ตอนนี้ความบันเทิงได้ย้ายมาแพลตฟอร์มออนไลน์กันเกือบทุกสิ่งแล้ว ไม่ว่าจะดนตรี, ซีรีส์ หรือ ภาพยนตร์ (อ๊ะ เราหมายถึง Content ที่ผู้สร้างตั้งใจฉายเฉพาะกิจบนโลกออนไลน์ ไม่ได้หมายถึงเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์นะ) แม้แต่การ์ตูนก็ย้ายมาให้บริการบนโลกออนไลน์กันมากขึ้น แล้วก็ไม่ใช่แค่การ์ตูนมุกสั้นๆ จบในรูปเดียวเท่านั้นการ์ตูนเรื่องยาวๆ เองก็มีให้อ่านกันในอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนต่างชาติหรือการ์ตูนไทยก็ตาม
การ์ตูนยาวหลายเรื่องได้รับความนิยม และเป็นที่รู้จักของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไป อย่างเรื่องคุณแม่วัยใส, Lookism, เจ้าพนักงานราชทัณฑ์กับผู้ต้องขังหญิง เป็นอาทิ นักเขียนหลายคนที่มีชื่อจากผลงานก่อนหน้านี้ ก็มาทำงานในโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
ในวันที่มีคำถามต่อการ์ตูนออนไลน์ว่า “บรรณาธิการไม่จำเป็น?” The MATTER จึงไปสัมภาษณ์ผู้ให้บริการการ์ตูนออนไลน์ ทั้ง Ookbee Comics, LINE WEBTOON และ Navimerai ว่าพวกเขามีทิศทางของตัวเองแบบไหนในสนามออนไลน์ และมีมุมมองในการคัดเลือกการ์ตูนเข้าสู่สังกัดตัวเองอย่างไรบ้าง
LINE WEBTOON
เริ่มต้นด้วยการไปพูดคุยกับ ภิญญาพัชร์ วงศ์พัฒนากุลกิจ ผู้ช่วยผู้จัดการ LINE WEBTOON บริการอ่านการ์ตูนของ LINE ประเทศไทย ถึงการเจริญเติบโตของบริการอ่านการ์ตูน
“จุดแข็งของ LINE WEBTOON อยู่ที่ความเป็นคอนเทนต์ดิจิทัลที่มีความสนุก (Fun Digital Content) เราไม่ใช่แค่เว็บหรือแอพสำหรับอ่านการ์ตูน แต่เรามุ่งเน้นการมอบประสบการณ์สนุกๆ ให้แก่ผู้ใช้ของเรา ทั้งที่เป็นกลุ่มคนรักการ์ตูนและกลุ่มที่ไม่ใช่คนรักการ์ตูน โดยการ์ตูนใน LINE WEBTOON ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมกับการอ่านผ่านมือถือ สามารถอ่านได้ง่ายเพียงเลื่อนขึ้นลงหรือสไลด์ซ้ายขวา โดยไม่ต้องเสียเวลากดเปลี่ยนหน้า หรือกดซูมเข้าซูมออกให้วุ่นวายค่ะ
ด้านคอนเทนต์การ์ตูน LINE WEBTOON มีหลากหลายแนว ทั้งตลก โรแมนซ์ ดราม่า แอ็กชั่น อบอุ่นหัวใจ ฯลฯ นอกจากการ์ตูนดิจิทัลทั่วไป LINE WEBTOON ยังมีการ์ตูนรูปแบบใหม่ๆ ที่สร้างความแปลกใหม่ให้กับวงการการ์ตูนไทยมาตลอด เช่น คอนเทนต์กึ่งการ์ตูน ตอบโจทย์ผู้อ่านการ์ตูนหน้าใหม่ ที่ไม่ได้เป็นคอการ์ตูนมาก่อน ได้แก่ ทิปตูน : การ์ตูนแนว how to / review ที่เล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูนผสมภาพถ่ายจริง อย่างในเรื่อง ‘ครัวง่ายๆ สไตล์เด็กหอ’ ‘สาวน้อยร้อยช่าง’ แล้วก็แนว casual toon การ์ตูนสั้นๆ หน้าเดียวจบแต่ได้อรรถรส ความขำขันไม่แพ้การ์ตูนเรื่องยาว อย่างเรื่อง ‘กลั้นน้ำตา’ รวมถึงยังมีการ์ตูนในรูปแบบพิเศษอื่นๆ อย่างการ์ตูนที่มีเพลงประกอบ ตลอดจน motion toon การ์ตูนกึ่งอนิเมชั่น ที่มีทั้งภาพเคลื่อนไหวและเสียงประกอบ โดยในอนาคต LINE WEBTOON จะมีการ์ตูนรูปแบบใหม่ๆ ออกมาอีกเรื่อยๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดแก่ผู้ใช้งานต่อไป”
นอกจากความแข็งแกร่งของเนื้อหาที่หลากหลายและมีคนเขียนทั้งจากในและต่างประเทศ ทำให้การ์ตูนมีจำนวนมหาศาลผ่านเข้ามือ LINE WEBTOON
“เกณฑ์การคัดเลือกของ LINE WEBTOON จะดูความเหมาะสมเป็นหลัก คือ ภาพและลายเส้นต้องเหมาะกับเนื้อเรื่อง องค์ประกอบทุกอย่างก็ต้องเหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน
“และที่สำคัญคือ ต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของงานภาพ ตลอดจนเนื้อหา เช่น เรามีกลุ่มผู้อ่านที่เป็นเด็กเยอะ ถ้าเรื่องไหนที่มีความรุนแรงเกินไป หรือมีภาพหรือเนื้อเรื่องส่อไปทางลามกอนาจาร แม้จะวาดสวยหรือเนื้อหาดีแค่ไหน หากต้องการเผยแพร่กับทาง LINE WEBTOON ก็จำเป็นต้องปรับให้เหมาะสมก่อนอยู่เสมอ
“ส่วนแนวโน้มการคัดเลือกการ์ตูนในอนาคต ก็ยังคงขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของกลุ่มผู้อ่านเราเป็นหลัก อาจจะเปิดกว้างมากขึ้น เนื่องจากเรากำลังมุ่งขยายกลุ่มเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้อ่านชาย ดังนั้นเกณฑ์การคัดเลือกก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปตามกลุ่มผู้อ่าน”
คำถามหนึ่งที่คนอ่านพูดอยู่เสมอก็คือ “การ์ตูนไม่ค่อยส่งผลอะไรถึงสังคมหรอก” และเมื่อถามทาง LINE WEBTOON ว่าคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ภิญญาพัชร์ตอบว่า “แน่นอนว่า การ์ตูนส่งผลต่อสังคม การ์ตูนถือเป็นสื่อบันเทิงอย่างหนึ่งเช่นเดียวกับละครหรือภาพยนตร์ การ์ตูนหลายๆ เรื่องใน LINE WEBTOON ต่างมีเนื้อหาสะท้อนสังคม เช่น ‘LOOKISM’ และ ‘ID ของฉันคือดอกไม้พลาสติก’ ที่สะท้อนถึงสังคมในปัจจุบันที่นิยมตัดสินคนอื่นด้วยรูปลักษณ์ภายนอก
“หรือแม้แต่เรื่อง ‘คุณแม่วัยใส’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเด็กวัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน ก็จะมีการใส่จินตนาการ ปรุงแต่งเนื้อเรื่องให้น้อยหรือเกินกว่าเรื่องราวชีวิตจริง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ได้รับสาร ซึ่งก็คือผู้อ่านของเราสามารถรับสารที่เราสื่อผ่านการ์ตูนนั้นๆ ได้ว่าอย่างไร และสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับชีวิตตนเองในสังคมได้มากน้อยขนาดไหน แต่สุดท้ายแล้ว ทั้งทาง LINE WEBTOON รวมถึงศิลปินนักวาดทุกท่านที่ร่วมสร้างและเผยแพร่เรื่องราวการ์ตูนทุกๆ เรื่องออกมา ล้วนมีเป้าหมายให้เรื่องราวต่างๆ ที่เราสื่ออกไปเป็นข้อคิด คติเตือนใจ รวมถึงเป็นการผ่อนคลายอารมณ์ เป็นสิ่งบันเทิงให้กับผู้อ่านทั้งสิ้น”
คำถามสุดท้ายที่เราถาม LINE WEBTOON ก็คือ พวกเขาคาดหวังที่จะเห็นผลงานการ์ตูนแบบไหนจากนักเขียนการ์ตูน
“LINE WEBTOON ต้องการเห็นการ์ตูนที่ผู้อ่านอ่านแล้วมีความรู้สึกร่วม หรือพูดง่ายๆ คือ อ่านแล้วรู้สึก ‘อิน’ อ่านแล้วรู้สึกได้ทันทีว่า ‘นี่มันเหมือนชีวิตเราเลย’ หรือบางเรื่อง เรื่องราวอาจจะไม่ตรงกับชีวิตจริงของผู้อ่าน แต่มีอะไรที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกลุ้นตาม รู้สึกอยากเอาใจช่วยตัวละครไปด้วย
“งานภาพก็มีความสำคัญ เพราะความประทับใจแรกของผู้อ่านมาจากงานภาพและลายเส้น หากลายเส้น ภาพสวย ดึงดูดใจ ก็ถือว่าประสบความสำเร็จขั้นต้นไปแล้วเกือบครึ่ง
“โดยงานภาพที่ดีจะต้องมีความเหมาะสมเป็นกุญแจสำคัญ นั่นก็คือ ลายเส้นมีความเหมาะสมกับเนื้อเรื่องและเหมาะกับกลุ่มผู้อ่าน องค์ประกอบทุกอย่างต้องมีเสน่ห์พอที่จะทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วมได้ นั่นคือผลงานการ์ตูนที่เราอยากเห็นใน LINE WEBTOON”
Ookbee Comics
ส่วน ภาสวร เทพเรืองชัย Managing Director Ookbee Comics บริการการ์ตูนออนไลน์ที่ให้ผู้ใช้งานอ่านการ์ตูนผ่านทั้งทางหน้าเว็บไซต์ และแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ที่มองว่าตัว Ookbee Comics แตกต่างกับเจ้าอื่นอย่างชัดเจน
“เรา position ตัว Ookbee Comics ว่าเป็น ‘ชุมชนการ์ตูนออนไลน์แห่งใหม่’ เป็น community ที่พอคนอ่านเข้ามาปุ๊บ เราก็สามารถมา follow กันได้ สมมติว่า The MATTER เป็นนักเขียน แล้วผมไป follow คุณ บางทีก็จะมีฟีดข่าวที่เพื่อนผมเห็นว่าผมไป follow The MATTER เพื่อนของผมสามารถตามไปกด follow The MATTER ได้เหมือนกัน เวลาที่คุณอัพเดทการ์ตูนเรื่องใหม่ขึ้นมามันก็จะมีการคอมเมนต์คุยกันตามธีมของ Ookbee Comic ที่เป็นชุมชนการ์ตูนมากกว่า”
เมื่อแนวทางแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ที่คนวาดของ Ookbee Comics เลยเป็นใครก็ได้ มาลงผลงานเอาไว้ การทำตลาดจึงแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ เช่นเดียวกัน
“เรื่องการโปรโมตการ์ตูนบน Ookbee Comics ของคนที่มาลง พอเราเห็นว่าเรื่องไหนดูดี เราจะโปรโมตผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์ก เราจะมีทีมงานที่เก่งเรื่องคอนเทนต์แล้วก็โซเชียลเน็ตเวิร์ก จะเห็นได้ว่าโพสต์ของ Ookbee Comics มีคนเข้ามา engagement เยอะมาก จริงๆ เราเขียนบล็อกวันนึงคนดู 30,000-50,000 วิวได้เลย ก็จะมีส่วนที่เราพัฒนาในเรื่องคอนเทนต์ เป็นข่าวเกี่ยวกับการ์ตูน เป็นอะไรที่อ่านแล้วสนุกๆ คล้ายที่ The MATTER ทำอยู่ครับ ส่วนฝั่ง community ทางด้านการ์ตูนเราค่อนข้างแข็งแกร่ง มีการต่อยอดผลงาน คนที่มาลงการ์ตูนก็จะมีแฟนๆ ตาม เป็นการสร้างฐานแฟนตัวเองใน Ookbee Comics ได้”
หากถามว่าเมื่อเว็บเปิดกว้างและเน้นการโปรโมตเนื้อหาผ่านโลกออนไลน์ แล้ว Ookbee Comics สนับสนุนการพิมพ์หนังสือปกติหรือไม่ ภาสวรตอบเราว่า
“ตอนนี้เรามีโปรเจ็กต์ที่เรียกว่า print on demand ที่ช่วยสนับสนุนนักเขียนว่าถ้าอยากออกเป็นเล่ม เราก็มีส่วนของการพิมพ์ออกเป็นเล่มให้เขาได้ ไปขายในงานหนังสือที่เราไปออกบูธทุกปี อีกส่วนหนึ่งคือการ์ตูนบางเรื่องเมื่อดูแล้วน่าสนใจ เรามีทีมงานที่จะเอาการ์ตูนเรื่องนั้นไปทำ light novel (นิยายสไตล์ญี่ปุ่นที่เนื้อเรื่องใกล้เคียงกับการ์ตูน) ไปทำเป็นนิยาย มันก็จะเป็นการต่อยอดไป หรือถ้าบางเรื่องมันสนุกมาก เราก็จะไปคุยกับค่ายที่สร้างหนัง สร้างซีรีส์ มีเรื่องของการทำ media ออกไปในแนวต่างๆ เยอะขึ้น
“แล้วเราเองไปสนับสนุนโปรเจ็กต์ต่างๆ ที่เขาอยากจะโปรโมตผ่าน community นี้ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง ‘School Tales’ เราก็จัดการประกวดให้นักเขียนแข่งกันวาดการ์ตูนชิงเงินรางวัล ประกวดกันทั้งการ์ตูนแล้วก็ภาพวาด คนก็ส่งเขามากัน เราก็จะบอกว่าการ์ตูนที่ส่งเข้ามาจะต้องติดโลโก้ของหนังเรื่องนี้ ปรากฏว่ามีการ์ตูนมาลง 50 เรื่อง 100 เรื่อง หรือประกวดภาพวาดนั้นรวมๆ แล้วก็เป็นร้อยๆ หนังก็ได้ brand awareness ไป คนก็จะรู้ อ๋อ หนัง School Tales เขามีอะไร
“พอหนังเข้า คนไปดูหนัง เขาก็มาอ่านการ์ตูนต่อเกือบสองล้านวิว เยอะกว่าจำนวนคนไปดูหนังในโรงอีก ปรากฏว่าการ์ตูนพวกนี้มันสนุกด้วย พอหนังตรงนั้นจบ ก็มีค่ายหนังมาดูแล้วก็รู้ว่าการ์ตูนเรื่องนี้มีคนติดตามเยอะ ฐานแฟนเยอะ เขาก็รวมเป็น 10 เรื่องแรก แล้วก็ไปสร้างเป็นซีรีส์สำหรับฉายทางทีวีหรือช่องทางอื่นต่อ ซึ่งมันก็เป็นการต่อยอดขึ้นไป”
Ookbee Comics เปิดอิสระให้กับนักเขียนอย่างมาก ทั้งยังมีการส่งเสริมให้ผลงานที่ดีสามารถต่อยอดไปทำสื่ออื่นได้ด้วย แต่ก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาจะปล่อยให้งานออกเผยแพร่แบบตามใจผู้เขียนทุกมิติ
“เรามีทีมงานที่ดูแลตลอด มีทีมที่นั่งอ่านการ์ตูนทั้งวัน มี guideline ว่าห้ามเห็นอวัยวะข้างล่าง ห้ามมีฉากเป็นการ์ตูนโป๊ ถ้าเป็นการ์ตูนที่มีความรุนแรง นักเขียนต้องติดแปะไปว่ามีเนื้อหารุนแรงนะ ถ้าเป็นผู้ใช้งานทั่วๆ ไป เขาจะถูกถามก่อนว่าเขาต้องการจะอ่านส่วนนี้แน่หรือไม่ แต่ถ้าอะไรที่มันแรงเกินไป พวกนี้เรามีทีมงานที่ดูแลตลอด ถ้ามันดูไม่โอเคเราจะแจ้งกับนักเขียนให้ปรับเปลี่ยนหรือเอาลงจากหน้าเว็บไป
“ข้อดีอีกข้อหนึ่งในความเป็น community ของ Ookbee Comics ก็คือมีคนเข้ามาอ่านตลอด พอเขาเห็นว่าผิด guideline ของเว็บเขาก็จะมาแจ้งทีมงาน ทีมงานก็จะเข้าไปตรวจสอบ คือถึงในเว็บมันค่อนข้างอิสระ แต่เราก็มีทีมงานดูแลตลอด ส่วนในแอพก็จะผ่านการตรวจสอบก่อนที่จะขึ้นโชว์ในแอพด้วยเหมือนกัน”
หากถามว่าการ์ตูนมีผลต่อสังคมอย่างไรบ้าง ภาสวรตอบได้อย่างชัดเจนว่า “มีผลต่อสังคมมากครับ อย่างแรกก็คือเราจะมองว่าการ์ตูนทุกเรื่องจะมีคนตาม ถ้าการ์ตูนเรื่องนั้นมีการชี้นำหรือใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง คนจะเข้าใจผิดไปหมด บางทีคนเขียนการ์ตูนจะเอาสนุกอย่างเดียวโดยไม่อิงข้อเท็จจริง แต่ว่าไม่โดนอะไรแล้วก็ไปพูดว่าไม่ต้องการส่งเสริมสังคม ผมว่าแบบนั้นไม่ได้ การที่มีเรามีการ์ตูนหรือมีผลงาน มันมีการชี้นำได้ แล้วคนที่เขาไม่ได้มีวิจารณญาณพอหรือว่ายังเด็กอยู่ เขาก็ไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เพราะฉะนั้นการเขียนการ์ตูน จริงๆ แล้วมันชี้นำทางสังคมได้แน่นอน สมมติว่าเขียนการ์ตูนเกี่ยวกับการเมือง เอานายกมาล้อ คนก็จะมองว่านายกเป็นคนตลก มันเป็นสื่ออย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันมีผลต่อสังคมมาก”
ก่อนจบบทสนทนา เราถามว่าเขาอยากเห็นอะไรจากนักเขียนการ์ตูนมากที่สุด ซึ่งคำตอบนั้นก็เหมือนการย้ำเตือนตัวตนของ Ookbee Comics เอง
“สำหรับหรับตัวผมเองผมขอใช้คำว่าอยากเห็น ‘งานที่สร้างสรรค์’ ดีกว่า สร้างสรรค์ในเชิงที่ดีออกไปทางสังคม หรือว่าสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ ถ้าเป็นเนื้อเรื่องเราก็หวังว่าจะสนุกเข้มข้น แบบที่เอาไปทำเป็นซีรีส์ก็สนุกเลย
“ส่วนที่สองคือ เนื่องจากการ์ตูนมีผลต่อสังคม เพราะฉะนั้นการทำการ์ตูนก็ต้องดูหน่อยว่าคนอ่านเป็นใครและต้องใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง เพราะผมเห็นว่าอย่างหลายๆ คนในปัจจุบันมีคนแชร์ ข่าวที่ผิดแล้วออกไปไวรัลมาก ไอ้ตอนที่ทำผิดมันออกไปแรง แต่ตอนตามไปแก้คนไม่รู้ แล้วบางทีคนก็จำแต่สิ่งที่ผิดไปตลอด
“สรุปคืออยากเห็นการ์ตูนแนว ‘สร้างสรรค์’ และมีการพัฒนาฝีมือการวาดหรือการวางโครงเรื่อง แค่นี้ก็โอเคแล้วครับ ไม่ได้จะเน้นชัดว่าจะต้องไปเป็นแนวแอคชั่น หรือ แนวผี เพราะนักเขียนแต่ละคนมีความถนัดต่างกันครับ”
Navimerai
มาที่เว็บไซต์ Navimerai บริการอ่านการ์ตูนออนไลน์ที่โฟกัสการเผยแพร่การ์ตูนของนักเขียนชาวไทยเป็นหลักกันบ้าง กลุ่มนักเขียนที่เปิดตัวกับเว็บนี้ไปแล้ว เป็นนักเขียนชาวไทยที่มีผลงานสร้างชื่อให้ตัวเองมาแล้วระดับหนึ่ง อย่าง Firodendon, GrooVe AmaDa, COCON (หลายคนน่าจะจำเขาได้จากสติกเกอร์ หนุ่มนลปากร้าย) เป็นอาทิ
“Navimerai เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มเพื่อนนักเขียนที่สนิทกัน ซึ่งเริ่มจากการที่พวกเราต้องการพื้นที่ที่สามารถรวบรวมผลงานของตัวเองมาลงได้อย่างอิสระ ในบรรยากาศที่ไม่กดดันเรื่องเวลานัก จึงร่วมแรงร่วมใจกันสร้าง Navimerai.com ขึ้นมา โดยในอนาคตเราก็มีความตั้งใจจะขยับขยายขอบเขตเว็บของเราออกไปอีก และอยากจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการ์ตูนไทยอีกแรง ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ต้องติดตามและช่วยให้กำลังใจกันต่อไปค่ะ” ทีม Navimerai กล่าว
แม้ Navimerai จะเป็นเว็บหน้าใหม่ที่มาลุยตลาดการ์ตูนออนไลน์ แต่ก็อุดมไปด้วยนักเขียนมีประสบการณ์ ส่วนเกณฑ์ในการคัดเลือกการ์ตูนมาลงเว็บไซต์ ทีมงานชี้แจงว่า
“ตอนนี้ยังเป็นการคุยกันภายใน ถึงเรื่องไอเดียและมีแรงที่จะเขียนกันอยู่ โดยยึดตามรสนิยมและความสะดวกของผู้เขียนเป็นหลัก แต่ทั้งนี้เราก็มีข้อห้ามไอเดียที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย ซึ่งโดยปกตินักเขียนของเราจะเข้าใจข้อนี้กันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะตามมาภายหลัง ส่วนในอนาคต ถ้าเราจะเปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาลงผลงานได้
“เราก็อยากจะมีมาตรการคัดกรองงานระดับหนึ่ง เพราะเราไม่อยากเห็นงานที่หมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย หรือผิดศีลธรรมเข้าขั้นร้ายแรงอยู่บนเว็บของเรา หรือแม้กระทั่งงานที่อาจจะขโมยไอเดียจากคนอื่นมาอีกที เราเชื่อว่าวงการการ์ตูนไทยจะพัฒนาได้ลื่นไหลมากยิ่งขึ้นถ้าเราช่วยกันใส่ใจตรงนี้”
“การ์ตูนก็เป็นหนึ่งในสื่อที่ผู้คนเข้าถึงได้ง่ายและชื่นชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันนี้สื่อทุกอย่างมีความหลากหลายมากขึ้น และช่องทางการเข้าถึงก็สะดวกสบายมากกว่าแต่ก่อนด้วย”
ตัวแทนจาก Navimerai ส่งท้ายเกี่ยวกับงานการ์ตูนที่ทีมอยากเห็นในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
“อยากเห็นทุกแนวเลยค่ะ แต่ละแนวเรื่องนั้นมีความน่าสนใจต่างกัน แม้แต่การ์ตูนสำหรับผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็มีไม่น้อยที่มีเนื้อเรื่องลึกซึ้ง เพียงแต่ต้องจัดโซนนิ่งให้ถูกต้องเท่านั้น น่าสังเกตว่าการ์ตูนญี่ปุ่นเรื่องดัง ๆ จะมีหลากหลายแนวทางมาก ไม่ว่าจะเป็นผจญภัย, รักใสๆ, ทำอาหาร หรือแม้กระทั่งเกมกระดาน
เนื่องจากความจริงจังในการเอาใจใส่ข้อมูลของเขา จึงทำให้มีทั้งความสมจริงและความสนุก ซึ่งบ้านเราต้องการงานแบบนี้มาก เราเชื่อว่าหากช่วยกันประคองวงการการ์ตูนไทยต่อไปเรื่อยๆ นักเขียนทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ก็จะค่อยๆ พัฒนาฝีมือจนเทียบชั้นต่างชาติได้ในที่สุดค่ะ”