จำได้ว่าตอนนั้นแฟนๆ Dark ต่างก็ตื่นเต้น เมื่อได้ยินว่าหลังจาก Dark จบลงที่ 3 ซีซั่น ยันท์เย ฟรีเซอ (Jantje Friese) และ บารัน โบ โอดาร์ (Baran bo Odar) สองสามีภรรยาผู้สร้างจะทำซีรีส์เรื่องใหม่ที่มีตัวละครหลักเกือบ 20 คน และพูด 10-12 ภาษาในเรื่องเดียว นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำกับและเขียนบทกันเองเป็นหลัก และได้ อันเดรอัส เพียทช์แมนน์ (Andreas Pietschmann) นักแสดงผู้รับบท Jonas วัยผู้ใหญ่มารับบทนำอีกด้วย
ขึ้นชื่อว่าซีรีส์เรื่องใหม่จากผู้สร้าง Dark สิ่งที่ต้องเตรียมไว้เป็น starter pack ก่อนดู ซึ่งก็หนีไม่พ้นยาพารา สมุดจด และผังประกอบ แต่เป็นเรื่องที่นึกไม่ถึงว่าซีรีส์ 1899 ของ Netflix ที่ติดอันดับ 1 หลายประเทศทั่วโลกตอนนี้จะเป็นซีรีส์ที่ดูง่ายกว่ารุ่นพี่อย่าง Dark ที่คราวนี้มาในรูปแบบของซีรีส์พีเรียด ว่าด้วยเรื่องราวของคนกลุ่มหนึ่งที่เดินทางไปแสวงหาโชคที่อเมริกา ก่อนที่จะค้นพบเรือประหลาด นำไปสู่เรื่องราวการเดินทางไขปริศนาหาคำตอบ ภาพหลอน และสัญลักษณ์
และองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้คือจุดเริ่มต้นที่เริ่มจากปมเล็กๆ แต่นำไปสู่ภาพรวมที่ยิ่งใหญ่กว่าตามสไตล์ผู้สร้างทั้งสอง ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ถึงดูง่ายและเกิดขึ้นในสถานที่เดียว แต่ก็มีเนื้อหาในหลายๆ ส่วนให้พูดถึง ตั้งแต่แนวคิดที่มา เนื้อเรื่อง เบื้องหลังการถ่ายทำ โดยเฉพาะการทอดแทรกข้อความบางอย่างในรูปแบบของสัญลักษณ์และบทสนทนา
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ 1899*
สำหรับผู้สร้างทั้งสองทุกอย่างต้องมีจุดเริ่มต้น มีจุดกลาง และมีจุดจบ และเกิดวนซ้ำ เหมือนที่หลังจาก Dark จบลงที่ 3 ซีซั่น ซีรีส์เรื่องใหม่ก็เริ่มต้นขึ้นโดยตั้งเป้าไว้ว่าจะให้มีสามซีซั่นเป็นอย่างน้อย (หรืออาจทั้งหมดสามซีซั่น) เช่นกัน
ไอเดียของซีรีส์ 1899 เกิดขึ้นเมื่อหลายปีที่แล้วตั้งแต่ซีรีส์ Dark ยังไม่จบ เริ่มมาจากที่บารันกับยันท์เยไปค้นพบรูปภาพใบหนึ่ง เป็นรูปภาพเก่าที่แปลกประหลาดของชายคนหนึ่งผู้สวมเสื้อสีขาว ตัวโชกไปด้วยเลือด ในมือถือค้อน ใบหน้าดูพิกล และชายคนนี้ยืนบนเรือเก่าๆ ซึ่งทำให้ทั้งคู่เกิดคำถามทันทีว่านายคนนี้ถือค้อนทำไม? ได้เลือดมาจากไหน? กำลังจะไปไหน? ทำไมโชกเลือด? และนี่มันรูปอะไรกัน?
ยันท์เยจึงเกิดไอเดียว่านี่คือชายผู้อพยพ แต่เกิดอะไรขึ้นกับเรืออพยพลำที่เขาขึ้นมาล่ะ? คำถามใหญ่นี้กับวิกฤตอพยพยุโรปเมื่อปี 2015-2016 กับ Brexit ทำให้ทั้งสองคนเกิดไอเดียสตอรี่ที่เรื่องราวเกิดบนเรือ มีทะเลล้อมรอบ หนีไม่ได้ จากนั้นไอเดียเกี่ยวกับการทดลองก็ตามมา ตามมาด้วยไอเดียที่ว่าทุกคนจะทำอย่างไรหากต่างคนต่างมาจากคนละประเทศ พูดคนละภาษา และแตกต่างพื้นเพวัฒนธรรม แต่ต้องมาอยู่รวมกันเช่นนี้?
ไอเดียทุกอย่างที่กล่าวไปถูกหลอมรวมกับการตั้งคำถามในเชิงปรัชญาเกี่ยวกับการรับรู้และความเป็นจริงที่ทั้งคู่นิยมชมชอบ และยังเป็นความตั้งใจในการให้เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 1899 เพราะนี่คือช่วงเวลาที่น่าสนใจที่สุดช่วงเวลาหนึ่ง เนื่องจากเป็นการเข้าสู่ยุคใหม่ที่คนเต็มไปด้วยความหวังและความกลัว เต็มไปด้วยไอเดียเก่าและไอเดียเดิม โลกเก่าและโลกใหม่ รวมถึงยังเป็นยุคที่วิทยาศาสตร์ปะทะศาสนาอีกด้วย
เรื่องนี้เป็นความตั้งใจของผู้สร้างทั้งสองคนที่จะให้ซีรีส์เป็นซีรีส์ international จากการแคสต์นักแสดงที่พูดภาษาทั้งอังกฤษ, สเปน, ฝรั่งเศส, โปแลนด์, เยอรมัน, เดนมาร์ก, โปรตุเกส, จีน และญี่ปุ่น แง่หนึ่งเพื่อเล่าเรื่องที่มีความหลอกล่อจนคนดูเดาทางไม่ถูกว่าใครจะมีบทบาทอย่างไร สำคัญยังไงกับเนื้อเรื่อง ในอีกแง่ก็แสดงให้เห็นถึงการเอาตัวรอดบนสถานการณ์ที่สั่นคลอนการเดินทางครั้งนี้ว่าหากต้องการจะรอด ทุกคนต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทั้งหมดเพื่อสะท้อนความจริงที่เราอยู่ในช่วงเวลาแตกแยกและ Brexit ด้วยเช่นกัน
การสะท้อนความเป็นจริงตรงนี้ยังถ่ายทอดผ่านเรื่องที่ว่าแม้แต่ละคนจะพูดคนละภาษา (ถึงขั้นต้องให้มีโค้ชภาษาทุกภาษาอยู่ในกองถ่าย) แต่ด้วยภาษากายที่เป็นภาษาพื้นฐานที่สุดของมนุษย์และมาก่อนภาษาพูด ทุกคนเข้าใจกันได้ และยังมีความตั้งใจในการออกแบบและตัดเสื้อผ้าทุกชุดทุกชิ้นสำหรับเรื่องนี้โดยเฉพาะ เพื่อพูดถึงบทบาทในเรื่อง บทบาททางสังคมและสร้างความน่าจดจำให้ตัวละคร
อีกสิ่งที่ชวนอึ้งไม่แพ้สิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องคือพอตารางถ่ายทำซีรีส์เรื่องนี้ชนกับสถานการณ์ COVID-19 แม้จะทำเสียแผนแต่สองผู้สร้างก็ได้เปลี่ยนไปทำสิ่งที่ยาก ไม่เคยทำมาก่อน และไม่มีกรณีศึกษามาก่อนนอกจาก 1 เรื่องก่อนหน้านี้ (The Mandalorian) นั่นก็คือการใช้เทคโนโลยี The Volume หรือการใช้จอ LED นับพันมาต่อเรียงกันเป็นฉากหลัง ทำให้แม้ยากจะเชื่อแต่ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทำในสตูดิโอทั้งเรื่อง และมีการวางแผนการถ่ายทำอย่างชาญฉลาดและซับซ้อน เผื่อใช้เวลา ทุนสร้าง และพื้นที่ให้คุ้มที่สุด
ซึ่งนับเป็นการพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเนื่องจากผู้สร้างไม่ต้องการใช้ซีจีเพราะดูหลอกตา แต่การใช้เทคนิคนี้เป็นวิธีการทำหนังที่คลาสสิก ไม่ต้องลงพื้นที่จริง และยังได้เป็นการลองทำอะไรใหม่ๆ ที่เป็นการผลักดันวงการไปในตัวอีกด้วย
ซีรีส์ 1899 เป็นซีรีส์ที่ทั้งมีความประนีประนอมและไม่ประนีประนอมในเวลาเดียวกัน ความประนีประนอมที่ว่าคือการที่ถึงแม้มีตัวละครหลักจำนวนมาก แต่ก็ไม่ได้มีหลายไทม์ไลน์หรือมีนักแสดงบทเดียวกันแต่ต่างช่วงอายุมาให้ชวนมึนเหมือน Dark อีกทั้งเรื่องราวยังเกิดในสถานที่เพียงแค่เรือกลางมหาสมุทร กับมีการสร้างและแคสติ้งนักแสดงได้อย่างมีเอกลักษณ์ ทำให้ถือว่าแมสและเสพง่ายกว่า Dark พอสมควร
แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่ซีรีส์ทำคือค่อยๆ ขยับให้เนื้อเรื่องคืบหน้าด้วยการที่ใส่คำตอบมาให้ตัวละครได้ ‘อ๋อ’ ก่อนที่หลังจากนั้นจะใส่ปริศนามาให้ชวนงงเพิ่มอีกที สิ่งนี้ผู้สร้างทำกับทั้งตัวละครในเรื่องและคนดูอย่างพวกเรา ทำให้ต่อให้ขีดยาพารา ผังตัวละคร กับสมุดจดออกไปจากลิสต์แล้ว สิ่งท่ีไม่เปลี่ยนไปคือมือที่เกาหัว กับคิ้วที่ขมวด เพราะความงงกับตัวละครที่พูดคนละภาษาแต่เข้าใจกันได้แทนที่จะงงไทม์ไลน์จำนวนมาก
ซึ่งสิ่งที่สัมผัสได้ว่านี่คือซีรีส์จากผู้สร้าง Dark ถือว่าพกมาเยอะในเรื่องนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นสารสีดำ เครื่องจักรหน้าตาประหลาด จดหมาย อุปกรณ์บางอย่าง ตัวละครที่รู้เรื่องกว่าคนอื่นและตัวละครที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย ปรัชญาเกี่ยวกับความเป็นจริงกับความเชื่อ และบรรยากาศกับดนตรีประกอบที่ถือว่าตอบโจทย์คนที่ถามว่า ‘ดู Dark จบแล้วจะดูอะไรต่อล่ะทีนี้?’ เพราะเรื่องนี้แม้ต่างแนว ต่าง setting ก็ยังมีลายเซ็นเหล่านี้แทรกอยู่ให้เห็นโดยทั่ว
1899 เป็นซีรีส์ที่ก้ำกึ่งระหว่างการสอดแทรกอย่างเฉียบหรือแยบยล และการสปอยล์ซีรีส์ตัวเองแบบโต้งๆ เพราะเนื้อหาและจุดหักมุมซีรีส์เรียกได้ว่าเผยตั้งแต่ 2-5 นาทีแรกของตอนที่ 1 ซะแล้ว ซึ่งทั้งหมดดูจะได้รับอิทธิพลอย่างเข้มข้นจากหนัง The Matrix ของพี่น้อง Wachowski อีกด้วย
1899 เริ่มที่ยุคพีเรียดเพื่อให้คนดูเดาทางไม่ได้ว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร จะไปในทิศทางไหน ก่อนที่จะทำการหักมุมด้วยการเผยว่าเรื่องนี้เป็นไซไฟปรัชญาโลกอนาคตที่พูดถึงประเด็นซิมูเลชั่นหรือโลกเสมือนจริง ซึ่งนอกจากประเด็นนี้ชวนให้นึกถึง The Matrix แล้ว องค์ประกอบของหนังซีรีส์เกี่ยวกับความจริวและความตระหนักรู้ อย่าง The Matrix กับ Westworld ของ HBO ยังสอดแทรกอยู่อย่างแน่นหนาในช่วงต้นเหมือนเป็นการบอกใบ้ล่วงหน้าอีกด้วย
การมีแรงบันดาลใจที่ชัดเจนเช่นนี้ทำให้ 1899 เป็นซีรีส์ที่ถือว่าขาดความแปลกใหม่พอสมควรในแง่ของความเซอร์ไพรส์ แต่ถึงอย่างนั้นก็อาจต้องพิจารณาว่าแปลกใหม่ในทีนี้หมายความว่ายังไง? หากหมายถึงการที่ความเป็นซิมูเลชั่นกับเรื่องที่เหมือนกับ The Matrix ซีรีส์ 1899 ก็ถือว่าขาดความแปลกใหม่ แต่หากพูดถึงในแง่ที่ว่าซีรีส์เล่าอะไรเกี่ยวกับซิมูเลชั่น? การที่เรื่องนี้เป็นการผนวกเรื่องของจิตคนหลายคนมาสร้างเป็นห้องๆ และเรือเป็นเหมือน vessel (พาหนะ) ของจิตเหล่านั้น เรื่องนี้ก็ถือว่าแปลกใหม่และเป็นแง่มุมที่น่าสนใจเลยทีเดียวที่จะทำการสำรวจ
ซีรีส์เรื่องนี้มีตัวละครจำนวนมาก และคีย์เวิร์ดคำว่า ‘ทุกคนมีอดีตคือสิ่งที่ขับเคลื่อน’ เรื่องราว แต่ใครจะไปนึกว่าขับเคลื่อนไปด้วยกันเช่นนี้ และเมื่อจุดหักมุมเกิดขึ้นกับมีการเผยว่าแท้จริงแล้วทุกคนอยู่ในปี 2099 บนยานอวกาศ ก็ทำให้เกิดคำถามอีกเช่นกันว่าในเมื่ออดีตปี 1899 ที่เราเห็นทั้งหมดถูกประดิษฐ์ขึ้นมา อะไรคือความจริง? ซึ่งน่าตั้งคำถามอีกเช่นกันว่านั่นโลกจริงแล้ว หรือเป็นซิมูเลชั่นซ้อนซิมูเลชั่นกันแน่?
ปรัชญาหนึ่งที่โด่งดังจนถูกนำมาพูดถึงบ่อยครั้งในการวิเคราะห์หนังหรือซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับซิมูเลชั่นหนีไม่พ้นอุปมานิทัศน์ถ้ำของเพลโต (Allegory of the cave) และปรัชญานี้กับ The Matrix ปรากฏคู่กันในงานเขียนบ่อยครั้งในเชิงเปรียบเทียบ แบบที่เรียกได้ว่าหากเรื่องถ้ำของเพลโตเป็นปรัชญาตั้งคำถามกับความเป็นจริงของยุคอดีต ยุคปัจจุบันเรามี The Matrix ที่เมื่อเราสงสัยในธรรมชาติ สิ่งรอบตัว และความเป็นจริง หรือสังเกตเห็นข้อผิดพลาดบางอย่าง เรามองว่าโลกเราคือระบบจำลองที่มีข้อผิดพลาด และถูกเพื่อการใดการหนึ่ง
ใน 1899 มีการพูดถึงถ้ำของเพลโตเช่นกันโดยตัวละคร Eyk หรือกัปตัน (ให้ถูกต้องออกเสียงว่า ‘กัปปิตัน’) ที่ว่าด้วยเรื่องของคนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ในถ้ำและมองแต่รูปร่างเงาที่ทอดมายังกำแพงโดยแสงไฟและคนที่ทำท่าทางอยู่ด้านนอก ซึ่งสำหรับคนในถ้ำนั่นคือโลกทั้งใบของพวกเขา และนั่นคือความเป็นจริงที่ได้รับรู้ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีไฟที่ทำให้เกิดเงา กับคนที่สร้างเงาบนกำแพงนั้นที่ชักใยความคิดผู้อื่นอีกที คนที่ควบคุมทุกอย่าง เล่นบทพระเจ้าควมคุมความเป็นจริงและการรับรู้ของผู้อื่น
และสำหรับโลกซิมูเลชั่นก็เช่นกัน มันคือโลกจำลองที่สร้างมาเพื่อจองจำให้คนใน The Matrix และคนในซีรีส์ 1899 ใช้ชีวิตอยู่ในโลกจำลองปี 1899 อย่างซ้ำไปซ้ำมาเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง และความเป็นจริงรับรู้ได้แค่หันหน้าไปอีกทางเท่านั้น สำหรับในซีรีส์การหันหน้าไปหาแหล่งสร้างเงาจึงเทียบกับการเริ่มตั้งคำถามและออกหาคำตอบ แทนที่จะยอมรับและเชื่อทุกอย่างโดยสมบูรณ์และเป็นทาสของระบบต่อไป
การจงใจเบี่ยงเบนเรื่องราวทั้งแต่ต้นเรื่องถึงกลางเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องไม่จริงแต่เราก็เอ็นจอย ตั้งคำถามตามตัวละคร เอาใจช่วยตัวละคร และเชื่อสิ่งนั้นได้จริงๆ ซึ่งคงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าซีรีส์ประสบความสำเร็จตรงนี้ หรือสำเร็จด้านการสร้างอารมณ์ร่วมทั้งความอยากรู้อยากเห็น ความสับสนแทนตัวละคร ความเห็นอกเห็นใจตัวละคร ความรู้สึกเอาใจช่วยตัวละครในระยะเวลาหนึ่ง
แต่หลังจากที่เริ่มเดาออก ซีรีส์เริ่มเฉลย เมื่อเรารู้ว่าสิ่งใดจริงไม่จริง (อย่างน้อยๆ ในตอนนี้) ความอินกับสิ่งที่ตัวละครเผชิญก็ลดน้อยถอยลงไปโดยทันที จนถึงไม่มีความรู้สึกให้ เหมือนที่รู้ว่าหุ่นใน Westworld เจออะไรก็จะกลับไปในสภาพเดิมและทั้งหมดจะเริ่มต้นใหม่
อีกหนึ่งสิ่งที่ดูจะเป็นปัญหาของ 1899 คือตัวละครบางตัวรู้มากกว่าคนดูและตัวละครอื่น และคนดูไม่รู้ว่าการเดิมพันนี้คืออะไร ตัวละครกำลังเผชิญกับอะไร อะไรคือความเสี่ยง หรือหากพลาดแล้วมันเป็นตายร้ายดียังไง ขนาดไหน พอขาดความเข้าใจสถานการณ์ตรงนี้ไป การมีความรู้สึกให้ซีรีส์ก็กลับกลายเป็นน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นเช่นกัน
มาถึงสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือสัญลักษณ์ที่ซีรีส์แทรกเข้ามาตลอดเรื่อง มีสองส่วนคือสัญลักษณ์สื่อความหมาย กับสัญลักษณ์ในแง่ของระบบซิมูเลชั่น หากเรามองทั้งหมดระบบคอมพิวเตอร์
สัญลักษณ์สื่อความหมาย เริ่มจากโลโก้ของซีรีส์ 1899 ที่เป็นสัญลักษณ์ 🜃 สามเหลี่ยมคว่ำและมีขีดคั่นนั้น เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงธาตุดิน (Earth) ที่แปลได้อีกความหมายว่า ‘โลก’ ซึ่งตรงกันข้ามกับลม (Air) ที่กลับด้านขึ้นบน ในขณะที่ ไฟ (Fire) ชี้ขึ้นแบบไม่มีขีดคั่น และน้ำ (Water) ชี้ลงแบบไม่มีขีดคั่น ซึ่งทั้งหมดคือธาตุประกอบที่เชื่อกันว่าอยู่ในทุกสรรพสิ่ง ฉะนั้นการที่สัญลักษณ์นี้มีอยู่ทุกหนแห่งอาจสื่อความหมายถึงความเป็นจริง
ข้อน่าสังเกตคือสัญลักษณ์นี้กับสามเหลี่ยมปรากฏอยู่ในสิ่งที่เชื่อมต่อกับความเป็นจริงหรือสิ่งนั้นมีความจริงซ่อนอยู่ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์บิดที่มีลักษณะเป็นพีระมิดสีดำ อุปกรณ์ที่ใช้แฮ็คข้อมูล รหัสมอร์ส พีระมิดในห้องใต้ท้องเรือ หลังใบหูของเด็กชายปริศนาที่เป็นตัวละครที่นำพาทุกคนเข้าใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น หรือล็อคเก็ตบนคอ Maura ที่บรรจุกุญแจไขสู่ความเป็นจริงชั้นบน
เลขห้อง 1011 ของ Maura เป็น angel number ที่สื่อความหมายถึงจุดเริ่มต้นหรือการเริ่มต้นใหม่ และยังเป็นเลขเดียวกับเลขห้องที่ Maura ถูกฉีดยาล้างความทรงจำ (ยาสีขาวทำให้จำ ยาสีดำทำให้ลืม) อีกด้วย
นอกจากนี้ตัวเรือเองยังแสดงถึงการเป็นพาหนะโอบอุ้มดวงวิญญาณด้วยเช่นกัน ในเมื่อโลกใบนี้เป็นซิมูเลชั่น ความทรงจำ ตัวตน ลักษณะนิสัยในรูปแบบของพลังงานไฟฟ้าและข้อมูลจึงไม่แตกต่างอะไรไปกับวิญญาณ เรือ Kerberos จึงเป็นตัวแทนของความมั่นคงและการคงอยู่ซึ่งตัวตนและสถานการณ์ และเมื่อทำการรีเซ็ตจนพบในตอนท้ายว่ามีเรืออยู่หลายลำและทุกอย่างเกิดขึ้นเป็นสิบๆ ครั้งแล้ว นั่นหมายความว่าตัวตนของคนเหล่านี้ถูกสร้าง ทำลาย เริ่มใหม่ แบบวนลูปอย่างโหดร้ายราวกับไม่ใช่มนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ
และหากมองในแง่คอมพิวเตอร์ ซีรีส์ 1899 มีการแทรกความเป็นซิมูเลชั่นและระบบไซเบอร์ใน plain sight (แบบที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า) เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวแมลงสีเขียวที่เปรียบเสมือนบั๊ก (bug) ของระบบ ทำให้ตัวละครสามารถใช้ในการเข้า-ออกผ่านประตูได้อย่างอิสระ ประตูคือทางเข้าสู่โฟลเดอร์ต่างๆ หากมองให้ห้องเป็นโฟลเดอร์ และห้องลับในห้องนั้นๆ คือไฟล์ความทรงจำ หรือแท่งสีดำคือไวรัสที่กัดกินไฟล์และระบบ
‘Singleton’ นามสกุลตระกูลของ Maura และพ่อ เป็นไปได้ว่าอ้างอิงมาจาก Singleton Pattern หรือซ็อฟต์แวร์ที่สามารถควบคุมคำสั่งและการเข้าถึงสิ่งของได้
การดื่มกาแฟในช่วงต้นที่ทุกคนดื่มพร้อมกันสื่อถึงความผิดปกติของรูปแบบหรือการระบุคำสั่งทีเดียวพร้อมกัน ที่ต้องทำให้ต้องตั้งคำถามแล้วว่ารูปแบบนี้มีความหมายอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะเห็นได้ว่าไม่มีใครสงสัย (ทำให้นึกถึงในซีรีส์ Westworld ไม่น้อย ที่ตัวละครที่เป็นโฮสต์หรือหุ่นยนต์จะมองสิ่งที่ไม่อนุญาตให้มองเห็นไม่ได้จนกว่าจะถูกอนุญาต และถ้ามองเห็นแม้อยู่ตรงหน้าก็จะตอบรูปแบบเดียวว่า “Doesn’t look like anything to me”)
ชื่อเรือ Kerberos (เคอร์บอรอส) เองก็เป็นชื่อของโปรโตคอลที่ใช้ในการยืนยันการเข้าถึงระหว่างโฮสต์กับระบบที่ไม่น่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน ในขณะที่เรืออีกลำอย่าง Prometheus นอกจากจะมีความหมายตามชื่อไททันที่นำไฟมาให้มวลมนุษย์หรือเป็นชื่อแห่งคบเพลิงและการเริ่มต้นอันรุ่งโรจน์แล้ว ยังมี Prometheus Monitoring System (ระบบสอดส่องโพรมีธีอุส) ด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้ใช้ชื่อนี้ และทั้งสองชื่อแสดงให้เห็นว่าเรือลำแรก = เรือที่ต้องการการยืนยันความเป็นจริง ส่วนเรือลำที่สองคือเรือที่ทำให้เรื่องทุกอย่างเริ่มต้นขึ้น หรือไม่ก็เป็นระบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยผู้สร้าง (creator) และถูกสอดส่องอยู่ตลอดเวลา
ภายหลังเราจะได้ค้นพบว่าชื่อยานอพยพในตอนจบก็ชื่อ Prometheus เช่นกัน ซึ่งสาเหตุที่ชื่อนี้ฮิตมาตั้งแต่ชื่อยานในหนัง Prometheus (2012) ของผู้กำกับ Ridley Scott ก็คงเพราะยานทั้งสองเปรียบเสมือนไฟที่จุดประกายให้มนุษยชาติได้เริ่มต้นใช้ชีวิตอีกครั้ง
และยังมีประโยค “May your coffee kick in before reality does” ที่โผล่มาทุกหนแห่ง ซึ่งเป็นไปได้สองอย่างคือถ้าไม่เป็นข้อผิดพลาดในระบบที่มีใครบางคนจงใจใส่เข้ามาให้ตัวะครตั้งคำถาม ก็อาจจะเป็นการสร้างเนื้อหาในหนังสือหรือเขียนโค้ดออกแบบหนังสือแบบหยาบๆ เพราะเป็นส่วนที่ไม่จำเป็นและหากขาดบริบท (กับการอยู่ในยุค 1899) ความสงสัยตรงนี้อาจไม่ได้นำไปสู่อะไรอยู่ดีหากปราศจากเรือ Prometheus ที่มาทำหน้าที่กระทุ้งเหตุการณ์
1899 เป็นซีรีส์ที่ถือว่ามีแนวทางแตกต่างจาก Dark และนี่ยังแค่ซีซั่นแรก หรืออันที่จริงต้องใช้คำว่าตอนจบซีซั่น 1 ถือว่าของจริงเพิ่งเริ่มเท่านั้น (ที่ผ่านมาแทบทั้งซีซั่นเป็นเพียงการสับหลอกที่ลงทุนมากเลยครับพี่) อีกทั้งซีรีส์มีเนื้อหาเกี่ยวกับซิมูเลชั่นแบบ The Matrix ไม่ได้หมายความว่าจะไม่แปลกใหม่ซะทีเดียว เรื่องที่ว่า 1899 เป็นซีรีส์ที่จะสานต่อเนื้อหาในเชิงปรัชญาแค่ไหน, mind-blowing ได้ถึงไหน หรือต่อยอดเรื่องราวจากจุดนั้นกับเรื่องของความจริงกับความตระหนักรู้ไปยังจุดไหน เป็นสิ่งที่เราต้องรอดูกันต่อไป
ถือเป็นซีรีส์ที่คู่ควรกับการให้โอกาสไม่น้อยจากปมที่ได้ทิ้งไว้ และนับว่าผู้สร้างประสบความสำเร็จในด้านการทำให้คนดู binge-watching ด้วยการหยอดปริศนาอยู่เรื่อยๆกับจบอีพีแบบค้างคาจนต้องอยากกดดูตอนถัดไปต่อทันทีตั้งแต่ Dark จนถึงเรื่องนี้ ซึ่งจากยอดผู้ชมถล่มทลายของซีซั่นแรกก็ค่อนข้างจะสบายใจได้แล้วว่าซีรีส์มีแนวโน้มสูงที่จะมีซีซั่น 2 ตามมาสานต่อเรื่องราว
แต่คำตอบที่กำลังคาดหวังกันอยู่แน่นอนว่าคงไม่ได้รับในซีซั่น 2 หรือในช่วงเวลาอันใกล้เป็นแน่ เพราะผู้สร้างคอนเฟิร์มแล้วว่าเราจะได้คำตอบระหว่างทาง แต่จะได้รับคำตอบทุกอย่างอย่างเคลียร์ชัดในซีซั่น 3 ที่พวกเขาวางโครงเรื่องกับรู้จุดจบล่วงหน้าไว้แล้วเหมือนก่อนที่จะสร้าง Dark ซีซั่นแรก จึงสบายใจได้ว่า 1899 จะไม่ออกทะเลแน่นอน เพราะตอนนี้ซีรีส์ออกอวกาศไปแล้ว
ที่มา