สถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือที่เพิ่งได้ชื่อเรียกว่า COVID-19 ยังคงเป็นที่เฝ้าระวัง และป้องกัน ซึ่งหลายประเทศก็ออกมาตรการตรวจตรา คัดกรองผู้ป่วย ควบคุม และพยายามเชื้อแพร่ระบาดออกไป
แต่นอกจากการเฝ้าระวังในประเทศแล้ว สถานการณ์การเข้า-ออกของผู้คนระหว่างประเทศก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ ไม่เพียงแค่กับไฟลท์บินต่างๆ แต่กับเรือสำราญ ที่ล่องผ่านประเทศต่างๆ รับผู้คนจากหลายประเทศ และรวมตัวอยู่ในเรือเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งปัจจุบัน มีเรือ MS Westerdam ที่ถูกปฏิเสธเทียบท่าจาก 4 ประเทศ เพราะหวาดกลัวว่า มีผู้ติดเชื้ออยู่ในเรือด้วย
สถานการณ์ของเรือนี้เป็นอย่างไร ประเทศไหนไม่ให้ลงจอด และนอกจากเรือลำนี้แล้ว มีเรือสำราญอื่นๆ ที่พบเจอสถานการณ์อย่างเดียวกันหรือไม่? The MATTER สรุปมาให้แล้ว
1) เรือสำราญ Westerdam เป็นเรือของบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ที่ดำเนินการอยู่ที่เมืองซีแอตเติล สหรัฐฯ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัทเรือสำราญยักษ์ใหญ่คาร์นิวาลคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเรือนี้ มีแผนจะเดินทางทั้งหมด 30 วัน โดยเริ่มออกเดินทางจากสิงคโปร์เมื่อวันที่ 16 มกราคม ที่ผ่านมา ก่อนจะแวะจอดรับผู้โดยสารที่ไต้หวัน และฮ่องกง และมีกำหนดจะเทียบท่าที่โยโกฮามา ประเทศญี่ปุ่น ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์นี้
2) บนเรือลำนี้ มีผู้โดยสารทั้งหมด 2,257 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวอเมริกัน อังกฤษ และออสเตรเลีย และมีรายงานว่า มีชาวไทยทั้งหมด 21 คน โดยเป็นผู้โดยสาร 19 คน และพนักงานบนเรือ 2 คน ซึ่งผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับจีนแผ่นดินใหญ่
3) แต่เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทางการญี่ปุ่น นำโดยนายกฯ ชินโซ อาเบะ กล่าวว่า ผู้โดยสารต่างชาติจะไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งเนื่องจากสงสัยว่ามีผู้ป่วยติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธ์ใหม่ และจะไม่ให้เรือสำราญเทียบท่าด้วย
4) หลังจากนั้น ทางบริษัทฮอลแลนด์อเมริกาไลน์ ก็ได้ประกาศว่า จะพยายามติดต่อท่าเรือ และประเทศต่างๆ เพื่อหาทางจอดเทียบท่า แต่ก็ถูกปฏิเสธอย่างต่อเนื่องจากทั้งไต้หวัน ฟิลิปปินส์ และเกาะกวม แต่ถึงอย่างนั้น บริษัทเจ้าของเรือก็ระบุว่า ไม่พบกรณีผู้ติดเชื้อบนเรือลำนี้ และมีมาตราการคัดกรองผู้โดยสารแล้ว
5) เมื่อโดนปฏิเสธจาก 4 ท่าเรือในการลงจอด วันที่ 10 กุมภาพันธ์ ทางบริษัทได้ประกาศว่า การล่องเรือจะสิ้นสุดลงในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ โดยจะขึ้นฝั่งที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางกลับประเทศต่อไป ทั้งยังประกาศว่า แขกจะได้รับเงินคือ 100% จากการล่องเรือ 14 วันด้วย (นับจากวันที่เรือออกจากท่าในฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์)
6) จากข่าวที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดกระแสในสื่อโซเชียลมีเดียของไทย ที่มีทั้ง ผู้เห็นด้วย และผู้ที่ไม่เห็นด้วย กับการที่รัฐบาลจะยอมให้เรือสำราญลำดังกล่าว เทียบท่าในไทย เพราะความกลัวจากแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งต่อมา อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกฯ และ รมต.สาธารณสุข ก็ประกาศว่า ไทยปฏิเสธ ไม่ให้เรือสำราญนี้ลงจอดด้วย ทั้งยังบอกว่าท่าเรือยังไม่ได้อนุญาตตั้งแต่แรก
7) โดยอนุทิน ระบุว่า ไทยได้พิจารณาเรื่องหลักมนุษยธรรม และความปลอดภัยของชีวิตประชาชน ซึ่งตอนนี้ถือว่าไม่รู้รายละเอียดภายในเรือลำนี้ ซึ่งแม้ว่า ทาง ผอ.องค์การอนามัยโลก (WHO) จะโทรศัพท์เข้ามา เพื่อยืนยันว่าบนเรือไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่อนุทินเองก็ย้ำว่า ไม่มีข้อมูลเพียงพอ และคิดว่าบนเรือไม่มีเครื่องมือตรวจเชื้อด้วย แต่ทางไทยจะให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หากเรือทอดสมอในทะเลสากล และขอความช่วยเหลือมา
8) แต่แม้ว่า รัฐบาลจะออกมาประกาศไม่อนุญาตให้เรือเข้า แต่ ผศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็มองว่า การให้เรือได้เทียบท่า ถือเป็นโอกาสของไทย ในฐานะประเทศที่มีระบบป้องกันภัยทางสาธารณสุขอันดับที่ 6 ของโลก และโอกาสในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วย
9) หลังจากโดนไทยปฏิเสธ บริษัทเจ้าของเรือก็ออกมาประกาศว่า “เราทราบถึงรายงานของสถานะเทียบท่าแหลมฉบังของเรือ Westerdam แล้ว เรายังคงทำงานอย่างแข็งขันในเรื่องนี้ และจะแจ้งข้อมูลความคืบหน้าทันทีที่เราทราบ เราทราบดีว่าสิ่งนี้สร้างความสับสนให้กับแขกและครอบครัวของแขก และเราขอบคุณที่กรุณาอดทนรอ”
10) ผู้โดยสารหลายคนในเรือ ก็ได้อัพเดทโซเชียลมีเดียถึงสถานการณ์ในเรือ ซึ่งบางคนก็ยังบอกว่า เขายังได้กินอาหาร และได้รับความบันเทิงจากเรือ และขอบคุณลูกเรือที่ยังบริการ ทั้งบางคนก็บอกว่า ผู้คนในเรือสบายดี ยังไม่มีคนล้มป่วยแต่อย่างใด รวมถึงบ่นว่า ไม่ได้รับแจ้งล่วงหน้าเรื่องการยกเลิกการอนุญาตจอดเทียบท่า ทำให้ไม่ได้ยกเลิกเที่ยวบินขากลับไปประเทศต้นทาง
11) เรือลำนี้ มีปริมาณอาหารและเชื้อเพลิงสำหรับให้บริการผู้โดยสารเป็นเวลา 15 วันตามหมายกำหนดการของทริปเท่านั้น ซึ่งหลังจากโดนไทยปฏิเสธแล้ว คาดการณ์ว่า เป้าหมายต่อไปคือเวียดนาม และมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่ตอบรับคำตอบใดๆ ซึ่งสำนักข่าว Posttoday ก็วิเคราะห์ว่า หากถูกปฏิเสธ และเรือลำนี้ ต้องไปจอดที่ที่เรือจดทะเบียนซึ่งคือ เนเธอแลนด์ และสหรัฐฯ นั้น ทำให้เรือต้องออกทำเลต่อไปอีกนับเดือน กว่าจะถึงจุดหมาย
12) เรือสำราญ และการหวาดระแวงเรื่องการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ไม่ได้เกิดขึ้นกับเรือ Westerdam เป็นลำแรก เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีเรืออย่าง Costa Smeralda ที่ถูกกังวล และจะไม่ได้จอด แต่ภายหลังก็พบว่าไม่มีผู้ติดเชื้อ หรือเรือ Diamond Princess ที่มีผู้โดยสารมากกว่า 3,500 คน ซึ่งตอนนี้จอดเทียบอยู่ที่โยโกฮามา และอยู่ระหว่างการกักกัน และตรวจเชื้อ ซึ่งตอนนี้ก็พบผู้ติดเชื้อมากถึง 174 คนแล้ว
.
13) โดยสรุปแล้ว ตอนนี้ มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 มากถึงกว่า 44,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 1,114 คน แล้ว โดยนอกจากจีนมีการพบผู้ติดเชื้อใน 24 ประเทศ ซึ่งญี่ปุ่น ที่เป็นประเทศที่เรือ Diamond Princess จอดเทียบท่า ก็กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดอันดับ 2 รองจากจีนแผ่นดินใหญ่คือ 202 คน ในขณะที่ไทยนั้น มีล่าสุด 33 ราย
เรือ Westerdam จะได้จอดเทียบท่าที่ไหน และบนเรือลำนี้ไม่มีผู้ติดเชื้อจริงไหม รวมไปถึงสถานการณ์ของเรือสำราญลำอื่นๆ อย่าง Diamond Princess จะมีการตรวจพบผู้ติดเชื้ออีกเท่าใด เราคงต้องติดตามสถานการณ์นี้ รวมถึงมาตการป้องกันการแพร่ระบาดของประเทศอื่นๆ ต่อไป
อ้างอิงจาก
https://time.com/5782129/cruise-ship-stranded-coronavirus-fears/
https://www.hollandamerica.com/blog/ships/ms-westerdam/statement-regarding-westerdam-in-japan/
https://www.bbc.com/news/business-51466678
https://web.facebook.com/photo.php?fbid=10157858508652225&set=a.111723572224&type=3&theater
https://www.posttoday.com/world/614511
https://www.matichon.co.th/politics/news_1966190
#Recap #Westerdam #TheMATTER