เจ้าหมีเท็ดดี้เป็นของเล่นที่เต็มไปด้วยความหมาย คล้ายเป็นเพื่อนสนิทของเด็กๆ เรามักเห็นตุ๊กตาหมีน้อยตามโรงพยาบาล ของขวัญยอดนิยมที่ผู้ใหญ่ซื้อมามอบให้เด็กๆ ในวันเยี่ยมไข้ ซึ่งวันนี้ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ เป็นวันที่ร้านค้าร้านหนึ่งเริ่มวางขายตุ๊กตาหมีและให้ชื่อว่า หมีเท็ดดี้ ที่ได้รับการตั้งชื่อตามประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ของสหรัฐฯ
บ้านเราอาจจะยังไม่ค่อยมีวัฒนธรรมหมีเท็ดดี้เท่าไหร่ แต่ในโลกตะวันตก เจ้าหมีถือเป็นของเยี่ยมไข้ เป็นเพื่อนและขวัญกำลังใจสำคัญของเด็กๆ ในยามป่วยไข้ มีงานศึกษาบอกว่า การที่เด็กๆ ได้เอาตุ๊กตาหมีไปโรงพยาบาล และมีการเล่นสวมบทบาทเป็นพ่อแม่ลูกกับเจ้าหมี การมีตุ๊กตาหมีอยู่ด้วยจะช่วยลดความกลัวโรงพยาบาลของเด็กๆ ได้ นอกจากนี้เรามักเห็นเจ้าหมีเท็ดดี้ในฐานะเพื่อนใจของเด็กๆ (หรือกระทั่งผู้ใหญ่อย่างเรา) เช่น ในเวลาเดินทาง หรือการพลัดพรากต่างๆ การมีเจ้าหมีไว้กอดดูจะช่วยให้ความอบอุ่นกับเราได้ทั้งร่างกายและจิตใจ
ย้อนไปในปี 1903 วันที่นาย Morris Michtom เจ้าของร้านของเล่นเอาตุ๊กตาหมีมาวางขาย แล้วตั้งชื่อว่า ‘หมีเท็ดดี้’ ตามชื่อเล่นของประธานาธิบดี Theodore Roosevelt ซึ่งก่อนจะขายนายมิชทอมก็ได้ทำการขออนุญาตท่านประธานาธิบดีเพื่อใช้ชื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งแรงบันดาลในการตั้งชื่อเจ้าหมีนี้มาจากข่าวเรื่อง ‘ล่าหมี’ ของท่านประธานาธิบดีเอง
ข่าวนี้อาจจะฟังดูเป็นเชิงบวก ว่าท่านประธานาธิบดีเป็นผู้มีใจเมตตา แต่จริงๆ ในสมัยนั้นท่านประธานาธิบดีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงมักการออกล่าเพื่อกีฬาและความบังเทิง ข่าวสำคัญที่ทำให้ประธานาธิบดีกลายเป็นตุ้กตาหมี คือ ในครั้งหนึ่งที่รูสเวลต์ออกล่าสัตว์ในปี 1902 มีรายงานว่าขณะที่กำลังล่าอยู่นั้นได้ไปเจอหมีตัวหนึ่งถูกมัดไว้กับต้นไม้ รายละเอียดเรื่องค่อนข้างหลากหลาย บ้างก็ว่าหมีแก่ หมีบาดเจ็บ แต่หลักๆ คือเน้นประเด็นความเมตตาว่า รูสเวลต์ตัดสินใจไม่ยิงหมีตัวนั้นและปล่อยมันไป – บ้างก็ว่าตัดสินใจยิงเพื่อปลดปล่อยมันจากความทรมาน
ผลคือ การกระทำที่ดูเท่นั้นได้กลายเป็นข่าวเป็นคราวในวันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน Clifford K. Berryman นักวาดภาพการ์ตูนแนวการเมือง ได้วาดภาพเหตุการณ์ดังกล่าวลงวอชิงตัน โพสต์ เป็นภาพรูสเวลต์ในชุดล่าสัตว์เต็มยศ ทำท่าปฎิเสธไม่ลงมือสังหารลูกหมีน้อยที่ถูกจับพร้อมถูกฆ่า ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ด้วยภาพลักษณ์ที่ดูแข็งและกิจกรรมแบบกร้าวๆ แต่ภายในของรูสเวลต์นั้นเต็มไปด้วยความอบอุ่นนุ่มนวล
นาย Morris Michtom เจ้าของร้านของเล่นเห็นการณ์ดังนั้นก็ประทับใจในความอบอุ่น จึงได้ทำตุ๊กตาหมีพร้อมส่งคำขออนุญาตไปที่ทำเนียบขาวเพื่อใช้ชื่ออย่างป็นทางการ ก่อนจะได้รับการอนุญาต ต่อมารูสเวลต์จึงได้เอาตุ๊กตาหมีเข้าเป็นสัญลักษณ์ของพรรครีพับลิกันสำหรับการหาเสียงในปี 1904
เจ้าตุ๊กตาหมีที่เรารู้จัก และกลายเป็นเพื่อนวัยเยาว์ของเรา ยังมีเบื้องหลังทางประวัติศาสตร์และนัยทางการเมืองของสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก