แต่เมื่อปลายเส้นใยห่างกันเกิน 1.5 นาโนเมตร น้ำก็คายออก!
ความฟลุคสุดกู่ ทำให้วงการเทคโนโลยีนาโนกลับมาคึกคัก และมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคต พวกเราจะสามารถผลิตน้ำไว้ใช้เองจากการควบแน่นหยดน้ำในอากาศ แม้จะอยู่กลางทะเลทรายอันร้อนระอุ พวกเราก็ไม่มีทางขาดน้ำตายอย่างแน่นอน
ในขณะนี้ Nanorods จะสามารถคายน้ำได้เพียง 10 – 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ทีมวิจัยก็เบนเข็มมาพัฒนามันอย่างเต็มที่ (อ่าว ไม่ทำเส้นใยไฟฟ้าอะไรนั้นแล้วเร๊อะ?) เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ Climate Change ที่เราหวังว่า คงพัฒนาทันก่อนแหล่งน้ำจืดหมดไปจากโลก
ที่มาข่าว – http://www.pnnl.gov/news/release.aspx?id=4282
ภาพ – PNNL