ผมเกิดมาในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นข้าราชการแทบตลอดชีวิต เราไม่ได้ยากจนแต่ก็ไม่ได้ร่ำรวยล้นฟ้า ทั้งสองทำงานส่งผมกับพี่ชายจนเรียนจบปริญญาโท ในวัยใกล้เกษียณ พ่อกับแม่ยังอาศัยที่บ้านทาวน์เฮาส์ในหมู่บ้านจัดสรรชานเมืองกรุงเทพฯ มีรถญี่ปุ่นสองคันราคาหลักล้านนิดๆ ทำงานบ้านเองแทบทุกอย่างแม้จะโดนลูกบ่นเสมอว่าให้จ้างแม่บ้าน
ทุกครั้งที่เห็นข่าวเหล่าคนที่รับราชการ ‘ร่ำรวย’ จนผิดสังเกต บ้างอยู่บ้านราคาหลายสิบล้าน ว่างๆ ก็ปรากฏตัวควงดาราไฮโซ แถมขับรถซูเปอร์คาร์ที่ทั่วโลกมีอยู่ไม่กี่คัน ผมก็อดสงสัยไม่ได้ว่าประเทศที่นายกรัฐมนตรียังได้เงินเดือนหลักแสน กระทั่งบางคนที่ตะแบงกฎหมายจนได้เงินเดือนหลายทางพร้อมกันก็น่าจะไม่ถึงหลักล้าน พี่ๆ ที่รับราชการกันเขาร่ำรวยกันมาจากไหน แถมยังลอยหน้าลอยตาในสังคมราวกับความร่ำรวยนี้เป็นสิ่งปกติ
แน่นอนครับว่าบางคนฐานะร่ำรวยมาก่อนเข้าแวดวงสีกากี แต่อย่างผู้กำกับชื่อดังที่เพิ่งถูกออกหมายจับเร็วๆ นี้เขาก็เริ่มต้นจากไม่มีอะไร แต่วันดีคืนดีกลับกลายเป็นมหาเศรษฐี แล้วไม่มีใครคิดจะไปตรวจสอบเส้นทางการเงินของเขาบ้างเลยหรือ?
แต่ต่อให้มีคนสงสัยแล้วเข้าไปหาหลักฐาน ตรวจไปก็คงพบว่าเงินทั้งหมดในบัญชีนั้นสะอาดสะอ้านเป็นความร่ำรวยอย่างสุจริตเพราะการปัดกวาดเช็ดถูเส้นทางการเงินให้ไร้รอยตำหนิไม่ใช่เรื่องยากอะไรในประเทศที่สถาบันกำกับดูแลอ่อนแอ และการทุจริตคอร์รัปชันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย แต่เป็นเส้นทางเศรษฐีของเหล่าราชการที่พร้อมจะใช้อำนาจในทางที่ผิด
ในบทความนี้ ผมจึงถือโอกาสพาผู้อ่านไปเปิดหูเปิดตาว่าถ้าได้เงินสกปรกมา คนเหล่านี้เขามีวิธี ‘ฟอก’ กันอย่างไร
ปัญหาของคนโกงที่ร่ำรวย
หากคุณต้องการจ่ายสินบนให้ตำรวจเพื่อยุติคดี แน่นอนว่าคงไม่ควักโทรศัพท์มือถือมาจ่ายเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ เพราะการโอนเงินจำนวนมหาศาลแบบไร้เหตุผลย่อมเป็นธุรกรรมที่เตะตาหน่วยงานสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ธุรกรรมใต้ดินทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชั่น การพนัน การค้ายาเสพติด จึงต้องใช้เงินสดเป็นหลัก
แต่เคยสงสัยไหมครับว่าเงินสด 1,000,000 บาทจัดเก็บยากแค่ไหน?
ธนบัตร 1,000 บาทมีขนาดประมาณกว้าง 7.5 เซนติเมตร ยาว 16.5 เซนติเมตร หากเรียงซ้อนกัน 100 ใบจะมีความสูงราว 20 เซนติเมตรและมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เงินหนึ่งล้านบาทจึงดูไม่ใช่ปัญหาในการขนส่งเท่าไหร่ แต่หากขยับเป็น 20 ล้านบาท การขนส่งต้องอาศัยกระเป๋าเดินทางความจุ 20 กิโลกรัมจำนวนหนึ่งใบ ถ้าเป็นเงิน 100 ล้านบาทก็เทียบเท่ากับข้าวถุง 5 กิโลกรัมจำนวน 20 กระสอบ แต่ถ้าเงินสดจำนวน 1,000 ล้านบาท อันนี้เรื่องใหญ่เพราะจะเป็นเงินก้อนมหึมาที่มีน้ำหนักถึง 1 ตัน
การขนส่งและจัดเก็บเงินสดนี่แหละครับปัญหาของคนโกงและรวยที่เราคงไม่มีวันเข้าใจ ปัญหาอีกประการคือเงินสดเหล่านี้จะนำไปใช้ก็ลำบาก หากอยากจะซื้อบ้านราคาสัก 20 ล้านบาทแล้วขอจ่ายเป็นเงินสด ผู้ขายก็คงส่ายหน้าแล้วบอกว่าไอ้นี่ต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล ทางเดียวที่จะเป็นคนโกงที่รวยและมีความสุข คือการฟอกเงินสดที่ได้มาแบบผิดกฎหมายให้กลายเป็นเงินที่ได้มาแบบสุจริต
แต่การจะเปลี่ยนเงินสกปรกให้สะอาดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย แน่นอนว่าการลากกระเป๋าเดินทางบรรจุเงิน 100 ล้านบาทไปฝากเข้าบัญชีที่เคาน์เตอร์ธนาคารย่อมไม่ใช่วิสัยของคนปกติ แถมสำนักงาน ปปง. เองก็เข้มงวดกับการนำเงินสดมูลค่ามากเข้าระบบ เช่น หากธุรกรรมเงินสดเกิน 2 ล้านบาท ผู้ฝากจะต้องทำรายงานรายละเอียดหยุมหยิมเพื่ออธิบายว่าเงินเหล่านั้นท่านได้แต่ใดมา
การฟอกเงินจึงเป็นศาสตร์ที่เหล่าคนชั่วต้องเรียนรู้เอาไว้เพื่อไม่ให้พลาดไปจบชีวิตอยู่ในคุก ส่วนสามัญชนคนธรรมดาอย่างเราๆ ท่านๆ ก็ควรอ่านประดับความรู้ จะได้ไม่ตกเป็นเครื่องมือหรือทางผ่านเพื่อกลบเกลื่อนเส้นทางทางการเงิน
ฟอกเงิน
ขั้นแรกของการฟอกเงินคือทำอย่างไรก็ได้เพื่อนำเงินเข้าสู่ระบบ (placement) ซึ่งเป็นขั้นตอนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด
วิธีที่ง่ายที่สุดในการนำเงินเข้าระบบคือการสเมิร์ฟ (smurfing) ซึ่งหมายถึงการว่าจ้างมวลชน (คนจริงๆ นะครับไม่ใช่ตัวการ์ตูนสีฟ้า) โดยการให้เงินก้อนใหญ่ แล้วสั่งการให้เหล่าสเมิร์ฟไปตีเนียน ทยอยฝากเงินเข้าบัญชีที่ระบุไว้ตามเงื่อนไขแบบไม่กระโตกกระตาก เช่น สำนักงาน ปปง. ไทยตั้งเกณฑ์การรายงานไว้ที่ 2 ล้านบาท เหล่าสเมิร์ฟก็อาจฝาก 200,000 บาทวันนี้ 700,000 บาทพรุ่งนี้ แล้ว 1,999,999 บาทอีกวันหนึ่งเพื่อไม่ให้มีเส้นทางเอกสารส่งไปถึง ปปง.
ดังนั้นถ้าใครเคยเจอคนมาจ้างโดยให้เงินสดก้อนใหญ่แล้วให้ทยอยโอนเข้าบัญชี หรือจ้างให้เปิดบัญชีแล้วขอเอาไปใช้ โปรดระวังไว้นะครับเพราะคุณอาจถูกลากเข้าไปมีเอี่ยวในกระบวนการฟอกเงิน
วิธีที่ยุ่งยากขึ้นมาหน่อยแต่ได้รับความนิยม คือการฟอกเงินในรูปแบบบริษัทซึ่งอาจมีการดำเนินธุรกิจจริงๆ และมักเกี่ยวข้องกับเงินสดจำนวนมหาศาล เช่น ผับบาร์หรืออาบอบนวด ที่นอกจากจะมีรายได้ตามปกติธุรกิจแล้ว ยังมีการสร้างใบเสร็จรับเงินปลอมขึ้นมาเพื่อยักย้ายถ่ายโอนเงินสกปรกเข้าสู่ระบบโดยมีฉากหน้าเป็นบริษัทได้แบบเนียนๆ แถมยังเสก ‘เอกสาร’ ได้แบบครบถ้วน เรียกว่าตรวจเจอยากมากๆ หรือต่อให้พบว่าบัญชีมีพิรุธก็เอาผิดไม่ได้อยู่ดี
ขั้นตอนที่สองคือการกลบเกลื่อนร่องรอย (layering) เพราะต่อให้เงินสกปรกไหลเข้ามาอยู่ในระบบได้อย่างถูกกฎหมาย แต่หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น มีคลิปซ้อมทรมานเรียกสินบนถูกปล่อยผ่านโซเชียลมีเดีย เงินในบัญชีที่คิดว่าปลอดภัยก็อาจถูกตรวจสอบเข้มงวดจนพบว่าเป็นเงินที่ได้จากการคอร์รัปชั่น
เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานป้องปรามการฟอกเงินตามหาแหล่งที่มาของเงินจนเจอ เหล่าคนชั่วก็ต้องใช้สารพัดเทคนิกโอนเงินสลับไปมาให้สับสนวุ่นวาย ทั้งชื่อบัญชี ธนาคาร หรือกระทั่งโอนเงินไปต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครองความลับของธนาคาร เช่น แหล่งหนีภาษีอย่างหมู่เกาะเคย์แมน หรือปรับเปลี่ยนเงินก้อนเป็นสินทรัพย์มูลค่าสูง ซื้อบ้านหรู นาฬิการาคาแพง รถซูเปอร์คาร์ บิตคอยน์ หรือเพชรพลอย แล้วจึงยอมขายขาดทุนเพื่อแปลงกลับมาให้อยู่ในรูปเงินฝากธนาคารอีกครั้ง
ขั้นตอนสุดท้ายคือการโอนเงินสะอาดกลับคืนสู่เจ้าของ (integration) แน่นอนว่าเหล่า ‘บอสใหญ่’ ย่อมไม่มาเสี่ยงภัยทำอะไรอันตรายๆ อย่างการฟอกเงิน แต่จะเป็นผู้รอรับรายสุดท้ายโดยพร้อมจะแบ่งเบี้ยบ้ายรายทางให้แก่เหล่าลูกสมุนผู้จงรักภักดี ตราบใดที่มีเงินก้อนไหลเข้ามาสู่บัญชีผ่านการทำธุรกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ไม่มีการส่งมอบจริงๆ เป็นต้น
‘ฟอกเงิน’ ปราบปรามอย่างไรดี?
ปัญหาการฟอกเงินเป็นเรื่องใหญ่ หากรัฐเข้มงวดกับการปราบปรามแก้ไข เหล่าธุรกิจใต้ดินและข้าราชการคอร์รัปชั่นก็จะทำงานได้ยากลำบากยิ่งขึ้น ลองนึกดูง่ายๆ นะครับว่าคนเหล่านี้จะมีเงินสดกองเป็นหลักหลายร้อยล้าน แต่ก็นำไปใช้จ่ายได้ไม่สะดวกมือเพราะเอาเงินเข้าระบบปกติไม่ได้ การปล่อยปละละเลยปัญหาการฟอกเงินนำไปสู่บรรทัดฐานทางสังคมที่ย่ำแย่เพราะคนทำเลวกลับร่ำรวย แถมความรวยนั้นยังถูกต้องตามกฎหมายเพราะผ่านกระบวนการฟอกจนกลายเป็นเงินสะอาดเรียบร้อยแล้ว
ประตูด่านแรกในการป้องปรามการฟอกเงินคือสถาบันการเงิน โดยทั่วไปแล้วทุกธนาคารจะต้องมีกระบวนการทำความรู้จักลูกค้า (know your customer) คือการสอบถามแหล่งที่มาของเงินเพื่อให้มั่นใจว่าธนาคารจะไม่ตกเป็นเครื่องมือในการนำเงินเข้าระบบ แต่วิธีการดังกล่าวก็ไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะกว่าเงินจะเดินทางมาถึงธนาคาร คนที่จะมาฝากย่อมมั่นใจว่าสามารถพิสูจน์แหล่งที่มาได้ในระดับหนึ่ง
แนวทางที่สองคือการประเมินธุรกรรมที่น่าสงสัย ในแต่ละวันมีเงินหมุนเวียนเปลี่ยนมือหลายล้านธุรกรรม การจะให้มนุษย์มานั่งไล่ดูทีละรายการเพื่อมองหาธุรกรรมที่น่าสงสัยคงเป็นไปไม่ได้ ส่วนเกณฑ์รายงานตามเงื่อนไขของหน่วยงานป้องปรามการฟอกเงินก็แข็งกระด้างทำให้หลบเลี่ยงได้ง่าย บริษัทหลายแห่งจึงต้องพัฒนาซอฟต์แวร์ดักจับธุรกรรมที่เสี่ยงต่อการฟอกเงิน ไม่ว่าจะเป็นการฝากเงินจำนวนมากในสาขาต่างจังหวัด การฝากเงินบ่อยครั้งจนผิดวิสัย หรือจับตากลุ่มเสี่ยงต่อการฟอกเงินเป็นพิเศษ เช่น ข้าราชการระดับสูง หรือเจ้าของกิจการที่ซื้อขายเงินสดเป็นหลัก
แนวทางที่สามคือการเพิ่มความโปร่งใส เช่น กฎหมายให้เปิดเผยสินทรัพย์ก่อนและหลังการรับตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่นซึ่งก็คือเหล่าคนที่มีอำนาจอนุมัติการใช้เงินภาษีของประชาชน แน่นอนครับว่าการเปิดเผยดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลทางตรงในการปราบปรามการฟอกเงิน แต่ก็ถือเป็นมาตรการหนึ่งที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตั้งข้อสังเกตและสอบถามหากมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าสงสัย
น่าเสียดายที่นับตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารเข้าสู่อำนาจ เหล่าองค์กรอิสระก็พร้อมทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลและส่งเสริมความโปร่งใสของทุกคน ยกเว้นคนในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ล่าสุดยังอิดเอื้อนไม่ยอมเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ว่าจะมีคำสั่งจากคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารก็ตาม
การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่หลายคนคาดว่าจะปราบปรามการฟอกเงินอย่างชะงัด คือการยกเลิกเงินสดแล้วไปใช้สกุลเงินดิจิทัลแบบ 100 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้สามารถสอบทานเส้นทางการเงินได้ทุกธุรกรรม พร้อมทั้งดักจับธุรกรรมที่น่าสงสัยได้ง่ายขึ้นเพราะทุกอย่างมี ‘ร่องรอย’ ให้สามารถสืบย้อนกลับไปได้
แต่ก่อนจะถึงวันที่โลกไร้เงินสด ต้องยอมรับว่าการป้องปรามการฟอกเงินก็ไม่ต่างจากสงครามที่ไม่มีวันชนะ ต้องยอมรับว่าคนเลวที่ต้องการฟอกเงินไม่ใช่คนโง่ พวกเขาพร้อมจะฉวยใช้ทุกช่องทางเพื่อแปลงเงินสกปรกเป็นเงินสะอาด สิ่งเดียวที่ทำได้คือสร้างความยุ่งยากและเพิ่มต้นทุนให้คนเหล่านี้ทำงานยากขึ้นเพื่อป้องปราม เพราะการสืบสาวเส้นทางทางการเงินเป็นเรื่องแสนจะยุ่งยากและส่วนใหญ่มักคว้าน้ำเหลว
แต่ต่อให้ยากแค่ไหน การปราบปรามการฟอกเงินก็เป็นเรื่องที่รัฐควรลงทุน เพราะหากสามารถตัดท่อน้ำเลี้ยงได้เมื่อไหร่ เหล่าเศรษฐีธุรกิจใต้ดินและปรสิตที่ดูดกินภาษีประชาชนก็ย่อมอยู่ไม่ได้และอาจกลับตัวกลับใจหันมาประกอบสัมมาชีพ หรืออย่างน้อยก็หยุดพฤติกรรมชั่วร้ายที่เป็นอันตรายต่อประชาชน
นี่ผมคงไม่ได้โลกสวยเกินไป ใช่ไหมครับ?
อ้างอิงข้อมูลจาก
A Beginner’s Guide To Laundering Money
Five ways to help combat money laundering
Illustration by Kodchakorn Thammachart