ออกตัวกันแรงๆ ก่อนคือ ผมไม่ใช่คนบ้าปิดหูปิดตาอย่างพวกในรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ที่คิดจะปัดความสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือกระทั่งไม่เชื่อว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม ทั้งมลพิษมากมาย โลกร้อน อากาศวิปริตกลับด้านต่างๆ นั้นเป็นเพียงเรื่องลวงโลก …ไม่ใช่เลยครับ ผมเชื่อว่ามันมีปัญหาเหล่านี้จริงๆ และมันเป็นปัญหาสำคัญจริงๆ รวมถึงเชื่อด้วยว่าคนจำนวนมากก็ซีเรียสกับเรื่องนี้จริงๆ โดยเฉพาะเหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยม หรือ environmentalist ที่ผมจะพูดถึงต่อไปครับ
แต่นั่นแหละครับ แม้ผมจะเชื่อ ‘ข้อเท็จจริง’ เหล่านี้ พร้อมๆ กันไปผมก็เชื่อและคาดการณ์ไปด้วยว่าในอนาคตยาวๆ แล้ว คนกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะนิยมระบอบเผด็จการหรือไม่ก็คอมมิวนิสต์มากกว่า (ซึ่งทั้งสองระบอบนี้เป็น ‘คนละอย่าง’ กันนะครับ คนไทยบางทีชอบเข้าใจว่าเป็นสิ่งเดียวกัน)
ไอ้ ‘ในระยะยาว’ ที่ผมว่านี้ จริงๆ แล้วตัวผมเองก็อาจจะไม่ทันได้อยู่เห็นก็เป็นได้ เพราะหากจะเกิดขึ้นจริงก็อาจจะอีกหลายทศวรรษ แต่ผมคิดว่ามีแนวโน้มจะเป็นไปในทางนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จึงรู้สึกว่าควรจะเขียนอธิบายไว้ว่าทำไมมันมีแนวโน้มที่จะเป็นเช่นนั้น และอยากจะให้ที่คาดเดาไว้ไม่เป็นจริงขึ้นมาด้วย แต่เพราะเหตุผลอะไรผมจึงมองแบบนี้ เดี๋ยวผมจะอธิบายครับ ขอปูเรื่องก่อนอีกสักนิด
นอกจากผมจะเชื่อจริงๆ จังๆ ว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นของจริงอย่างที่บอกแต่ต้นแล้ว ผมคิดว่าเทียบกับค่ามาตรฐานทั่วๆ ไป ผมก็ดูจะเป็นคนที่พอจะมีความรักษ์โลกบ้าง อย่างน้อยก็อยู่ในระดับพอจะยอมแยกขยะระดับหยาบๆ เป็นขยะทั่วไปกับรีไซเคิลอยู่ ซึ่งคิดว่าพอถูไถถ้าเทียบกับคนไทยโดยทั่วไป แต่แน่นอน หากเทียบกับมาตรฐานมนุษย์ญี่ปุ่นหรือสแกนดิเนเวียนแล้ว ผมก็เป็นเพียงแค่คนถ่อยเถื่อนคนหนึ่งเท่านั้น หรือพอเห็นคนทิ้งขยะบนท้องถนนก็จะมีความหงุดหงิดตามมาบ้างอะไรแบบนี้ ว่าง่ายๆ ก็คือ ผมไม่ใช่นักสิ่งแวดล้อมอะไรใดๆ ไม่ได้รักษ์และห่วงโลกขนาดนั้น แต่ก็คิดว่าไม่ได้ใจเหี้ยมผิดมนุษย์มนานักกับเรื่องสิ่งแวดล้อม
ผมพูดมาขนาดนี้เพื่อจะบอกว่า ผมมองจากสายตาของคนที่ไม่ได้คิดจะโจมตีอะไรนักสิ่งแวดล้อมนิยมเลย แม้มันจะจั่วหัวเสมือนจ้องจะวอนตีนคนกลุ่มนี้เหลือเกินเท่านั้นแหละครับ ทีนี้เข้าเรื่องจริงๆ ละ ผมอยากจะเริ่มต้นจากความไม่เมกเซนส์บางส่วนของตัว ‘ตรรกะของนักสิ่งแวดล้อมนิยม’ ก่อน ซึ่งอาจจะดูเหมือนกวนตีน แต่มันคือความจริงนะครับ
งานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางสายสังคมศาสตร์และทางสายวิทยาศาสตร์แทบทั้งหมดนั้น ล้วนแต่ลงความเห็นหรือมีข้อสรุปแทบจะตรงกันครับว่า ‘มนุษย์’ คือตัวปัจจัยหลักที่สำคัญมากๆ ที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพสิ่งแวดล้อมโลกในปัจจุบัน
ขนาดที่ถึงกับมองว่า มนุษย์อาจจะมีพลังอำนาจต่อการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติมากเสียยิ่งกว่าตัว ‘ธรรมชาติ’ เองเสียอีก จนกระทั่งมีคำเท่ๆ กึ่งประชดประชันอย่างคำว่า ‘Anthropocene’ หรือ ‘ยุคมนุษย์’ เกิดขึ้นมาเพื่อพยายามอธิบาย ‘ยุค’ ในทางธรณีวิทยาว่า ตอนนี้เราอยู่ในยุคของมนุษย์ หรือยุคที่มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติแล้ว มนุษย์เป็นผู้กำหนดความเปลี่ยนแปลงหลักๆ ของโลก
ซึ่งอำนาจของมนุษย์ที่ว่านี้นอกจากจะนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ในการดำรงชีวิตต่างๆ มากมายแล้ว ยังนำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในหลายระดับด้วย ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิที่เกิดจากการฆ่าและล่าจนสูญพันธุ์โดยมนุษย์เอง หรือการทิ้งและทำลายสิ่งแวดล้อมจนนำไปสู่การตายหลายทอด อย่างสัตว์ที่มากินโฟม กินพลาสติกเข้าไปแล้วตาย จากนั้นโดนสัตว์อื่นกินต่อ ก็อาจจะทำให้สัตว์อื่นที่มากินต่อตายได้อีก ไม่นับรวมไปถึงสภาพอากาศและสภาพทางธรณีวิทยาที่เปลี่ยนแปลงฉับพลันจนแทบทุกชีวิตจะพังกันหมด และอาจจะอยู่ไม่ได้กระทั่งตัวมนุษย์เองด้วยในฐานะผู้บริโภคที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร บลา บลา บลา บรรยายอีกกี่ย่อหน้าก็ไม่จบ แต่ก็คงพอเห็นภาพนะครับ
สภาพที่ว่ามานี้เป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดครับ และมีบทพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ กระทั่งการได้สัมผัสในเชิงประจักษ์มามากมายแล้ว และความฉิบหายที่เกิดขึ้นนี้นำมาสู่ข้อสรุปสำคัญว่า ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป โลกต้องพินาศแน่ๆ และจะเป็นมนุษย์เองด้วยที่จะฉิบหายตามไป นี่คือข้อสรุปที่เห็นได้โดยทั่วไปของงานสายสิ่งแวดล้อมนิยม
แม้ผมจะเห็นด้วยกับข้อเท็จจริงและหลักฐานแทบทั้งหมด แต่ผมออกจะมีปัญหากับตัว ‘ข้อสรุปท้ายสุด’ นี้อยู่บ้าง คือ โลกน่ะมันไม่ ‘พินาศ’ หรอกครับ มันก็จะอยู่เป็นดาวเคราะห์ดวงที่สามของระบบสุริยะไปเรื่อยๆ จนครบอายุขัยมันนั่นแหละ และภายหลังจากความฉิบหายนั้นก็อาจจะเกิดสิ่งมีชีวิตแบบใหม่ๆ หรือสายพันธุ์ที่เหลือรอดบางสายพันธุ์ขึ้นมายั้วเยี้ยบนโลกแทน ว่าอีกแบบก็คือ “ไม่ใช่โลกที่ฉิบหาย เราต่างหากที่จะฉิบหาย” เพราะคำว่าโลกจะพินาศไปอะไรนั้นไม่ได้หมายถึงโลกหรอก แต่มันหมายถึง ’โลกในแบบที่เรารู้จักและรับรู้’ หรือ ‘โลกในแบบที่เราคุ้นชิน’ เท่านั้น ฉะนั้นในแง่นี้ก็ดูจะเป็นเรื่องของการ ‘หลงเข้าข้าง’ เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ในขณะที่กำลังหลงคิดว่าตัวเองกำลังทำเพื่อโลกอยู่ อย่างพิกลในสายตาผม
ไม่เพียงเท่านั้นปัญหาในเชิงตรรกะ ที่สำคัญก็คือ งานวิจัยต่างๆ ล้วนบอกเองว่า มนุษย์คือตัวการปัญหาสำคัญของเรื่องสิ่งแวดล้อมนี้ และสภาวะความเปลี่ยนแปลงของโลกกำลังไปสู่สภาพที่ย่ำแย่มากๆ ขนาดที่มนุษย์เราเองก็จะยังอยู่ไม่ได้ ฉะนั้นเราจึงควรหาทางแก้ไขก่อนจะไม่ทันกาล
หืม? อ้าว ถ้าว่ามางี้ เราไม่ต้องทำอะไรก็แก้ปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้วนี่ครับ ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายมนุษย์ก็จะอยู่ไม่ได้ ก็จะสูญพันธุ์ไป (ในกรณีที่ร้ายที่สุด) แล้วก็เท่ากับว่าตัวการสำคัญที่สุดที่นำมาซึ่งความเลวร้ายทั้งมวลนี้ก็จะหมดไปด้วย โลกจะกลับมาชนะมนุษย์อีกทีหนึ่ง ว่าอีกแบบก็คือ โลกเค้าก็ดูกำลังแก้ปัญหาตรงหน้าด้วยการพยายามกำจัดมนุษย์อย่างเราไปโดยเร็วที่สุดแล้วนะครับ อยากช่วยโลกก็อย่าไปรั้งความตายตัวเองเลย
ผมเขียนมานี่ไม่ได้ต้องการจะบอกว่าผมอยากให้มนุษย์ตายห่าทั้งโลกอะไรหรอกครับ แค่จะบอกว่าบางทีนักสิ่งแวดล้อมก็อาจจะต้องเริ่มยอมรับตัวเองกันด้วยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังปกปักรักษานั้นไม่ใช่ตัวโลกเอง แต่เป็นวิถีชีวิต ความเคยชินของเขา และอาจจะอยากเก็บไว้ให้รุ่นลูกรุ่นหลานของเขาเองได้มีโอกาสสัมผัสบ้าง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไรเลย และจะเรียกว่าน่าทำมากๆ ด้วยก็อาจจะไม่ผิด แต่นั่นเป็นคนละเรื่องกับการพยายามช่วยโลก (เพราะถ้าอยากช่วยโลก การเร่งให้เผ่าพันธุ์เราหายไปให้เร็วที่สุดอาจจะเป็นเรื่องที่ถูกต้องกว่า) ในแง่นี้หากมองจากจุดนี้เป็นฐานแล้ว เราจะบอกว่าโดยเนื้อแท้แล้วนักสิ่งแวดล้อมนิยมมีแนวโน้มจะความคิดก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสายอนุรักษ์นิยม ที่ต้องการเก็บรักษาประสบการณ์แบบเก่าๆ หรือที่ตัวเองคุ้นชินส่งต่อให้คนรุ่นถัดไปนั้นก็อาจจะไม่ผิดนัก กับแนวคิดสายสังคมนิยมที่ให้คุณค่ากับ ‘ความปลอดภัยมั่นคงของตัวมนุษย์’ มากกว่าความต้องการส่วนบุคคลของปัจเจกแต่ละคน อย่างไรก็ตามนี่ดูจะเป็นเพียงสัญญาณอ่อนๆ ในระดับเริ่มต้นเท่านั้นครับ
อีกปัญหาหนึ่งที่ผมมักจะเจอกับงานของสายสิ่งแวดล้อมนิยมก็คือ การพยายามแยกขาดระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติอย่างสาหัสสากรรจ์
เอาเข้าจริงๆ แล้วคอนเซ็ปต์เรื่อง ‘ยุคมนุษย์’ ที่ว่าไปเองก็เป็นส่วนหนึ่งของหมุดหมายสำคัญของวิธีคิดลักษณะนี้ ไม่รวมถึงหนังสือสังคมศาสตร์ระดับพื้นฐานทั่วไปก็ดูจะแยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติในลักษณะเดียวกัน อย่างการอธิบายว่าอารยธรรมและวัฒนธรรมคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเป็นคนละสิ่งคนละอย่างกับสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น
วิธีการคิดแบบนี้เองที่อยู่ในตัวของนักสิ่งแวดล้อมนิยมที่หลายๆ ครั้งพยายามทำลายความมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (human centric) แต่ในทางความคิดเองกลับเป็นปัญหาในแง่ความย้อนแย้งทางตรรกะด้วย เพราะผมเชื่อว่าโดยมากแล้วเราก็ไม่ได้เห็นบีเวอร์สร้างรังสร้างเขื่อนเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมชาติ เช่นกันกับจอมปลวก หรือรังมด รวงผึ้ง และกิ่งไม้เล็กๆ ที่นกกระจาบเอามาวางต่อกันทำรัง แต่เรากลับมองว่าสิ่งปลูกสร้างโดยมนุษย์นั้นคือสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ ‘ธรรมชาติ’ แทนที่จะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และส่วนหนึ่งของธรรมชาติมนุษย์เองด้วย การคิดแบบนี้เองที่สะท้อนถึงความเป็น human centric โดยไม่ค่อยจะรู้ตัวเองของเหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยมมากๆ (เผลอคิดด้วยซ้ำว่ากำลัง ‘ต้าน’ สิ่งนี้อยู่) เพราะมันเท่ากับว่าเหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยมนี้กำลังมองโลกจากฐานสายตาของมนุษย์เป็นแกน และแบ่งแยกมองสถานะพิเศษให้กับตนเองโดยไม่ได้สนสายตาวิธีคิดแบบอื่นๆ เท่าไหร่นัก ผมไม่คิดว่าหมาหรือแมวที่เกิดและเติบโตในเมืองจะมองว่า ‘เมืองของมนุษย์’ คือความไม่เป็นธรรมชาติ ตรงกันข้ามป่าไม้อาจจะกลายเป็นสิ่งที่แปลกแยกและผิดธรรมชาติมากกว่าในสายตาพวกมันก็ได้ หรือแมลงนกที่บินไปมาก็คงไม่ได้มองแยกสัดส่วนว่าขณะบินผ่านทะเล แม่น้ำ ภูเขา นี่คือธรรมชาตินะ แต่พอมาถึงเมืองแล้วนี่คืออารยธรรม นี่คือสิ่งแปลกปลอมที่พวกมนุษย์สร้างขึ้น มันคือความไม่ธรรมชาติ? อย่างนั้นหรือครับ? สำหรับพวกมันไม่ได้มองตึกระฟ้าว่าเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มันพร้อมจะขี้ใส่ได้ พอๆ กับป่ากลางชมพูทวีปหรอกหรือ?
การคิดที่เสมือนว่าตนเอง ‘ช่วยโลก’ อยู่ กำลังทำลายความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์ การคิดว่าตนเองกำลังทำไปเพื่อวันใหม่ที่ดีกว่าแบบค่อนข้างจะหลงทิศหลงทางเช่นนี้ ทำให้ผมหวนคิดถึงวิธีการคิดแบบ White Man’s Burden หรือภาระของคนขาวในยุคล่าอาณานิคม ที่เหล่าคนขาวมองว่าเป็นภารกิจของพวกตนที่จะต้องเข้าไปแทรกแซงเหล่า ‘คนเถื่อน’ ไร้อารยธรรมที่ด้อยกว่า ต้องเข้าไปปกป้อง ช่วยเหลือ ช่วยบริหารจัดการ (และแน่นอน ‘ขูดรีด’ ด้วย) โดยมองเห็นภาพต่างๆ เฉพาะจากการตัดสินโดยสายตาของตนเอง แล้วไปสรุปว่า “สิ่งที่หน่วยอื่นๆ ในโลกมองเห็นก็จะเป็นแบบที่ฉันเห็นนี่แหละ มันจึงเป็นสิ่งที่สมควรแล้ว” ซึ่งเป็นวิธีการที่ยึดเอาความคิดตนเองและสายตาของตนเองเป็นศูนย์กลางมากๆ และนักสิ่งแวดล้อมนิยมก็ดูจะทำสิ่งเดียวกันนี้อยู่ แบบไม่รู้ตัวนักในสเกลที่ใหญ่ขึ้น กับสิ่งมีชีวิตหลากหลายเผ่าพันธุ์ขึ้น
ผมพูดมาทั้งหมดนี้อาจจะคิดว่าผมต่อต้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอะไรพวกนั้น แต่เปล่าเลยนะครับ อย่างที่บอกไปแต่ต้น ผมไม่ใช่นักอนุรักษ์ตัวยงอะไร แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านอะไรด้วย ผมเพียงแค่คิดว่าเหล่านักสิ่งแวดล้อมควรจะเลิกหลอกตัวเองได้แล้วว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้คือการทำเพื่อโลก หรือคือการทำความดีอะไร สำหรับผมมันก็คือความพยายามจะทำตามความต้องการส่วนตัวของคุณเอง เพียงแต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือ เหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยมนั้นมักจะใช้ความต้องการส่วนตัวหรือความเห็นแก่ตัวในฐานะปัจเจกที่หลงคิดไปว่าทำเพื่อ ‘ทุกคน’ นี้ มาเป็นมาตรฐานบังคับให้ทุกคนต้องฟัง ต้องทำตามอย่างเสียไม่ได้ด้วย (ซึ่งไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องที่เลวร้ายนะ ย้ำอีกที แค่ต้องหัดยอมรับความจริงว่านี่คือความเห็นแก่ตัวมากๆ แบบหนึ่ง) โดยเฉพาะคำอธิบายแบบ Moral High Ground หรือการมีจุดยืนที่สูงกว่าทางศีลธรรม
ลักษณะที่ว่ามานี้ผมคิดว่าเป็นลักษณะในเชิงส่วนบุคคล หรือลักษณะวิธีคิดของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่านักสิ่งแวดล้อมนิยมมักจะมีปัญหาอยู่ ซึ่งมันส่งผลให้ในระยะยาวแล้วพวกเขามีโอกาสที่จะมีแนวโน้มเอนเอียงไปในทางอำนาจนิยมเผด็จการ หรือหากดีหน่อยก็ไปทางสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ได้ แต่ที่ว่ามานี้ยังไม่ถึงเหตุผลหลักเลยนะครับ เหตุผลหลักนั้นมันคือเรื่องเชิงโครงสร้าง และการ ‘บังคับใช้มาตรฐานร่วมในความเป็นจริง’ ด้วย
ที่ผมบอกว่าเหตุผลในเชิงโครงสร้างเป็นเหตุผลหลักที่สุดท้ายจะทำให้เหล่านักอนุรักษ์หันไปสนับสนุนฝ่ายขวาอำนาจนิยม ไม่ก็สังคมนิยมไปเลย เพราะแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนที่ดำเนินผ่านกลไกของประชาธิปไตยแบบ(ทุนนิยม)เสรีนิยมไม่เอื้อให้ข้อเรียกร้องของเหล่านักอนุรักษ์นิยมสำเร็จได้โดยง่าย หรืออาจจะไม่มีทางสำเร็จได้เลย (แม้ว่าประเด็นเชิงโครงสร้างจะเป็นเหตุผลหลัก แต่ไม่มีอะไรซับซ้อนนัก ผมจะอธิบายแบบเร็วๆ นะครับ)
ประการแรกเลย คือ ตั้งแต่ต้นนั้น แนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นแนวคิดที่มีความ human centric หรือมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางสูงมาก ซึ่งเป็นอะไรที่ตรงกันข้ามกับสิ่งที่เหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยม ‘เชื่อ’ ว่าตัวเองกำลังทำอยู่พอสมควร (แต่ว่าหากมองลงไปอย่างสุดทางแล้ว ก็ยากจะบอกได้เช่นนั้น เพราะอาจจะเป็นเพียงอีกมุมของ human centric ดังที่อธิบายไปก่อนหน้า) ว่าง่ายๆ ก็คือ ‘มนุษย์มีสถานะที่สูงที่สุด’ ตามหลักคิดนี้ เพราะสิ่งที่มีค่าและสำคัญที่สุดคือสิทธิในการมีชีวิตอยู่ และสิทธิ เสรีภาพของมนุษย์ ไม่ใช่สัตว์อื่นใด ว่าง่ายๆ หมากัดคน กับคนตบหมานั้น ไม่ได้มีบทลงโทษเดียวกัน (หากจะมีบทลงโทษใดๆ นะ)
แน่นอนครับว่าการพยายามขยาย ‘พรมแดน’ ของการช่วยเหลือ และให้สิทธิกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากมนุษย์ อย่างพวก Animal Rights Movement นั้นก็ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ
แต่ในทางความเป็นจริงแล้ว ตราบเท่าที่มันยังมีมนุษย์ที่ทนทุกข์ยาก ลำบากเข็ญอยู่ การจะมาให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก่อนที่จะไปช่วยหาทางให้ชีวิตของมนุษย์ที่ถูกกดขี่นั้นดีขึ้น ย่อมไม่ใช่เรื่องที่ถูกมองว่าเมกเซนส์นักหากมองตามระเบียบของสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด เอาตรงๆ ก็คือ คดีนักโทษการเมือง, สตรีและ LGBTQI โดนกดขี่ในโครงสร้างศาสนาอิสลาม, ประชาชนโดนริดรอนสิทธิในไทยและเกาหลีเหนือ, คนกำลังอดอยากปางตายในแอฟริกา ฯลฯ นั้นย่อมต้องได้รับการให้น้ำหนักมากกว่าหมาโดนเตะ แมวโดนทรมาน หรือการกินแมวน้ำ กินกระเบน หากมองผ่านแว่นตาของสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด (ไม่ใช่ว่าไม่อยากช่วยหมานะครับ แต่คนต้องสำคัญกว่า)
ไม่เพียงเท่านั้น แม้จะมีการพยายามอ้างการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในฐานะ ‘การประกันสิทธิ’ ในการมีชีวิตอยู่ของคนทั้งโลกนั้น ก็มีปัญหาตามมาอีกมากมายด้วย เพราะการอ้างนี้คือการพยายามจะโต้กลับด้วยภายใต้อำนาจโครงสร้างของประชาธิปไตยเสรีนิยม ที่นอกจากจะเน้นในสิทธิของปัจเจกที่พึงกระทำได้ตามความต้องการของตนเท่าที่จะเป็นไปได้แล้ว มันยังทำให้ข้ออ้างที่ว่ามากลายเป็นข้ออ้างในการพยายามเอาเปรียบในการพัฒนาไปพร้อมๆ กันด้วย เพราะประเทศที่ดูจะเป็นผู้รับผิดชอบหลักต่อความฉิบหายของสภาพวายป่วงของโลกนั้น ก็ดูจะเป็นประเทศผู้นำทางอุตสาหกรรมโลก ที่ทั้งเคยขูดรีดทรัพยากร สร้างและพัฒนา เผาถ่าน หิน ฟืน และน้ำมันกันจนมันมือมันตีน เข้มแข็ง กินดีอยู่ดีกันแล้ว และพอถึงเวลาที่ตัวเองอยู่ในโซน ‘ปลอดภัย’ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมแล้ว ก็มาบอกคนอื่นๆ ในโลกว่า “มึงห้ามผลาญทรัพยากร และทำให้โลกร้อนนะ” เช่นนี้เองที่ข้ออ้างของเหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยมที่พยายามจะหาคำอธิบายด้านสิทธิมนุษยชนมาโต้ กลับถูกมองเป็นอีกหนึ่งในวาทกรรมกดขี่และเอารัดเอาเปรียบไม่ให้โอกาสประเทศอื่นๆ ที่พัฒนาการทางอุตสาหกรรมช้ากว่าไปเสีย
เมื่อคำอ้างของการสร้างมาตรฐานร่วมสากลถูกมองอย่างไม่น้อยว่าเป็นการกดขี่ซ้ำซ้อน และประเทศใดๆ เองก็มีหน้าที่ต้องประกัน ‘ความเป็นอยู่และชีวิตในปัจจุบัน’ ของประชากรตัวเองก่อนชีวิตความเป็นอยู่ในอนาคต และนั่นก็คงจะเป็นคำอธิบายที่ต้องยอมรับเช่นกันว่าวางอยู่บนฐานของสิทธิมนุษยชนเหลือเกิน ผมคิดว่าในท้ายสุดแล้วเราก็พอจะพูดได้เต็มๆ แหละครับว่าแนวคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนมันไม่ถูกดีไซน์มาเพื่อตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อมนัก แม้มันจะพยายามกลายเป็นมาตรฐานระดับสากลครือๆ กันก็ตาม
ไม่พอ เมื่อระบบหลักๆ ของโลกทำงานผ่านประชาธิปไตยเสรีและทุนนิยมเสรี คุณค่า อารมณ์ และการตีความต่างๆ จึงถูกแปลงมาเป็นส่วนหนึ่งของทุนด้วย สิ่งของที่แฝงคุณค่าหรือการตีความของ ‘ความสูงกว่า’ ในเชิงฐานะ ชนชั้น หรือศีลธรรมจรรยานั้นเองจึงถูกตีราคาในระบบทุน และผันเป็นราคาที่สูงกว่า ผลิตภัณฑ์ออแกนิก สินค้าที่ย่อยสลายง่ายต่างๆ ที่นอกจากจะใช้เวลาในการผลิตที่ยากกว่า ต้นทุนที่สูงกว่าแล้ว ราคาบั้นปลายที่ออกมาสู่ท้องตลาดก็สูงกว่าด้วย หลายครั้งเป็นเท่าตัว การแปลงคุณค่าต่างๆ ให้เป็นทุนตามกลไกวิธีคิดของทุนนิยมเสรีนี้เอง ที่เป็นอีกหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้การอนุรักษ์ไม่สามารถถูกทำให้เป็นมาตรฐานสากลได้จริง เพราะการมีกินมีใช้ ความเป็นอยู่และปากท้องของกูย่อมต้องสำคัญเหนือกว่าการรักษ์โลกแน่นอน …หรือก็คือ กูไม่ยอมเป็นหนี้เพื่อกินอาหารหรือใช้ผลิตภัณฑ์อนุรักษ์โลกหรอก
การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องของชนชั้นกลางขึ้นไป หรือเหล่าฮิปสเตอร์ผู้มีอันจะกินพอจะแบกรับภาระดังกล่าวนี้ได้ และทำหน้าที่เป็นเกราะกำบังให้พวกเขาออกมาวิพากษ์วิจารณ์คนที่ไม่ทำแบบเดียวกันกับพวกเขาด้วย
สภาพการณ์แบบนี้เองที่ผมคิดว่ามันบ่งชี้ชัดเจนว่า แนวคิดเรื่องสิ่งแวดล้อมนิยมได้ ‘พ่ายแพ้’ ต่อกลไกของทุนนิยมเสรีไปนานแล้ว
อันนี้ยังไม่ถึงกับต้องไปพูดถึงภาพลวงตาของเหล่าชนชั้นกลางและฮิปสเตอร์ทั้งหลายที่กำลังคิดว่าตัวเองกำลังช่วยโลกอยู่ ด้วยการลดคาร์บอนฟูตปรินต์ โดยการลดการกินเนื้อ หันไปเน้นแดกผักแดกหญ้าแทนนะครับ เพราะหลายๆ ครั้งมันตรงกันข้ามเสียด้วยซ้ำ อย่างอาโวคาโดที่แสนจะนิยมกันนี้ การจะปลูกมันให้มากพอกับปริมาณการบริโภคตามกระแสนิยมตอนนี้ ต้องทำลายและเบียดเบียนถิ่นที่อยู่ทางธรรมชาติของสัตว์และต้นไม้อื่นๆ จำนวนมากด้วย อาจจะมากไม่น้อยกว่าการบริโภคสัตว์จริงๆ เลย และพืชที่นิยมลักษณะนี้ยังมีอีกมาก ฉะนั้นหากเป็นวีแกนแบบเคร่งครัดจริงๆ ทางออกที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการเก็บเงินไปการุณยฆาตมากกว่านะครับ เพราะจะแทบไม่เหลืออะไรที่กินได้เลย
ในระดับการปฏิบัติในโลกจริงก็เช่นกัน ต่อให้ออกเป็นนโยบายอะไรขึ้นมาได้ แต่หลายๆ ครั้งมันก็ไม่ได้ลดปริมาณการฆ่าอะไรแบบนี้ลงไปได้ หลายครั้งการจับปลาโดยการลากอวน (ซึ่งเป็นเรื่องปกติมากๆ) ก็ลากไปโดนสัตว์น้ำหายากโดยไม่ได้ตั้งใจนี่แหละ เมื่อมันติดขึ้นมา ก็ต้องทิ้งซากกลับลงทะเลไปเพราะกลัวจะโดนจับ เป็นต้น ว่าง่ายๆ ก็คือ ในหลายๆ ครั้งการสร้างมาตรการขึ้นมาก็ไม่ได้ดูขีดความสามารถในการทำได้จริงด้วย
ที่ไล่มาทั้งหมดนี้ เพื่อจะบอกครับว่าโดยโครงสร้างของระบอบต่างๆ ที่ทำงานอยู่เหนือสังคมโลกของเรา (superstructure) นั้น ไม่เอื้อให้วิธีคิดแบบนักสิ่งแวดล้อมนิยมจะทำให้เป็นจริงแบบจริงๆ จังๆ ได้หรอกครับ ฉะนั้นเมื่อโครงสร้างในปัจจุบันเป็นแบบนี้ คำตอบที่ดูจะเป็นไปได้ตามตรรกะก็ดูจะมีเพียงว่า นักสิ่งแวดล้อมนิยม หากจะยึดมั่นกับแนวคิดนี้อยู่ก็มีแต่จะต้องหา ‘ร่ม’ หรือระบอบกลไกการปกครองแบบใหม่แทน ซึ่งที่ดูจะเมกเซนส์และเข้าทางที่สุดหลักๆ ก็คงจะเป็นเผด็จการอำนาจนิยม ที่มีอำนาจบังคับเต็มมือ และใช้ข้ออ้างเรื่องการจัดการภายใต้ภาวะวิกฤติในการ ‘สั่งการควบคุม’ ได้ ไม่งั้นก็ต้องเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ที่พร้อมจะสละสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกเพื่อประกันความมั่นคงของมนุษย์ให้ได้ก่อนนั้นก็อาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเช่นเดียวกัน
แต่ด้วยแนวโน้มการเมืองโลกในปัจจุบันดูมีแนวโน้มจะเอนขวามากกว่าซ้าย ไม่พอ การเอนขวานี้ก็ดูจะเข้ากับวิธีคิดแบบ Moral High Ground และ White Man’s Burden ของเหล่านักสิ่งแวดล้อมนิยมไม่น้อยด้วย ก็มีโอกาสจะไปในทิศทางนี้มากทีเดียวครับ
เรื่องสุดท้ายที่ผมอยากจะฝากไว้ในฐานะคนที่ไม่ได้อินเต็มข้อไม่ได้ขัดเต็มแข้งกับเรื่องอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นก็คือ ผมคิดว่าประเทศไทยเราที่อ้างตัวว่าจะเป็นแหล่งศูนย์กลางของอาหารโลก แต่ยังตบกันเรื่องการกินปลากระเบนมีจุดที่ต่างฝ่ายต่างอ้างกันไปต่างๆ นานาอยู่เลยนั้น ต้องหันมาคิดก็คือ การพัฒนาและวิจัยเรื่องการทำฟาร์มและปศุสัตว์อย่างจริงจัง ผมเองเป็นคนที่สนับสนุนสิทธิในการกินแทบทุกอย่างนะครับ แต่ถ้าเป็นสัตว์เติบโตช้า ใกล้สูญพันธุ์นั้นก็คิดว่าควรอนุรักษ์ไว้ แต่ถ้าอยากกินผมก็คิดว่าควรจะต้องหาวิธีทำฟาร์มให้ได้ครับ แล้วอยากกินอะไรก็กินไป ไม่ต้องดราม่ากันด้วยนะทีนี้
แน่นอนครับ ผมทราบว่ามีสัตว์หลายชนิดที่เลี้ยงเป็นฟาร์มลำบากหรือไม่ได้เลย แต่ในประเทศไทยมักจะจบแค่ตรงนั้นไงครับว่า “เออ ไอ้ตัวนี้มันเลี้ยงไม่ได้อะ” แล้วก็ไม่พยายามทำอะไรต่อนัก แต่ที่ญี่ปุ่นนี่เค้าพยายามวิจัยจนหาวิธีเลี้ยงกันจนได้จริงๆ นะครับ อย่างปลาไหลน้ำจืด หรืออูนาหงินั้น เดิมทีเลี้ยงในฟาร์มไม่ได้ เพราะไข่ที่ออกมาไม่รู้เป็นไรออกมาแล้วแปบๆ ตัวอ่อนก็ตาย ต้องทดลองอยู่เป็นสิบปี จนสุดท้ายสำเร็จ และตอนนี้มีข้าวหน้าปลาไหลให้กินกันได้ทั่วไป ในราคาย่อมเยาว์ลงด้วย หรือตอนนี้ที่เค้ากำลังทำอยู่คือ ปลาปักเป้าที่ไม่มีพิษ (เพราะพิษของมันเกิดจากสิ่งที่มันกินเข้าไป) ด้วยการทำฟาร์มทดลอง ที่ควบคุมอาหารการกินของมัน จนตอนนี้ได้ปักเป้าชนิดที่ไม่มีพิษออกมาแล้วเป็นต้น ซึ่งหากทำได้จริงก็มีแนวโน้มจะทำให้ราคาของปักเป้าลดลงได้มากด้วย เพราะคนที่ทำให้กิน ไม่จำเป็นต้องเป็นยอดเชฟที่ถูกฝึกพิเศษอีกต่อไป
นี่แหละครับ หากคิดจะหาทางออกให้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษาสัตว์ในโลกทุนนิยมเสรี ก็ต้องคิดถึงความสามารถ วิธีการในการปฏิบัติในโลกจริงด้วย และทำออกมาแล้วต้องหาทางทำให้ราคามันต่ำลง บริโภคได้หลากหลายขึ้นด้วย หากคิดจะทำให้มันกลายเป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่ทำให้ข้าวออแกนิกเป็นเหมือนชาแนลของมวลหมู่ข้าวแบบที่เป็นอยู่ กินแล้วจะบินได้ เป็นผู้เจริญแล้วทางจิตใจอย่างตอนนี้
ที่สำคัญนอกจากจะนึกถึงสัตว์แล้วก็นึกถึงจิตใจคนอยากกินด้วย อย่าเอาแต่ภาระทางศีลธรรมตัวเองไปยัดปากชาวบ้าน ผมคิดว่าคนที่อยากกินควรได้มีสิทธิกิน แค่เราต้องมาคิดวิธีการกินที่สามารถคงความหลากหลายไว้ได้ และไม่รบกวนธรรมชาติจนเกินไป ก็ควรจะเป็นจุดพอดีได้แล้วกระมัง