เอาเป็นว่าถ้าคุณไม่ได้ขังตัวเองอยู่ใต้ดิน ก็คงรู้แล้วว่าชาวโลกกำลังไล่จับมอนสเตอร์ใส่ลูกบอลหลากสีกันอยู่
ค้นหาโปเกม่อนทรงพลัง ฝึกมันให้แกร่ง และระเบิดยิมฝ่ายตรงข้ามราวสงครามกลางเมือง เพียงไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น Pokémon ก็ยึดโลกด้วย Soft Power ไปซะเรียบร้อยโรงเรียน Niantic แล้ว ออฟฟิศ The MATTER และ Salmon เป็นที่ตั้งของยิมประจำซอยพอดี ทำให้ทุกนาทีเกิดการแย่งชิงอำนาจกันอย่างชุลมุนวุ่นวาย
คราวนี้เราไม่มานั่งอธิบายทริคเด็ดหรือระบบเกมกันหรอก เพราะคุณคงเข้าใจมันอย่างทะลุปรุโปร่งแล้ว
แต่อะไรดึงดูดพวกเราให้ตามหาโปเกม่อนตั้งแต่เช้ายันเย็น เกิดอะไรกับพวกเรากันแน่?
และการเล่น Pokémon Go สามารถทำให้เราเข้าใจตัวเองเพิ่มขึ้นหรือเปล่า?
โปเกม่อนเสริมแรงบวก
‘ความฟรี’ เป็นของยากที่จะปฏิเสธ คุณเองก็กลายเป็นนักสะสมได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก (แค่ในช่วงเริ่มต้นเนอะ) เพียงมีสมาร์ทโฟนที่สเป็คไม่ขี้เหร่ โลกใบใหม่ที่ซ้อนบนโลกใบเดิมก็พร้อมให้คุณออกสำรวจ การค้นพบมอนสเตอร์ประหลาดๆ ในละแวกบ้าน การชิงยิมจากทีมคู่แข่ง หรือการเดินจนไข่ฟักออกมาเป็นตัวหายาก กิจกรรมในโลก Pokémon Go ล้วนมอบประสบการณ์ เสริมแรงเชิงบวก (Positive Reinforcement) ให้กับคุณได้เป็นอย่างดี
ความสุขที่ได้รับการตอบสนองเมื่อคุณจับโปเกม่อนนั้น จริงๆ มนุษย์เองก็มีสมองส่วนที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้อยู่ เรียกว่าระบบ ‘Brain reward system’ ซึ่งจะปล่อย โดปามีน (Dopamine) ทำหน้าที่เป็นทั้งสารสื่อประสาทและฮอร์โมน มอบความรู้สึกสุขและสนุกสนาน เมื่อการเล่นโปเกม่อนเชื่อมโยงกับการให้รางวัล สมองพวกเราจึงมักจดจำและเหนี่ยวนำให้เกิดการให้รางวัลแบบนั้นซ้ำๆ ขึ้นอีก
“เราต้องยอมรับว่า ระบบเกมสร้างแรงจูงใจที่น่าท้าทายให้กับผู้เล่น” ศาสตราจารย์ Russell Belk ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดจากมหาวิทยาลัย York เคยให้สัมภาษณ์กับ Forbes ถึงปรากฏการณ์ Pokémon Go ที่ทำให้คนทั้งโลกติดกันงอมแงม
“มันเป็นความท้าทายที่ถูกย่อส่วนลงมา ทุกคนมีโอกาสประสบความสำเร็จเท่าเทียมกันภายใต้ระบบที่ออกแบบมาแล้ว ซึ่งความสำเร็จในโลกเสมือนนี้ มีปัจจัยร่วมน้อยกว่าชีวิตจริงๆ ที่เราต้องเผชิญ”
เมื่อทุกคนอยู่ในระบบที่มีความแฟร์เท่าเทียมกัน และความสำเร็จเป็นเรื่องไม่ไกลเกินเอื้อม ผู้เล่นหน้าใหม่ๆก็พร้อมกระโดดเข้ามาร่วมด้วย
พวกเราล้วนมีธรรมชาติของนักสะสม
ฟีเจอร์หลักที่ทำให้ทุกคนออกเดินทางก็เพื่อสะสมมอนสเตอร์ให้ได้เยอะๆ Russell Belk เคยอธิบายธรรมชาติของนักสะสมไว้นานแล้วในวารสาร Journal of Social Behavior and Personality ปี 1991 ซึ่งแบ่งลักษณะการสะสมไว้ 2 จำพวก
- การสะสมเพื่อสุนทรียะ (Aesthetic)
- การสะสมแบบจัดหมวดหมู่ (Taxonomic)
การสะสมแบบสุนทรียะ คือการที่คุณเลือกสะสมอะไรก็ตามที่ต้องตาต้องใจตามรสนิยมคุณเป็นหลัก และใช้สิ่งเหล่านั้นในการเสริมอัตลักษณ์เพื่อบ่งบอกตัวตนบางอย่าง คล้ายกับผู้คนที่ชื่นชอบสะสมชิ้นงานศิลปะ หรือวัตถุโบราณ
และการสะสมแบบจัดหมวดหมู่ คือกระบวนการที่คุณต้องกวาดล้างโปเกม่อนมาให้ได้มากที่สุด โดยใช้รสนิยมตัดสินค่อนข้างน้อย (แต่ยังไงคุณก็อยากได้ตัวที่มี CP สูงๆ ไว้ประดับบารมี หรือตัวที่เคยผูกพันด้วยในวัยเด็ก)
ไม่ว่ามันจะน่ารักหรือพิลึกขนาดไหนก็ตาม แต่คุณก็อยากจับมันให้ได้มากๆ อยู่ดี
การสะสมโปเกม่อนไม่ต่างจากการสะสมเหรียญหรือแสตมป์ หรือการค้นหาสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่ต้องมีการจัดหมวดหมู่แบบอนุกรมวิธาน (Taxonomy) จากรูปร่างลักษณะ สายพันธุ์หรือธาตุ ยิ่งคุณมีมากเท่าไหร่คุณก็จะพบความหลากหลายของโลก Pokémon Go ได้มากยิ่งขึ้น
หรืออีกนัยหนึ่ง คุณได้ยืมสัญชาตญาณนักชีววิทยาในการจัดจำพวก (classification) สิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ในโลกออกเป็นหมวดหมู่ย่อยๆ อย่างมีระบบและหลักการตามวิชาอนุกรมวิธาน (มีการมอบเหรียญตราให้คุณพึงพอใจและมอบค่าประสบการณ์ด้วยนะ)
แต่อนุกรมวิธานฉบับโปเกม่อนยังมีข้อจำกัดอยู่ ในช่วงเริ่มต้นมันมีสายพันธุ์ให้คุณจับราว 151 ตัว ซึ่งไม่นานคุณก็คงเบื่อเมื่อพบตัวซ้ำๆ ทุกครั้ง แต่ในโลก Pokémon จากทุกๆ ภาคมีมอนสเตอร์ให้คุณค้นหากว่า 700 ตัว ดังนั้นถ้า Pokémon Go ยังอยากจะไปต่อ ผู้พัฒนาก็ต้องเพิ่มโปเกม่อนสายพันธุ์ใหม่ๆ ให้จับกันให้เหงือกบานกันไปข้าง
แม้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการจับโปเกมอนให้ครบ อย่างน้อยก็ต้องการมีตัวเจ๋งๆ เพื่อไปเปรียบเทียบกับเพื่อนของคุณ การประชันสร้างความท้าทาย เพื่อให้ได้เปรียบทางสังคม
Russell Belk เคยรีวิวใน Current Opinion in Psychology ถึงการสะสมว่า มันช่วยขยายตัวตนของพวกเรา (Extended Self) ทั้งทางร่างกายและจิตใจ คุณมีอีกตัวตนหนึ่งที่มีอำนาจ กำลังวังชา ที่พร้อมช่วงชิงความเป็นผู้นำจากคนอื่นๆ หรือการที่คุณมีฝั่งให้เข้า แดง ฟ้า เหลือง และได้อวดโฉมตัวเองเมื่อครอบครองยิมได้สำเร็จ
การสะสมในโลกดิจิตอลได้เปรียบกว่าในทางกายภาพ เมื่อแสตมป์และเหรียญมักต้องเก็บไว้ในตู้โชว์ แต่คุณสามารถสะสมโปเกม่อนได้เป็นร้อยๆ ในมือถือของคุณเอง แถมแคปหน้าจอโชว์เพื่อนๆ ผ่าน Social สร้างบรรยากาศแห่งความแข่งขันได้เป็นอย่างดี
ระบบ AR เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้โปเกม่อนกลายเป็นปรากฏการณ์โลก มันมอบประสบการณ์เสมือนให้ซ้อนทับกับโลกแห่งความเป็นจริง ทุกตรอกซอกซอยกลับมีชีวิตชีวา ยิ่งคุณพบโปเกม่อนหายาก มันเหมือนกับการพบหนังสือ Limited Edition ในร้านหนังสือลับแล ทำให้การเดินทางแต่ละครั้งถูกจดจำด้วยประสบการณ์การค้นพบที่การออกแรงเดินไม่สูญเปล่า
การเสริมแรงเชิงบวกอย่างต่อเนื่องทำให้สมองเสพติด โดปามีน และเมื่อคุณหยุดเล่น ระดับโดปามีนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คุณโหยหาความสุขจากกิจกรรมที่คุณเคยทำซ้ำๆ แบบนั้นอีก
อย่างไรก็ตามเราไม่ได้มองว่า Pokemon Go เป็นปัญหา แต่เป็นปรากฏการณ์ที่น่าเร้าใจ การเป็นส่วนหนึ่งของกระแสสังคมก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย อย่างน้อยมันก็เปิดโอกาสให้คุณเข้าใจตัวเองให้ดียิ่งขึ้น (และมันก็สนุกจริงๆ นี่นา)
ขอบเขตที่คุณตั้งไว้เองต่างหากจะทำให้คุณไม่เสียเปรียบจากการเสพติด ที่ไม่ต้องจากโปเกม่อนหรอก อะไรๆก็ทำให้คุณติดได้ หากคุณยังไม่เข้าใจตัวเอง
ขอให้สนุกกับการล่านะ Happy Hunting
อ้างอิงข้อมูลจาก
theweek.com/articles/451660/psychology-video-game-addiction
news.mit.edu/2012/understanding-gambling-addiction-0904
www.forbes.com/sites/jvchamary/2016/07/12/science-collecting-pokemon/#564f16186d2e