ถ้าเกิดเหตุด่วนเหตุร้าย คุณยังไว้ใจแจ้งให้ตำรวจจัดการให้หรือไม่?
ในปัจจุบัน ความน่าเชื่อถือของตำรวจถูกตั้งคำถามมากขึ้น เห็นได้จากการที่เมื่อเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดนโกง ถูกทำร้าย หลายคนอาจบอกว่า “บอกตำรวจก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา โพสต์ลงโซเชียลมีเดียแล้วให้ข่าวดังดีกว่า เรื่องจะได้เดินเร็ว”
นอกจากนี้ ล่าสุดจากกรณีปมขัดแย้งในองค์กรตำรวจ จากประเด็นพัวพันเว็บพนัน ระหว่าง ‘บิ๊กต่อ – บิ๊กโจ๊ก’ ซึ่งหลังแถลงจับมือเคลียร์ใจ มีประชาชนแสดงความเห็นว่า “แทนที่จะสืบหาความจริง กลับเรียกเคลียร์ใจ” และมีความกังวลว่าเรื่องราวการทุจริตที่แฉก่อนหน้านี้จะจางหายไปกับสายลมเหมือนหลายครั้งในอดีต
สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่าภาพลักษณ์ของตำรวจในสายตาประชาชนเป็นอย่างไร? หรือคนไทยยังเชื่อมั่นในตำรวจมากแค่ไหน? The MATTER พาไปสำรวจความเชื่อมั่นในตำรวจไทย และต้นตอปัญหาภาพลักษณ์ของตำรวจกัน
คนไทยยังเชื่อมั่นในตำรวจมากแค่ไหน?
ผลสำรวจจาก สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้าโพล) เรื่อง ‘ประชาชนเชื่อมั่นตำรวจแค่ไหน’ เมื่อเดือนตุลาคม 2566 สำรวจประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,310 หน่วยตัวอย่าง แบ่งความเชื่อมั่นเป็น 4 ด้าน และให้เลือกระดับความเชื่อมั่น 5 ระดับ คือ เชื่อมั่นมาก, ค่อนข้างเชื่อมั่น, ไม่ค่อยเชื่อมั่น, ไม่เชื่อมั่นเลย และ ไม่มีข้อมูล/ไม่ตอบ พบว่า
- ด้านการปฏิบัติงานอย่างเต็มที่และโปร่งใส
- ยังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง โปร่งใส ตรวจสอบได้และไม่เลือกปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่น ไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 62.14%)
- ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ไม่คล้อยตามอิทธิพลหรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ผิดกฎหมาย ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่น ไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 68.25%)
- ด้านการให้บริการและอำนวยความสะดวก
- สามารถช่วยเหลือประชาชนที่ประสบความเดือดร้อนบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่น ไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 68.55%)
- สามารถควบคุมการจราจรให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่น ไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 65.27%)
- สถานีตำรวจให้การต้อนรับและอำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี รวมถึงสามารถให้ความช่วยเหลือแนะนำทั้งด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 57.63%)
- มีบริการแจ้งความคืบหน้าในคดีแก่ผู้เสียหายภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 55.5%)
- ด้วยความสามารถในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม
- มีความสามารถในการใช้ระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการปฏิบัติงานและดำเนินคดี ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 56.57%)
- ระบบในการรับแจ้งเหตุ และตอบสนองของเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือประชาชน มีสัดส่วนระหว่างค่อนข้างเชื่อมั่นไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 49.09%) พอๆ กันกับไม่ค่อยเชื่อมั่นไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 46.87%)
- สามารถสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงทางคดี และจับกุมผู้กระทำผิดได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ค่อนข้างเชื่อมั่นไปจนถึงเชื่อมั่นมาก (รวม 52.52%)
- สามารถเข้าระงับเหตุการณ์อาชญากรรมได้ทันท่วงที ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 54.12%)
- สามารถป้องกันและปราบปรามแหล่งอบายมุขหรือสิ่งผิดกฎหมายในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 68.93%)
- ด้านการบริหารงานองค์กร
- องค์กรตำรวจมีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นไปจนถึงไม่เชื่อมั่นเลย (รวม 61.23%)
- องค์กรตำรวจปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นเลยไปจนถึงไม่ค่อยเชื่อมั่น (รวม 71.6%)
- ระแบบการแต่งตั้งโยกย้ายในองค์กรตำรวจมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม ส่วนใหญ่ไม่เชื่อมั่นเลยไปจนถึงไม่ค่อยเชื่อมั่น (รวม 70.84%)
ข้อมูลเหล่านี้อาจจะสามารถสรุปได้ว่า ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นในตำรวจนักในประเด็นด้านความโปร่งใส การแทรกแซงทางการเมือง ความเป็นธรรม และการจัดการคดีต่างๆ ให้เสร็จสิ้นได้อย่างเรียบร้อย อย่างไรก็ดี ยังค่อนข้างเชื่อมั่นในด้านการช่วยเหลืออำนวยความสะดวก
The MATTER จึงลองสำรวจประเด็นและตัวอย่างเหตุการณ์ที่ทำให้ประชาชนไม่ค่อยเชื่อมั่นในตำรวจ พบว่า ประชาชนมักออกมาแบ่งปันกระสบการณ์ว่า กระบวนการจัดการหลังแจ้งความนั้นล่าช้า ไม่ได้รับการประสานงานถึงความคืบหน้า และจนถึงที่สุดก็ไม่สามารถจับคนร้ายได้ หรือแม้กระทั่งต้องไปตามหาตัวคนร้ายและหาหลักฐานมาให้ตำรวจด้วยตัวเอง
ในเรื่องการใช้เงินและงบประมาณก็น่าสงสัย โดยช่วงที่ผ่านมามีข่าวที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการรับส่วยของตำรวจ เช่น ส่วยทางหลวงหรือส่วยสติกเกอร์, ทุนจีนสีเทา, ส่วยบ่อน, ส่วยผู้ค้าบริการทางเพศ หรือแม้กระทั่งเก็บส่วยจากแม่ค้าขายกล้วยทอดและประชาชนทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วการรับส่วยหรือสินบนนั้นถือว่ามีความผิดทางอาญา ไปจนถึงการใช้งบสร้างแฟลตหรูให้ตำรวจ รวมถึงการซื้อยุทโธปกรณ์ ที่มีการตั้งงบประมาณซ้ำซ้อน
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นเรื่องการแทรกแซงทางการเมือง เช่น ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งต่างๆ หรือการแทรกแซงในคดีความ ไปจนถึงเหตุการณ์ตำรวจทำร้ายประชาชนที่คนออกมาตั้งคำถามในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง ว่าตำรวจใช้อำนาจเกินขอบเขตหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนรู้สึกไม่ไว้ใจในความเป็นกลางของตำรวจ และเห็นว่าไม่มีประสิทธิภาพในการทำงานเท่าที่ควร
แล้วทำไมตำรวจถึงไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ?
จากการอภิปรายในวาระ 1 ของการพิจารณาร่าง พรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 พนิดา มงคลสวัสดิ์ สส.ก้าวไกล ให้ข้อมูลว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบประมาณ 117,198 ล้านบาท แต่ถูกจัดสรรเพื่อใช้ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการทั่วประเทศ 16,749 ล้านบาท หรือเพียง 14.29% ของงบที่ได้รับ
ซึ่งตัวเลขนี้ ยิ่งน้อยลงจากปีที่ผ่านมา ทำให้ตำรวจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ให้เห็นภาพง่ายๆ เช่น รถตำรวจที่ใช้ปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับค่าน้ำมันสูงสุดเพียง 3,000 บาท/เดือนเท่านั้น ซึ่งใช้ทำงานจริงได้เพียงประมาณครึ่งเดือน รวมถึงค่าอุปกรณ์สำนักงานที่ไม่เพียงพอ เช่น กระดาษ เครื่องถ่ายเอกสาร โต๊ะทำงาน ทำให้ต้องใช้เงินส่วนตัว และกลายเป็นช่องทางให้เกิดการเสาะหาช่องทางรับเงินอื่นๆ อย่างการรับส่วย
นอกจากนั้น อัตรากำลังพลยังขาดแคลน โดยปัจจุบัน ทุกพื้นที่ทั่วประเทศมีจำนวนพนักงานสอบสวนรวม 12,010 ตำแหน่ง และในทางปฏิบัติยังอาจน้อยกว่านั้น และยังว่างอยู่ถึง 6,589 ตำแหน่ง มาจากการลาออกก่อนเกษียณจำนวนมากเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งมาจากเหตุผลหลายประการ ทั้งเบื่อระบบ ความเครียดสะสม ไปจนถึงการ “สูญสิ้นศรัทธา” ในระบบข้าราชการตำรวจที่ไม่โปร่งใส ไม่สุจริต
แก้ไขอย่างไรเพื่อกอบกู้ความเชื่อใจของประชาชนในตำรวจ
“นี่ไม่ใช่ปัญหาปัจเจกบุคคลที่ตำรวจต้องดำรงตนให้เหมาะสมเท่านั้น แต่นี่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการตั้งเข็มทิศให้ถูกทางตั้งแต่ต้น คือการจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสม” พนิดา กล่าวระหว่างการอภิปรายงบประมาณ โดยชี้ว่าหากจัดสรรงบประมาณให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการได้เหมาะสม ประสิทธิภาพการทำงานก็จะเพิ่มขึ้นได้
นอกจากนั้น แท้จริงแล้วการปฏิรูปตำรวจถูกระบุอยู่ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 258 โดยมีเนื้อความสำคัญที่บอกว่าจะต้องแก้ไขให้ตำรวจทำภารกิจได้อย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งและโยกย้าย จนนำมาซึ่งการเกิดขึ้นของ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 อย่างไรก็ดี คนยังตั้งข้อสงสัยว่าการปฏิรูปนี้ยังไม่สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นัก
ขณะที่ ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในคณะผู้วิจัย โครงการแนวทางการสร้างความยุติธรรมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง (People-Centric Justice) เคยให้ความเห็นไว้ว่า ประเทศไทยควรพัฒนากระบวนการยุติธรรมโดยการมองเส้นทางชีวิตของประชาชนเป็นหลัก โดยทำให้กระบวนการเข้าถึงง่าย กฎหมายเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อให้คนมีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรมและสร้างความเชื่อมั่นต่อระบบในภาพใหญ่ขึ้นได้
อ้างอิงจาก
https://nidapoll.nida.ac.th/survey_detail?survey_id=659
https://thematter.co/social/police-brutality/152017
https://www.youtube.com/watch?v=heI46RygIu0
https://www.youtube.com/watch?v=4RSggMcAY8w
https://www.the101.world/multiverse-of-justice-thanee/
https://www.youtube.com/watch?v=eWfTOfayPik