เราเคยพูดถึงตัวละครสร้างรายได้ในญี่ปุ่นไปแล้ว วันนี้ขออนุญาตเจาะลึกลงไปในกลุ่ม Yuru-Chara หรือ มาสคอตประจำท้องถิ่นเพิ่มเติมจากครั้งก่อนกันอีกสักหน่อย
การจะเป็น Yuru-Chara นั้นก็ไม่ใช่ว่าแค่จะวาดของในท้องที่ให้มีหน้าตาน่ารักแล้วก็จบนะ มันมีกฎคร่าวๆ ในการเปิดตัวละครในสไตล์นี้ อยู่ 3 ข้อก็คือ
1. ต้องแสดงถึงความรักต่อบ้านเกิด, พื้นที่ท้องถิ่น หรือ หน่วยงานที่ตัวมาสคอตสังกัดอยุ่
2. ต้องเคลื่อนไหวหรือมีนิสัยที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองแบบชัดเจน
3. ต้องมีท่าทีของตัวละครในลักษณะ ‘Yurui’ หรือนิสัยชิลๆ สบายๆ แล้วก็น่ารักด้วย
ด้วย กฎ กติกา มารยาท ง่ายๆ เช่นนี้ ทำให้ประเทศญี่ปุ่นมีตัวละคร Yuru-Chara จำนวนมหาศาล ทั้งจากเมืองต่างๆ ในญี่ปุ่น รวมถึงหน่วยงานรัฐบางแห่ง บริษัทเอกชนบางบริษัทก็มี Yuru-Chara เป็นของตัวเอง จนต้องมีการแข่งขันกันเพื่อวัดว่าใครจะได้รับความนิยมสูงสุดผ่านการแข่งขัน Yuru-Chara Grand Prix
อย่างการแข่งขันในปี 2016 ที่ผ่านมานี้ก็มีตัวละครที่ได้คะแนนโหวตมากถึง 1421 ตำแหน่ง ถ้านับจำนวนตัวละครก็จะมีมากกว่าสองพันตัวเนื่องจากบางจังหวัดทำ Yuru-Chara ออกมาเป็นหมู่คณะ ทั้งนี้ ตัวละครหลายๆ ตัวที่ดังแล้วอาจจะไม่ลงแข่งอีก (อย่าง คุมะมง) ด้วยเหตุนี้เราจึงอยากจะแนะนำประวัติ Yuru-Chara อีก 20 ตัวที่เราคิดว่าน่าสนใจ ไปดูกันว่ามีตัวไหนที่คุณอาจจะชอบใจกันบ้าง
1. Kumamon
Yuru-Chara ที่คนน่าจะรู้จักมากที่สุดในโลก เดินทางมาจากเมืองคุมาโมโต้ ที่จริงๆ ไม่มีหมีอาศัยอยู่ แค่เพราะชื่อจังหวัดพ้องเสียงกับคำว่า ‘คุมะ’ ที่แปลว่าหมีเฉยๆ เจ้าหมีตัวนี้ดังขึ้นมาจากความเกรียนที่น่ารัก แถมยังทำกิจกรรมได้หลายหลาก จะเต้นก็ได้ ขี่จักรยานก็ได้ เป็นซามูไรพเนจรก็ทำมาแล้ว
2. Funassyi
มาสคอตแบบไม่เป็นทางการของเมืองฟุนาบาชิ มีต้นแบบมาจากลูกแพร์ ความเกรียนใกล้เคียงกับคุมะมง ที่เหนือกว่าก็คือเจ้าตัวนี้เป็น Yuru-Chara ไม่กี่ตัวที่ ‘พูดได้’ โดยจะลงท้ายคำพูดด้วยคำว่า ‘นัชชี่’ ที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า นาชิ (梨) ที่แปลว่าลูกแพร์เสมอๆ
เจ้าตัวบอกว่ามีพี่น้องร่วมสายเลือดอีก 276 ตัว(?) ที่โผล่มาให้เห็นบ่อยหน่อยก็คือ ฟุนาโกโร่ น้องชายคนที่ 56 (เล่นกับเสียง Goro ที่อ่านว่า 56 ได้ในภาษาญี่ปุ่น) แต่เจ้าน้องชายตัวนี้มีเขางอกจากหัวแถมยังมีหนอนยื่นออกมาทางก้น …หรือว่าง่ายๆ ก็คือโดนหนอนกินไปแล้วนั่นล่ะ
3. Chicchai Ossan
ชื่อแปลได้ตรงๆ ว่า ‘ลุงวัยกลางคนตัวเล็ก’ ภาพลักษณ์เป็นคุณลุงหัวล้าน ฟันหลอ แต่ก็น่ารักจนคนชื่นชอบ มีบ้านเกิดอยู่ในเมืองอามางาซากิ จังหวัดเฮียวโงะ เป็นมาสคอตอีกตัวที่ไม่ใช่มาสคอตแบบเป็นทางการ และเป็นมาสคอตที่ ‘พูดได้’ แถมมันยังพูดด้วยสำเนียงเหน่อคันไซด้วย
ทั้งนี้การที่ไม่ได้เป็น มาสคอตแบบเป็นทางการ ทำให้ Chicchai Ossan กับ Funassyi สามารถป่วนโลกคู่กันโดยที่ไม่ต้องสนใจการรักษาภาพลักษณ์นัก แต่ก็มีข้อเสียว่าหลายครั้งที่สองตัวละครนี้ก็อาจจะไม่ได้ถูกเชิญให้ร่วมงานทางการเพราะไม่ใช่ตัวละครที่ได้รับการยืนยันตนแล้วนั่นเอง
4. มวยไทยชิ (Muay Thaishi)
มาสคอตของสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ประวัติบอกว่าเจ้าตัวเป็นปลากระพงแดงที่เกิดและเติบโตในแม่น้ำเจ้าพระยา (หือ?) แล้วก็ฝึกมวยไทยจนเก่งกาจ (ฮะ?) ทว่าการต่อยและเตะของมันไม่เวิร์กด้วยมือและเท้าที่สั้นไปนิด เจ้าตัวเลยใช้การพุ่งชนทั้งตัวแทน (อ้าว) เจ้าปลามวยไทยชิ มีความฝันว่าอยากจะได้แชมป์ Yuru-Chara Grand Prix เลยย้ายมาทำงานพิเศษที่สถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยเพื่อเก็บเงินค่าเดินทางไปญี่ปุ่น (จ้ะ)
จริงๆ ชื่อของเจ้าปลาตัวนี้เล่นคำกันหลายต่อ ตั้งแต่ การเป็นปลากระพง เพราะในภาษาญี่ปุ่นเรียกปลานี้ว่า ‘ปลาไท’ ส่วนคำว่า ‘ไทชิ (大使)’ ก็แปลได้ว่า ‘ทูต’ ซึ่งตรงกับบทบาทในสถานที่ทำงานปัจจุบันของเจ้าตัว และถึงจะเป็นปลา ‘มวยไทยชิ’ ก็เคยเป็นพรีเซนเตอร์ให้ โมจิหยดน้ำรสมะม่วง กับ วาราบิโมจิรสมะม่วงมาแล้ว เอ๊ะ สรุปแกเป็นปลาจริงๆ เหรอ! ถึงอย่างนั้นปลาไทตัวนี้ไม่ได้เล่นๆ อย่างในการแข่งขัน Yuru-Chara Grand Prix ปี 2016 เจ้านี่ก็ได้อันดับที่ 322 ถึงจะลงแข่งแค่ปีแรกก็เหอะ
5. Neko (Oishi Neko)
อีกหนึ่งตัวแทนจากประเทศไทย ที่หลายๆ คนต้องคุ้นเคย! ใช่แล้วเจ้านี่คือแมวเชิญแขกของบริษัทผู้ผลิตชาเจ้าใหญ่ในไทยนั่นเอง ติดอันดับที่ 1395 ของรายการ Yuru-Chara Grand Prix 2016 ด้วยล่ะ
6. Shinjo-Kun
แชมป์ Yuru-Chara Grand Prix ปี 2016 ตัวแทนจากเมืองสุกากิ จังหวัดโคจิ ตัวตุ่นน้ำจืดพร้อมท่าทีขวยเขิน ส่วนหมวกที่สวมอยู่นั้นเป็นราเม็งนาเบะยากิ เมนูเด็ดประจำท้องถิ่น ที่ใช้ตัวตุ่นน้ำจืดเป็นต้นแบบเพราะที่นี่เป็นจังหวัดสุดท้ายที่พบเห็นตัวตุ่นน้ำจืดอาศัยอยู่ในแม่น้ำก่อนจะถูกประกาศสูญพันธ์ไปในภายหลัง
7. Musubimaru
ซามูไรหน้าข้าวปั้น ตัวแทนจากเมืองเซ็นได จังหวัดมิยางิที่ขึ้นชื่อเรื่องข้าว ส่วนการแต่งตัวของเขาเป็นการหยิบยกเอาชุดเกราะ ของ ดาเตะ มาซามุเนะ นักรบที่ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังและครองแผ่นดินย่านนี้ในอดีต Yuru-Chara ตัวนี้ยังมีหน่วยต้อนรับแขกของตัวเองที่ชื่อ ‘Date Bushotai’ ด้วย
ไม่เกี่ยวอะไรกับ มุสุบิ ของเรื่อง ‘Your Name’ หรอกนะ
8. Sento-Kun
ตัวแทนจากเมืองนารา ถูกสร้างขึ้นในโอกาสครบรอบ 1300 ปีของการก่อตั้งเมืองแห่งนี้ หน้าตาแหวกแนวของพี่เขาถูกนำมาจากกวางที่มีเยอะในเมืองผสมกับรูปปั้นเทวรูปต่างๆ นาๆ จนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเกินไปหน่อยขึ้นมา ด้วยความแปลกเกิ๊นของเขาทำให้คนรู้สึกไม่โอกับตัวละครตัวนี้อยู่ระยะใหญ่ทีเดียว
9. Shikamaru-Kun
อาจจะเพราะตัวละครจากเมืองนาราตัวตะกี้น่ากลัวไปนิดนึง สมาคมการท่องเที่ยวแห่งเมืองนารา จึงออกแบบกวางน่ารักน่ากอดตัวนี้ออกมาแทน ผลก็คือสินค้าที่ใช้มาสคอตตัวนี้น่าพาตัวกลับบ้านกว่า Sento-Kun เยอะ
10. Unari-Kun
นั่นมันนก ? นั่นมันเครื่องบิน! ไม่ใช่หรอก นี่คือ Unari-Kun จากเมืองนาริตะ สิ่งมีชีวิตต่างดาวที่มาเจอสนามบินที่ดีสุดในโลกในเมืองนี้ แล้วมาลงจอดและอาศัยอยู่ในเมืองนี้เพราะชอบงานเทศกาลของเมืองนี่ต่างหาก! สิ่งที่ทำให้คนจดจำเจ้าตัวนี้ได้ก็เมื่อเจ้าตัวไปเต้นประกอบเพลง Call Me May Be โชว์ในญี่ปุ่นมาด้วย
11. Hikoyan
แมวเหมียวที่หลายคนเคยเห็นเป็นตุ๊กตาหรือตามเว็บไซต์ต่างๆ เป็นตัวละครที่สร้างโดยขึ้นโดยเมือง
ฮิโกะเนะ ในโอกาสที่ปราสาทฮิโกเนะครบรอบอายุ 400 ปี ส่วนที่ใช้ตัวละครเป็นแมวขาวนั้นก็มาจากตำนานที่ว่าไดเมียวคนหนึ่งเคยถูกแมวขาวเรียกตัวจนรอดตายจากสายฟ้าที่ฟาดลงมา
12. Toraripu-Kun
ลูกเสือตัวกลม พร้อมทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ที่หน้าผากมีลายดำเป็นทรงสัญลักษณ์เงินเยน บริษัท Money Square Holdings ที่ทำธุรกิจแลกเงินต่างประเทศรวมถึงบริการทางการเงินอื่นๆ เป็นผู้จัดทำ
13. GO-Ta-Kun
มาสคอตอย่างเป็นทางการของหอคอย Goroyokaku ในฮอกไกโด เปิดตัวออกสื่อครั้งแรกในปี 2006 จุดเด่นทรงเสน่ห์ของเขาก็คือส่วนหัวที่เป็นสายล่อฟ้ากับไฟสัญญาณให้เครื่องบินไงล่ะ
14. Sanomaru
มาสคอตจากเมืองซาโนะ เป็นผู้ชนะในการแข่ง Yuru-Chara Grand Prix ปี 2013 ที่เห็นเป็นหมวก จริงๆแล้วคือชามราเม็งคว่ำอยู่ ส่วนที่เห็นเหมือนจะเป็นดาบก็คือมันฝรั่งชุบแป้งทอดของกินขึ้นชื่อในเมือง ส่วนที่มีของสองอย่างนี้ติดตัวเพราะมีนิสัยตะกละชอบกิน แต่ก็น่ากอดที่สุดเหมือนกัน
15. Kuroko
จอของท่านไม่ได้เสีย เพราะตัวละครจากบริษัท INPLAS ผู้ให้บริการทางไอทีหลายแขนง ทั้งผลิตเกม ผลิตสติ๊กเกอร์ไลน์ นั้นมีสีดำทั้งตัวจริงๆ อ้อ เจ้าตัวเป็นพระเอกของเกม Kuroko Style บนเครื่อง 3DS ด้วย
16. Melon Kuma
หน้าตาน่ากลัวผิดวิสัยตัวอื่นก็จริง แต่เจ้าหมีตัวนี้ก็เป็นมาสคอตอย่างเป็นทางการของเมืองยูบาริ และงับหัว Kumamon กับ Funassyi มาแล้ว (จริงๆ ก็งับแทบทุกคนแหละ)
17. – 18. Hikoboshi-Kun & Orihime-Chan
จากชื่อและภาพทำให้เดาได้ง่ายว่าเป็นมาสคอตที่นำเอาตำนานชายเลี้ยงวัวกับเจ้าหญิงทอผ้ามาออกแบบ ที่พิเศษก็คือถึงจะถูกส่งเข้าประกวดด้วยกันแต่ความจริง Hikoboshi-Kun มาจากเมืองฮิราคาตะ ส่วน Orihime-Chan มาจากเมืองคาตาโนะ กระนั้นตามตำนานทั้งสองคนเป็นคนรักกันเลยไปประกวดด้วยกัน และโปรโมตเมืองร่วมกันไปเลย
19. Taiwonder!
Yuru-Chara ที่มาจากนอกประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีแค่ของไทยเท่านั้น อย่างเจ้าตัวนี้ถูกส่งมาจากไต้หวัน โดยเอาอิมเมจมาจากกล้วย กับ รูปทรงของเกาะไต้หวันมาใส่ลงตัวละครได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ
20. Big Lincoln
ไม่ได้ลงผิดรูปจริงๆ ตัวนี้เป็น Yuru-Chara ที่ถูกส่งตรงมาจากเมืองอิลลินอยส์ของประเทศอเมริกา ถึงหน้าจะดุแต่มีจิตใจอ่อนโยน อยากจะชวนคนญี่ปุ่นใจกว้างไปเที่ยวที่บ้านเกิดของอับราฮัม ลินคอล์น
นี่ก็แค่ตัวละครแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของกลุ่ม Yuru-Chara เท่านั้น สำหรับบ้านเราอาจจะยากเสียหน่อยที่ทุกจังหวัดทุกเมืองจะสร้างตัวละครของตัวเองได้ (การออกแบบและทำชุดนั้นกินเวลาและเงินทุนมากอยู่) แต่ถ้าใครคิดจะเริ่มทำก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่เลวเลย เพราะตัวละครทำนองนี้ มันช่วยสร้างการจดจำท้องถิ่นต่างๆ ได้ดีจริงๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Yuru Chara Grand Prix Official Website