หนึ่งในการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 31 ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาคงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากตะกร้อ เพราะประเทศไทยส่งนักกีฬาตะกร้อเข้าแข่งขันจำนวน 6 รุ่น คือ ทีมชุดชาย-หญิง ทีมเดี่ยวชาย-หญิง และทีม 4 คน ชาย-หญิง ซึ่งทั้ง 6 รุ่นก็คว้าเหรียญทองได้ครบ 6 เหรียญ นอกจากจะกวาดเหรียญเรียบแล้ว นักกีฬาตะกร้อยังได้รับความสนใจด้วยท่วงท่าและลีลาการเตะลูกหวายที่ไม่ว่าใครก็ต้องบอกว่า “เหนือมนุษย์!”
ความเหนือมนุษย์ของนักกีฬาตะกร้อไทยชวนให้นึกถึงการ์ตูนกีฬาของญี่ปุ่นมักจะเวอร์วังอลังการอยู่เสมอ โดยเฉพาะเรื่องก็เล่าถึงชมรมเทนนิสของโรงเรียน แต่ท่าไม้ตายของแต่ละคนนั้นสามารถทำให้โลกแตกได้เลยทีเดียว ส่วนบางเรื่องก็มีเอฟเฟ็กต์อลังการจนชวนสงสัยว่านี่การ์ตูนกีฬาหรือการ์ตูนแฟนตาซีกันแน่นะ
เมื่อลองมองดูกีฬาไทยของพวกเรา ก็มีกีฬาหลายประเภทอยู่ที่น่าจับมาทำเป็นการ์ตูน แค่ใส่ความเวอร์วังอลังการ เอฟเฟ็กต์แสงพุ่ง หรือเสียงตะโกนสุดเบียวเข้าไป ก็สามารถเป็นการ์ตูนเรื่องยาวเรื่องหนึ่งได้เลยทีเดียว
ตะกร้อ
“นายคิดว่าจะสกัดลูกเสิร์ฟของฉันได้งั้นเหรอ ยังเร็วไปร้อยปี.. ล้อเกวียนสะกดหวาย!!”
“มะ.. ไม่จริง เขาโต้กลับการสกัดกั้นของเราได้ยังไงกัน!?”
การแข่งขันเซปักตะกร้อในซีเกมส์ที่เพิ่งจบไป ทำให้หลายคนได้เห็นท่าเตะตะกร้อเหนือมนุษย์ของเหล่านักกีฬา ไม่ว่าจะตีลังกาบล็อกลูก กระโดดข้ามเน็ต พาให้สงสัยกันว่านักกีฬาตะกร้อเป็นยอดมนุษย์กันหรือเปล่า
กีฬาเซปักตะกร้ออาจพูดไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นกีฬาไทย เพราะยังไม่มีใครรู้ที่มาที่แน่ชัด แต่ถ้าพูดถึงแค่ตะกร้อ ก็ถือว่าเป็นกีฬาไทยประเภทกีฬาพื้นบ้าน จากตะกร้อวงเล็กที่เล่นกันเพียงไม่กี่คน มีกติกาเรียบง่าย พัฒนาสู่ตะกร้ออีกหลากหลายชนิดอย่างตะกร้อพลิกแพลง ตะกร้อลอดห่วง ตะกร้อข้ามตาข่าย และตะกร้อชิงธง แถมกีฬาตะกร้อยังได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมด้วย
วิ่งควาย
“ระ.. หรือว่านี่คือ ควายจักรผัน* ควายในตำนานที่ว่ากันว่าเร็วที่สุดในประเทศไทย!?”
“เรื่องแบบนั้นน่ะ มันไม่แปลกไปหน่อยเหรอ ทำไมควายในตำนานถึงไปอยู่กับเด็กคนนั้นได้ล่ะ”
การวิ่งควายอาจหาชมได้ยาก แต่คงสนุกไม่น้อยถ้านำมาทำเป็นการ์ตูน เพราะการวิ่งควายเป็นกีฬาที่แสดงออกถึงความผูกพันของควายกับคนไทย ดังนั้นตัวละครหลักน่าจะเป็นเด็กหนุ่มบ้านทุ่งที่เติบโตมากับเจ้าควายที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าเป็นควายที่เร็วที่สุดในประเทศ และด้วยพลังแห่งความผูกพันนี้เองที่ทำให้พวกเขาชนะการวิ่งควายได้ทุกรายการ
กีฬาวิ่งควายนั้นไม่ได้แค่นำควายมาวิ่งแข่งกันเท่านั้น แต่มีการพัฒนาสายพันธุ์ควายขึ้นมาเพื่อใช้วิ่งควายโดยเฉพาะเลย และนอกจากวิ่ง ก็ยังมีการประกวดควายงามที่จะคัดเลือกควายที่ลักษณะดีมาเทียบกัน วิ่งควายเป็นกีฬาเก่าแก่ที่ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นอยู่บ้าง อย่างประเพณีวิ่งควายที่จังหวัดชลบุรี จะจัดขึ้นในช่วงก่อนวันออกพรรษาของทุกปี เป็นที่จับตามองของคนทั่วโลก และได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมเช่นกัน
*ควายจักรผัน เป็นเพียงชื่อสมมติเท่านั้น
แข่งเรือยาว
“สายไปแล้วล่ะ พลังแขนของพวกเราแข็งแกร่งไม่พอที่จะต่อกรกับคู่ต่อสู้ได้เลย”
“อย่าเพิ่งหมดหวัง ถ้าพลังแขนของพวกเราแข็งแกร่งไม่พอ จงเชื่อมั่นในพลังมิตรภาพเข้าไว้!!”
ถ้าจะมีกีฬาไหนที่เหมาะจะเป็นการ์ตูนที่สุด ก็คงต้องเป็นแข่งเรือยาว นอกจากจะแข่งกันด้วยพละกำลังแล้ว ยังมีเรื่องราวของมิตรภาพในทีมแข่งเรือ (ที่ไม่แน่ใจว่าจะจำตัวละครกันได้หมดไหม) แต่พลังใดจะแข็งแกร่งกว่าพลังมิตรภาพไปได้กันล่ะ
การแข่งเรือยาวจะเริ่มแข่งกันในช่วงหน้าน้ำหลาก และมีจัดแข่งขันกันในทุกภาค แต่ละภาคก็จะมีแยกย่อยออกไปเป็นแต่ละจังหวัดอีก ซึ่งการแยกย่อยนี้จะมีลักษณะเด่นที่แตกต่างกันไป ทั้งกติกา การตกแต่งเรือ และเทศกาลงานบุญที่จัดเคียงกันไปด้วย และอีกหนึ่งสีสันที่ขาดไม่ได้คือคนพากย์เรือแข่งที่สามารถพากย์ได้เร็ว แถมทุกถ้อยคำยังคล้องจองกัน เป็นทักษะที่ไม่ใช่ว่าใครก็ทำได้ ซึ่งตัวละครนักพากย์นี่แหละที่จะได้ซีนมากกว่าใคร
ชนไก่
“เจ้าฉมวกเพชร ถ้าเป็นแกล่ะก็.. ต้องทำได้แน่”
“ฝากด้วยนะ เพื่อนรัก!!”
การนำสัตว์มาสู้กันก็เป็นแนวเรื่องยอดนิยมของการ์ตูน และการชนไก่ก็ดูจะพอเป็นไปได้เช่นกัน ด้วยคาแรคเตอร์สีสันของไก่ชนแต่ละตัว ชื่อของไก่ที่มักตั้งให้ดูเท่และเป็นมงคล แนวการต่อสู้ ลูกล่อลูกชนที่แตกต่างกัน เราอาจทำ ไก่ชนเด็กซ์ ได้จากเรื่องนี้เลยทีเดียว
อาจพูดไม่ได้ชัดเจนขนาดนั้นว่าการชนไก่เป็นกีฬาที่เกิดขึ้นในไทย แต่ก็เป็นกีฬาพื้นบ้านที่อยู่คู่ประเทศไทยมานาน แรกเริ่มเดิมที ราชสำนักประกาศว่าเป็นกีฬาชาววัง อย่างที่มีเรื่องราวการแข่งชนไก่ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชกับพระมหาอุปราชา ก่อนที่การชนไก่จะแพร่หลายไปในหมู่คนทั่วไป ไก่สายพันธุ์ที่นิยมนำมาชนคือ ไก่พันธุ์เหลืองหางขาวที่ว่ากันว่ามีเลือดนักสู้และฉลาดมาก ในปัจจุบัน การจะมีไก่ชนคู่หูสักหนึ่งตัวอาจต้องใช้เงินหลักล้านเลยทีเดียว
กระบี่กระบอง
“เปิดช่องว่างให้แบบนี้ จงยอมรับความพ่ายแพ้ซะเถอะ!!”
“บัดซบ!! เจ็บใจนัก!!”
กีฬากระบี่กระบองที่หลายคนเคยเรียน ก็เป็นอีกหนึ่งกีฬาไทยที่น่าหยิบเอามาทำเป็นการ์ตูน ด้วยเนื้อเรื่องที่ตัวละครหลักสามารถเป็นเพียงเด็กมัธยมปลายได้โดยไม่ดูฝืนมากนัก เพราะในความเป็นจริงเราก็เรียนกระบี่กระบองกันตั้งแต่มัธยมนี่นะ
กระบี่กระบองนั้นมีทั้งแบบแสดงที่เน้นความสวยงามของท่าทาง และแบบแข่งขันที่เน้นความดุเด็ดเผ็ดมันของการออกอาวุธ นอกจากการสู้ฟาดฟันกันของนักกีฬากระบี่กระบองแล้ว ที่ไม่มีไม่ได้เลยในการแข่งขันกระบี่กระบองคือ วงปี่ชวาและกลองแขกที่จะมาทำการบรรเลงเพลงประกอบให้เร้าใจยิ่งขึ้น ถ้าเป็นการ์ตูนคงจะตื่นเต้นขึ้นอีกหลายเท่า
หมากรุกไทย
“แย่แล้ว!! นี่เราพลาดท่าเข้าตาอับ*ได้ยังไงกัน”
“คนอย่างนายน่ะ.. มันใจร้อนเกินไป เดินไม่ดูตาม้าตาเรือแบบนี้จะไปชนะใครได้”
มาลองกีฬาลับเหลี่ยมเฉือนคมอย่างหมากรุกไทยกันดูบ้าง ถ้าเป็นการ์ตูนก็คงจะสนุกไปอีกแบบ และการเล่นหนึ่งตาคงกินเนื้อเรื่องยาวไปหลายเล่มทีเดียว เพราะกติกาที่ว่าซับซ้อนแล้ว การเดินเกมที่ต้องใช้ความคิด ยังต้องมีเวลาให้กับสำนวนไทย คำศัพท์ และท่าทางอีก
หมากรุกไทย เป็นกีฬาที่สันนิษฐานว่ามีหมากรุกในยุคแรกของอินเดียที่เรียกว่า จตุรงค์ เป็นต้นแบบ เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้พัฒนากฎกติกาจนกลายมาเป็นหมากรุกไทยในปัจจุบัน และการแข่งขันหมากรุกไทยนี่แหละที่ทำให้สำนวนไทยหลายสำนวนได้เกิดขึ้น เพราะเป็นเกมลับเหลี่ยมเฉือนคมที่บางครั้งก็ต้องใช้วาทศิลป์ในการเดินเกมบ้าง
*เข้าตาอับ เป็นคำที่ใช้เมื่อไม่มีตาที่สามารถเดินตัวหมากได้แล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Kodchakorn Thammachart