ใครว่าวงการวิจัยไทยเงียบเหงา เขาผู้นั้นไม่รู้ซะแล้วว่าในแต่ละปีมีโครงการวิจัยดีๆ โกอินเตอร์ไปในระดับเวทีต่างประเทศอยู่ไม่น้อย เหมือนคุณได้จิ้ม Tinder ไปโซนยุโรปแล้วเจอหนุ่มอิตาลีหน้าตาดีกลางกรุงโรม อย่างไงอย่างนั้น เลิศเว่อร์!
วิทยาศาสตร์ไทยปีนี้ก็เผ็ดร้อนไม่แพ้กัน งานวิจัยหลายชิ้นกำลังมุ่งแก้ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด พัฒนาวิทยาการราคาประหยัด ไม่ซับซ้อน ไปจนเปิดพื้นที่ใหม่ๆในการรักษาโรคที่กัดกร่อนสังคมอยู่โกฏิปี มีหลายโครงการที่เราถูกใจ แต่โควต้าในการ ‘ปัดขวา’ ของเรานั้นมีจำกัดเพียง 9 อันดับ หากอยากปัดมากกว่านี้คงต้องปลดล็อคโดยการจ่ายตังค์เอา ซึ่งจะมาเอาอะไรกับคนโสดและไม่มีตังค์อย่างพวกเรา (ปาดน้ำตาแป๊บ)
งานวิจัยดีๆ ก็เหมือนหนุ่มหล่อสาวแซ่บ (คงมีคนคิดแบบนี้ใช่ไหม เอาเป็นว่ามีแล้วกัน) ที่คุณอยากทำความรู้จัก และสงสัยว่าวันหนึ่งงานวิจัยที่ Match กับเรา เขาจะกล้าทักเราไหมนะ? และงานวิจัยพวกนี้จะมาเปลี่ยนชีวิตธรรมดาๆ ของคุณให้มีชีวิตชีวาอย่างไร?
งานวิจัยทั้งหมดปรากฏในงาน TRF-OHEC Annual Congress 2017 (TOAC 2017) ที่จัดขึ้นโดย The Thailand Research Fund (TRF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.
1. ผึ้งไทย อึด ถึก ทน ซนเป็นเลิศ
เขาว่า ‘ผึ้งกำลังสูญพันธุ์’ จากภาวะ Climate Change แต่ผึ้งสายพันธุ์ไทย อาจจะอยู่รอดเป็นสายพันธุ์สุดท้าย เพราะขึ้นชื่อเรื่องความต้านทานโรคดีกว่าผึ้งฝรั่ง เจ้าแมลงจิ๋วบ้างานจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจที่สำคัญสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม น้ำผึ้ง นมผึ้ง แถมเป็นนักผสมเกสรให้แก่พืช เราอยู่ในโลกที่ขาดผึ้งไม่ได้หรอก เชื่อเถอะ
จากการวิจัย 3 ปี พบว่าผึ้งประจำถิ่นของไทยสามารถต้านทานโรคและไรปรสิตได้ดีกว่าผึ้งพันธุ์ของยุโรปเสียอีก ผึ้งประจำถิ่นไทยมีกลไกในการต้านทานโรคที่เกิดจากการวิวัฒนาการการอยู่ร่วมกันกับเชื้อก่อโรคและไรปรสิตมาแต่ไหนแต่ไร โดยพวกมันมี ‘พฤติกรรมทำความสะอาดรัง’ (กินคลีน อยู่คลีน) และภูมิคุ้มกันที่สูงกว่า องค์ความรู้ที่ได้มานี้ได้มีการถ่ายทอดสู่ชุมชนเกษตรกรเลี้ยงผึ้งของไทย ให้เริ่มหันมาเลี้ยงผึ้งไทยให้มากขึ้น
ใครชอบคนคลีนๆ แข็งแรงเอาการเอางาน เชิญปัดขวาทางนี้เลย
ชื่อโครงการวิจัย : ผึ้งไทยในเวทีโลก
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร
ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
2. หนุ่มวัยทอง คนอ้วน เสี่ยงสมองเสื่อม!
คุณมีเหตุผลอีกข้อที่จะเริ่มลดน้ำหนักอย่างจริงจัง (ที่ไม่ใช่แค่การอดอาหาร) เพราะนอกจากจะทำให้คุณเสี่ยงต่อโรคเป็นร้อยๆ โรค มันกำลังทำให้คุณ ‘สมองเสื่อม’ ด้วยต่างหาก!
งานวิจัยนี้พบว่าการเกิดภาวะอ้วนลงพุงนั้นมีผลเสียต่อสมองและระบบประสาทอัตโนมัติ โดยทำให้การเรียนรู้และความจำเสียไป โดยทีมวิจัยพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินโดยการจำกัดพลังงานที่กินเข้าไปในระยะเวลาสั้นๆ แม้จะทำให้คุณควบคุมน้ำหนักได้ แต่ก็ยังไม่พอในการช่วยฟื้นฟูสมองที่สูญเสียไปอยู่ดี
ขอเตือนหนุ่มๆ ที่กำลังเข้า ‘วัยทอง’ ยิ่งเสี่ยงต่อการสมองเสื่อมได้เลย โดยไม่ต้องรออ้วน เพราะถ้าสูญเสียฮอร์โมนเพศชาย ‘เทสโทสเตอโรน’ (Testosterone) คุณก็ได้สิทธินั้นเดี๋ยวนี้!
แต่น่าสนใจที่ ‘ยาต้านเบาหวาน’ สามารถแก้ไขให้สมองและระบบประสาทอัตโนมัติกลับมาทำงานเป็นปกติได้ จึงอาจเป็นทางเลือกใหม่ในการใช้รักษาภาวะอ้วนที่ขาดฮอร์โมนเพศชายในอนาคต
หนุ่มหมีๆ 50 นิดๆ ใจ Sport หน่อย หากชอบอกชอบใจก็ปัดขวาได้เลย
ชื่อโครงการวิจัย : พยาธิสภาพในสมองของการขาดฮอร์โมนเพศชายและอ้วนลงพุง
โดย ศาสตราจารย์ ดร. ทพญ. สิริพร ฉัตรทิพากร
คณะทันตแพทยศาสตร์ และ หน่วยวิจัยทางระบบประสาท
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. ยิ่งกว่าอกหัก หัวใจก่อกบฏ หยุดเต้นไปดื้อๆ
ชื่อฟังดูเหมือนหนังไทยยุคตบจูบ แผ่นละ 30 บาทขายแบกะดิน แต่เอาเข้าจริงๆ ในหลายสังคมของประเทศไทยยังเชื่อว่า ‘โรคไหลตาย’ เป็นอิทธิพลของภูตผีอยู่เลย โรคนี้แท้จริงรู้จักกันในชื่อ ‘Brugada Syndrome’ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรม (Mutation) ซึ่งรับผิดชอบในการสร้างโปรตีนเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างไม่ทำงาน หยุดเต้นไปเสียดื้อๆ นอนอยู่ดีๆ ได้เฝ้าเง็กเซียนฮ่องเต้ซะงั้น
ปัจจุบันวิธีการรักษาเดียวคือการ ‘ฝังเครื่องกระตุ้นหัวใจอัตโนมัติ’ เพื่อป้องกันการเสียชีวิต แต่ราคาก็ยังแพงมหาโหด และมีกระบวนการคัดกรองผู้ป่วยเพื่อติดตั้งยุ่งยาก (แถมต้องติดเครื่องนี้กระตุ้นหัวใจไปตลอดชีวิต) ไม่ใช่เรื่องสนุกเลย
องค์ความรู้ที่ได้จากวิจัย ทำให้เราเข้าใจกลไกลระดับโมเลกุลของการเกิดโรค ‘ไหลตาย’ ที่ว่านี้ได้ แถมยังอำนวยความสะดวกให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยจากความผิดปกติของหน่วยพันธุกรรม และช่วยประหยัดงบประมาณรัฐไปได้โข
รายนี้เจ็บปวดยิ่งกว่าอกหัก เพราะหัวใจไม่ภักดีเสียแล้ว ใครปรารถนาดามหัวใจเชิญเข้าคิว
ชื่อโครงการวิจัย : การศึกษาถึงพยาธิสรีรวิทยาของโรคใหลตายในระดับเซลล์
โดย ดร. นพ. เกริกวิชช์ ศิลปวิทยาทร
ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมสาขาโรคทางไฟฟ้าของหัวใจ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
4. ปรับหญ้า ให้หวานเจี๊ยบ
เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็พูดถึง ‘พืชชีวมวล’ ที่เราสามารถแปรรูปเป็นพลังงานอย่าง ไบโอเอทานอล ทดแทนพลังงานก๊าซธรรมชาติ เมื่อกี้เดินไปปากซอยซื้อเครปญี่ปุ่นกินแม่ค้ายังพูดถึงอยู่เลย สงสัยจะฮิตจริง! พืชชีวมวลอะไรเนี่ย
‘หญ้าเนเปียร์’ เป็นพระเอกที่มาปฏิวัติวงการ Biorefinery เพราะ ปลูกง่าย ให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีเซลลูโลสที่แห้งทำให้สะดวกในการแปรรูปเป็นพืชพลังงาน ก็ดีอยู่แล้ว จะไปทำอะไรอีก?
ไม่สิ! งานวิจัยต้องทำให้มันดีกว่าเดิม
นักวิทยาศาสตร์ปรับหญ้าเนเปียร์ด้วยวิธีด่าง ทำให้หญ้าสามารถผลิตน้ำตาลสูงขึ้นถึง 90% โดยใช้ระยะเวลาการย่อยลดลง ประหยัดกว่าเดิม ให้ผลดีในแง่เศรษฐศาสตร์ โดยกระบวนการทำด่างเองไม่ยุ่งยาก
ความหวานดีต่อใจ หญ้าก็เช่นกัน กุมภาพันธ์นี้ยังหาใครหวานด้วยไม่ได้ เชิญเอาหญ้าไปแทนก่อน เพราะ หวานจริงอะไรจริง แต่กินไม่ได้นะเออ
ชื่อโครงการวิจัย : การปรับสภาพพืชชีวมวลด้วยวิธีการใช้ด่างอย่างง่าย เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตพลังงานทางเลือก
โดย ดร.ปริปก พิศสุวรรณ
คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
5. ‘แข็งเป็นพิเศษ’ เพื่อคนที่คุณรัก
ความหล่อล่ำและแข็งโป๊ก อาจเป็นที่ปรารถนาของสาวๆ หลายๆ คน เพราะนวัตกรรมความแข็งนี้มันอาจช่วยชีวิตคุณได้จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ จะว่าไปนวัตกรรมยานยนต์ในระยะหลังพยายามเสริมความปลอดภัยของโครงสร้างห้องโดยสารเพิ่มมากขึ้น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีสตางค์ไปซื้อนวัตกรรมยุโรปสุดเนี้ยบ พวกเราเรียกร้องความปลอดภัย แต่ต้องมีฐานที่ราคาไม่สูงมาก เป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดที่เหล่านักวิจัยต้องเผชิญ
งานวิจัยชิ้นนี้คือการสร้างองค์ความรู้เชิงลึกของ ‘เหล็กกล้าความแข็งแรงสูงเป็นพิเศษ’ เพื่อนำมาพัฒนาเป็นวัสดุในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งออกแบบให้เหล็กมีน้ำหนักเบา ดูดซับพลังงานได้อย่างดีเยี่ยม ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตในระดับจุลภาคเลยทีเดียว
ใครๆ ก็ต้องการการปกป้องดูแล ยิ่งจากเหล็กกล้าแบบพิเศษ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกเป็นคนพิเศษขึ้นมาทีเดียว
ชื่อโครงการวิจัย : เหล็กกล้าความแข็งแรงสูงพิเศษสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิทูร อุทัยแสงสุข
ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
6. พริกไทยดำ เปลือกกุ้ง แก้ท้องร่วง
เดี๋ยวนี้เวลาไปกินตำถาดร้านเก่าเจ้าประจำ แค่สั่งหอยดองกับกุ้งแช่น้ำปลาเหมือนทุกครั้ง แต่กลับบ้านมาท้องเสียถ่ายท้องตั้งแต่ค่ำวันนี้ยันเช้าของอีกวัน หนุ่มสาวลางานไปให้น้ำเกลือกันเป็นแถบๆ จาก โรค ‘อุจจาระร่วง’ สายพันธุ์ใหม่ที่กำลังฮิตระเบิด ที่มีชื่อว่า El Tor variant เชื้ออหิวาต์สายพันธุ์ล่าสุด ร้ายกาจกว่าเดิมมาก มันสามารถสร้างปริมาณสารพิษที่ทำลายกลไกการปกป้องของลำไส้ ทำให้ลำไส้อักเสบ ซึ่งเชื้อนี้กำลังระบาดหนักในไทย จะให้นักวิทย์นั่งดูดายก็กระไรอยู่
งานวิจัยล่าสุดจึงค้นพบว่า ‘พริกไทยดำ’ และ ‘เปลือกกุ้ง’ สามารถลดอาการอุจจาระร่วงในระดับสัตว์ทดลองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้สาร Piperine ในพริกไทย และ Chitosan oligosaccharide จากเปลือกกุ้ง นอกจากนั้นองค์ความรู้นี้สามารถนำไปพัฒนายาชนิดใหม่เพื่อการรักษาอีกด้วย
ชื่อโครงการวิจัย : พยาธิสรีรวิทยาและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อการรักษาโรคอุจจาระร่วง
โดย – รองศาสตราจารย์ ดร. นพ. ฉัตรชัย เหมือนประสาท
ภาควิชาสรีรวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
7. มาลาเรีย Bad Boy ต้องปราบที่จุดอ่อน
ยุงเป็นศัตรูสามัญของทุกคน พวกมันเหมือนเพื่อนที่ไม่ได้รับเชิญ แถมพาเพื่อนนักเลงตัวแสบกว่ามาบุกรุกบ้านคุณ ไข้มาลาเรียในแถบชายแดนไทยก็ร้ายไม่ใช่เล่น พวกมันมีภูมิต้านทานยาค่อนข้างสูง การให้ยาปกติไม่เพียงจะรักษาไม่ตรงจุด แถมยังไปสนับสนุนให้เชื้อสามารถต่อต้านเพิ่มได้อีก
กระบวนการวิจัยจึงต้องคิดใหม่ทำใหม่ แทนที่จะพยายามกำจัดมันออกจากร่างกาย แต่เปลี่ยนเป็นเล็งไปที่ ‘จุดอ่อน’ ที่เชื้อบอบบางที่สุด ราวกับกลยุทธ์ซุนวู รบ 100 ครั้ง ชนะ 100 ครั้ง งานวิจัยจึงใช้กระบวนการวิวัฒนาการทำให้เชื้อดื้อยาอ่อนแอลง (Fitness trade-off) จากนั้นจะส่งสารเพื่อการยับยั้งกลไกดื้อยาดังกล่าว สิ่งที่เราได้คือการพัฒนาสูตรยารูปแบบใหม่ ในการปราบเชื้อมาลาเรียกลุ่ม artemisinin ให้ไม่ดื้อยา
พวก Bad Boy จริงๆ ถ้าคุณจับจุดเป็น ก็ไม่ยากที่จะปราบพยศ
ชื่อโครงการวิจัย : การพัฒนาสารต้านการดื้อยาของเชื้อมาลาเรีย
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนรรถ ชูขจร
Genomics and Evolutionary Medicine Unit (GEM) ศูนย์การวิจัยมาลาเรีย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล
8. ย้อมสีเริ่ดๆ ให้โซล่าเซลล์เจ๋งกว่าเก่า
หลายประเทศเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์ให้กลายเป็นพลังงานหลักขับเคลื่อนสังคม มันคุ้มทุนมากกว่าพลังงานลมเสียอีก และการพัฒนาเซลล์สุริยะกำลังคึกคักสุดๆ เหมือน Brick bar ในคืนวันเสาร์ ที่เต็มไปด้วยผู้พัฒนาหน้าใหม่ๆ อวดโฉมนวัตกรรมเพื่อยกระดับเซลล์แสงอาทิตย์ให้ล้ำหน้าขึ้นเรื่อยๆ
งานวิจัยไทยชิ้นนี้จึงมุ่งพัฒนาสีย้อมไวแสง เพื่อเคลือบแผ่นเซลล์แสงอาทิตย์ ให้มีประสิทธิภาพในการรับแสงสูงขึ้น นอกจากนั้นยังคัดกรองสารอินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงก่อนนำไปสังเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและความยุ่งยากในการผลิต เพราะไม่ต้องมานั่งคำนวณสัดส่วนทางเคมีแบบลองผิดลองถูก มีเวลาและงบประมาณไปทำอะไรอื่นๆ ได้อีกเยอะ
แถมมีแนวโน้มสามารถนำไปขยายการผลิตเพื่อต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ในอนาคต และประเทศไทยสามารถปรับปรุงอุปกรณ์เซลล์แสงอาทิตย์ที่มีราคาถูกและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
สวยด้วย ฉลาดด้วย รักโลกด้วย อะไรจะครบเครื่องขนาดนี้หนูรูกกกก
ชื่อโครงการวิจัย : การออกแบบโครงสร้างโมเลกุลสีย้อมเพื่อประสิทธิภาพโซล่าเซลล์สีย้อม
โดย รองศาสตราจารย์ ดร. ศิริพร จึงสุทธิวงษ์
ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
9. ห้องเรียน ‘นาโน’ ที่ไม่โนเนะ
จำบรรยากาศตอนเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ได้ไหม อาจารย์อยากให้นักเรียนสัมผัสความตื่นตาของโลกวิทย์ แต่เด็กครึ่งห้องต้องมารุมสุมหัวเกรียนๆ อยู่ที่ถ้วยบีกเกอร์ ถ้วยเดียว แต่ละคนได้แตะอยู่ประมาณทีสองที อุปกรณ์การสอนวิทย์ในไทยค่อนข้างอนาถอยู่ไม่น้อย มันไม่เพียงพอ การจัดซื้อก็ไม่ตรงสเป็ค แถมประสิทธิภาพไก่กา แล้วแบบนี้จะมาหวังให้เด็กไทยเป็นนักวิจัยรุ่นต่อไปได้อย่างไร หากพวกเขาไม่มีอุปกรณ์ทดลองภาคสนามที่ดีพอ
เรากำลังอยู่ในยุคที่พูดถึงเทคโนโลยี ‘นาโน’ เปลี่ยนโลก แหม แล้วไอ้นาโน หน้าตามันเป็นอย่างไรกัน ไม่เก็ตอะ อาจารย์!
งานวิจัยนี้จึงพยายามสร้างแรงจูงใจการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบใหม่ โดยใช้สิ่งแวดล้อมปฏิบัติการทดลองแบบ ‘ไฮบริด’ นักเรียนจะได้ลงมือศึกษาเทคโนโลยีนาโนของแท้ในห้องเรียน ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และ Virtual ประสบการณ์เสมือนจากสถานการณ์จำลองด้วยชุดอุปกรณ์ที่ราคาไม่สูง ถอดประกอบและพกพาได้สะดวก
แต่คุณไม่จำเป็นต้องเรียนสายวิทย์ก็ร้องอ๋อได้ การเรียนตามกระบวนนี้ไม่ได้ซับซ้อนหรือเต็มไปด้วยศัพท์แสงวิปริต เพราะเขาเน้นให้เห็นการเชื่อมโยงและสร้างแรงบันดาลใจจากโลกฝั่งวิทยาศาสตร์ เว้นเสียแต่คุณเล่น Tinder แล้วสนุกกว่า นั้นก็เป็นเรื่องของคุณแล้ว
ชื่อโครงการวิจัย : Hybrid-to-Hybrid สิ่งแวดล้อทปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์แบบไฮบริดเพื่อส่งเสริมความสามารถในการเรียนรู้วิทยาศาสตร์แบบคู่ควบ
โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัฒน์ ศรีสวัสดิ์
สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ขอขอบคุณ
งานประชุม ‘นักวิจัยรุ่นใหม่ พบ เมธีวิจัยอาวุโส สกว.’ ครั้งที่ 16 TRF-OHEC Annual Congress 2017 (TOAC 2017) ที่จัดขึ้นโดย The Thailand Research Fund (TRF) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือ สกว.