ถ้าคุณติดตามข่าวในโลกออนไลน์มาสักระยะ คงอาจเหลือบไปเห็นคำว่า ‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) ปรากฏตามแวดวงวิชาการอยู่ไม่น้อยทั้งสายสังคมศาสตร์และวิทยาศาสตร์
อาจสงสัยว่ามันคืออะไรกันแน่ (หรือเกี่ยวอะไรกับ ‘มด’ ก็ไม่ทราบ เห็นมีคำว่า ant นำหน้า)
ในขณะที่คุณกำลังทายอยู่เล่นๆ ทั่วโลกกำลังถกเถียงถึงยุคสมัยใหม่ที่พวกเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ โลกใบเดิมที่รู้จักกลับมันไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และคุณเองก็มีส่วนร่วมทำให้มันเกิดขึ้น พวกเราทุกคนล้วนเป็นต้นเหตุทำให้โลกเข้าสู่ยุคสมัยใหม่แบบไม่มีทางเลือกนัก
ขอต้อนรับสู่ยุคแอนโทรโปซีน เพราะมนุษย์นั้นทิ้งอะไรไว้ข้างหลังเสมอ
ปฏิเสธไม่ได้แล้วว่ามนุษย์สร้างผลกระทบต่อระบบโลก ‘ทั้งระบบ’ วิทยาศาสตร์กำลังถกเถียงถึงการเปลี่ยนแปลงนั้น ว่าอาจสร้างรอยจารึกถาวรอันเปรียบเสมือนลายเซ็นจากน้ำมือมนุษย์ ขีดเขียนเรื่องราวของพวกเราไว้บนชั้นหิน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการกำหนดยุคสมัยใหม่ (Epoch & Era)
anthropo- (แปลว่า มนุษย์) และ -cene (แปลว่า ใหม่)
เราแพร่กระจายอะลูมิเนียม พลาสติก คอนกรีต อนุภาคคาร์บอน (จากการเผาไหม้พลังงานฟอสซิล) ยากำจัดศัตรูพืช สสารกัมมันตรังสีไปทั้งทั่วผืนดินและผืนสมุทร การประทับตราครั้งนี้เพียงพอที่จะประกาศอย่างเป็นทางการว่า ยุคสมัยใหม่ที่มนุษยชาติเป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลงโลกเต็มรูปแบบ หรือ Anthropocene Epoch ไม่ใช่วาทกรรมที่เอาไว้ขู่กันเล่นๆ หรืออนุมานโดยไร้หลักฐาน
หากเปรียบเทียบกับมาตรธรณีกาลในปัจจุบัน (Geological timescale) การเปลี่ยนแปลงที่เราสามารถเห็นได้จากหลักฐานทางธรณี เช่นซากดึกดำบรรพ์ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดในชั้นหินต่างๆ สิ่งที่เราทำในวันนี้ น่าจะทิ้งร่องรอยแห่งการเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้อย่างชัดเจน
ดังนั้น จู่ๆ จะมาตั้งสมมติฐานถึงยุคสมัยใหม่จึงไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ปีต่อๆ ไปอาจต้องเปลี่ยนเนื้อหาเสียใหม่ เพราะจากที่เราเคยคิดกันว่า มนุษย์ยุคปัจจุบันอยู่ในยุคโฮโลซีน(Holocene epoch) มาตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง
แต่แนวคิดนี้ทำให้พวกเราต้องย้ายไปอยู่ในยุคสมัยใหม่อย่าง ‘แอนโทรโปซีน’ (Anthropocene) แม้การอยู่ระหว่างรอยต่อของสองยุคอาจจะดูโก้เก๋ไม่น้อยเหมือนเป็นแม่พลอยในนิยายสี่แผ่นดิน แต่มีอะไรที่คุณต้องตั้งสังเกตบ้าง เมื่อยุคสมัยใหม่อาจไม่น่าอภิรมย์นักหรืออีกน้อยๆ ก็ 50,000 ปีต่อไปนี้ ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ที่มีต่อโลกนี้เสียใหม่
จุดเริ่มต้นของไอเดีย
ในงานสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นในเม็กซิโก ปี 2000 ชายผู้หนึ่งทำให้ที่ประชุมเงียบกริบราวสุญญากาศ
“ไม่เลย ท่านทั้งหลาย พวกเราไม่ได้อยู่ในยุคโฮโลซีนอีกต่อไปแล้ว แต่เรากำลังอยู่ในยุค…”
ชายผู้นั้นหยุดครุ่นคิด
“เรากำลังอยู่ในยุคแอนโทรโปซีน”
หากคุณไม่รู้จักชายคนนี้ อาจจะรู้สึกว่ามีตาแก่วิกลจริตที่ไหนไม่รู้ จู่ๆ ก็จัดให้มนุษยชาติไปอยู่ในยุคสมัยที่เราไม่เคยได้ยินมาก่อน ช่างเป็นคนเพี้ยนพิสดารเสียจริง
แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ในที่ประชุมกลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะผู้เอ่ยวาทกรรมแห่งประวัติศาสตร์นี้ คือนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลที่ได้รับการนับถือมากที่สุดคนหนึ่งของโลกนาม พอล ครูตเซน (Paul Crutzen) นักเคมีชาวดัตช์ ผู้ค้นพบผลกระทบของสารประกอบที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ จนกลายเป็นกรุยทางสู่แนวคิดภาวะโลกร้อน Global Warming ในปัจจุบัน และยังเป็นผู้ชี้ให้เห็นต่อภัยสงครามนิวเคลียร์ที่ทำลายพืชพรรณและสรรพชีวิตทุกอย่างบนโลกจากปรากฏการณ์ Nuclear Winter ดังนั้นการที่พอล ครูตเซนอัญเชิญพวกเราไปอยู่ในยุคสมัยใหม่ ต้องมีวาระสำคัญอย่างยิ่งยวด และทุกคนอาจต้องยอมหยุดฟัง
เริ่มแวะกันที่แร่ธาตุสักเล็กน้อย มนุษย์เรียนรู้การสกัดโลหะจากดินคราวละมากๆ โดยสถิติแล้วเราสกัดอะลูมิเนียมได้ราว 500 ล้านตันในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 หลังจากนั้นเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกบ้าน ทั่วทุกมุมโลกก็เคลือบอะลูมิเนียมกันหมด เพื่อความคงทน นำไปสู่ผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องยอดฮิตไปจนถึงซองบุหรี่ อะลูมิเนียมเป็นส่วนหนึ่งกับชีวิตมนุษย์แทบทุกอิริยาบถเช้าจรดเย็น
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นิดๆ พลาสติกเปลี่ยนทุกอย่างที่โลกเคยรู้จัก วิทยาการค้นพบวัสดุทรงคุณภาพที่ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ ราคาย่อมเยาและไม่ย่อยสลาย ความต้องการพลาสติกพุ่งสูงขึ้นถึง 300 ล้านตันต่อปี
แต่พลาสติกทิ้งทุกอย่างไว้อย่างร้ายกาจบนผืนดิน และเลวร้ายที่สุดในมหาสมุทร สัตว์ทะเลส่วนใหญ่กินพลาสติก และพวกมันตายทับถมบนพื้นมหาสมุทร เป็นกระบวนการแรกของการเกิดซากดึกดำบรรพ์ (Fossilization) เมื่อการย่อยสลายดำเนินไป อนุภาคพลาสติกกลับไม่ได้สูญสลายไปด้วย แต่คงปะปนในสภาพแวดล้อม นักวิจัยพบว่า พวกเขาพบเส้นใยพลาสติกทุกๆ ตารางเมตรในพื้นดินใต้ทะเลด้วยซ้ำ
หากเรากำลังก้าวเข้าสู่สมัยใหม่จริงๆ แล้วสมัยที่ว่านี้เริ่มต้นเมื่อไรกันแน่ ครูตเซนผู้เปิดประเด็นเสนอว่า สมัยแอนโทรโปซีนเริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่หลักฐานจากแกนน้ำแข็งชี้ว่า ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิทยาศาสตร์ท่านอื่นๆ เห็นต่าง ระบุว่าจุดเริ่มต้นของสมัยใหม่เปิดฉากขึ้นตอนกลางศตวรรษที่20 เมื่ออัตราการเพิ่มประชากรและการบริโภคทรัพยากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
Anthropocene เกิดขึ้นเมื่อไหร่
ฟอสซิลในยุคต่อไป คือ ‘เทคโน–ฟอสซิล’ ล้วนเป็นนวัตกรรมของมนุษย์ที่จะทิ้งไว้บนโลก นักวิทยาศาสตร์พบว่ากิจกรรมของมนุษย์ผลักให้โลกไปอยู่ในยุคสมัยใหม่ และปี 1950 น่าจะเป็น ‘จุดแตกหัก’ ของปรากฏการณ์ที่เด่นชัดที่สุด
พลาสติก – โพลีเมอร์ยุคใหม่กำลังเป็นส่วนหนึ่งของชั้นหิน พลาสติกย่อยสลายได้ยากเย็นและดื้อด้าน ทั่วพื้นมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งสะสมพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่สุด
คอนกรีต – ชาวโรมเริ่มรู้จักการก่อคอนกรีตเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย และกระจัดกระจายอย่างมหาศาลหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คอนกรีตกลายเป็นร่องรอยแห่งอารยธรรมที่เด่นชัดที่สุด
คาร์บอนแบลค (Carbon black) – การเผาไหม้เชื้อเพลิงเคลือบคาร์บอนไปทั้งพื้นผิวหินและน้ำแข็งขั้วโลก ปรากฏครั้งแรกในปี 1800 ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม แต่เข้มข้นสุดๆในปี 1960
พลูโตเนียม 239 และ 240 – การทดสอบนิวเคลียร์ในช่วงต้นยุค 1940 ทำให้ไอโซโทปหายากยิ่งอย่าง พลูโตเนียม ที่มักอยู่ในชั้นดินลึก กลับแพร่กระจายไปทั่วโลก พวกมันต้องใช้เวลาอย่างน้อย 100,000 ปี เพื่อย่อยสลายเป็นยูเรเนียม 235
คาร์บอนไดออกไซด์ – คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากเกี่ยวกับเพื่อนสนิทแห่งมนุษยชาติ คาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม และทะลุปรอทหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
มีเทน– เกิดจากการปล่อยของเสียจากกิจกรรมปศุสัตว์ และการขยายตัวของพื้นที่ทำเกษตรกรรม ภายหลังปี 1950 การใช้สารเคมีเพื่อเร่งผลผลิตทำให้มีเทนเพิ่มสูงขึ้น
ไนตรัส ออกไซด์ – จุลชีพในดินและมหาสมุทรย่อยสลายแร่ธาตุผ่านกระบวนการทางเคมีเกิดเป็น ไนตรัส ออกไซด์ แต่มันเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ยกเว้นปุ๋ยและพลังงานฟอสซิล ที่ทำให้ความเข้มข้นของไนตรัส ออกไซด์ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์
ไม่มีที่ไหนที่เราไม่เคยไป
ประวัติศาสตร์สังคมมนุษย์ตลอดหลายแสนปี ทิ้งร่องรอยขนาดมหึมาเหมือนการตีตราประทับร้อนๆ ไว้บนระบบนิเวศของธรรมชาติซ้ำแล้วซ้ำอีกจนเป็นไปได้ว่า “ไม่มีแห่งหนใดบนโลกที่ไม่เคยเปื้อนมือมนุษย์” เมื่อมนุษย์เดินทางไปที่ใด การดำรงอยู่ของเรามักเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วมากกว่าเผ่าพันธุ์ใดๆ บนโลกนี้ และด้วยงานวิจัยทางธรณีวิทยาที่วิเคราะห์ฐานข้อมูลร่วม 30 ปี ก็ช่วยยืนยันว่าการกล่าวอ้างนี้ไม่เกินเลยนัก
ทีมวิจัยลงมือเก็บข้อมูลทางโบราณคดีทั่วทุกมุมโลก และวิเคราะห์ DNA กลุ่มฟอสซิลโบราณ (Max Planck Institute for the Science of Human) ทำให้มนุษย์เห็นภาพรวมของระบบนิเวศโลกได้ เราก็ต้องลงทุนวิจัยกันแบบอลังการเสียหน่อย ผู้ทำหน้าที่ไขปริศนาคือ Nicole Boivin นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ และสถาบัน Max Planck : Science of Human History ของเยอรมนี ร่วมกับทีมนักวิจัยรุ่นใหม่หลายชีวิต ใช้เวลาศึกษาค้นคว้ากว่า 30 ปี โดยเก็บข้อมูลการค้นพบทางโบราณคดีที่ปรากฏทั่วโลก และตัวอย่างข้อมูล DNA จากจุลซากดึกดำบรรพ์ (Microfossil) จำนวนมาก ทำให้พวกเขาเห็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงโดยน้ำมือมนุษย์ได้อย่างไม่มีใครเคยทำมาก่อน
การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์แม้จะเป็นเรื่องผิดพลาดบ้าง ล้มเหลวบ้าง แต่ความก้าวหน้าของพวกเราก็สร้างประโยชน์และสร้างวัฒนาการให้กับโลกนี้ไม่น้อย
ครูตเซนกำชับให้ทุกคนทราบอีกครั้ง ยุคสมัยแอนโทรโปซีนไม่ได้อยู่ที่การแก้ไขหรือปรับปรุงตำราทางธรณีวิทยาที่มีอยู่เดิม
แต่คุณูปการที่แท้จริง คือการที่ทำให้คนรุ่นใหม่พุ่งความสนใจผลกระทบจากการกระทำในภาพรวมของเรา และช่วยกันคิดว่าเราอาจจะยังพอหาหนทางเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งเลวร้ายที่สุดได้อย่างไร
“แอนโทรโปซีน จะเป็นคำเตือนที่พวกเราส่งไปยังโลก ผมหวังไว้อย่างนั้น” พอล ครูตเซน กล่าว
อ้างอิงข้อมูลจาก
The Anthropocene: the human era and how it shapes our planet. Synergetic Press, 2014
The Unnatural World.David Biello, Scribner, 2016