“คุยกันมาตั้งนาน ตกลงคนที่เราคุยตะกี้ชื่ออะไรหว่า”…รู้จักแหละ จำได้แหละแต่ชื่ออะไรคิดไม่ออก
อาการที่ว่า เจอหน้าแล้วเฮ้ยเราจำ ‘หน้า’ คนคนนีได้ แต่เรานึก ‘ชื่อ’ ของคน-รวมไปถึงสิ่งของหรือสถานที่ที่เป็นชื่อเฉพาะนั้นไม่ออก รู้สึกมัน ‘ติดอยู่ที่ริมฝีปาก’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า ‘ติดอยู่ที่ปลายลิ้น (On The Tip of My Tongue)’
ไอ้เจ้าอาการที่เรารู้สึกติดอยู่ที่ลิ้น ติดอยู่ที่ปากจากการนึกชื่อ ‘เกือบออก’ เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของร่างกายกับสมอง ระหว่างปลายลิ้นกับเครือข่ายอันซับซ้อนของสมองในการ ‘ขยับลิ้น’ เพื่อ ‘ควาน’ ความทรงจำหา ‘คำ’
ปลายปี 1988 เสมียนชาวอิตาเลียนคนหนึ่งประสบอุบัติเหตุกระทบกระเทือนทางสมองส่งผลให้เกิดอาการประหลาด คืออยู่ๆ ก็จำคนที่ตัวเองเจอได้ จำรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดได้ เพียงแต่ไม่สามารถจำ ‘ชื่อเฉพาะ’ ของคนคนนั้นได้เลย แม้แต่ชื่อเมียตัวเองก็จำไม่ได้ เรียกว่า ‘ภรรยา’ แทน กรณีดังกล่าวเลยเป็นกรณีศึกษาว่าสมองเรามีวงจรบางอย่างที่สัมพันธ์ระหว่างความทรงจำและชื่อเฉพาะ จากการที่เสมียนคนนี้เคยตกม้าทำให้กระโหลกซีกซ้ายได้รับความกระทบกระเทือนเลยทำให้เข้าใจว่า อ้อ มันมีความเชื่อมโยงบางอย่างระหว่างสมองกับการนึกชื่อเฉพาะของคน อย่างอาการที่เรานึกชื่อคนไม่ออก
จากการศึกษาจำนวนหนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ที่ทำการศึกษามีความเข้าใจเรื่องอาการติดอยู่ที่ปลายลิ้นมากขึ้นเรื่อยๆ ในคนธรรมดาๆ ที่สมองไม่ได้ผิดปกติอะไรโดยเฉลี่ยแล้วเราจะเจออาการนึกชื่อไม่ออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง – ดังนั้นคนที่เจอคนแล้วจำทุกอย่างได้ พูดถึงได้เป็นคุ้งเป็นแควแต่นึกชื่อไม่ออก หรือนึกเรื่องราวในหนังอย่างละเอียดถี่ถ้วนแต่แบบ…เออ หนังชื่ออะไรนะนึกไม่ออกอะ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ ไม่แปลก สบายใจได้
เจ้าอาการติดอยู่ที่ปลายลิ้นที่ดูไม่ได้เป็นสาระอะไรมาก แต่แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ซับซ้อนของสมองมนุษย์ในการจัดการกับ ‘ความทรงจำ’ และ ‘ภาษา’ ว่าสมองเรามีวิธีการจัดเก็บ ‘ข้อมูล’ ต่างๆ ไว้ในหลายส่วนของสมองเอง ไม่ได้เก็บไว้แค่ที่เดียว ดังนั้นบางครั้งเราถึงดึงข้อมูล (information) ออกมาได้ ในขณะที่ข้อมูลจำเฉพาะอย่าง ‘ชื่อเฉพาะ’ – ที่เชื่อมโยงกับภาษายังถูกเรียกขึ้นมาไม่ได้ การรับรู้ทางภาษาจึงเป็นอีกส่วนที่แยกจากความทรงจำที่เป็นภาพ (visual memory- หน้าคนที่เราจำได้)
การทำงานของสมองในแง่การรับรู้ภาษามีความซับซ้อน แต่นักพฤติกรรมก็อธิบายง่ายๆ ว่าถ้าคำไหนที่เราไม่ค่อยได้ใช้ สุดท้ายแล้วสมองที่ดึงเอาข้อมูลเกี่ยวกับคำนั้นๆ ก็จะอ่อนแอลง (เรียกง่ายๆ ว่าเรา ลืมคำนั้นๆ) ซึ่งการลืมคำคำหนึ่งคือการที่เรานึกถึงคำคำนั้น หรือชื่อชื่อนั้นไม่ออก สะกดยังไง สระอะไร มีเสียงพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ยังไง
ดังนั้นการที่เราพยายาม ‘เรียก’ คำคำไหนออกมาจากลิ้นชักในสมอง วิธีที่เราหลายคนคงใช้คือการนึกถึงพยัญชนะสำคัญๆ ที่พอจะนึกออก แล้วค่อยๆ เอามาประกอบเป็นคำๆ จนกระทั่งสมองเราสามารถนึกเชื่อมโยงไปสู่คำที่ถูกต้อง เช่นเราเจอนายสมศักดิ์ เราอาจนึกได้ว่าคนนี้ชื่อต้องเริ่มด้วย ส เสือ เราอาจลองผสมสระไปเรื่อยๆ สุดท้ายแล้วสมองเราก็จะค่อยๆ นำไปสู่ชื่อที่ถูกต้องในที่สุด
การที่เราสามารถผ่านและเคาะเอา ‘คำที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้น’ นี้ออกมาได้ ก็เหมือนเล่นเกมโชว์แล้วตอบคำถามหรือแก้โจทย์บางอย่างในสมองได้ นอกจากจะรู้สึกฟินๆ แล้ว ทำให้เรามีแนวโน้วที่จะจำชื่อหรือคำคำนั้นได้ ไม่ลืมอีก
หรือบางที ถ้านึกไม่ออกจริงๆ ถามไปตรงๆ ก็ง่ายดี แล้วอธิบายให้ฟังว่า เอ้อ ไม่ใช่ว่าไม่ใส่ใจนะ แต่สมองเราเก็บรายละเอียดของเธอไว้แยกส่วนกับส่วนที่เก็บชื่อของเธอ
ที่มา