“คนดำก็มีค่า” “ต้องปฏิรูประบบตำรวจ และระบบยุติธรรม” “ตำรวจต้องถูกดำเนินคดี”
ข้อความเหล่านี้ ต่างก็เป็นข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ที่ออกมาประท้วง เดินขบวน ชูป้าย ต่อสู้กับสิทธิของคนผิวดำ หลังจากกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ชาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่เสียชีวิตหลังถูกตำรวจใช้เข่ากดคอ ซึ่งเขาไม่ใช่รายแรก ที่เสียชีวิตจากฝีมือของตำรวจ โดยที่ไม่มีอาวุธ
แต่แค่เหตุการณ์นี้ จากที่เรียกร้องให้ตำรวจผู้เกี่ยวข้องถูกตัดสินคดี และลงโทษ ได้กลายเป็นการพูดถึงประเด็นที่ใหญ่ขึ้น ของความไม่เท่าเทียม และเหยียดเชื้อชาติ ที่ฝังรากมายาวนานในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ
ซึ่ง ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญการเมืองสหรัฐฯ ก็ได้เล่าให้เราฟังถึงประวัติศาสตร์ความขัดแย้งทางเชื้อชาติ ทางกลายมาเป็นเรื่องการเมือง ไปถึงการมองกระบวนชุมนุมภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอเมริกา
ทำไมการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ถึงนำสู่การประท้วงใหญ่ขนาดนี้ ปัญหาหลักๆ จริงๆ คืออะไร
เริ่มจากตัวปัญหารูปธรรมเฉพาะหน้าก็คือ การเสียชีวิต ภายใต้เงื้อมมือของตำรวจ คือการใช้เข่ากดทับ ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ต้องอธิบายเลย ขนาด ปธน.ทรัมป์ก็ยังพูดไม่ออกพอเห็นภาพ เพราะมันรับไม่ได้ อันนี้ก็เลยเป็นตัวที่ดึงคนออกมา แต่ว่าถ้าเพียงเท่านี้ 1-2 วัน ก็น่าจะพอ และบางเมืองที่มีปัญหาแบบนี้ หรือคนกลุ่มอย่าง Black Lives Matter ออกมาก็น่าจะพอ แต่คราวนี้ การชุมนุมกระจายออกไป และคนที่ชุมนุมคือคนหลากหลาย ที่ใช้คติอันเดียวกัน เพื่อบอกว่านี่คือปัญหาคนดำ ชีวิตคนดำมันไม่มีค่าขนาดนี้เชียวหรือ
การที่มันลามออกไปได้รวดเร็ว ต้องโยงไปตอบปัญหาที่ลึกกว่านี้ในประเด็นที่ 2 คือ เกิดอะไรขึ้นกับการใช้กฎหมาย เพื่อควบคุมความสงบ ชีวิต และทรัพย์สินของคน และไปมีผลอะไรต่อคนดำ และประเด็นสุดท้าย ต้องกลับไปสู่รากที่เป็นพื้นฐานของมัน คือมรดกของระบบ racism หรือลัทธิเหยียดเชื้อชาติ และสีผิว
เราชอบเรียกว่าลัทธิเหยียดสีผิว แต่จริงๆ ในอเมริกา ผิวอื่นๆ อย่างผิวน้ำตาล ผิวเหลืองอย่างเรา ก็อาจจะถูกกีดกัน ถูกเหยียดบ้าง แต่มันจะไม่ลึกซึ้งเท่าคนดำเลย เพราะมันมีความขัดแย้งกันมายาวนาน ไม่ใช่แค่ปฏิสัมพันธ์ภายนอก ดังนั้นจะเห็นได้ว่า จากเรื่องการตายของจอร์จ ฟลอยด์ ถอยไปสู่เรื่องใหญ่คือระบบกฎหมาย ความยุติธรรม โดยเฉพาะระบบของตำรวจ และสุดท้ายใหญ่ที่สุดก็คือ ระบบ race relations หรือความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ ซึ่งเชื้อชาติที่มีปัญหาที่สุดคือ แอฟริกัน-อเมริกัน หรือคนผิวดำ มันคือ 3 จุดใหญ่ๆ ที่เชื่อมกันมาตลอด
จริงๆ ในอเมริกามีคนหลากหลายเชื้อชาติมาก ทั้งลาติน เอเชียเองด้วย แต่ทำไมคนดำ ถึงโดนเหยียดรุนแรงมากที่สุด
มีคำตอบในทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจนเลยว่า คนผิวดำ ถือเป็นกลุ่มคนที่ไม่ใช่คนผิวขาวกลุ่มแรก ที่ร่วมในการสร้างประเทศอเมริกา ตั้งแต่เป็นอาณานิคม และระบบทาส ก็บังคับให้คนผิวดำเป็นทาสมายาวนาน ถึงปี 1865 ถึงยอมเลิกทาส อันนี้ก็ทำให้ฐานะของคนผิวดำในสังคมอเมริกา ถึงปัจจุบัน มีฐานะที่เด่น และต่างจากเชื้อชาติอื่นๆ ที่มาทีหลัง ซึ่งไม่มีฐานะที่โดดเด่น และสามารถปรับตัวเข้ากับระบบของอเมริกันได้ง่าย
แต่คนผิวดำ แค่ถามว่าเขาเป็นคนอเมริกันไหม กว่าจะตอบได้ก็ตบตีกันมาหลายยุค เพราะในตอนที่เป็นทาส เขาถูกปฏิเสธความเป็นอเมริกัน เพราะเขาไม่มีสิทธิการเป็นพลเมือง รัฐธรรมนูญไม่ยอมรับ เขาเป็นอเมริกันไม่ได้ และเขาก็ไม่อยากเป็นด้วย เพราะเขาอยากเป็น free man เป็นอิสระ ทีนี้พอเขาได้อิสรภาพ เสรีภาพ ในช่วงสงครามกลางเมืองแล้ว เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ปรับปรุงอะไรต่างๆ แต่สิทธิพลเมืองก็ไม่ได้เต็มร้อย มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 เพื่อแก้ไขสิทธิความเป็นพลเมือง
แต่เวลาจะไปเลือกตั้ง ต้องไปผ่านกฎหมายของแต่ละรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐก็เขียนกฎหมายกีดกันคนผิวดำ เช่น ต้องเป็นผู้เสียภาษี ซึ่งถ้าจะเสียภาษีก็ต้องมีที่ดิน มีทรัพย์สินส่วนตัว แต่เขาไม่มี เพราะเป็นทาสมาก่อน พอเป็นอิสระก็ต้องไปเป็นลูกจ้าง เป็นชาวนา ทำแรงงาน ก็เอาตัวรอดแบบคนยากจนทั่วๆ ไป แล้วพอมีการสอบความรู้ในการอ่านเขียนต่างๆ พวกเขาก็ไม่ได้เข้าโรงเรียน อ่านหนังสือไม่ออก ต้องอ่านหนังสือพิมพ์เพื่อตรวจคุณสมบัติลงทะเบียนเลือกตั้ง ก็ไม่ผ่าน เขาก็ถูกปฏิบัติแบบนั้น
ตอนแรกมีส่วนหนึ่งที่บอกว่าให้กลับไปแอฟริกา ซึ่งไลบีเรีย คือประเทศที่ตั้งขึ้นมาเพื่อให้อดีตทาสในอเมริกาไปอยู่ ที่กลายเป็นประเทศล้าหลังแห่งหนึ่งในแอฟริกา ก็ไม่มีใครกลับไป ทาสอเมริกันก็ไม่ไป และจนถึงศตวรรษที่ 20 พออเมริกาเริ่มใหญ่ขึ้น ร่ำรวยขึ้น เศรษฐกิจขยายไปทั่วประเทศ คนผิวดำจากภาคใต้ก็อพยพขึ้นมาทำงาน เริ่มมีส่วนเทางเศรษฐกิจ เขาก็เรียกร้องความเป็นพลเมืองมากขึ้น สร้างเศรษฐกิจของเขาเอง เขาจึงเริ่มมองเห็นว่าถ้ามีชีวิตทางเศรษฐกิจ มีชีวิตทางการเมือง ซึ่งก็ไม่ได้เปิดเต็มที่ ยังต้องต่อสู้อยู่ นักคิดของคนผิวดำ ก็เริ่มเสนอว่า ถ้าเราจะต้องอยู่ต่อไป คือหนีไปไหนไม่ได้ จึงเสนอปรับความคิดใหม่ว่า เราก็เป็นอเมริกันด้วย เป็น ‘แอฟริกัน-อเมริกัน’
เขาต้องเอาทั้งคู่ เพราะว่าทิ้งไม่ได้ ทิ้งเชื้อชาติตัวเองไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเชื้อชาติตัวเองอย่างเดียว ไม่ยอมรับอเมริกัน ก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ไม่มีอนาคต ดังนั้นหนทางการต่อสู้ของคนผิวดำอเมริกา ตั้งแต่ยุคทาส มาถึงหมดยุคทาส ก็มี 2 ทางตลอด คือ จะเป็นอเมริกันแบบสุดๆ เลย ได้รับสิทธิ ได้รับความมั่งคั่ง ก็มีคนบางคนเอาแบบนั้น แต่อีกส่วนนึงก็บอกว่าลองดูแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ และโอกาสที่จะไปสู่จุดนั้น มันไม่ง่าย เพราะฉะนั้นจึงเอาแอฟริกัน หรือความเป็นคนผิวดำเป็นหลัก
2 ทางนี้ อย่างการต่อสู้ ในยุคมาร์ติน ลูเธอร์ คิง บอกว่าเอาสันติ อหิงสา เดินขบวนต้องไม่ใช้ความรุนแรง ก็จะมีมัลคอม เอ็กซ์ ที่บอกว่าถ้าเดินแบบซื่อบื้อ ก็ถูกยิงตาย ถูกทุบตีตลอดเวลา เราก็มีปืน มีกระบอง ต้องป้องกันตัวเองบ้าง มันเป็นตรรกะที่มีการเถียงกันตลอดเวลาในกระบวนการต่อสู้ของคนผิวดำ ดังนั้นความรุนแรง กับการใช้สันติวิธี มันเป็นคู่ขนานของการต่อสู้ของคนผิวดำในอเมริกามายาวนาน
ผมว่ามันเป็นสภาพที่อยู่กับสังคมอเมริกันที่ทุกอย่างเป็นสีขาวหมด ไม่ยอมให้สีดำไปเปื้อน ก็เลยเรียกได้ว่าเป็นการเหยียดเชื้อชาติที่ไม่มีที่ไหนแล้ว ที่จะทารุณสุดๆ เหมือนที่อเมริกาทำ
เราเห็นภาพการต่อสู้ของคนผิวดำมาหลายร้อยปีแล้ว ผ่านการต่อสู้ของมาติน ลูเธอร์ คิง แต่ทำไมทุกวันนี้ ปัญหานี้ยังคงอยู่ คนผิวดำก็ยังต้องเรียกร้องสิทธิกันอยู่
ตั้งแต่หลังสงครามกลางเมือง มันมียุค reconstruction โดยตอนนั้นรีพับลิกัน ที่ยังเป็นพรรคหัวก้าวหน้า ก็เสนอนโยบายสุดๆ เล่นงานพวกผิวขาว หรือเดโมแครต ซึ่งตอนนั้นเดโมแครตเป็นพวกนายทาส ดังนั้นโดยธรรมเนียม คนดำต้องเลือกรีพับลิกัน มันเพิ่งมาเปลี่ยนหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เดโมแครตมาเป็นเสรีนิยม และรีพับลิกันมาเป็นพวกนายทุนใหญ่ เป็นฝ่ายขวาจนถึงบัดนี้
ซึ่งคนดำ ทุกครั้งที่ได้ผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้า ไม่กี่ปีคนขาวก็มาแย่งกลับไป ตอนที่อเมริกาเลือกตั้งและมีคนผิวดำเข้าไปนั่งในสภาของรัฐ ส.ว., ส.ส.ในวอร์ชิงตันคนแรกๆ ไม่เกิน 4 ปี พอคนผิวขาวตกลงกับเดโมแครตได้ ก็คืนสิทธิให้นายทาส นายทาสได้รับสิทธิกลับขึ้น ก็กลับไปยึดรัฐสภาท้องถิ่นต่างๆ กลับมา และเขียนกฎหมายลูก ที่เรียกว่า Jim Crow ซึ่ง Jim คือสีดำ Crow คืออีกา โดยกฎหมายนี้ เป็นกฎหมายที่กีดกันคนผิวดำ เพราะอเมริกามีกฎหมายให้สิทธิเสรีภาพ เขาจึงมีกฎหมายที่มายกเว้น คนที่ไม่มีทรัพย์สิน คนที่ไม่มีการศึกษา ฯลฯ คือไม่ใส่คำว่า คนดำ แต่ใส่ทุกอย่างที่ทำให้คนดำจะต้องติดซักข้อ และก็ไม่ได้รับสิทธิ ไปโรงเรียนก็ไม่ได้ การช่วยเหลือจากรัฐก็ไม่ได้ สวัสดิการก็ไม่ได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่เขาโดน
และต้นศตวรรษที่ 20 คนผิวขาวที่ไม่พอใจคนดำ ก็ตั้งกลุ่มขึ้นมา ชื่อว่ากลุ่ม Ku Klux Klan ที่ออกล่าคนผิวดำ คนไหนที่ทำตัวไม่ดี หรือเขามักใช้คดีผู้หญิงถูกลวนลาม จะโดนข่มขืน และอ้างว่า เพื่อปกป้องสตรีผิวขาว ปกป้องความสงบของคนผิวขาว ก็จับ และไม่ต้องไต่สวน ตั้งศาลเตี้ย แขวนคอ ก่อนแขวนคอก็เชือดเนื้อ บางทีก็ควักหัวใจออกมา แล้วแจกกันกิน ผมอ่านแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ปกติเลย ซึ่งวิธีนี้ทำมายาวนานกว่า 30 ปี คนผิวดำถูกแขวนคอไปเป็นพันคน ทั้งประวัติศาสตร์นี้ แทบจะไม่ให้มีเรียน
ตอบคำถามว่าทำไมเขาถึงยังต้องสู้ในปัจจุบัน เพราะว่าเขาได้ชัยชนะมา 1 ก้าว ก็ถูกผลักตกไปอีก 2 ก้าว ฟื้นขึ้นมาใหม่ช่วงปี 1950 ที่ได้ฟ้องศาลสูง เพื่อเอาสิทธิในการเข้าโรงเรียนเหมือนคนขาว โดยไม่แบ่งแยกโรงเรียน เพราะในช่วง 50 ปี ระหว่าง 1900-1950 อเมริกาใช้ระบบ segregate and equal แบ่งแยกแต่เท่าเทียม หมายความว่า โรงเรียนของรัฐ มีแยกของคนผิวขาว และผิวดำ ซึ่งโรงเรียนคนผิวขาวก็ต้องดีกว่า ซึ่งในปี 1954 ศาลยอมตัดสินว่า อันนี้ผิดรัฐธรรมนูญที่ประกันสิทธิพลเมือง เพราะฉะนั้นระบบนี้ต้องเลิก และขยายไปถึงระบบอื่นๆ ตามมา
มาร์ติน ลูเธอร์ คิงถึงต้องออกมารวมขบวนคนผิวดำ สร้าง Civil right movement ขึ้นมา คราวนี้เป็นประเด็นสิทธิพลเมือง ซึ่งที่สำคัญคือ สิทธิในการเลือกตั้งในทุกระดับ และห้ามไม่ให้รัฐออกกฎหมายลูกที่กดทับสิทธิคนผิวดำ อันนี้ก็ทำให้การต่อสู้เหมือนไม่สิ้นสุด เพราะถึงกฎหมายจะผ่าน แต่ในทางปฏิบัติที่แม้จะมีส่วนที่เหมือนดีขึ้นเรื่อยๆ มี ส.ส.คนผิวดำมากขึ้น แต่รัฐต่างๆ โดยเฉพาะในมลรัฐทางภาคใต้ ก็แอบสอดไส้มาตรการต่างๆ ที่ทำให้การใช้สิทธิเลือกตั้งของคนผิวดำมีอุปสรรค อย่างล่าสุดการที่ไปเพิ่มกฎหมายว่า ถ้าคนที่โดนคดีอาญา ไม่มีสิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง
ส่วนใหญ่คนก็ไม่รู้เรื่องพวกนี้ จนคนจำนวนมากเริ่มมาร้องเรียนว่าเขาไม่มีสิทธิเลือกตั้งเลย หลังถูกข้อหาเล็กๆ อย่างลักเล็กขโมยน้อย ซึ่งคนผิวดำก็มักจะมีปัญหาเรื่องนี้ เพราะว่าเขาจน และไม่มีทางออก การที่จะตกไปเป็นอาญชากรด้วยเรื่องต่างๆ มีอยู่ตลอดเวลา
อันนี้ก็ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นคดีอาญา คนเป็นแสนในแต่ละรัฐ เพราะคนผิวดำตกเป็นอาชญากร และเข้าคุกจำนวนมาก เขาคำนวณในปี 1972 มีคนผิวดำประมาณ 3 แสน 5 หมื่นที่อยู่ในคุก แต่ปี 2000 เพิ่มเป็น 2 ล้านคน อัตราเพิ่มขึ้นสูงสุดในประเทศตะวันตกทั้งหลาย และตอนนี้เขากำลังฟ้องศาล และศาลสูงยอมรับแล้วว่าการเอาคดีมโนสาเร่มาเพื่อตัดทอนสิทธิทางการเมืองไม่ได้ แต่ก็ยังมีความพยายามจะสอดไส้ว่าจะเขียนกฎหมายยังไง ไม่ใช้คำว่าเป็นผู้ต้องหา ก็จะใส่คำต่างๆ เช่น เคยไม่จ่ายค่าปรับไหม หามาหมด เพื่อจะเอามาเป็นข้อหา
เห็นไหมว่าทำไมเขาจึงต้องสู้ คนผิวดำเขาต้องอยู่ เขาไปไหนไม่ได้ เพราะนี่เป็นบ้านเขา และเป็นบ้านที่เขาสร้างมามากกว่าคนอื่นด้วยในอดีต ในแง่ประวัติศาสตร์คนผิวดำ
เพราะดังนั้น ที่คนเดินขบวนกันยังไม่เลิก ผมว่าคนต้องการจะฟังกันว่า ที่ประธานาธิบดีรู้ไหมว่าปัญหาคืออะไร และจะยอมรับไหมว่ารัฐสภากับทำเนียบขาวต้องร่วมมือกัน ถ้าไม่ออกมายอมว่าจะปฏิรูปตำรวจ ปฏิรูปอาญาที่จับคนแบบเหวี่ยงแห แล้วแหก็ติดคนดำ มันเหยียดเชื้อชาติ ยอมรับไหม แต่ทรัมป์ไม่ยอมพูด เพราะถ้าพูดก็เสียคะแนนให้กับฝ่ายขวาของเขา มันเป็นปัญหาที่ทั้งสะสม หมักหมม โยงไปกับเรื่องการได้เปรียบเสียเปรียบของเศรษฐกิจ ในทางวัฒนธรรม ซึ่งคนขาวก็ยอมชนชาติอื่นๆ ในแง่ที่ว่าถ้าเข้ามา ต้องปรับตัวยอมรับความเป็นอเมริกัน แต่ลึกๆ แล้ว ก็คืออเมริกันที่คนขาวเหนือกว่า
แต่สำหรับคนผิวดำ มันเป็นจุดบอดที่เป็นหลุมพรางที่เขาพยายามที่จะปิด ว่าระบบทาสจบไปแล้ว แต่ในความเป็นจริงมันไม่หมด แล้วในอเมริกาเขามีหลักฐานชั้นต้นทุกอย่าง กลับไปถึงยุคทาส และคนก็ไปขุดหา บางคนหาสมัยที่ปู่ของปู่เป็นทาส และรวมกลุ่มกันจะฟ้องเรียกค่าเสียหายรัฐบาล ว่าสมัยที่โคตรเง้าเขาเป็นทาส เขาไม่ได้เงินชดเชยอย่างถูกต้อง มันจึงเป็นความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติที่จบไม่ได้ ซึ่งถ้าเขาขอโทษ ก็ต้องมีค่าปฏิกรรม ค่าเสียหาย ที่ต้นตระกูลถูกจับมาเป็นทาส คุณยอมรับไหม ถ้าทำอันนี้ คนอินเดียนแดง ที่ถูกยึดพื้นที่ ก็พร้อมจะเรียกค่าเสียหายเหมือนกัน
ผมคิดว่าคนขาวในอเมริกาก็กลุ้มใจนะ ถ้าจะต้องจัดความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติแบบถูกต้องตามประวัติศาสตร์ เขาต้องเปิดกว้างมากขึ้น และต้องยอมศูนย์เสียความเหนือกว่าต่างๆ ให้คนอื่นเข้ามาใช้ความเท่าเทียมกัน เพราะที่ผ่านมา แม้ว่าทอมัส เจฟเฟอร์สัน อดีต ปธน.จะบอกว่า ‘All men are created equal’ แต่จริงๆ แล้ว ความเท่าเทียมกันนั้นมันใช้กับเฉพาะคนผิวขาวทั้งนั้นเลย อังกฤษยังเคยล้ออเมริกันตอนนั้นว่าผู้นำเรียกร้องการปฏิวัติให้เท่าเทียม แต่โทมัส เจฟเฟอร์สัน จอร์จ วอร์ชิงตัน ทุกคนมีทาสในไร่ตัวเองเป็น 100 คุณเรียกร้องเสรีภาพ แต่คุณไม่ปล่อยทาสของคุณก่อน
จนถึงเดี๋ยวนี้ปัญหาก็เหมือนกัน ว่ายอมรับไหมว่าความไม่เท่าเทียมกันของคนผิวดำ เป็นผลมาจากนโยบายทางเศรษฐกิจ นโยบายทางการศึกษา นโยบายของตำรวจ ว่าต้องมีการปฏิรูปเป็นการใหญ่
แปลว่าในยุคสมัยใหม่นี้ สถาบันทางสังคมต่างๆ รวมไปถึงนโยบายภาครัฐ ยังเอื้อต่อความไม่เท่าเทียมอยู่ใช่ไหม
ในแง่นโยบาย ตั้งแต่ปี 1990 ที่มีการปฏิรูปกฎหมายความมั่นคงต่างๆ ผมไม่คิดว่าคนที่เขียนกฎหมายเขียนเพื่อกดทับคนผิวดำ เขารู้ด้วยว่าระบบกฎหมายที่ผ่านมา มันอคติ ดังนั้นเขาจึงระวังมาก เขาใส่คำว่า ‘color blind’ หรือบอดสี เพื่อที่จะให้คนที่รับไปปฏิบัติรู้ว่า ต้องระวังการคิด การปฏิบัติ ที่เลือกปฏิบัติเป็นหลักฐานได้เลย แต่ว่าปัญหาคือเวลาปฏิบัติ ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา เราเห็นเขาจับผู้ร้ายได้เยอะขึ้น แต่ผู้ร้ายถูกจับกลายเป็นคนดำหมดเลย
ดังนั้นลงไประดับล่างมันยังมีอคติอยู่ในหมู่คนผิวขาว โดยเฉพาะพวกตำรวจ ซึ่งเขาก็มองว่าถ้าจะทำงานให้ได้ประสิทธิภาพ ก็ต้องมีความรุนแรง มีความเด็ดขาด ซึ่งฝ่ายตำรวจเองก็อ้างว่า เขาจะต้องมีมาตรการรองรับการทำงาน อย่างที่เราดูในหนัง หรือในข่าว เรามักจะเห็นว่าข้อหาที่คนดำถูกตำรวจฆาตรกรรม หรือวิสามัญ ตำรวจจะอ้างว่าพยายามขัดขืน มีท่าทีว่าจะใช้ปืน มีท่าทีว่าจะก่อความรุนแรง หรือไม่เชื่อฟัง มีท่าทีเยอะมาก ซึ่งนี่มันอยู่ในประมวลปฏิบัติการของตำรวจ ที่เขาจะนำไปอ้างเวลาขึ้นศาล เปิดคู่มือว่าบอกให้ทำอย่างนี้ได้
ทั้งหมดทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจเกิดความกลัว เพราะความกลัวจะทำให้ตำรวจทำงานไม่ได้ ดังนั้นต้องพิทักษ์รักษาความกลัวตำรวจด้วยการคุ้มครองเขาว่า ถ้าอีกฝ่ายมีท่าทีแบบนี้ ให้เขาจัดการได้เลย ซึ่งขึ้นศาลคดีก็หลุดทุกที คณะลูกขุนก็คนผิวขาวเป็นส่วนใหญ่ด้วย ก็เลยจบลงที่ ตำรวจแทบไม่เคยถูกลงโทษเลย
อย่างกรณีของจอร์จ ฟลอยด์ ตำรวจที่ชื่อเดเร็ค เชาวินทำงานเป็นตำรวจที่มินิอาโพลิสมา 19 ปี ถูกฟ้องร้องถึง 17 ครั้ง แต่ถูกลงโทษทางวินัยแค่ 2 ครั้ง ด้วยข้อเขียนห้ามปราม แต่ไม่เคยถูกขึ้นศาลดำเนินคดี ทั้งๆ ที่หลายข้อรุนแรง เขาก็เลยสงสัยว่ามันเป็นไปได้อย่างไง ทั้งๆ ที่รู้ว่าตำรวจทำไม่ถูกต้อง
คำตอบก็คือ ฝ่ายตำรวจมีสหภาพตำรวจ ซึ่งก็เหมือนสหภาพแรงงาน ที่ต้องคุ้มครองตำรวจ เพราะว่าถ้าถูกฟ้อง ก็จะถูกไล่ออก แต่เขาพบว่าการไล่ตำรวจออกจากหน่วยงานในอเมริกาเป็นเรื่องยากมาก สหภาพเข้มแข็งมาก เขามาช่วยทั้งในการหาทนาย หาข้อโต้แย้ง จบเลงที่เอาตัวรอดได้
แต่อีกอันนึงที่สำคัญมาก ผมเพิ่งเจอข่าวประธานตำรวจมินิอาโพลิส ปีที่แล้วไปงานเปิดตัวของทรัมป์ ในการเลี้ยงผู้ขอบคุณผู้อุปการะในการเลือกประธานาธิบดี ประธานขึ้นไปกล่าว ขอบคุณทรัมป์ ที่มาช่วยเอาโอบามาไปจากการเป็น ปธน. เพราะว่าโอบามาใช้นโยบายกดขี่ตำรวจ สมัยนั้น คดีแบบนี้จะถูกสอบสวน ดังนั้นพอทรัมป์ขึ้น พวกนี้จึงดีใจมาก เขาบอกว่าเราเอากุญแจมือไปใส่อาชากรได้ซักที ไม่ใช่เอากุญแจมาใส่เรา มันชัดเลยว่าเป็นการเมืองมาก
ผู้ประท้วงจึงยังไม่เลิก เพราะเขาจับทางได้ว่า ถ้า ปธน.ไม่ยอมรับผิด คุณไม่มีทางแก้ระบบตำรวจได้เลย และเขาก็ต้องตายต่อไป คนประท้วงเขาพาลูกมา เขาบอกว่าไม่รู้เลยว่าถ้าลูกอายุ 17-18 ปี จะตายวันไหนไม่รู้เลย เขาบอกว่ามันอยู่ด้วยความกลัว ชีวิตเราไม่มีค่าขนาดนั้นเชียวหรือ เพราะฉะนั้นคนถึงไม่ยอม เขารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะอ้างยังไงก็ตามประเทศนี้มีเสรีภาพ มีทุกอย่าง แต่ไม่มีพวกเรา อันนี้จึงตอบว่าทำไมคนเดินแหลกเลยตอนนี้
สภาพสหรัฐฯ ในตอนนี้ เรียกได้ว่าเป็นอนาธิปัตย์เลยได้ไหม ในเมื่อประชาชนไม่ทำตามคำสั่ง อย่างคำสั่งเคอร์ฟิวแล้ว
ผมว่ายังไม่ถึงอนาธิปัตย์ที่ปฏิเสธระบบกฎหมาย ระบบรัฐ แต่ผมว่าสิ่งที่เขาทำคือสันติ เพราะคนส่วนใหญ่ก็ยังเดินด้วยความสงบ ที่นิวยอร์กเขาเดินข้ามสะพานบรู๊คลิน ชูมือ 2 ข้างว่าอย่ายิง พวกเขาจะเดินอย่างเดียว แม้ว่าตอนนั้นจะเคอร์ฟิวแล้ว แต่เขาก็บอกว่าเขาไม่ทำอะไร เขาแค่ยืนยันจุดยืนว่าต้องการความยุติธรรม การปฏิรูป แต่ทางฝ่ายการเมือง ทางฝ่ายรัฐยังไม่ยอมรับว่าเขาออกมาเดินเพื่ออะไร และยังพยายามไปเบี่ยงว่าเขาคือกลุ่มก่อการร้าย
ผมว่าสิ่งที่เขาใช้ใกล้เคียงได้กับ Civil disobedient หรือสมัย Henry David Thoreau นักปรัชญาในสมัย 1840 เขาประท้วงไม่สนับสนุนสงคราม โดยไม่จ่ายภาษี จึงถูกจับเข้าคุก แต่เขาก็บอกว่าเขาประท้วงด้วยการใช้วิธีสันติ โดยสำนึกทางการเมืองของตนเอง ไม่ได้ประท้วงด้วยความหลงใหล อย่างที่รัฐบาลพยายามจะบอกว่าผู้ประท้วงถูกมือที่ 3 ถูกหลอกต่างๆ ผมว่าสิ่งที่ครั้งนี้ทำคือแบบนี้ คือการออกมาผ่าฝืนเคอร์ฟิว คือผ่าฝืนกฎหมาย แต่ไม่ได้ไปทำลาย เพราะกฎหมายนั้นไม่ได้ตอบสนองความชอบธรรมต่อสำนึกของเขา
ซึ่งตอนนี้พวกเขามีสำนึกว่าเกิดความไม่ยุติธรรมกับการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชน ถ้าเขาไม่ละเมิด รัฐก็จะไม่ทำอะไร ดังนั้นไม่ใช่การสร้างความวุ่นวาย แต่เป็นการบอกรัฐว่าเขายอมเสียสละ ถ้าโดนจับก็ยอมให้จับ จ่ายค่าปรับ และออกมา เพราะฉะนั้นผมว่าเกิด Civil disobedient ขึ้นในอเมริกา และตอนนี้ก็มีการจับประชาชนออกไปหลายร้อยคนแล้ว
นอกจากการชุมนุมสันติแล้ว ก็มีมุมของการทำลายสถานที่ ปล้นร้านค้าต่างๆ ในทางการเมืองแล้ว วิธีการจราจลแบบนี้ ช่วยแก้ปัญหาไหม
การใช้กำลังไม่ได้ช่วยมากเท่าไหร่ แต่ว่าคนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้มีจำนวนมาก อาจจะเรียกได้ว่าออกมาเพราะฉวยสถานการณ์ เราบอกไม่ได้จริงๆ ว่าจริงๆ คือใคร ฝ่ายทรัมป์ก็บอกว่านี่คือฝ่ายซ้าย พวก Antifa แต่เราก็ไม่รู้เพราะไม่มีใครประกาศตัวออกมา แต่ว่าผมดูรูปการณ์ พวกที่ปล้นร้านก็จะมาเร็วไปเร็ว รีบทำและหาย ผมก็เดาว่าส่วนหนึ่งก็เป็นคนที่ฉวยโอกาส ผสมโรง
และก็อาจจะมีคนที่ต้องการจะสร้างให้แรงสะเทือนเกิดขึ้น เพราะกลัวว่าสิ่งที่เขาพูดจะไปไม่ถึง แค่ชูป้ายก็ชูกันมาหลายรอบแล้ว ครั้งนู้นทำไม่ได้ ครั้งนี้จะทำได้หรือ เขาก็ไม่แน่ใจ แต่ผมว่าโดยรวมเราต้องให้น้ำหนักกับการเดินของคนส่วนใหญ่ ที่เขายังยึดหลักการ จุดหมายได้ไหม ซึ่งผมว่ายังได้อยู่ คนส่วนนั้นยังเป็นหลักอยู่
แล้วญาติพี่น้องของฟลอยด์ก็ออกมาบอกเจตนารมณ์ของครอบครัวเขาคือสันติ เขาไม่ใช้ความรุนแรง เพราะฉะนั้นมันชัดเจนเลยว่า คนประท้วงส่วนใหญ่ไม่ต้องการความรุนแรง แต่ภาพที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ ปธน.ทรัมป์เริ่มขู่จะกำลัง ซึ่งเขาใช้ไปแล้วในวันอาทิตย์ก่อน ตอนที่เขาจะไปโบสถ์เซนต์ จอห์น ให้ตำรวจฉีดสเปรย์ และแก๊สน้ำตาไล่คน ซึ่งตอนนั้นผู้ประท้วงไม่ได้จะทำอะไร แต่แกเดินไปไม่ได้ ก็เลยต้องเปิดทางให้แกไป ทั้งทรัมป์ยังขู่จะใช้กำลังทหาร เข้าไปปราบในรัฐต่างๆ ถ้าผู้ว่าการไม่จัดการ ผมคิดว่ามันจะเกิดสงครามกลางเมืองถ้าแกส่งไปจริงๆ ประชาชนที่ประท้วงก็จะไม่ยอม
นอกจากการชุมนุม ที่มีทั้งสันติ และการปะทะกับเจ้าหน้าที่ มีคนมองว่าการทำลายข้าวของ การปล้นร้านค้า จราจล เป็นการเอาคืนทุนนิยมที่เหลื่อมล้ำ อาจารย์มองว่าอย่างไร
จริงๆ คำว่า Riot มันคือผู้ร้าย สร้างความปั่นป่วน ปล้นสะดม แต่คนส่วนใหญ่ที่ออกมา คือผู้ประท้วง Protester แต่หนังสือพิมพ์ซีกฝ่ายขวา หรือ Fox news ก็จะใช้ Riot เพราะว่าเป็นการประณามว่าเป็นการจลาจล แต่อย่างที่เราคุยกันไว้ ผมว่าคนที่ออกมา เขาไม่ได้มองเป็นการเมือง
แน่นอนว่าถ้าอธิบายด้วยความหมายนัยยะทางการเมือง ที่ไม่ได้บอกว่าเหตุการณ์นี้ถูกหรือผิด ในแง่การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนผิวดำ การทำลายทรัพย์สินในอดีตที่ผ่านมาก็อธิบายได้ในแง่ที่ว่า ยุคแรกที่คนผิวดำถูกบังคับมาเป็นทาส ฐานะของเขาคือทรัพย์สินส่วนตัว เป็น private property อันหนึ่ง เขาไม่ได้ถูกมองเป็นคน อย่างทาสในสมัยอยุธยา หรือของไทย ยังมีความเป็นคน ในกฎหมายยังได้รับการยอมรับเป็นคนอยู่ แต่ทาสในอเมริกา ถ้ามีความเป็นคน จะบังคับให้ทำงานในแบบที่ต้องการไม่ได้ มันจะผิดกฎหมาย จารีต ศาสนา เพราะฉะนั้นเพื่อที่จะเลี่ยงไม่ให้ผิด ต้องทำให้ทาสสมัยนั้นไม่ใช่คน และการที่ทำให้ไม่ใช่คน คือเป็นทรัพย์สิน
เพราะฉะนั้นเวลาที่ทาสจะปฏิวัติ หรือก่อกบฏ ทาสกบฏในอเมริกาน้อยมาก และก็ทำขนาดที่ประเทศอื่นๆ ทำไม่ได้ เพราะอำนาจของคนผิวขาว และอำนาจรัฐที่คุมมันแข็ง และมีความมั่นคง ดังนั้นคนผิวดำที่ต่อสู้ในยุคทาส เขาใช้วิธี passive resistant คือกบฏไม่ได้ ต่อต้านรุนแรงไม่ได้ ใช้ต่อต้านแบบเฉื่อย คือทำร้ายตัวเอง ทำให้นิ้วด้วน นิ้วกุด เป็นแผล เพื่อจะทำงานไม่ได้ ทำลายทรัพย์สินของเจ้านาย ซึ่งก็คือตัวเอง คุณทำร้ายตัวเอง ก็เป็นการทำร้ายทรัพย์สินเขา
ดังนั้นนายทาสจะกลัวว่า ทาสตาย หรือพิการตอนที่คุณซื้อมา เพราะคุณจ่ายเงินมาแพง เหมือนซื้อรถแทร็กเตอร์ในสมัยอาณานิคม เพราะฉะนั้นคนผิวดำรู้ว่า จะตอบโต้คนผิวขาว คือการทำร้ายทรัพย์สินที่เป็นเหมือนกล่องดวงใจเลย ก็เลยมีคนอธิบายว่าการลุกฮือแต่ละครั้ง สิ่งที่จะตามมาคือ การทำลายทรัพย์สินที่เป็นของคนผิวขาว เพื่อให้เขารู้ว่าจะต้องแก้ปัญหานี้ ปัญหานี้เป็นปัญหาที่หนัก
เพราะฉะนั้น ระบบทุนนิยมก็มีส่วน ในด้านหนึ่งมันสร้างความมั่นคง การยอมรับ ระบบทรัพย์สินมาจากการใช้แรงงาน การว่าจ้าง ซึ่งเป็นตั้งแต่แรงงานทาส แรงงานคนผิวดำ คนผิวดำเลยใช้การรวมกลุ่มในการต่อรอง ใช้กำลัง ในการต่อรองภาวะ ทรัพย์สินคนผิวขาว ตั้งแต่ทำลายตัวเขาเอง ไปถึงปัจจัยการผลิต ไปถึงผล ไม่ว่าจะเป็น ข้าว ฝ้าย เสื้อผ้า เครื่องจักร ซึ่งก็จะคล้ายๆ กับการประท้วงของกรรมกรในอังกฤษ หรือยุโรป
ไม่เพียงแค่ผู้ชุมนุม ที่ยังต่อสู้ ในด้านของกลุ่มที่เหยียด หรือต่อต้านผิวดำชัดเจนสุดโต่งอย่าง กลุ่ม Ku Klux Klan, นีโอนาซิสม์ และ White Supremacist ก็ยังมีอยู่ ทำไมกลุ่มนี้ถึงยังอยู่ได้ในสังคมอเมริกา
สืบทอดมาจากพออเมริกาเป็นเอกราช ประสบความสำเร็จในการสืบทอดระบบทุนนิยม สร้างอุตสาหกรรมของตัวเองขึ้นมา แล้วใช้แรงงานทาส แรงงานราคาถูกเข้าไปในการผลิต ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คนขาวได้รับความมั่งคั่งจากระบบความไม่เท่าเทียมกันเหล่านี้ มันเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของคนผิวขาว ที่จะรักษาความเป็นเจ้าไว้ คือคุณต้องควบคุมคนดำ หรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ไว้ได้
ดังนั้นกลุ่มที่เป็นฝ่ายขวาต่างๆ ก็เกิดขึ้นเพื่อจะรักษาสถานะต่างๆ ของคนผิวขาวไว้ มันมีทั้งกลุ่มที่เป็นปัญญาชน นักวิชาการ วิชาชีพฝ่ายหมอ ฝ่ายต่างๆ เยอะมาก ซึ่งไม่ใช่แค่ Ku Klux Klan มันก็เหมือนกันในสังคมไทย ที่เมื่อไหร่รัฐบาล หรือชนชั้นนำรู้สึกว่าพวกฝ่ายซ้าย ฝ่ายก้าวหน้าเริ่มมากไป มาเปลี่ยนการเลือกตั้ง ก็จะส่งเครื่องมือแบบนี้ลงไป ก็จะเกิดกลุ่มต่างๆ มาปราบ อเมริกาก็มีกลุ่มแบบนี้ตลอด และพอทรัมป์ขึ้นมา มันก็ชัดเจนเลยว่าแกหนุนกลุ่มเหล่านี้ เพราะเขารู้ว่าที่เขาชนะได้ขึ้นมาเพราะคนเหล่านี้ช่วยอยู่ข้างหลัง ฉะนั้นต้องเลี้ยงไว้ ดังนั้นกลุ่มแบบนี้ยิ่งเกิด
การเมืองของอเมริกาก็คล้ายๆ ไทย ตราบใดที่นักการเมืองฝ่ายขวา ฝ่ายที่ต้องรักษาผลประโยชน์ยังอยู่ มันก็จะมีการกีดกันคนส่วนน้อยตลอดเวลา
เทียบกับยุคของทรัมป์ กับผู้นำคนก่อนอย่าง โอบามาที่เป็นผู้นำผิวดำแล้ว สถานการณ์แตกต่างกันยังไง
ต่างมาก จริงๆ โอบามาชนะ เพราะคนผิวดำออกมาโหวตมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ มันเป็นความรู้สึกที่ว่าเป็นครั้งแรกที่เขายอมรับรัฐบาลซัก 90% เพราะที่ผ่านมาเขารู้ว่ารัฐบาลไหนก็เหมือนเดิม เขาจะได้เศษจากรัฐบาล แต่พอเป็นโอบามาเขาหวังว่าจะได้เนื้อเป็นก้อนๆ ชิ้นเนื้อต้องตกมาแล้ว ไม่ใช่กระดูก แต่จริงๆ 8 ปี คนก็บ่นนะว่าก็ไม่ได้เนื้อเท่าไหร่ เพราะโอบามาก็ใจไม่กล้า ไม่เหมือนทรัมป์ที่ไม่อายเลยที่จะลดภาษีให้พวก Wall street ให้บริษัทใหญ่ๆ และไปเล่นงาน Obama care ที่รักษาบริการคนชั้นล่าง
ซึ่งจริงๆ Obama care ก็เป็นอย่างเดียวที่โอบามาทำสำเร็จ เพราะเรื่องอื่นๆ ก็ไม่ผ่านวุฒิสภา และตอนหลังก็มาแพ้ เสร็จแล้วพรรครีพับลิกันก็ออกมาตั้ง Tea Party กลุ่มเอียงขวา ที่มาถล่มนโยบายต่างๆ ที่ก้าวหน้า ว่าเอื้อคนผิวดำ คนกลุ่มน้อย ไม่ดูแลคนส่วนใหญ่ ทั้งๆ ที่นโยบายอเมริกันเอื้อคนขาวมาตลอด
อันนี้เป็นสิ่งที่โอบามาไม่ประสบความสำเร็จ ได้แค่สัญลักษณ์ ทิ้งวาทะ แกพูดประโยคสวยๆ ไว้เยอะมาก ความคิด ความอ่านจำนวนหนึ่ง แต่ยิ่งไปทำให้พวก white supremacist กลัวมากขึ้น พวกนั้นกลัวเลยว่าโอกาสต่อไปจะมีผู้นำแบบนี้อีก เพราะฉะนั้น พวกฝ่ายขวาผิวขาว จึงรวมกันเป็นการใหญ่ก่อนที่โอบามาลงจากตำแหน่ง
พอยุคทรัมป์ พวกฝ่ายขวาผิวขาวอาชีพต่างๆ วางแผนส่งผู้พิพากษาเข้าไปยึดตำแหน่งตั้งแต่มลรัฐขึ้นไป ถึงศาลสูงสุด ทรัมป์ก็ตั้งคนกลุ่มนี้มากเป็นประวัติการณ์ ซึ่งพวกนี้คือศาลที่มาตัดสิน ว่าคดีต่างๆ จะเอียงไปทางไหน ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าการตัดสินเอียงขวาหมดเลย ระบบกฎหมายอเมริกาตอนนี้มันไม่ color blind แล้ว มัน color ชัด อันนี้คือความลำบากของอเมริกา ว่าทำไมฝ่ายขวา พลังของ white supremacist มันขนาดนี้
ปีนี้ ถือว่าเป็นปีที่การเมืองของอเมริกาจะเข้มข้น เพราะการเลือกตั้งช่วงปลายปี สถานการณ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ จะส่งผลต่อการเลือกตั้งอย่างไร
ผมว่ามีแน่ๆ และผมเชื่อว่าอานิสงค์ของระบบประชาธิปไตยแบบอเมริกา แม้จะมีการแทรกแซงด้วยอำนาจมืด หรืออำนาจภายนอกซึ่งมีระบบอุปถัมป์ แต่ว่ารวมๆ แล้ว ยังมีระบบ check and balance จากข้างล่างสู่ข้างบน มีเสรีภาพสื่อมวลชน กลุ่มประชาชน NGOs ที่แข็งมาก ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งจะต้องยอมต่อประชามติที่มาจากความต้องการของคนที่ยืนหยัด ซึ่งจะมีคนโหวตไม่เอาทรัมป์ และไม่เอารีพับลิกันแน่ๆ ผมว่าใน 2-3 เดือนนี้ ทรัมป์ก็จะพยายามทำอะไรซักอย่าง หากลเม็ด นโยบาย ที่มาเล่นงานฝ่ายซ้าย และเดโมแครต ให้พวกนี้ถูกมองว่าเป็นตัวสร้างความปั่นป่วน ทั้งๆ ที่ตัวเขาเองก็เป็นคนสร้างความปั่นป่วน อเมริกาแบ่งเป็นขั้วมากที่สุดในรอบ 50 ปี
ตัวสถานการณ์ที่ตอนนี้ชุมนุมกันยืดเยื้อยู่ อาจารย์มองว่าจะจบยังไง
ผมว่าถ้าจะจบให้สวยคือการที่รัฐบาล จะโดยประธานธิบดี หรือประธานวุฒิสภา ประธานรัฐสภา 2 พรรค ร่วมมือกันประกาศว่าจะออกนโยบาย ปรับปรุงความปลอดภัย ความยุติธรรมของคนดำอย่างไร เราจะแก้ระบบตำรวจอย่างไร จะแก้ความสูญเสียพวกนี้อย่างไร ออกมาพูดให้คนเห็นว่าทางฝ่ายการเมืองรับรู้ และตระหนักถึงน้ำหนักความหนักหน่วงของปัญหานี้ และเราจะแก้ยังไง ผมว่าถ้าประกาศแบบนี้ จะยุติได้
สุดท้ายแล้ว ปัญหาความขัดแย้งทางสีผิว และเชื้อชาติมันจะหายไปจากอเมริกาได้ไหม
ปัญหาเรื่อง racism หรือที่ต่อมาเราเรียกว่าความสัมพันธ์ทางเชื้อชาติ ในกรณีอเมริกาผมว่าไม่หมด ด้วยรากเง้าของความขัดแย้งที่มันฝังรากลึก และมีความรัก-ความเกลียดฝังอยู่สูงมาก ฝังอยู่ในจิตสำนึกไปแล้ว ดังนั้นคนอเมริกันผิวขาวก็จะเติบโตมาในวัฒนธรรมความเชื่อแบบหนึ่ง ซึ่งมักจะเหยียดหยามคนผิวดำอยู่นัยๆ ในขณะที่คนผิวดำ เติบโตมาในความรู้สึกว่า อดีตของเขาไม่เคยถูกปรับแก้จริงๆ เสียที แล้วพอมีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้น คนที่โดนกระทบก่อนก็จะเป็นพวกเขา เพียงแต่ว่าความเกลียดอาจะลดระดับลง ถึงขั้นที่ว่าเป็นมิตรกันได้ ทำงานกันได้ แลกเปลี่ยนอคติกันได้ คือยอมรับกัน
มันไม่หมดหรอก racism ในอเมริกา แต่มีโอกาสที่จะทำให้มันลดจนเป็นมิตร และคุยกันได้ฉันมิตร และความขัดแย้งของคนผิวดำ-ผิวขาวก็เป็นประวัติศาสตร์ที่เป็นจริง ต้องยอมให้ประวัติศาสตร์มันอยู่ แต่ต้องเอามาเรียนรู้ ต้องเคารพประวัติศาสตร์ อย่าไปปิด บิดเบือน หมกเม็ดมัน มันมีทั้งด้านบวก ด้านลบ ชนชั้นนำบางส่วน ประชาชนบางส่วน และพรรคการเมืองบางส่วนก็ทำผิด ก็เอามาพูดกันชัดๆ สรุปบทเรียนเรียนรู้กัน และเอาความผิดนั้นมาเป็นข้อเตือนใจ อย่าทำต่อไป เอาสิ่งที่ถูกมาเป็นนโยบายที่สานต่อกัน
พอเราเห็นการชุมนุมที่อเมริกาเกิดขึ้น คนบางส่วนก็จะมองว่าเป็นเพราะประชาธิปไตย จึงเกิดความวุ่นวาย
ก็ถูกนะ ถ้าอเมริกาไม่มีหลักสิทธิพลเมืองข้อที่ 1 ให้สิทธิในการแสดงออก ป่านนี้เขาถูกตำรวจทุบตี ไล่ตี โดนข้อหาแบบที่เราโดน แค่ชุมนุมก็ถูกจับแล้ว แต่อเมริกาไม่มีทาง กฎของรัฐก็ออกไม่ได้ เพราะนี่คือรัฐธรรมนูญให้สิทธิไว้ เพราะฉะนั้นจริง ประชาธิปไตยแบบอเมริกา ด้านหนึ่งให้เสรีภาพ อีกด้านหนึ่งทำให้การใช้เสรีภาพเฟื่องฟู จนกระทั่งไปกลายเป็นไปละเมิดเสรีภาพที่บางคนอยากอยู่อย่างสงบ ไม่อยากให้เดินขบวนผ่านหน้าบ้านเขา ทำหน้าบ้านสกปรก ถนนก็รถติดไปไหนไม่ได้ เกิดความวุ่นวาย
ประชาธิปไตยมาพร้อมกับการทำให้คนลำบาก มีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสีย คือส่วนรวมต้องตระหนักว่าสิ่งที่ได้กับสิ่งที่เสียมันคุ้มไหม อย่างสังคมไทย ผมคิดว่าคนไทยจำนวนหนึ่งยอมเสียสละรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาความสงบ ให้รัฐบาลอยู่ได้ แล้วก็ฉีกกฎหมายรัฐธรรมนูญทิ้ง แต่อเมริกาไม่เอา เราจะไม่ฉีกรัฐธรรรมนูญ แต่เราจะเปลี่ยนรัฐบาล รัฐบาลต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้กับประชามติ
ทุกคนก็รู้อยู่ว่ามีเครื่องมืออยู่ในตัว ก็ใช้เครื่องมือนั้น จะไปจับคนเขาเดินขบวนทำไม ถ้าเขาไม่มีปัญหาเขาไม่มาเดินหรอก
เพราะฉะนั้นอันนี้จึงตอบว่า ไม่ใช่ปัญหาของประชาธิปไตย แต่เป็นปัญหาว่า ความเป็นจริงของการเมืองในแต่ละประเทศมันสะท้อนปัญหาของประชาชนมากน้อยแค่ไหน
ถ้ารัฐบาลรับฟังปัญหาประชาชน การประท้วงที่ออกมาก็จะพูดเรื่องที่เป็นหัวใจเลย ดูจากการประท้วงคือ ไม่ได้ประท้วงสะเปะสะปะ ที่บ้านเราประท้วงต่างๆ หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องเล็กน้อย เรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะว่าระบบของเรา ระบบการจัดการระบบราชการต่างๆ มันไร้ประสิทธิภาพ แต่ในอเมริการะบบพวกนี้มีประสิทธิภาพ เพราะฉะนั้นมันแก้ในระบบรัฐต่างๆ แล้ว การเดินขบวนหน้าวอชิงตันจึงเป็นเรื่องใหญ่ระดับรัฐธรรมนูญ เช่น ถ้ายอมแพ้กับระบบยุติธรรมแบบนี้ คนดำตายไป ก็ร้องเรียนที่ไหนไม่ได้ ตำรวจในรัฐก็ไม่แก้ เพราะว่าสหภาพตำรวจมันใหญ่