เปิดเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมก็เจอโฆษณาขายครีมหน้าใส ไร้ริ้วรอย ไปเที่ยวกับเพื่อน บางคนก็หยิบแอปฯ กล้องฟรุ้งฟริ้งมาถ่ายรูปกันรัวๆ บางคนเข้าคอร์สโบทอกซ์กระชับผิวหน้า ทำไมคนเราต้องพยายามดูเด็กกันขนาดนั้น
ทุกคนก็รู้ว่าทุกวินาทีที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ทำให้เรา ‘แก่ลง’ แต่ทำไมถึงไม่อยากแก่กันล่ะ?
เรื่องนี้ทางจิตวิทยาเค้ามีคำตอบว่า การไม่อยากแก่เป็นสิ่งเดียวกับอาการกลัว ‘สิ่งแปลกปลอม’ เรามองความแก่เป็นสิ่งแปลกปลอมเพราะมันคือตัวเราที่ไม่เหมือนเดิม
Anne Karpf นักสังคมวิทยา ผู้เขียนหนังสือ How To Age ให้ความเห็นเสริมไปว่า การมองความแก่ด้วยสายตาชิงชัง มาจากสังคมสร้างภาพในอุดมคติของความเป็นหนุ่มสาวเอาไว้ว่าพวกเขามีผิวพรรณที่เพอร์เฟกต์ ผมสวยมีประกาย เต็มไปด้วยพลังไฟสร้างสรรค์ นั่นทำให้พอคนรู้สึกว่าตัวเองอายุมาก เกิดปมด้อยลึกๆ ในใจตามมา (ซึ่งคุณ Anne Karpf เสริมว่าอายุเท่าไหร่ถึงจะเป็นอายุมากนั่นขึ้นอยู่กับเจ้าตัวจะตีความจ้า)
เรื่องนี้ได้รับการเสริมแรงจากสื่อต่างๆ จากบทความ ‘We’re tired of these stereotypes of older people in the media’ ใน The Telegraph ชี้ให้เห็นว่า ภาพลักษณ์ของคนสูงวัยมักถูกนำเสนอว่าเป็นพวกขี้บ่น เจ้าอารมณ์ ยึดติดกับอดีต และความขี้หลงขี้ลืมถูกเอามาใช้เป็นมุกตลกให้คนหัวเราะชอบใจอีกด้วย
เห็นแบบนี้แล้วใครจะอยากแก่ล่ะเนี่ย?
แต่จะบอกว่าความแก่เป็นเรื่องความรู้สึกที่สังคมสร้างอย่างเดียวก็ไม่ถูกนัก เพราะทางวิทยาศาสตร์เค้ามีคำอธิบายเหมือนกันว่า มันเกิดจากเซลในร่างกายเสื่อมสภาพ แล้วยิ่งอายุเรามากขึ้นๆ จำนวนเซลใหม่ที่ร่างกายเราผลิตมาแทนของเก่าจะน้อยลงเรื่อยๆ จำนวนเซลที่ลดลง ทำให้ความแข็งแรงของร่างกายถดถอย
และเมื่อปัญหาทุกข์ใจมาพร้อมกับข้อมูลรับรองทางวิทยาศาสตร์ สินค้าและบริการต่างๆ ก็ออกมาแก้ปัญหานี้กันไม่ขาดสาย
ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอางและอาหารเสริมต่างๆ เช่น ครีมกันแดด เพื่อป้องกันไม่ให้รังสี UV จากดวงอาทิตย์มาทำให้ผิวหมองคล้ำ เครื่องดื่มผสมคอลาเจน ที่เป็นโปรตีนช่วยให้ผิวหนังกระชับ และการทำโบทอกซ์ให้ผิวหน้าดูเต่งตึง หรือบางคนก็ใช้วิธีสร้างพฤติกรรมที่ดี เช่นทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และนอนให้เต็มอิ่มร่วมด้วย
อย่างล่าสุดก็มีอีกวิธีที่ที่ดูเป็นหนังไซไฟมากๆ บริษัทแห่งหนึ่งที่อเมริกา ให้บริการฉีดพลาสมา (น้ำเลือดที่ไม่มีเซลเม็ดเลือดอยู่) ของคนหนุ่มสาว เข้าไปในร่างกายของคนสูงอายุ แล้วพบว่ามันช่วยลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจ อัลไซเมอร์ และมะเร็งบางชนิดในตัวผู้สูงอายุได้
แต่นอกจากวิธีเหล่านั้นแล้ว นักจิตวิทยายังเสนอว่า บางทีสิ่งที่หยุดยั้งความชราได้ดีที่สุดคือ ‘ความคิด’ ของเราเอง
The Irish Longitudinal Study on Aging (TILDA) สถาบันวิจัยด้านอายุประชากรของประเทศไอร์แลนด์ เคยสำรวจชาย-หญิง 4,135 คน เพื่อเก็บข้อมูลความคิดต่อความชรา และสุขภาพของผู้เข้าร่วมวิจัย รีเสิร์ชนี้ทำต่อเนื่อง 2 ปี ได้ข้อสรุปออกมาดังนี้
1. คนที่มองความชราของตัวเองในแง่ลบ เดินและคิดได้ช้ากว่าคนที่มีทัศนคติในแง่บวกต่ออายุตนเอง
2. ร่างกายของคนที่รู้สึกไม่ดีกับการแก่ตัวเสื่อมสภาพมากกว่าคนที่คิดบวก
3. พอไปตามเก็บข้อมูลอีกครั้งหลังจากงานวิจัยเสร็จสิ้นไปแล้ว ก็ยังได้ผลแบบเดิม
“วิธีคิด พูด และเขียนเกี่ยวกับตัวเองในเรื่องความแก่ มีผลโดยตรงต่อสุขภาพของเรา”
ดอกเตอร์ Deirdre Robertson หัวหน้าทีมวิจัยของ TILDA ให้ข้อสรุปทิ้งท้าย พูดง่ายๆ คือการยิ้มรับความแก่ตัวอย่างไม่กลัว ไม่หวั่นไหวไปกับสื่อต่างๆ ก็เป็นยาชะลอความแก่ได้เช่นกัน
หลังจากอ่านบทความนี้จบ ทุกๆ คนก็คงแก่ลงไปหลายนาทีแล้ว อยากเห็นตัวเองสูงวัยแบบไหนกันบ้างล่ะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก