‘จัดซื้อจัดจ้าง’ คำที่เราอาจคุ้นหู ว่าด้วยกระบวนการทางราชการที่ต้องการจัดหาพัสดุหรือบริการ ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหลายรายสามารถเข้าร่วมแข่งขันเสนอราคาได้อย่าง ‘เสรีและเป็นธรรม’ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐได้พัสดุหรือบริการที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการ ราคาที่เหมาะสม คุ้มเงินงบประมาณ
แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นคำที่เราอาจคุ้นเคยผ่านข่าว ‘ทุจริต’ อย่างการใช้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างบังหน้า แต่เบื้องหลังล็อคมง พร้อมเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้อง ด้วยกลวิธีมากมาย โดยเฉพาะเมื่อกฎหมายมีเครื่องมืออย่าง ‘การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง’ คิดเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็กลายเป็นช่องว่างให้คนหาผลประโยชน์ได้อีกด้วย
ก่อนที่จะไปทำความเข้าใจถึงปัญหาของการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงอย่างลึกซึ้ง เราขอชวนมาทำความเข้าใจรูปแบบและเหตุผลของการมีวิธีที่ว่านี้ตามกฎหมายกันก่อน
การจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจง เป็นหนึ่งในวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560
เป็นการอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐสามารถทำการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ขายหรือผู้รับจ้างรายใดรายหนึ่งได้โดยตรง โดยไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการแข่งขันราคา เช่น การประกวดราคา หรือการสอบราคา
เหตุผลหลัก ๆ ที่อนุญาตให้ใช้วิธีเฉพาะเจาะจง คือ
- กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน กรณีพัสดุนั้นมีผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ให้บริการรายเดียว
- กรณีมีความจำเป็นต้องซื้อพัสดุเพิ่มเติมจากผู้ขายรายเดิม
- กรณีเป็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์
- กรณีเป็นการจัดซื้อจัดจ้างกับหน่วยงานของรัฐด้วยกัน
- กรณีเป็นการจัดซื้อจัดจ้างตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
- กรณีอื่น ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินเล็กน้อย หรือมีลักษณะเฉพาะ
แม้ว่าจะไม่มีการแข่งขันราคา แต่หน่วยงานของรัฐก็ยังมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ อย้างการระบุความต้องการให้ชัดเจน หรือการพิจารณาคัดเลือก
แต่เมื่อเห็นว่าวิธีอันแสนสะดวกนี้ บางครั้งก็อาจกลายเป็นชุดที่ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส The MATTER จึงไปพูดคุยกับ ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ถึงกลไกการทุจริตและแนวทางแก้ปัญหา เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นกัน
ดร.มานะ ระบุว่า “เมื่ออกฎหมายยืดหยุ่นให้เกิดความคล่องตัว ข้อยกเว้นทั้งหมดนั้นจึงจะกลายเป็นช่องว่างให้คนที่จ้องจะหาผลประโยชน์นำไปใช้ได้ทันที”
โดยอธิบายว่า การทุจริต ไม่ได้เกิดในกระบวนการโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการประมูล ยื่นซอง หรือ e-bidding และไม่ได้เกิดในกระบวนการคัดเลือก แต่จะมีการเจรจาตกลงหรือแอบวางแผนกันมาแล้วก่อนจะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมาย
ที่พบบ่อย คือการใช้เทคนิคบิดเบือนความจริง โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นจริง เช่น ผ้าสีนี้ที่จะซื้อเป็นสีพิเศษ มีผู้ผลิตได้เจ้าเดียว จึงต้องใช้วิธีเฉพาะเจาะจง หรือในก่อสร้างแฟลตทหาร ก็ระบุว่า กระทบกับความมั่นคง เพราะรถก่อสร้างและรถคนงานต้องวิ่งผ่านหน้าตึกกรมบัญชาการ หากอาจมีการลักลอบเข้าไปและจะเกิดการรั่วไหลของข้อมูลได้
หรืออาจเป็นการสร้างเรื่องราวขึ้นมาว่าไม่มีคู่แข่งขัน หรือระบุว่า เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินงานจึงจำเป็นต้องใช้ผู้รับเหมารายเดิมให้เกิดความคล่องตัว ซึ่งเป็นวิธีการที่ใช้กันเยอะเช่นกัน
นอกจากนั้น ยังมีอีกรูปแบบอย่างการซื้อขายระหว่าง ‘ภาครัฐ-ภาครัฐ’ ซึ่งไม่มีค่าคอมมิชชัน แต่ในความเป็นจริง เช่น หากมีการซื้ออาวุธยุธภัณฑ์ ก็มักจะต้องมีบริษัทนายหน้า และจะเกิดคอมมิชชันขึ้น
หรือกรณีคล้ายกัน คือถ้าหากเป็นการซื้อสินค้าราคาสูงจากต่างประเทศ เจ้าของโครงการมักใช้เทคนิคระบุว่า ผู้แทนจำหน่ายในประเทศไทยหรือ authorized dealer นั้นมีเจ้าเดียว จึงจำเป็นต้องซื้อจากบริษัทนี้ แต่ถ้าหากมีการตรวจสอบจริงๆ ก็อาจพบข้อมูลว่า บริษัทดังกล่าวตั้งมานานแค่ไหน ใครเป็นผู้ถือหุ้น เป็นผู้มีประสบการณ์ มีความรู้จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงนอมินีที่ตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับดีลจากการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้โดยเฉพาะเท่านั้น
ดังนั้น ในทางสถิติ แม้กฎหมายจะบอกว่าการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐจะต้องเสรี แล้วเป็นธรรม แต่ในความเป็นจริง การจัดซื้อด้วยวิธีการประมูลหรือ e-bidding จะมีอยู่เพียง 2.5% ของการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่ที่เหลืออีกกว่า 97.5% เป็นการใช้วิธีเฉพาะเจาะจง
แน่นอนว่าเหตุผลที่ยกตัวอย่างมาด้านบนอาจจะทำให้ผู้อ่านบางคนรู้สึกว่า เป็นเหตุผลที่ดูไม่สมเหตุสมผล ผ้าสีหนึ่งจะมีผู้ผลิตเพียงรายเดียวได้อย่างไร แล้วทำไมคนตรวจสอบถึงไม่เอะใจ
ซึ่งผู้ที่มาตรวจสอบและอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างนี้ ตามลำดับขั้นการทำงานในราชการจะเริ่มต้นจากหน่วยงานรัฐเองที่มีระบบบังคับบัญชา แล้วจึงเป็นหน่วยตรวจสอบภายใน จากนั้นจึงไปสู่หน่วยตรวจสอบภายนอก เช่น สตง. ซึ่งมีการตรวจสอบจะต้องมีการบันทึกข้อมูลในระบบของกรมบัญชีกลางเพื่อให้สามารถตรวจสอบความถูกต้องและตรวจย้อนหลังได้
ดร.มานะ อธิบายว่า ขอเพียงเขียนเหตุผลประกอบให้เข้าเกณฑ์ยกเว้นได้ คนตรวจก็ต้องอนุมัติให้ เพราะใครก็ตามที่เป็นผู้มาตรวจสอบก็จะไม่รู้เหตุผลลึกๆ ที่จะไปหักล้างได้ เพราะสุดท้ายต้องทำตามเป้าหมายของวิธีเฉพาะเจาะจง คือเป็นการการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการจัดซื้อจัดจ้าง
เพราะการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่เพียงเพื่อให้ได้สินค้าหรือบริการมาเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์อื่นๆ อีก เช่น เพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของเศรษฐกิจหรือผู้ประกอบการ และเพื่อบรรลุเป้าหมายของหน่วยงาน
ดังนั้น แม้ว่าวิธีเฉพาะเจาะจงจะถูกนำไปใช้ในทางที่ขัดกับเจตนารมย์ของกฎหมาย ก็ยังคงเป็นวิธีการที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีต่อไปอยู่ดี ไม่อย่างนั้น หน่วยงานภาครัฐจะไม่สามารถดำเนินงาน บรรลุเป้าหมายของหน่วยงานตามที่คาดหวังได้
ดร.มานะ จึงให้ความเห็นแนวทางการแก้ไขปัญหานี้ว่า “ควรต้องรื้อระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย และบรรลุเป้าหมายของรัฐ”
กล่าวคือ ไม่ได้เน้นที่ว่าจะต้องได้ราคาถูกที่สุดเท่านั้น แต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จะต้องทำให้ได้ผู้ประกอบการที่สามารถตอบสนองหรือส่งสินค้าและบริการที่บรรลุเป้าหมายของหน่วยงานได้ด้วย
ที่สำคัญคือกระบวนการบันทึกข้อมูล ตั้งแต่จะเริ่มดำเนินงาน ระหว่างดำเนินงาน และหลังดำเนินงาน จะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ตรวจสอบย้อนหลังได้
โดยระบุอย่างละเอียดว่าแต่ละขั้นตอนทำอะไร ทำไมจึงตัดสินใจแบบนั้น และทุกการตัดสินใจใครคือผู้รับผิดชอบ โดยระบุเป็นชื่อบุคคลให้ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายภาครัฐหรืเอกชน เพื่อไม่ให้ผู้ตัดสินใจลอยตัวได้หากเกิดผลกระทบใดขึ้น
หากมีการเปิดเผยเช่นนี้ ก็จะเป็น footprint ที่คนสามารถตรวจสอบย้อนหลัง และเอาผิดย้อนหลังได้ ทำให้ผู้เกี่ยวข้องมีความรอบคอบในการทำงานและการติดสันใจมากยิ่งขึ้น พยายามทำในสิ่งที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น การบันทึกและให้ตรวจสอบได้จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก
จากนั้น จึงต้องสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับการจัดซื้อจัดจ้างของที่มีราคาสูง ที่ควรมีตัวแทนจากภาคประชาชนหรือภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรับรู้ หรือในการพิจารณาด้วย
เพราะเมื่อมีคนรู้เห็นมากขึ้น ก็จะช่วยออกความคิดเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆ มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ มีอะไรไหมที่จะช่วยให้หน่วยงานประหยัดและทันสมัยมากขึ้นไหม มีอะไรส่อว่าจะเกิดการทุจริตไหม หรือส่อว่าหน่วยงานจะเสียประโยชน์ไหม
ยิ่งถ้าหากเปิดเผยอย่าวเต็มที่ คนที่เป็นนักธุรกิจในวงการนั้นๆ ไม่ว่าจะค้าขายกับรัฐหรือไม่ ก็จะมาช่วยให้ความเห็น ว่าอันไหนดี ไม่ดี อันไหนโบราณ อันไหนสิ้นเปลือง อันไหนโกงแน่ๆ โดยเฉพาะถ้าหากเแ็นผู้ประกอบการบางส่วนก็ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ ก็จะยิ่งให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ ขอเพียงมีข้อมูลที่เปิดเผยไว้อย่างเหมาะสม
ดร.มานะ ทิ้งท้ายฝากถึงประชาชนทั่วไป ว่า “หากเราเห็นว่ามีการใช้เงินภาษีประชาชน โดยเฉพาะกับการออกงานต่างๆ ที่เป็นหน้าตาของประเทศไทย ดังนั้นแล้วมันคือผลประโยชน์ของเรา เราจึงควรที่จะช่วยกันตรวจสอบดูแล”
อ้างอิงจาก