ทุกวันนี้ แทบไม่มีใครพูดถึง ‘กรณีพลับพลาไชย’ หรือ ‘เหตุจลาจลที่พลับพลาไชย’ กันแล้ว ทั้งที่โดยเนื้อแท้แล้ว ต้องพูดว่าเป็นกรณีพลับพลาไชยนี้เอง ที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ หรือจุดวิกฤตที่พลิกผันให้ ‘ฝ่ายขวา’ เริ่มหันมาตระหนักและตระหนกกับการต่อสู้ของ ‘ฝ่ายซ้าย’ แล้วค่อยๆ นำทางสังคมไปสู่ความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
กรณีพลับพลาไชยคือการจลาจลกลางกรุงที่กินเวลานานถึง 4-5 วัน และมีผู้เสียชีวิตมากถึง 25 คน มีความพยายามเผาสถานีตำรวจ เผารถ และมีการกราดยิงจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มันคือเหตุโศกนาฏกรรมสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า สังคมที่ร้องเพลงชาติว่า ‘ไทยนี้รักสงบ’ โดยเนื้อแท้แล้วแฝงฝังเหตุปัจจัยให้เกิดความรุนแรงในประวัติศาสตร์มากแค่ไหน ผลพวงของมันก่อให้เกิดความแข็งแกร่งของกลุ่มฝ่ายขวาต่างๆ ที่ต่อมาจะมีบทบาทอย่างสูงในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 อย่างกลุ่มกระทิงแดงและกลุ่มนวพล
กรณีพลับพลาไชยคือ ‘ข้อต่อ’ แห่งความรุนแรง เกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย เกี่ยวพันกับการเหยียดเชื้อชาติอย่างการเหยียดคนจีน เกี่ยวข้องกับการต่อต้านจักรวรรดิยักษ์ใหญ่อย่างจักรวรรดิอเมริกาที่กำลังขยายตัวต่อต้านคอมมิวนิสม์ และเป็นเหตุที่อุบัติขึ้นแบบ spontaneous หรือเกิดขึ้นเองโดยไร้การจัดตั้ง แต่เหตุปัจจัยต่างๆ มาชุมนุมกันพร้อมเพรียงโดยไม่คาดฝัน แล้วจุดชนวนให้เกิดความรุนแรงขึ้นมา
คุณอยากรู้ไหม – ว่าในช่วงเวลานั้นเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง?
กรณีพลับพลาไชยเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กรกฎาคม พ.ศ.2517
ซึ่งต้องเล่าให้ฟังเสียก่อน ว่าเกิดขึ้นในช่วงที่สังคมอยู่ในยุคหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ที่กล่าวกันว่าขบวนการนักศึกษาได้ชัยชนะ สามารถขับไล่ ‘สามทรราช’ (คือจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร และพันเอกณรงค์ กิตติขจร) ออกไปจากประเทศได้
การพังทลายของโครงสร้างอำนาจเก่า (ที่ต้องยอมรับว่ามีหลากหลายสถาบันหลักๆ ทางสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง) ทำให้ผู้คนที่เคยถูก ‘กดทับ’ ไม่ว่าจะในทางเศรษฐกิจ สังคม หรือกระทั่งการถูก ‘เหยียด’ ด้วยเรื่องเชื้อชาติ ทยอยกันลุกขึ้นมาต่อสู้กับการถูกกดทับเหล่านั้น
แต่ในเวลาเดียวกัน อุดมการณ์คอมมิวนิสม์และประชาธิปไตยในระดับโลกก็กำลังต่อสู้กันอย่างรุนแรง ฝ่ายหนึ่งคืออเมริกา อีกฝ่ายคือรัสเซียและจีน โดยฝั่งคอมมิวนิสม์มีการแทรกซึมเข้ามา ‘จัดตั้ง’ ในกลุ่มที่ถูกกดทับอย่างนักศึกษาและแรงงานด้วย นั่นทำให้สังคมไทยแบ่งตัวเองออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน คือฝ่ายขวาที่เป็นฝ่ายอนุรักษ์นิยม และฝ่ายซ้ายที่มีแนวคิดสังคมนิยม (ซึ่งต้องกล่าวไว้ที่นี้ด้วยว่า อาจจะไม่ตรงกับแนวคิดแบบคอมมิวนิสม์เสียทีเดียว และกระทั่งในหมู่คอมมิวนิสต์เองก็มีความแตกต่างหลากหลายด้วย)
กรณีพลับพลาไชยจึงเกิดขึ้นในบริบทที่สลับซับซ้อนมาก ถ้าย้อนกลับไปยุคนั้น คำว่า ‘สไตรค์’ เป็นคำที่เราพบเห็นได้บ่อย เฉพาะปี พ.ศ.2517 มีกรณีพิพาทระหว่างลูกจ้างกับนายจ้างมากถึง 477 ครั้ง มีการนัดหยุดงานหรือสไตรค์ 357 ครั้ง แต่กรณีพลับพลาไชยมีความแตกต่างจากกรณีพิพาทอื่นๆ ก่อนหน้านั้น เพราะนี่น่าจะเป็นครั้งแรกก็ว่าได้ ที่ทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและฝ่ายปราบปรามใช้ความรุนแรงกระทำต่อกันแบบโจ่งแจ้งจนแทบเรียกได้ว่าเป็นสงครามกลางเมือง
มีผู้วิเคราะห์ว่า การที่กรณีพลับพลาไชย ‘ไม่ถูกจำ’ หรือถึงขั้น ‘ถูกผลักไส’ ออกจากความทรงจำของสังคมทั้งที่มันคือจุดเริ่มต้นความรุนแรงที่ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ไปจนถึงขั้นสร้างความเกลียดชังในสังคมไทยให้เกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมานั้น เป็นเพราะความรุนแรงเรื่องการเหยียดชาติพันธุ์ (ถึงระดับที่ทางการระบุว่ากลุ่มผู้ก่อการเป็นกลุ่ม ‘กุมารจีน’) ไม่สอดคล้องกับ ‘เรื่องเล่า’ อันแสนดีงามของความสัมพันธ์ระหว่าง ‘จีน – สยาม’ (ซึ่งก็ต้องบอกด้วยว่า ความสัมพันธ์อันแสนดีงามนั้น เกิดขึ้นเฉพาะกับกลุ่มพ่อค้าจีนระดับบน แต่ไม่ได้หมายรวมไปถึงคนจีนชนชั้นแรงงานทั้งหลาย)
กรณีพลับพลาไชยเริ่มขึ้นง่ายๆ แค่เพียงตำรวจสายตรวจพยายามสั่งให้คนขับแท็กซี่คนหนึ่งที่จอดรถอยู่ในที่ห้ามจอดเคลื่อนรถออกไป แต่คนขับแท็กซี่ที่ชื่อ ฝู แซ่หลู่ (พูน ล่ำลือประเสริฐ) ไม่ยอม ตำรวจจึงเข้าจับกุม แต่เขาตะโกนบอกว่าถูกตำรวจซ้อม ตำรวจทำร้ายประชาชน เป็นเหตุให้คนแถวนั้นมามุงดู แล้วก็เริ่มมีการด่าทอตำรวจ และขว้างปาก้อนอิฐก้อนหินใส่สถานีตำรวจ
จนในที่สุดก็มีคนมาชุมนุมกันมากกว่าสองพันคนที่หน้าสถานีตำรวจ
เหตุการณ์รุนแรงข้ึน เมื่อมีการจุดไฟเผารถตำรวจที่ด้านหน้า แล้วช่วยกันเข็นรถให้พุ่งเข้าไปในสถานีตำรวจ นั่นเองที่ก่อให้เกิดการยิงขู่ ยิงสวน และสุดท้ายก็เป็นการยิงเข้าไปในกลุ่มของผู้คน ทำให้คนตายทันทีหลายศพ แล้วจากนั้นก็ไม่มีอะไรมาหยุดความรุนแรงนี้ได้
จากช่วงค่ำวันที่ 3 กรกฎาคม เหตุการณ์ลุกลามบานปลายไปจนถึงวันที่ 4-6 มีการบุกยึดรถเมล์ การเผารถเมล์ การปล้นร้านปืน การสกัดด้วยการยิง และอื่นๆ จนในที่สุดก็มีการส่งทหารเข้าไปปฏิบัติการแทนตำรวจ เหตุการณ์กระจายไปทั่วกรุง มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยขบวนทหารได้เคลื่อนกำลังทั้งรถถัง รถจี๊ป รถสายพานลำเลียง ไปคุ้มครองสถานที่สำคัญๆ เช่น พระบรมมหาราชวัง โรงไฟฟ้า สถานีรถไฟ รวมไปถึงปั๊มน้ำมันสามทหารด้วย
เหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปกติในวันที่ 7 แต่ที่น่าสนใจก็คือ ‘เรื่องเล่า’ หรือคำอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากแต่ละฝ่ายมี ‘เรื่องเล่า’ ในรายละเอียดที่ไม่เหมือนกันเลย จากตำรวจเป็นแบบหนึ่ง จากการแถลงของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ สหพันธ์นักศึกษาเสรี และขบวนการประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นอีกแบบหนึ่ง คืออธิบายว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะระบบตำรวจที่ผ่านมาเป็นระบบที่กดขี่ขูดรีดประชาชนมาโดยตลอด พอมีคนตะโกนว่าถูกตำรวจทำร้าย ความไม่พอใจร่วมนี้จึงปะทุขึ้นมา และตำรวจก็ใช้วิธีแก้ปัญหา ตอบโต้ความรุนแรงด้วยความรุนแรงยิ่งกว่า เหตุการณ์จึงบานปลาย
ที่สำคัญก็คือ มีการออกแถลงการณ์ต่างๆ ที่ทำให้คนโกรธแค้นมากขึ้น
เช่นการบอกว่าเหตุการณ์นี้เกิดจากกลุ่ม ‘กุมารจีน’
ซึ่งเป็นการใช้ประเด็นเชื้อชาติเข้ามาขับเน้น
จึงยิ่งก่อปัญหาเข้าไปใหญ่ เหมือนโยนฟืนสุมเข้าไปในกองไฟ
ในเวลาเดียวกัน ก็มีผู้พยายามอธิบายว่า เหตุการณ์นี้น่าจะเกิดจากซีไอเออยู่เบื้องหลัง เพราะวันที่ 4 กรกฎาคม เป็นวันชาติอเมริกัน และกลุ่มนักศึกษามีนัดหมายจะประท้วงอเมริกากันอยู่พอดี ซีไอเอจึงจุดชนวนเรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อหันเหความสนใจ แม้คำอธิบายนี้จะไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย แต่ก็ทำให้เห็นได้ว่านี่อาจเป็น ‘ราก’ ให้กับความคิดที่ยังสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน คือความคิดประเภทที่ว่า – ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง
ในบทความเรื่อง ‘จลาจลพลับพลาไชยบนช่องว่างความทรงจำจีนสยามศึกษา’ โดย สิทธิเทพ เอกสิทธิพงษ์ ในวารสารมนุษยศาสตร์สาร ปีที่ 13 ฉบับที่ 2 วิเคราะห์ไว้ว่า ผู้ก่อจลาจลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนจีน ‘ระดับล่าง’ เช่น เป็นคนขับแท็กซี่ เป็นลูกจ้างร้านขายแก๊ส เป็นคนขับรถสามล้อเครื่อง หรือเป็นวัยรุ่น โดยกลุ่มคนจีนเหล่านี้มีชีวิตที่แตกต่างไปจากกลุ่มชาติพันธุ์จีนชั้นกลางและชั้นสูงอย่างมาก
ในด้านหนึ่ง รัฐไทยพยายาม ‘ผนวกรวม’ คนจีนชนชั้นสูงเข้าสู่ความเป็นไทยด้วยวิธีต่างๆ เช่นด้วยการให้เปลี่ยนนามสกุล ใครมีนามสกุลเป็นแซ่อยู่ถือว่าน่าละอาย เคยมีจดหมายจากสำนักบริหารของนายกรัฐมนตรึถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงให้นักศึกษาที่จะเข้ารับปริญญาเปลี่ยนนามสกุลเป็นไทย เป็นต้น ดังนั้น อะไรก็ตามที่แสดงออกซึ่งความเป็นจีนจึงต้องถูกควบคุม จัดการ หรือกลืนกลายให้เป็นไทย (ข้อความจากบทความดังกล่าว)
สภาวะแบบนี้ไม่ได้ทำให้เกิดแค่การผนวกรวมเท่านั้น แต่ยังเกิดการเบียดขับอีกด้วย เช่นมีการพยายามปิดโรงเรียนจีน เนื่องจากเชื่อว่าโรงเรียนจีนเป็นแหล่งบ่มเพาะลัทธิคอมมิวนิสม์ เป็นต้น แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เกิดขึ้นพร้อมกับแรงดึงจากสังคมจีนในไทย โดยเฉพาะคนรุ่นก่อนๆ ที่พยายามจะรักษาอัตลักษณ์จีนในเชิงวัฒนธรรมไทย แต่ก็ต้องสยบยอมกับรัฐไทยในทางการเมือง แล้วมากดทับกับคนรุ่นลูกของตัวเองอีกทีหนึ่ง
ทั้งหมดนี้จึงสร้างแรงกดดันมหาศาลต่อกลุ่มชาติพันธุ์จีนโดยเฉพาะวัยรุ่น เป็นแรงกดดันจากหลายทิศหลายทาง ทั้งความละอาย ความอยากเป็นไทย แต่ในขณะเดียวกันก็อยากรักษาความเป็นจีน อัตลักษณ์ในตัวสับสนรุนแรง ดังนั้น การแถลงว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากกลุ่ม ‘กุมารจีน’ จึงยิ่งเท่ากับการเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการระเบิดออก
แม้จะรุนแรง แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของระเบิดลูกใหญ่
กว่าจะที่ระเบิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีให้หลัง – ซึ่งก็คือเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519
ตอนหนึ่งของบทความในฐานข้อมูลของสถาบันพระปกเกล้าชื่อ ‘6 ตุลาคม 2519’ ที่ธิกานต์ ศรีนารา เรียบเรียงมาจาก ‘อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง’ ของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ บอกไว้ว่า
แผนการก่อการรัฐประหารและเตรียมการที่จะสังหารนักศึกษานั้น ได้มีการเตรียมการมาตั้งแต่ก่อน อย่างน้อยตั้งแต่กลางปี พ.ศ.2517 เมื่อเกิดกรณีพลับพลาไชย กรณีนี้ ก็ได้เห็นถึงความพร้อมของอำนาจรัฐ ที่จะใช้ความรุนแรงต่อฝ่ายประชาชน หลังจากนั้นก็เริ่มมีการจัดตั้งกองกำลังฝ่ายขวา และกลุ่มอันธพาลการเมืองขึ้น แล้วใช้ความรุนแรงสะกัดกั้นการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษา
ที่จริงแล้ว แทบพูดได้ว่า กรณีพลับพลาไชยไม่เกี่ยวอะไรกับขบวนการนักศึกษาเลย แต่เหตุจลาจลใหญ่ขนาดนั้น ย่อมทำให้รัฐไทยเกิดความตระหนก ซึ่งไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ ความตระหนกนี้เป็นเหมือนคลื่นพลังงานที่แผ่ซ่านไปในฝั่งอนุรักษ์นิยม ก่อเกิดความเห็นพ้องต้องกันว่าหากเกิดการจลาจลต่างๆ ขึ้น รัฐต้องพร้อมใช้กำลังปราบปราม การโยงใยภาพใหญ่ทั้งหมดนั้นไม่ยาก เพราะเมื่อผู้ก่อจลาจลที่พลับพลาไชยถูกขนานนามว่าเป็นกลุ่ม ‘กุมารจีน’ เสียแล้ว การโยงคนกลุ่มนี้เข้ากับความเป็นคอมมิวนิสม์ก็ไม่ใช่เรื่องยาก และยิ่งไม่ยากเท่าไหร่ที่จะโยงไปถึงขบวนการนักศึกษาที่มีขบวนการจัดตั้งเข้าไปแทรกแซง
ทุกวันนี้ เรารู้ว่า ‘ผู้เล่น’ ฝ่ายขวาที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มีอยู่ด้วยกันสามกลุ่ม คือกลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง และกลุ่มนวพล (ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้ว ทั้งสามกลุ่มมีความเชื่อมโยงกัน ต่างกันที่ยุทธวิธี) แต่ในที่นี้จะกล่าวถึงสองกลุ่มหลัง ที่พูดได้ว่ามีความเข้มแข็งเข้มข้นขึ้นสืบเนื่องจากกรณีพลับพลาไชย
หลายคนมองว่า กลุ่มกระทิงแดงคือกลุ่มนักเรียนอาชีวะที่เป็นอันธพาล เป็นพวกเกกมะเหรกเกเรทั่วไป แต่แท้จริงมีการจัดตั้งอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ต้องบอกก่อนว่า ในเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ กลุ่มนักเรียนอาชีวะเป็นกลุ่มที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการต่อสู้ เพราะเป็นกลุ่มที่พร้อมเป็นแนวหน้า พร้อมปะทะ หลังเหตุการณ์แล้ว จึงเกิดความพยายามจากภาครัฐที่จะแยกพลังนักเรียนอาชีวะออกจากขบวนการนักศึกษา ด้วยการค่อยๆ ส่งนักเรียนอาชีวะฝ่ายขวาเข้าไปอยู่ในศูนย์กลางนักเรียนอาชีวะแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดการแยกตัวทางความคิดระหว่างกลุ่มนักเรียนอาชีวะกับกลุ่มนักศึกษา และก่อเกิดเป็นกลุ่มกระทิงแดงขึ้นมาทีละเล็กละน้อย
แต่เมื่อเกิดกรณีพลับพลาไชยขึ้น ความกังวลใจของฝ่ายขวาเข้มข้นขึ้น
กลุ่มกระทิงแดงจึงจริงจังขึ้น ส่งผลให้เกิดการก่อตั้งกลุ่มกระทิงแดงอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2517 (คือหลังเกิดกรณีพลับพลาไชยไม่กี่เดือน) โดยคนที่มีบทบาทสำคัญได้แก่ พ.อ.สุดสาย หัสดิน ที่ยืนยันว่าจะต้องตั้งกองกำลังขึ้นมาเพื่อต่อต้านขบวนการนักศึกษา ต่อมากลุ่มนี้เริ่มใช้อาวุธที่รุนแรงขึ้น เช่น ระเบิดพลาสติก ระเบิดขวด รวมไปถึงอาวุธสงครามอื่นๆ เรียกว่าเป็นกลุ่มแนวหน้าพร้อมปะทะและใช้ความรุนแรงทางตรง
อีกกลุ่มที่รู้จักกันดีก็คือกลุ่มนวพล ถ้าสังเกตดีๆ จะพบว่ากลุ่มนี้ก็ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการในเดือนตุลาคม พ.ศ.2517 เช่นเดียวกับกลุ่มกระทิงแดง (นั่นหมายความว่าเกิดข้ึนหลังกรณีพลับพลาไชยไม่กี่เดือน) และถ้าสังเกตความหมายของชื่อกลุ่ม ก็จะรู้ว่าคำว่า ‘นวพล’ หมายถึงอะไร โดยกลุ่มนี้ผู้ก่อตั้งคือกลุ่มทหาร อย่างเช่นอดีตเจ้ากรมข่าวทหาร พล.อ.สายหยุด เกิดผล เป็นต้น โดยมีสมาชิกคนสำคัญหลายคน เช่น ธานินทร์ กรัยวิเชียร หรือพระกิตติวุฒโฑ ผู้ให้สัมภาษณ์ในปี พ.ศ.2519 ว่า “การฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่เป็นบาป”
กลุ่มนวพลไม่เน้นความรุนแรงทางตรง แต่เน้นวิธีการเชิงจิตวิทยามากกว่ากระทิงแดง พบว่าสมาชิกของกลุ่มนวพลจำนวนหนึ่งมีความใกล้ชิดกับหนังสือพิมพ์ดาวสยาม ซึ่งแม้ไม่ได้ใช้ความรุนแรงทางตรง แต่เนื้อหาของข่าวก็กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงทางความคิด
จะเห็นได้ว่า กว่าจะเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ขึ้นมา มีเงื่อนไขและเหตุปัจจัยก่อนหน้ามากมาย โดยเฉพาะเหตุปัจจัยที่เป็นความรุนแรงเชิงโครงสร้างและความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม อันเป็นเชื้อไฟสุมให้กับความรุนแรงทางตรง รวมถึงมีการจัดตั้งขบวนการต่างๆ ขึ้นต่อต้านกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราว กรณีพลับพลาไชยจึงเป็นเหมือนจุดวิกฤต และในที่สุด โศกนาฏกรรมที่เรียกกันว่า ‘ขวาพิฆาตซ้าย’ ก็เกิดขึ้น และปะทุออกมาเป็นเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ
คำถามก็คือ – เราจะต้องเผชิญหน้ากับประวัติศาสตร์ที่ซ้ำรอยคล้ายไร้ความทรงจำและการเรียนรู้แบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่
อ้างอิงข้อมูลจาก