“เราอยากให้มหรสพเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ทำให้กรุงเทพฯ ขึ้นไปอยู่ในแผนที่ของเทศกาลดนตรีทั่วโลก อยากให้วงรู้ว่าถ้ามาเมืองไทยช่วงปลายปีจะมี Maho Rasop Festival เป็นหนึ่งในตัวเลือกของคุณ อยากให้ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวอาจจะเลือกมาช่วงปลายปี เพราะอยากมามีประสบการณ์ดนตรีมหรสพ…”
เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่าน ‘ฟังใจ’ บอกว่า “หากเป็นคน เราก็อายุ 4 ขวบแล้ว เป็นเด็กกำลังโต กำลังเรียนรู้” ท้อป-ศรัณย์ ภิญญรัตน์ แห่งอาณาจักร ‘ฟังใจ’ พาชุมชนดนตรีแห่งนี้เดินทางมาไกล 4 ปี จากแพลตฟอร์ม music streaming ที่บ้างทำคอนเทนต์ บ้างทำคอนเสิร์ต ล่าสุดขวบปีที่ 4 เรียกได้ว่าที่ทางของฟังใจตอนนี้คือ music marketing expert ผู้เชี่ยวชาญการตลาดทางด้านดนตรีชนิดสั่งตัดตามใจแบรนด์ได้แบบที่ขายได้ไม่เคอะเขินทั้งลูกค้าและศิลปิน ยังไม่พอ ในปีนี้ ฟังใจยังคล้องแขน Have You Heard และ Seen Scene Space จัดงานเทศกาลดนตรีนานาชาติ Maho Rasop Music Festival ที่รวมเอาศิลปินจากหลากหลายประเทศเข้าไว้ด้วยกันตั้ง 19 วง ด้วยหวังใจว่าอยากพากรุงเทพฯ ไปปักหมุดบนแผนที่เทศกาลดนตรีโลก
ฟังใจทำงานมากมายขนาดนี้ แถมยังอยู่มาได้ถึง 4 ปี สุขภาพฟังใจเป็นยังไง ยังดีอยู่ไหม หรือยังมีแรงทำอะไรต่อ ไปฟัง ‘ฟังใจ’ กัน
4 ปีที่ผ่านมา จากคนทีมงานเพียงหยิบมือ สู่ตอนนี้ที่เพิ่มมากขึ้น สุขภาพฟังใจเป็นอย่างไร
ส่วนที่เปลี่ยนหลักๆ เลยก็น่าจะเป็นส่วนโมเดลธุรกิจ (business model) ของฟังใจครับ อย่างที่รู้กันว่าเราเริ่มต้นที่เป็น Music Streaming ก่อน มีแอปพลิเคชั่นขึ้นมาบนเว็บไซต์ ios แล้วก็ android ใช่มั้ยครับ จุดเริ่มต้นเราคาดหวังว่าเราจะเป็นคล้ายๆ spotify ซึ่งตอนนั้นยังไม่เข้าไทยเลย
ตอนแรกก็วางไว้ว่า มีคนเข้ามาใช้ มีระบบฟรี มีโฆษณา มีสมัครสมาชิกรายเดือน แต่พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ และผู้ใช้งานเริ่มโต ก็เป็นช่วงที่ music streaming ของต่างประเทศแห่เข้ามาในบ้านเราค่อนข้างเยอะ มีทั้ง KKBOX, LINE music ที่ตอนนี้ถอยออกไปแล้ว และมี JOOX มี Spotify ที่เข้ามา ซึ่งพอเราดูตลาดทั้งหมดก็พบว่ามันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายมากๆ ที่จะดึงให้ผู้ใช้ใน community ของเรามาจ่ายเงินกับการสมัครสมาชิก
ถ้าดูทั้งตลาดแล้ว คนที่สมัครสมาชิกในระบบ streaming ยังน้อยมากในบ้านเรา อันนี้คือทุกเจ้ารวมกันไม่ถึง 5% ที่ยอมจ่าย ส่วนใหญ่ก็ใช้ฟรี เลยคิดว่าโมเดลนี้อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ในเชิงธุรกิจ เราเองก็เลยเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจออกมาเป็น promotor เริ่มจัดงานคอนเสิร์ต เพราะอย่างน้อยๆ คนไม่จับจ่ายใช้สอยกับตัวไฟล์เพลง กับดนตรีโดยตรงแต่คนก็ยังไปดูคอนเสิร์ต มีความยินดีที่จะจ่ายเงินซื้อบัตร เพราะประสบการณ์คอนเสิร์ตยังทดแทนด้วยดิจิทัลไม่ได้ ซึ่งก็จะมีรายได้เข้ามาจากการขายบัตรบ้าง จากการได้สปอนเซอร์บ้าง แต่พอทำไปถึงจุดนึงก็พบปัญหาใหม่
แล้วฟังใจทำยังไงต่อ
มันยากมากที่ทุกงานจะประสบความสำเร็จ คือต่อให้เรามั่นใจในไลน์อัพ มั่นใจในคอนเทนต์การโปรโมตในสไตล์ของฟังใจ มันก็ยังต้องมาลุ้นทุกครั้งเลย ลุ้นยอดบัตร ต้องมาลุ้นว่าจะขายสปอนเซอร์ได้มั้ย ซึ่งตรงนี้ทำให้โมเดลธุรกิจไม่ค่อยมั่นคงเท่าไหร่ ก็เลยเกิดการเปลี่ยนอีกครั้งซึ่งกลายมาเป็นโมเดลในปัจจุบันของเรา เรียกว่าเป็น music marketing expert คือเราก็จะไปคุยกับแบรนด์ เอเจนซี่ หรือ coperate ที่มีความต้องการทางการตลาด อยากโปรโมทสินค้า ผลิตภัณ์ หรือแบรนด์แมสเซจบางอย่างออกไป โดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ
ทางฟังใจเองก็จะทำตัวเรียกว่าคล้ายๆ เอเจนซี่ก็ได้ คือรับความต้องการของลูกค้ามา แล้วใช้ creativity ใช้ความเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านดนตรี (music expert) ภายในทีม เพื่อมาตอบโจทย์สิ่งที่ลูกค้าต้องการ แล้วผลิตเป็นออกมาเป็นแคมเปญที่ tailor made ให้กับแบรนด์มากขึ้น ซึ่งเป็นทิศทางล่าสุดของฟังใจในช่วงปีที่ผ่านมา
สามารถบอกได้ว่าที่ทางของฟังใจตอนนี้คือแบบนี้
ใช่ๆ ในทางธุรกิจนะ แต่ว่าในฝั่งของ comunity ที่เรายังมี music streaming มีออนไลน์คอนเทนต์สนุกๆ ให้คนเข้ามาอ่าน มีงานสัมนา มีคอนเสิร์ต ตรงนี้เราก็ยังทำต่อไปเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่ว่าพาร์ทที่เรามาโฟกัสเรื่องธุรกิจมากขึ้นก็จะเป็นการทำมาร์เกตติ้งให้กับแบรนด์ต่างๆ
การทำ music marketing นอกจากการรวมเอาคนที่เชี่ยวชาญด้านดนตรี แล้วยังต้องมีอะไรอีก
สิ่งที่ฟังใจต่างกับผู้ให้บริการอื่นๆ ที่มีอยู่แล้วอันดับแรกเลยก็คือเราเป็นกลาง เราเริ่มต้นจาก comunity ที่ทำงานกับศิลปินได้ทุกค่ายทุกเบอร์ สามารถรวมศิลปินหลายๆ ค่าย ทั้งหน้าใหม่ ทั้งรุ่นใหญ่ มาอยู่ในโปรเจกต์เดียวกันได้ ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างหนึ่งของเรา
อีกอย่างก็คือทีมงานของเราที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรี ส่วนใหญ่ก็จะมีทั้งคนที่เก่งเรื่องการตลาดมากๆ เข้าใจความต้องการของแบรนด์ มาผสมกับอีกทีมที่มีความเข้าใจใน community ของศิลปิน เพราะเขาเองเป็นศิลปินอยู่แล้ว และเป็นพนักงานด้วย เลยเป็นส่วนผสมที่ลงตัว คือตอบโจทย์ทั้งความต้องการของแบรนด์ในขณะเดียวกันแคมเปญที่ออกมาก็ดูไม่เคอะเขิน เมื่อศิลปินต้องพูดแทนแบรนด์หรือต้องเอาศิลปินเข้ามาอยู่ในแคมเปญ
ส่วนสุดท้ายก็จะเป็นเรื่องเทคโนโลยี เราสามารถให้ทางออกในเชิง tech ได้ เพราะทีมเรามี development ภายในอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกรณีที่ลูกค้าต้องการคำตอบบางอย่างในเชิง tech อาจจะเป็น lining page หรือเว็บแอปพลิเคชั่นง่ายๆ หรือเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ เราก็สามารถผลิตขึ้นมาเป็น tailormaid ให้ได้โดยเฉพาะ คิดว่า 3 สิ่งนี้เป็นจุดแข็งของการให้บริการ music marketing ของเรา
ทำหลายอย่างแบบนี้ อยากรู้ว่าทีมเอาพลังมาจากไหน
ผมว่าพลังมันมาจาก passion คนที่มาทำงานฟังใจ 80% – 90% คือความรักในเสียงดนตรีตั้งแต่เริ่มต้นอยู่แล้ว หลายคนเลือกสมัครงานที่นี่เพราะอยากอยู่ใน environment แบบนี้ อยากเจอเพื่อนร่วมงาน อยากเจอพี่เจอน้องที่พักทานข้าวกัน พักผ่อนระหว่างงานกัน หรือไปดูดบุหรี่กันก็คุยกันเรื่องเพลง เฮ้ย ฟังเพลงนี้ยัง วงนี้ออกใหม่ นั่งวิเคราะห์และคุยกันแบบจริงจังมาก ซึ่งผมว่า environment ที่เราสร้างขึ้นมาตรงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้คนจากภายนอกเข้ามา
พอเข้ามาอยู่ก็เหมือนได้พลังงานจากกันและกัน โจทย์ที่ได้จากลูกค้าก็ยังอยู่ในโลกของดนตรี เพราะเราไม่ได้เป็นเอเจนซี่ที่ผลิตงานโฆษณาอะไรก็ได้ แต่เป็นงานที่ยังอยู่บนพื้นฐานของดนตรี พอคนที่มีความรักในสิ่งเดียวกันมารวมตัวกันมันเลยเหมือนถ่ายทอดพลังให้แก่กัน เวลาทำโปรเจกต์ด้วยกันมันเลยสนุก จะเรียกว่าไม่เหนื่อยก็ไม่ได้ แต่เหนื่อยน้อยลง
นั่นคือความสนุกที่ทำให้ฟังใจทำได้มาถึง 4 ปี แล้วการที่เอาความชอบมาทำเป็นงาน เคยรู้สึกเบื่อบ้างมั้ย
มันก็มีบ้างนะ ผมเคยคุยกับคนที่เป็นนักวิจารณ์หนัง พอเป็นนักวิจารณ์บางทีดูหนังไม่สนุกเหมือนเดิม เพราะเหมือนกับว่าเวาดูหนังสมองเรามันไปโดยอัตโนมัติ มันจะคิดวิเคราะห์ ก็มีบางทีเหมือนกันที่เพลงใหม่ๆ เข้ามาเยอะมาก ถ้าต้องตามให้ทันตลอดเวลามันก็เหนื่อย เมื่อก่อนตามด้วยความสนุก ด้วยความบันเทิง พอต้องตามเพราะเรื่องงานก็มีบ้างที่ล้ากับ topic เรื่องเพลง แต่สุดท้ายมันก็จะมีโมเมนต์พิเศษบางอย่างระหว่างการทำงาน ที่มันอาจจะสนุกบ้างเบื่อบ้าง คือการที่ได้ค้นพบศิลปินใหม่ๆ ที่ถึงขนาดตั้งคำถามว่าน้องคือใคร มาจากไหน ปล่อยเพลงมาในฟังใจแล้วเพลงมันดีมาก ทุกคนในออฟฟิศต้องพูดถึงเพลงนี้พร้อมกัน เราก็รู้สึกว่ามันเป็น magic moment ประมาณหนึ่ง
แม้กระทั่งการได้ไปรอวงดนตรีวงหนึ่งมาเล่น บางวงเราก็ไม่เคยเห็นเขาแสดงสดมาก่อน แค่ดูผ่านคลิปเราก็รู้สึกว่าน่าจะเจ๋ง พอได้ไปดูมันกลับเจ๋งเกินที่เราคาดหวังไปมาก ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรารู้สึกเติมเต็มกับการทำงาน
เวลาผมจัดงานคอนเสิร์ต ผมเริ่มไม่ค่อยดูวง ผมมายืนดู ‘คนดู’ อยากดูว่า อย่างวงนี้เรารู้จักอยู่แล้วว่าเพลงเขาเป็นยังไง performance เป็นยังไง แต่เราอยากดูคนดูว่ามีปฏิสัมพันธ์กับศิลปินแบบไหน มางานเราเขาสนุกมั้ย มางานที่ฟังใจจัดวงเดียวกันแต่ไปอีกงานที่คนอื่นจัด เขาสนุกเหมือนกันมั้ย เป็นกลุ่มคนดูลักษณะไหน หลังๆ ผมจึงเริ่มสนุกกับการดูปฏิกิริยา ดูฟีดแบคของคน
แปลว่าฟีดแบคจากคนดูสำคัญมากสำหรับฟังใจ
สำคัญมาก เราเองก็พยายามถามคนดู บางทีไม่ได้ทำแบบสำรวจจริงจัง มีบ้างทีทำเป็น survey เข้ามากรอกแบบฟอร์มแล้วมีแจกของรางวัลให้ เรามีกรุ๊ปกรุ๊ปนึงของฟังใจ ชื่อ ‘ฟังยัง’ เป็นเฟซบุ๊กที่คนเอาเพลงมาแชร์กัน บางทีเราก็จะใช้ทีมงานนี่แหละ อยากรู้เรื่องอะไรอยากรู้ฟีดแบคอะไร อยากรู้ว่าตอนนี้คนฟังเพลงไหน หรือคิดยังไงกับเพลงนี้ เราก็ให้น้องๆ เข้าไปตั้งกระทู้ แล้วคนก็มาตอบ ซึ่งตรงนี้มันก็เหมือนเป็นการเก็บฟีดแบคของเราแบบ unofficail ประมาณนึง หรืออย่างตอนที่ทำ Crossplay ปีสองจบ ก็ตั้งกระทู้ถามเลย ปีหน้าอยากดูใครมา cross กัน อยากดูใครมาเล่นกับใคร ซึ่งโอเค มันไม่ได้ scientific ไม่ได้ทางการหรือเป็น data ทั้งหมด แต่ที่คนคอมเมนต์มาเราเอามาใช้เป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ ซึ่งก็กลายเป็นการเริ่มต้นของการ shape โปรเจกต์ crossplay 3 ในปีหน้า
สามารถพูดได้มั้ยว่า การที่เราฟังฟีดแบคจากคนดูตลอดทำให้เราปรับและทำเงินในครั้งต่อไปได้
ก็มีส่วนมากครับ มันไม่ใช่เรื่องของการทำเงินอย่างเดียว เป็นเรื่องของการผลิตงานออกมาแล้วตรงใจกับกลุ่มเป้าหมายของเรามากกว่า ซึ่งจริงๆ ก็เป็น philosophy ของสตาร์ทอัพอยู่แล้วที่เวลาผลิตของอะไรออกมาอันดับแรกที่สำคัญคือการเก็บฟีดแบค การรู้ว่าพฤติกรรมคนเป็นยังไง เก็บฟีดแบคทั้งโดยตรง บ้างสอบถาม บ้างสัมภาษณ์ หรือว่าการที่เราแทรค behavior ภายในการใช้แอปฯ ว่าอ๋อคนเข้ามาจากทางนี้ แล้วออกจากแอปฯ ทางไหน แล้วทำยังไงเขาถึงจะสามารถ enjoy กับแอปพลิเคชั่นเราได้นานขึ้น เพื่อเป็นการค่อยๆ พัฒนาไปให้ถูกจุด ไม่ใช่พัฒนาจากสิ่งที่เราคิดว่ามันดี แต่พัฒนาจากสิ่งที่ผู้ใช้ต้องการ และสิ่งที่ผู้ใช้ใช้งานจริงๆ
อยากรู้ว่ามีวิธีรักษาสุขภาพใจยังไงให้ทำฟังใจมาได้ถึงขนาดนี้
จริงๆ พื้นฐานผมเป็นคนบ้างานมาก ตั้งแต่สมัยทำงานแรกๆ ก็จะนอนดึก เก็บงานเอากลับมาทำที่บ้าน คือใช้ชีวิตแบบที่เรียกว่าเบิกเวลาอนาคตมาใช้ค่อนข้างเยอะ สมัยยัง 20 ต้นๆ จนมาถึงจุดนี้ จริงๆ แล้วร่างกายมันบอกเราเองว่า เฮ้ย มึงใช้ชีวิตแบบนี้ต่อไปไม่ได้แล้วนะ มันเริ่มมีโรคนู่นโรคนี่เริ่มมีปัญหาสุขภาพ มันก็เป็นจุดที่ทำให้เราต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมบางอย่างในชีวิต ซึ่งปัจจุบันนี้ผมก็ค่อนข้างที่จะเลิกเอางานกลับไปทำที่บ้านถ้าเป็นไปได้ ถ้าวันไหนต้องทำงานจริงๆ บางทีผมจะเข้ามาออฟฟิศแทน ก็พยายามแบ่งสเปซแยกออกจากกันว่า พื้นที่บ้านคือพื้นที่ที่เราพักผ่อน อยู่กับแมว เล่นอะไรไป แต่ว่าถ้าอยากทำงานก็คือมา concentrate ที่ที่ทำงานเลยดีกว่า ก็พยายามจะทำตรงนี้ เพราะไม่งั้นมันจะมีอาการล้า
หรือบางทีเราเองก็หนีไปเสพสื่ออย่างอื่นบ้าง เราเองอยู่ใน industry ของดนตรีมาเยอะมากเราก็ไปดูหนังบ้าง อ่านหนังสือบ้าง ไปติดตามเรื่องที่มันไกลตัวเรามากๆ อย่างตอนนี้ผมสนใจ Existentialism ก็ปรัชญาไปเลย หรือไม่ก็ playstation 4 มีเกมอะไรออกมาก็ไปติดตาม บางทีเราไม่ได้ซื้อมาเล่นหรอก ไม่มีเวลา แต่ไปนั่งดูเกมแคสเตอร์แทน หรือไปเรื่องที่มันค่อนข้างห่างไกลตัว อย่างช่วงนี้ผมเพิ่งเลี้ยงแมว ผมก็จะนั่งดูของเล่นแมว ก็เป็นเรื่องที่ไม่ต้องเกี่ยวกับดนตรี ซึ่งมันดีมาก
ผมว่า apply ได้กับทุกอาชีพ คือ พอเราอยู่ใน industry นั้น ต้องทำงานในนั้น ไม่จำเป็นว่าเราต้องหายใจเข้าหายใจออกเป็นสิ่งที่เราทำ บางทีการที่เราถอยตัวเองออกมาแล้วพาตัวเองไปสนใจเรื่องที่ไกลจากสิ่งที่เราทำมากๆ มันได้ perspective ใหม่ๆ พอเอากลับมามองสิ่งที่เราอยู่แต่เดิม เราจะเห็นแง่มุมบางอย่างที่เราไม่เคยมองเห็นมัน มันคือการขยายความสนใจ ผมว่าสำคัญ
อย่างงานเทศกาลดนตรีมหรสพ ถือเป็นครั้งแรกของฟังใจเลยมั้ย ที่จัด music festival
จริงๆ เรามีความพยายามที่จะจัดเป็นเฟสติวัลมาก่อนหน้าอยู่ทีนึงก็คืองาน Crossplay 2 แต่เราไม่ได้เรียกมันว่าเฟสติวัล แต่ถ้าใครได้ไปงานนั้นจะรู้สึกเลยว่ามันเหมือน เพราะในวันเดียวเราจัดวงเล่น 12 วง แล้วในงานมี 2 เวทีประกบคู่กัน วงขึ้นต่อกันเลย ไม่มีการ changing ขณะที่วงนึงเล่นเราเซ็ทอัพเครื่องอีกเวทีนึง เล่นกันตั้งแต่บ่ายสามยันเที่ยงคืน มีบริเวณ food market มีของจากศิลปินมาขาย มีพื้นที่ให้นั่งพักผ่อน จัดบนดาดฟ้าตึกฟอร์จูน นั่งชิลล์ ดูวิวได้ มันมีความเป็นเทศกาลดนตรีมากๆ แล้วในงานนั้น
ปีนี้เลยกลายมาเป็น Maho Rasop Music Festival รวมศิลปินนานาชาติเลย
งานมหรสพ เรามีผู้จัดด้วยกันสามทีมคือ ฟังใจ Have You Heard และ Seen Scene Space เชื่อว่าหลายๆ คนในเมืองไทยมีคำถามเหมือนกันในใจว่าทำไมบ้านเราไม่มีเทศกาลดนตรีแบบนี้สักที สิงคโปร์มี Laneway ฮ่องกงมี Clockenflap มาเลเซียมี Goodvibe อินโดนีเซียมี We The Fest เพื่อนบ้านเรามีหมดเลย ทำไมบ้านเราไม่มีงานแบบนี้สักที พอวงนั้นวงนี้มาเล่นที่ประเทศเพื่อนบ้านเราก็ต้องบินไปดู ต้องจ่ายค่าที่พักซึ่งแพงมาก มันเป็นคำถามลึกๆ ในใจ กึ่งๆ น้อยใจว่าทำไมกรุงเทพฯ ไม่มีแบบนี้สักที
จุดประกายจริงๆ เริ่มจากผมดูเทรนด์ปีที่แล้ว เริ่มมีการนำวงดนตรีจากต่างประเทศที่เป็นวงนอกกระแสเข้ามาเล่นในบ้านเราเยอะ ทั้งโซนตะวันออก และโซนตะวันตก มีผู้จัดใหม่ๆ เริ่มเข้ามาในตลาด หลายงานประสบความสำเร็จ ทำให้เรามั่นใจว่าตลาดนี้เริ่มชัวร์แล้ว เป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้วที่จะจัดเทศกาลดนตรีที่รวมวงนานาชาติเข้ามาอยู่ด้วยกัน แบบที่เราอยากเห็น ถ้าย้อนไปสัก 1-2 ปีอาจจะยังไม่พร้อม ตลาดยังไม่ชัวร์ แต่บทพิสูจน์ปีที่แล้วทำให้เรารู้สึกว่าปีนี้น่าจะจัดได้ คนดูน่าจะพร้อมแล้ว ก็เลยไปชวนพี่ๆ Have You Heard พี่ๆ Seen Scene Space ว่าเรามีไอเดียนี้ มาทำด้วยกันไหม
ผมเดาเองว่าเหตุผลที่งานแบบนี้ไม่มีในบ้านเราเลยคือ เราไม่มีโปรโมเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ที่มีทีมงานมากพอ มีทุนทรัพย์มากพอที่จะลงมาเสี่ยงกับการจัดเทศกาลแบบนี้ ผมเชื่อว่าหลายๆ เจ้าคิดคล้ายๆ กันว่า เทศกาลดนตรีแบบนี้น่าสนใจ บ้านเราน่าจะพร้อม แต่เจ้าใดเจ้าหนึ่งจัดน่าจะยากมากๆ นี่ขนาดเราจัดกัน 3 เจ้ายังยากมาก มีความท้าทาย มีปัญหาที่เราไม่คาดฝัน สิ่งที่ไม่คิดว่าจะเป็นปัญหามันก็เป็นปัญหา เพราะฉะนั้นผมมองว่าการที่จะทำให้เกิดขึ้นได้มันต้องมาจากการร่วมมือกัน
ผมถามตัวเอง ถามทีมงานว่าฟังใจเราจัดกันได้ไหม ทุกคนอยากจัดหมดเลยแต่ทุกคนพูดเหมือนกันว่า จัดไม่ไหวหรอกพี่ มันใหญ่เกินไป ก็เลยเกิดไอเดียว่าทำไมเราไม่ร่วมมือกัน ก็เลยชวนอีกสองทีมที่มีความถนัดต่างกันแต่มีแพชชั่นเหมือนกัน ฟังใจถนัดศิลปินไทย Seen Scene Space ถนัดวงฝั่งตะวันออก Have You Heard ถนัดวงฝั่งตะวันตก เรารู้สึกว่าแต่ละเจ้ามีจุดแข็งของตัวเอง ถ้าผนึกกำลังกันน่าจะสามารถจัดอะไรแบบนี้ขึ้นมาได้
นั่นเลยเป็นสาเหตุที่ว่างานนี้ได้รวมเอาศิลปินฮิตๆ ทั่วโลกมารวมกันไว้ได้
มันก็มีทั้งฮิตและไม่ฮิต มีทั้งหมด 19 วง ไม่มีใครรู้จักทั้ง 19 วงแน่นอน อันนี้ผมค่อนข้างมั่นใจ เพราะว่า ตอนเราคุยกันเอง 3 เจ้ายังรู้จักกันไม่หมดเลย แต่อยากจะแนะนำว่าความสนุกความสุขของการไปดูเทศกาลดนตรี คือการที่เราซื้อบัตรไปดูวงที่เราอยากดู บางคนอาจจะอยากดู Slow Dive บางคนอยากดู The Vaccine บางคนอยากดู DEAN บางคนอยากดู PREP เราซื้อบัตรเพราะเราอยากไปดูวงที่เรารู้จัก แต่ว่าในนั้นมันมีอีกเยอะมากที่คุณไม่รู้จัก แต่พอคุณเอาตัวเองไปอยู่ในงานแล้ว วงอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้จักกำลังเล่น แล้วเราเดินแค่ 5 ก้าว ได้เห็นวงที่เราไม่รู้จักเลยแต่แสดงดีมาก เพลงดีมาก พอเราได้ฟังครั้งแรกแล้วมันเจ๋งมาก ผมว่าอันนี้คือสุดยอดเมจิกโมเมนต์ของการไปเทศกาลดนตรี แล้วเราก็จะกลายเป็นแฟนคลับวงนั้นโดยทันที เพราะเพอฟอร์แมนซ์ของเขาทำให้เราเชื่อ และอินไปกับเพลงของเขาได้
แน่นอน สุดท้ายเราก็ไปดูวงที่เราอยากไปดูอยู่ดี เราก็มีความสุขกับมัน สมมติว่าเรามีความคาดหวังกับวงที่เรารู้จักอยู่แล้วประมาณหนึ่ง พอเราไปดูแล้ว โห เล่นดีมากเลย เล่นสดนี่ยิ่งสุดยอดเข้าไปใหญ่ อาจจะสูงขึ้นมาอย่างนี้ แต่ว่าวงที่ไม่รู้จักมันไม่มีความคาดหวัง เป็นศูนย์เลย พอมันดีทีก็จะกระโดดปรู๊ดขึ้นมา แล้วมันสุดยอด
ผมคิดว่าการที่เราได้ค้นพบของดีๆ โดยที่เราไม่ได้มีความคาดหวังนี่คือเมจิกโมเมนต์จริงๆ เหมือนเวลาเราไปเที่ยว เรามีสถานที่ท่องเที่ยวที่จะไปอยู่แล้ว ไปถึงเห็นแล้วสวยมากเลย เราถ่ายรูปๆ แต่บางทีเราเดินเล่นๆ เดินหลงทางในเมืองแล้วไปเจอตรอกหนึ่งที่สวยมาก มีต้นไม้ตรงนี้ขึ้นพอดี แสงเข้ามาพอดี ผมว่าพวกเมจิกโมเมนต์เล็กๆ ตรงนี้มันว้าวมาก ซึ่งมันเป็นสิ่งที่เราพยายามจะนำเสนอในมหรสพ
สิ่งที่เราอยากทำคือนำประสบการณ์ดีๆ เหล่านั้นมาถ่ายทอด มาตั้งไว้หน้าบ้าน ใจกลางกรุงเทพฯ อยากให้ทุกคนมา เราเชื่อว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถมีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน จองที่พักต่างประเทศเพื่อไปดูเทศกาลดนตรีพวกนี้ แต่เราอยากให้คนฟังเพลงบ้านเราได้ประสบการณ์ตรงนี้ เราจึงยกประสบการณ์จากต่างประเทศมาตั้งไว้หน้าบ้าน
ทั้ง 19 วงที่มาเล่นในงานนี้ มีเกณฑ์การคัดเลือกยังไงบ้าง
เป็นคำถามที่ดีมากครับ เพราะ 19 วงที่ประกาศออกมากับวงที่เราคุยกันตอนแรกนี่เป็นคนละหน้ากันเลย การจัดเทศกาลดนตรีในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก เพราะวงดนตรีที่อยู่ไกลๆ การที่เขาจะบินมาเล่นที่บ้านเราที่เดียวบางทีมันเป็นไปได้ยาก ต้องคุยกัน ชวนประเทศเพื่อนบ้านว่าอยากเอาวงนี้ไปเล่นด้วยไหม พยายามสร้าง route tour ให้เขาเพื่อรวมเงินให้ได้ก้อนหนึ่ง เพราะการที่เขาจะบิน ค่าเครื่องบินค่านั่นนี่มันแพงมาก เรามี line up ในฝันแหละ แต่ว่าสุดท้ายแล้วมันก็ต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม ตามความว่างของวง ตามราคาของวง ซึ่งก็ไม่เหมือนที่เราคาดไว้ตั้งแต่ต้น แต่ว่าทั้งหมดทั้งปวง เรามั่นใจว่าวงที่เราเลือกมาล้วนแต่เป็นวงที่มีคุณภาพสูงทั้งนั้น
เพลงต้องดี ต้องเล่นดี สองอย่างนี้เป็นบรรทัดฐานเลย ถ้าวงไหนไม่ผ่านสองข้อนี้ก็จะไม่ได้มาอยู่ใน line up นี้แน่ๆ นี่เป็นเรื่องที่ 1 ส่วนเรื่องที่ 2 คือมู้ดแอนด์โทนที่ไปด้วยกันได้ ทุกครั้งที่เราคิด line up เวลาเราดูกันจะเอาชื่อมาเรียงเป็นตับแล้วมาดูว่าทั้งหมดทั้งมวลมันไปด้วยกันได้ไหม ไปในทิศทางเดียวกันไหม มันไม่ใช่มีวงใดวงหนึ่งโดดขึ้นมาแล้วกลิ่นอาย มันต่างไป ไม่ใช่เรื่องของแนวดนตรีด้วยนะครับ เพราะแต่ละวงมีแนวดนตรีที่ต่างกันมากๆ แต่มันเป็นเรื่องของ taste บางอย่าง สปิริตบางอย่างของวงที่เมื่อมาอยู่ด้วยกันแล้วไปด้วยกันได้ บางทีเราก็คิดเหมือนกันว่าหรือควรจะมี head liner ที่ป๊อปๆ แมสๆ เรียกแขกไปเลย แต่สุดท้ายแล้วที่เราเลือกมาต้องเป็น representation ของสิ่งที่มหรสพเชื่อ และสิ่งที่มหรสพอยากเป็น
เราต้องการสร้างพื้นที่ให้วงดนตรีหน้าใหม่ๆ อยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นวงในประเทศหรือต่างประเทศ เราอยากให้คนได้มาค้นพบดนตรีใหม่ๆ อยากให้คนได้มาเจอเมจิกโมเมนต์ ได้มาเจอวงที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน เราอยากให้มันมี element ตรงนี้อยู่ ในขณะเดียวกันก็ต้องมีวงที่มีชื่อเสียงพอที่จะดึงดูดคนมาได้ แต่ต้องมีพลังงานอะไรบางอย่างที่เรารู้สึกว่าพิเศษ ที่ไม่ใช่เป็นวงดัง เล่นเพลงดังอย่างเดียว แต่มีเคมีที่ดี ตรงนี้เลยเป็นที่มาของวงที่เราเลือกมา 19 Line Up
หลังจากงานมหรสพ ฟังใจจะมีงานอะไรที่น่าตื่นเต้นแบบนี้อีกไหม
เราอยากทำต่อ มันเป็นแพลตฟอร์มที่เราคิดว่ามันควรจะเกิดต่อเนื่อง เราอยากให้มหรสพเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ทำให้กรุงเทพฯ ขึ้นไปอยู่ในแผนที่ของเทศกาลดนตรีทั่วโลก อยากให้วงรู้ว่าถ้ามาเมืองไทยช่วงปลายปีจะมี Maho Rasop Festival เป็นหนึ่งในตัวเลือกของคุณ อยากให้ชาวต่างชาติที่มาท่องเที่ยวอาจจะเลือกมาช่วงปลายปี เพราะอยากมามีประสบการณ์ดนตรีมหรสพ line up จึงสำคัญมาก เพราะมันเป็นตัวชี้ กำหนดทิศทางของเทศกาล
ผมคิดว่าข้อดีอีกอย่างของเทศกาลดนตรี ถ้ามองภาพในสเกลใหญ่ อย่าง South by Southwest หรือ Coachella มันสร้างเศรษฐกิจให้เมืองได้เลยนะ เมืองออสตินมันเกิดขึ้นมาใหม่ได้ด้วย South by Southwest ดึงคนเข้ามามหาศาลมากๆ ทำให้ภาพลักษณ์ของเมืองเปลี่ยน ทำให้คนจดจำเมืองได้อีกแบบหนึ่ง เราก็อยากทำให้กรุงเทพฯ กลายเป็นหนึ่งในเมืองหลวงที่คนนึกถึงว่าเป็นเมืองแห่งดนตรีได้เหมือนกันนะ เป็น music destination ของการท่องเที่ยวได้เหมือนกัน
ส่วนของฟังใจเองก็จะมีงานสนุกๆ ในปีหน้า อย่างแรกๆ เลยปลายปีนี้มี Crossplay 3 แน่ๆ เราจะเริ่มประกาศออกมาแล้วว่าใครจับคู่กับใคร มีการปล่อยซิงเกิลออกมา ประมาณปีหน้าราวเดือนมีนาคมก็จะมีคอนเสิร์ตใหญ่ของ Crossplay 3 ปีนี้เราก็ประกาศไปว่าเราจะยุติการทำเห็ดสด ปีหน้าก็จะมีงานอื่นมาทดแทน มีงานที่ใช้คอนเซ็ปต์ใหม่ รูปแบบงานที่ท้าทายคนทำ ท้าทายคนดู และท้าทายศิลปิน
ทำหลายอย่างขนาดนี้เหนื่อยบ้างไหม
เหนื่อยนะ (หัวเราะ) เรียกว่าอะไรดี ที่กล้าทำฟังใจต้องบอกว่าส่วนหนึ่งมันเริ่มต้นจากความไม่รู้ เราไม่รู้ว่าอุตสาหกรรมดนตรีมันทำงานกันยังไง เราเป็นแค่คนฟังคนหนึ่ง ผมไม่มีคอนเนคชั่นในวงการดนตรี ไม่รู้จักศิลปิน ผมเป็นแค่คนฟังธรรมดาคนหนึ่ง ตอนเด็กๆ ก็ฟังแฟตเรดิโอ ไป Fat Festival เป็นคนหนึ่งที่รักในซีนนี้ ด้วยความไม่รู้นี่แหละเราจึงไม่รู้ว่ามันยาก ถ้าวันแรกเรารู้ว่ามันยากเราอาจจะไม่ทำไปเลยก็ได้ อาจจะกลัวไปเลยก็ได้ ก่อนช่วงที่ผมเริ่มต้นฟังใจมา พี่ๆ น้องๆ หลายคนก็เตือนว่ามันยากนะ มันกำลังจะตายนะ ซึ่งพอได้เข้ามาก็ยากจริงๆ มีความท้าทายเยอะ พฤติกรรมการบริโภคของผู้ฟัง แม้ว่าเขาจะฟัง แต่การจับจ่ายใช้สอยกับเรื่องดนตรีโดยตรงบอกเลยว่ายากมากที่คนจะยอมจ่ายเงินกับดนตรี โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องของเพลงจริงๆ ซึ่งตรงนี้ก็ทำให้เราท้อบ้างเหมือนกัน
เราอยากช่วยให้ศิลปินเล่นดนตรีเป็นอาชีพได้ อยากให้ซีนดนตรีดีขึ้น อยากให้คนฟังเพลงหลากหลายขึ้น อยากทำหลายอย่าง ซึ่งส่วนหนึ่งเราก็ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีอีกเยอะมากที่ยังไม่สำเร็จ ก็ต้องพยายามสู้ต่อไป
4 ปีที่ทำฟังใจมา ถ้าส่วนบุคคลเลยมันทำให้ผมโตขึ้นในฐานะความเป็นมนุษย์มากๆ มันพาผมไปเจอคนที่ไม่คิดว่าชาตินี้จะได้เจอ พาผมไปเจอพี่เต๊ด-ยุทธนาที่เป็นไอดอลสมัยเด็กๆ ได้เจอพี่เจ๋อ-ภาวิต คุยกับ CEO แกรมมี่ คุยกับสตาร์ทอัพรุ่นใหญ่ พอเราคุยกับเขาเรื่องเบื้องหลังการทำงาน เรื่องทัศนคติ แลกเปลี่ยนไอเดียกัน มันมาทำให้เราได้เจอกับคนที่เขาผ่านอุปสรรคพวกนี้มาหมดแล้ว เขาเจ๋งมาก ที่ก้าวข้ามอุปสรรค ปัญหา มายืนอยู่ในจุดที่เขายืนอยู่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าถ้าพยายามทำต่อไปไม่หยุดทำ ก็น่าจะมีโอกาสไปถึงเป้าหมายปลายทางที่เราอยากให้เกิดได้
ถ้าหยุดมันคือเฟลแน่ๆ 100% โอกาสสำเร็จมันคือ 0% แน่ๆ แต่ถ้าเราไม่หยุดทำมันอาจจะเป็น 0.01 % แต่มันก็ไม่ใช่ 0 น่ะ ผมว่ามันเหนื่อยได้ ท้อได้ แต่ต้องไม่หยุดทำ
แล้วภาพปลายทางแบบไหนที่ฟังใจอยากเห็น
เวลาคนมาถามวิสัยทัศน์จริงๆ ของฟังใจคืออะไร ผมอยากเห็นนักดนตรีเป็นอาชีพได้จริงๆ ในบ้านเรา ทำไมคนที่ชอบสร้างตึก เขาสร้างตึกเป็นอาชีพได้ ทำไมคนที่ชอบรักษาคนทำเป็นอาชีพได้ คนที่ชอบออกแบบกราฟิก ทำกราฟิกเป็นอาชีพได้ แต่ทำไมคนที่ชอบเล่นดนตรีเล่นดนตรีเป็นอาชีพมันถึงยากมาก เปอร์เซ็นต์ส่วนน้อยมากที่เล่นดนตรีเป็นอาชีพหลักในบ้านเราได้ เราอยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้อาชีพนี้มันเกิด ฟังใจเจ้าเดียวทำไม่ได้นะครับ แต่เราก็เรียกว่าเป็นหนึ่งในคนที่พยายามขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ ผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าวันที่ผมตายสิ่งเหล่านี้มันจะเกิดขึ้นจริงไหม แต่มันเป็นสิ่งที่เรารัก พอเราได้คลุกคลีกับคนที่ทำในสิ่งที่เขารัก จึงทำให้เราสงสัยว่าทำไมบางแพสชั่นเขาทำเป็นอาชีพไม่ได้ แล้วเขาไม่ได้พยายาม หรือมีความรักน้อยไปกว่าคนที่ทำเรื่องอื่นๆ เลย
คิดว่าอะไรทำให้ฟังใจมาอยู่ตรงจุดนี้และเลี้ยงชีพได้ด้วย
เกาถูกจุดที่คนคันมั้งครับ ตอนที่ผมเริ่มต้นก็ไม่รู้หรอกว่ามีคนที่อยากใช้เซอร์วิสแบบนี้ไหม อยากใช้ผลิตภัณฑ์แบบนี้ไหม แต่มันเริ่มต้นจากตัวเองที่เราอยากมีที่ที่ฟังเพลงแบบนี้ อยากมีที่ที่เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง เพลงทุกเพลงในนี้เราชอบหมดเลย เข้ามาแล้วได้ explore ได้ขุดได้คุ้ย ได้เจอเพลงใหม่ๆ ส่วนหนึ่งก็คงโชคดีมั้งครับที่คนมีความต้องการตรงนี้มากพอ ที่จะสนับสนุนให้องค์กรไปต่อได้ เพราะถ้าไม่มีความต้องการของคน ฟังใจก็คงไม่อยู่มาถึงตรงนี้
เรียกว่าผมมีอาการคันที่ใกล้เคียงกับหลายๆ คนในบ้านเราก็แล้วกัน ทำของออกมาตรงกับความต้องการ ตรงจริต เราพูดในภาษาที่เขาอยากฟัง ก็เลยอาจจะทำให้อยู่มาได้จนถึง 4 ปี