เมื่อความเป็นครูไม่ได้มีบทบาทเฉพาะในโลกจริงเท่านั้น ในโลกแห่งความบันเทิงก็มีครูจำนวนมากที่ชวนให้เราประทับใจอยู่ ไม่ว่าจะเป็น ศาสตราจารย์เซอร์เวอรัส สเนป จาก นิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ หรือถ้าแนวดราม่าสร้างกำลังใจหน่อยก็จะเป็น อาจารย์จอห์น คีทติง ที่นำแสดงโดย จากภาพยนตร์ Dead Poets Society ก็อยู่ในความทรงจำของใครหลายๆ คน เช่นกัน
แต่ในวันนี้เราขอยกชื่อคุณครูจากฝั่งการ์ตูนญี่ปุ่นมาให้ชมกัน ด้วยความที่วัฒนธรรมในแถบเอเซียของไทยกับญี่ปุ่นนั้นใกล้ๆ กัน และเราต้องยอมรับว่าอาจารย์จากฝั่งการ์ตูนหลายๆ คนมีอะไรน่าจดจำจริงๆ
หมายเหตุ ในบทความนี้มีการพูดถึงเนื้อหาสำคัญของการ์ตูนหลายเรื่อง หากไม่ต้องการถูกสปอยล์โปรดหลีกเลี่ยง
โอนิสึกะ เอย์คิจิ (GTO Great Teacher Onizuka , GTO Shonan 14 Days, GTO Paradise Lost ฯลฯ ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ)
ถ้าพูดถึงครูในการ์ตูนแล้วไม่พูดถึงหนุ่มผมทองคนนี้คงจะไม่ได้ ถึงพฤติกรรมของเขาจะดูนอกกรอบนอกเกณฑ์ ทั้งติดเกม ติดการ์ตูน เสพหนังโป๊ (กิจกรรมทั้งหมดนี้เขาทำในพื้นที่โรงเรียนด้วย) โสดซิง ดูไม่เอาถ่าน ดูไม่น่าสอนใครได้ แต่เพราะเขาเองก็โดนปฏิบัติตนมาอย่างเป็นส่วนเกินของสังคมมาก่อน ทำให้เขาเข้าใจ ‘การโดนมองข้าม’ ของเด็กที่โดนมองว่าเป็น ‘เด็กไม่ดี’ ได้ดีกว่าใครหลายคน แถมเขายังใช้วิธีนอกตำราในการแก้ปัญหาที่พบด้วย เราไม่ได้คาดหวังว่าอาจารย์บนโลกจริงจะต้องทำตัวนอกกรอบเสียหมด แต่อยากให้มองรายละเอียดบางอย่างให้ลึกลงไปมากขึ้นตามยุคสมัยที่ผันผ่านว่ามันทำให้นักเรียนเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วตัวครูเองต้องปรับตัวตามยังไงบ้าง
อาจารย์ (โดราเอมอน ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยเนชั่นเอดูเทนเมนต์)
ไม่ได้ลืมใส่ชื่อด้วยความกวนบาทาแต่อย่างไร เพราะตัวละครที่เหมือนจะเป็นครูประจำชั้นของห้องเรียนที่โนบิตะเข้าเรียนอยู่คนนี้ไม่ได้มีชื่อที่ชัดเจนเท่าใดนัก (ฉบับทีวีเคยระบุไว้ 2 ชื่อ คือ กานาริ กับ เซ็นโจ เออิจิโร่ แต่ในฉบับหลังๆ ก็โดนละไปอย่างจริงจัง) ถึงในฉากที่เราเห็นจะพบว่าเขาคอยดุโนบิตะเป็นประจำ ทั้งในโรงเรียนหรือแม้แต่ตอนไปเยี่ยมที่บ้าน แต่ถ้ามองในมุมกลับก็บอกได้ว่า อาจารย์ค่อนข้างเป็นห่วงนักเรียนและแสดงให้เห็นว่าเขาอยากให้นักเรียนในชั้นเรียนของเขาพัฒนามากขึ้นจริงๆ ทั้งในด้านการเรียน มารยาท และความรับผิดชอบ และมีหลายๆ ตอนของโดราเอม่อนที่แสดงให้เห็นว่าอาจารย์ที่ดูดุๆ คนนี้มอบกำลังใจและแรงบันดาลใจทั้งกับตัวละครภายในเรื่องและคนอ่านอยู่เสมอๆ
นูเบ – นูเอโนะ เมสุเกะ (มืออสูรปราบปีศาจ / มืออสูรปราบปีศาจ NEO ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสยามอินเตอร์คอมิค)
คุณครูท่านก่อนหน้าอาจจะต้องปวดขมับกับการรับมือปัญหาจากเด็กนักเรียน แต่สำหรับครูคนนี้เขายังต้องรับมือกับสิ่งชั่วร้ายอีกด้วย โชคดีที่ นูเบ หรือ นูเอโนะ เมสุเกะ คนนี้ได้รับมืออสูรมาจึงทำให้เขาสามารถต่อกรกับสิ่งมีชีวิตลึกลับที่เข้ามาพัวพันได้ ในภาคแรกเรื่องราวของนูเบก็จะเชื่อมโยงกับปีศาจโดยตรง แต่พอในภาค NEO ปมของปิศาจถูกปรับเป็นสิ่งมีชีวิตร้ายที่เกิดขึ้นจากปัญหาชีวิตของครอบครัวนักเรียน มากขึ้นด้วย (ยังมีปีศาจที่ออกมาเพื่อให้เก็บแต้มบ้างแต่น้อยกว่าภาคแรก) ทำให้บางครั้งนูเบก็จะไม่เข้าไปปราบอสูรโดยตรงแต่อาจจะใช้วิธีปรับมุมมองและใช้วิธีสอนทั้งพ่อแม่และตัวเด็กนักเรียนให้เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ด้วยตัวเองก่อนที่เขาจะมาช่วยเหลือในจุดที่วิกฤติจริงๆ อีกมุมนึงก็ยังแอบสะท้อนความลำบากของอาชีพครูในแง่ความยากจนด้วย แม้จะออกมาในโทนติดตลกก็เหอะ
อันไซ มิตสึโยชิ (Slamdunk ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยเนชั่นเอดูเทนเมนต์)
อาจารย์รุ่นใหญ่จาก Slamdunk การ์ตูนบาสเก็ตบอลชื่อดังที่เดิมทีแล้วมีฉายว่า ‘ปีศาจผมขาว’ แต่เมื่ออดีตนักบาสเกตบอลคนหนึ่งที่เขาเคยฝึกต้องเสียชีวิตไป อาจารย์อันไซจึงเปลี่ยนแนวมาเป็นสไตล์นิ่งเงียบสยบเคลื่อนไหวแทน (ซึ่งเป็นการดึงคาแรคเตอร์ของ Phil Jackson อดีตโค้ชใหญ่ของทีม Chicago Bulls กับ Phil Jackson ที่ได้รับฉายาว่า Zen Master อันเนื่องมาจากเขาสามารถใช้คำพูดเชิงสั่งสอนคุมทีมที่มีนักกีฬาชื่อดังจำนวนมากได้) ถึงความดุดันจะลดลง อาจารย์อันไซก็ยังคุมทีมโชโฮคุด้วยทักษะการมองนักกีฬาที่ยอดเยี่ยมเหมือนยุคก่อนหน้า ยังคงเน้นการฝึกพื้นฐานให้แน่นหนา และเพิ่มการพูดจาให้กำลังใจมากขึ้นอย่างเช่น ‘ห้ามละทิ้งความหวังจนถึงวินาทีสุดท้าย ถ้าล้มเลิกความหวัง การแข่งขันก็จะสิ้นสุดทันที’ คำพูดนี้คงไม่ได้เป็นเพียงคำพูดที่สอนสั่งตัวละครในการ์ตูนเท่านั้น แต่มันยังเป็นคำพูดที่ฝากถึงคนอ่านทุกคนให้ตั้งใจมุ่งมั่นที่สุดเอาไว้ด้วย
โตโฮฟุไฮ (G Gundam ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสยามอินเตอร์คอมิกส์ ฉบับอนิเมชั่นจัดทำโดยบริษัทดรีมเอกซ์เพรส)
สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามกันดั้ม เราขออธิบายกันเล็กน้อยว่า บรรยากาศของภาค G Gundam นั้นเป็นสไตล์แบบหนังจอมยุทธฮ่องกง แต่ตัวละครใช้กันดั้มสู้กันแทนกระบี่กระบองจีน ดังนั้นการที่พระเอกของเรื่องนี้จะมีอาจารย์สอนวิชายุทธก็เป็นเรื่องปกติ ถามว่าอาจารย์ของพระเอกเราเมพแค่ไหน แค่ชื่อก็บอกชัดแล้วว่าความเมพนั้นจัดเต็ม เพราะ โตโฮฟุไฮ แปลได้ว่า บูรพาไร้พ่าย หรือ ตงฟางปุ๊ป้าย นั่นเอง วิ่งตามรถยนต์ได้ ต่อยตึกแตก เอาผ้าคาดหัวของพระเอกไปฟาดหุ่นตัวร้ายจนพังได้ นี่ขนาดยังไม่ได้ขับหุ่นนะ! ส่วนพระเอกที่เป็นลูกศิษย์ก็ไม่ได้อะไรมากก็แค่สามารถใช้พลังยุทธ(ร่วมกับหุ่น)ถล่มสถานีอวกาศได้ในตอนท้ายเรื่องด้วย
ฟุจิซาว่า ชินโง (จีซัส, เนตรปริศนาล่าทรชน, จีซัส หนทางบนม่านทราย สองเรื่องหลังฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิกส์)
ความจริงเขาไม่ใช่คุณครูตัวจริง แต่เป็นนักฆ่าระดับพระกาฬชื่อว่า ‘จีซัส’ ที่มาสลับตัวกับ ฟุจิซาว่า ชินโง คุณครูอ่อนแอที่เสียชีวิตกะทันหัน แน่นอนว่าตอนแรกเขาก็ไม่ใช่ครูที่ดีนักหรอก (ตัวปลอมนี่) แต่เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินไปเรื่อยๆ ครูปลอมคนนี้ก็สอนบทเรียนชีวิตให้กับนักเรียนในห้องที่ถูกลากเข้าไปข้องเกี่ยวก้บเหตุการก่อการร้าย และความเป็นครูของ จีซัส ก็ยิ่งเพิ่มพูนขึ้นในผลงานภาคต่อกับผลงานคู่ขนานที่จีซัสได้กลายเป็นครูจริงในประเทศตะวันออกกลาง เขากลับมาจับปืนอีกครั้งเพราะนักเรียนของเขาโดนองค์กรค้ามนุษย์ลักพาตัวไป คราวนี้นอกจากจะสอนวิชาเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น ย้งสอนการใช้ชีวิตให้นักเรียนสายนักฆ่า นักเรียนสายยากูซ่า ที่แฝงตัวในโรงเรียนให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น และสุดท้ายเขาก็ถล่มองค์กรก่อการร้ายอีกหลายแห่งจนสามารถชิงตัวนักเรียนที่ถูกลักพาตัวสำเร็จอีกด้วย การไม่ทำให้ครูคนนี้โกรธเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดแล้ว
คุโด้ ยูซากุ (ยอดนักสืบจิ๋ว โคนัน ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิบูลย์กิจ ฉบับอนิเมชั่นจัดทำโดยบริษัททีไอจีเอ)
อาชีพหลักของชายผู้นี้ไม่ใช่ครู กระนั้นเราก็อยากจะพูดถึงเขาในฐานะโคตรครูหนึ่ง คงมีครูไม่กี่คนหรอกที่สามารถสอน พระเอกอย่าง คุโด้ ชินอิจิ / เอโดงาว่า โคนัน จนสามารถยืงปืน ขับรถ ขับเรือ ขับเฮลิคอปเตอร์ ไปจนถึงขับเครื่องบิน ถึงมันจะพอแถด้วยเหตุผลว่าที่ไปฝึกเยอะขนาดนี้ได้เพราะฮาวายเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกาเลยมีพื้นที่เอกชนที่เปิดให้สามารถฝึกฝนเรื่องที่ว่าได้ง่ายๆ ก็จริง แต่ชินอิจิกับคุณพ่อก็จะเมพขิงเกินไปหน่อยแล้วล่ะ แถมปกติยูซากุที่เป็นนักเขียนนิยายระดับโลกกลับสามารถไขคดีของ ชินอิจิ/โคนัน ได้ก่อน แถมรู้ตัวจริงของ จอมโจรคิด (รุ่นพ่อ) เสียด้วย ถ้าคุณพ่อเป็นพระเอก การ์ตูนเรื่องโคนันอาจจะจบตั้งแต่สิบปีก่อนแล้วล่ะ
โรเบอร์โต้ ฮอนโง (กัปตันสึบาสะ ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสยามอินเตอร์คอมิกส์)
เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่ใช่ครู แต่เป็นอดีตนักฟุตบอลทีมชาติบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น (ถ้าไม่นับจุดที่ติดทีมชาติ ชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่นนี้ก็มีอยู่จำนวนมากไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะชาวญี่ปุ่นย้ายถิ่นฐานไปอาศัยในบราซิลช่วงปี 1906-1968 เป็นจำนวนมาก) เขารีไทร์ตัวเองออกจากวงการฟุตบอลหลังจากมีปัญหาด้านจอประสาทตาและแทบหมดกำลังใจในการใช้ชีวิต จนกระทั่งเขาได้เดินทางกลับมาญี่ปุ่นและสั่งสอน โอโซระ สึบาสะ สิ่งที่เขาสอนไม่ได้มีแค่ทักษะการเตะบอล หรือแผนการต่างๆ (โม้บ้างตามวิสัย) แต่นั่นรวมถึงท่าไม้ตายอย่าง ไดรฟ์ชู้ต และ สกายวิงชู้ต ถ้าสึบาสะไม่ได้รับการสั่งสอนและชี้นำจากครูคนนี้แล้วเขาคงไม่อาจพาทีมฟุตบอลเยาวชนของญี่ปุ่นได้แชมป์เยาวชนโลก (ตามท้องเรื่อง) ได้สำเร็จแน่
อาจารย์โคโระ (Assassination Classroom ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยสยามอินเตอร์คอมิกส์)
ตัวละครเด่นของเรื่อง Assassination Classroom ที่แรกเริ่มทุกคนเข้าใจว่าเป็นตัวร้ายสุดขีด จนกระทั่งเดินเรื่องไปเรื่อยๆ จึงได้เห็นว่าตัวอาจารย์ที่มีหนวดเหมือนปลาหมึก แถมยังเปลี่ยนสีไปตามอารมณ์ตัวนี้พยายามดึงศักยภาพของนักเรียนแต่ละคนออกมาจากการฝึกฝนเพื่อการสังหารเขา ทำให้ตอนสุดท้ายที่นักเรียนจำเป็นต้องสังหารเขาเพื่อช่วยเหลือโลกใบนี้กลายเป็นการสังหารที่เต็มไปด้วยความรู้สึกทั้งรัก ทั้งห่วงใย ทั้งยังทำให้เห็นว่าครูบางคนก็ยึดมั่นกับอาชีพนี้จนถึงนาทีสุดท้ายของชีวิต
อาจารย์ทุกคนของ โกคู (ดราก้อนบอล ฉบับการ์ตูนตีพิมพ์โดยเนชั่นเอดูเทนเมนต์)
ถึงจะมีพื้นฐานกำลังกายดีและมีร่างแปลงเป็นลิงยักษ์ได้ก็ใช่ว่าจะทำให้ โกคู กลายเป็นนักรบผู้ปกป้องโลกได้ทันที โกคูฝึกวิชาหมัดมวยพื้นฐานจากปู่โกฮัง ได้ท่าไม้ตายประจำตัวอย่างพลังคลื่นเต่าจากการฝึกวิชากับผู้เฒ่าเต่า ปีนหอคอยคารินและได้วิชาเพิ่มเติมจากท่านคาริน ได้หมัดเจ้าพิภพจากจ้าวพิภพในโลกแห่งความตาย ได้ร่างซูเปอร์ไซย่าขั้นสามจากการฝึกเพิ่มเติมหลังจากที่โกคูเสียชีวิตอีกรอบหนึ่ง (ร่างแรกถือว่าไม่มีคนสอนนะ) ฯลฯ ถ้าไม่มีอาจารย์เหล่านี้ โกคู ก็คงปกป้องภัยร้ายให้โลกเราไม่ได้ และอีกประการหนึ่งก็ทำให้เห็นว่า การเรียนรู้ไม่มีวันที่สิ้นสุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.thairath.co.th/content/434896
http://hilight.kapook.com/view/19311