(บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนของภาพยนตร์ที่ถูกหยิบยกมา)
นับตั้งแต่ไกอาที่เป็นเหมือนพระแม่ธรณี ได้ให้กำเนิดเหล่าไททัน (หมายถึงเทพองค์ใหญ่ๆ ไม่ใช่ไททันเตะกำแพง) หนึ่งในนั้นคือกษัตริย์แห่งไททัน โครนอส ที่เป็นบิดาของเหล่าทวยเทพแห่งโอลิมปัสรุ่นแรกอย่าง ซุส ดีมิเทอร์ เฮร่า เฮดีส และโพไซดอน ที่เราคุ้นหูกันดี แตกแขนงออกมาเป็นเรื่องราวปกรณัมกรีกที่เรื่องราวร้อยเรียงกันราวกับว่าจะไม่มีวันสิ้นสุด
เรื่องราวเหล่านี้ถูกนำมาเล่าในหลายรูปแบบ ภาพยนตร์เองก็เป็นอีกหนึ่งในนั้นที่ถูกนำมาเล่า มีทั้งแบบเล่าเนื้อเรื่องโดยตรงอย่างเรื่องที่เราคุ้นหูกันดี เช่น Troy, 300, Percy Jackson และ Clash of the Titans เป็นต้น เล่ากันตรงๆ แบบนั้นเราก็พอจะเดาออกว่ามาจากเรื่องราวไหนจากชื่อตัวละคร
แต่วันนี้ The MATTER อยากชวนมาดู 5 หนังที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปกรณัมกรีก ที่แม้ไม่ได้เอาเส้นเรื่องมาทั้งหมด แต่ก็ยังมีกลิ่นอายของเรื่องราวปกรณัมกรีกอยู่
มาดูกันว่าเราหากไม่อ่านสปอยล์ เราจะเดาออกกันกี่เรื่องนะ และที่สำคัญ มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญบางส่วนจากทั้งปกรณัมและตัวหนังเอง
Phantom Thread (ค.ศ.2017)
กำกับโดย พอล โทมัส แอนเดอร์สัน (Paul Thomas Anderson)
เรื่องราวที่มีพื้นหลังเป็นยุค 50’s ของเจ้าของห้องเสื้อหรูหรา Woodcock อย่าง Reynolds Woodcock (รับบทโดย แดเนียล เดย์-ลูวิส (Daniel Day-Lewis)) ผู้รักในความสมบูรณ์แบบ แทบจะไม่มีใครทำให้เขาพอใจได้นอกจากตัวเอง ความสามารถของเขาจึงแปรผันตรงไปตามอีโก้ของเขาเช่นกัน แต่แล้วจังหวะชีวิตทำให้เขาได้พบเจอกับ Alma (รับบทโดย Vicky Krieps) สาวเสิร์ฟที่จะเข้ามาเปลี่ยนชีวิตของเขาทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน
จากที่เข้ามาเป็นเพียงแบบลองเสื้อ Alma เริ่มมีอิทธิพลในชีวิตของเขา รวมไปถึงการสร้างสรรค์ผลงานต่างๆ ของเขาด้วยเช่นกัน จากคนที่ไม่เคยพอใจในตัวใครก็ตาม ไม่มีใครรู้เลยว่าเขากำลังหลงใหลอะไรในตัว Alma ที่มีชีวิตแตกต่างจากเขาไปอย่างสิ้นเชิง และแล้วเมื่อ Alma เริ่มเข้ามากุมบังเหียนหลายอย่างในชีวิตเขามากขึ้น มากเสียจนไม่อาจรู้ได้ว่าทั้งสองมีความรักหรือความอยากเอาชนะในความสัมพันธ์นี้มากกว่ากัน
เรื่องราวนี้คล้ายคลึงกับเรื่องของ Pygmalion ชายหนุ่มผู้ไม่เคยถูกใจสาวคนใดเลยสักนิด จนกระทั่งได้ลงมือปั้นสาวงามขึ้นมา และกลายเป็นเขาเองที่ตกหลุมรักผลงานตัวเองอย่างโงหัวไม่ขึ้น ถึงขนาดร้องขอให้ Venus ช่วยให้รูปปั้นนั้นมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ไม่ต่างอะไรกับ Reynolds ที่ไม่เคยพอใจใครรอบตัว จนกระทั่งมาเจอ Alma ที่เป็นเหมือนผลงานชิ้นเอกจากการเสริมเติมแต่งของเขาเอง
Orpheus (ค.ศ.1950)
กำกับโดย ฌ็อง ก็อกโต (Jean Cocteau)
Orpheus (รับบทโดย ฌ็อง มาเรส์ (Jean Marais)) กวีหนุ่มผู้หลงใหล่ในการละเล่นประสมประสานตัวอักษร ถอดรหัสบทกวีลึกลับจากวิทยุ มากกว่าจะสนใจภรรยาของเขาเอง อย่าง Eurydice (รับบทโดย มารี ดี (Marie Déa)) ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งความตาย แต่แล้วเมื่อเธอถูกพรากไปสู่โลกใต้พิภพ ความโศกเศร้าก็พาให้เขาต้องไปตามตัวภรรยาของเขากลับมายังโลกมนุษย์ ที่ที่ทั้งสองจะได้อาศัยอยู่ร่วมกัน
เรื่องราวทั้งในภาพยนตร์และในปกรณัมแทบจะเป็นเส้นเรื่องเดียวกัน Orpheus นักดีดพิณระดับมาสเตอร์ ดีดที่ไหนเคลิ้มที่นั่น ได้ตกหลุมรักกับนางไม้นามว่า Eurydice ครองรักกันไม่ทันไร สาวเจ้าเป็นอันต้องจากไปสู่ยมโลก ความเศร้าโศกทำให้เขาตัดสินใจเดินทางลงไปหานางอันเป็นที่รักถึงใต้พิภพ ผ่านอุปสรรคมากมาย หนึ่งในนั้นคือ Cerberus สุนัขสามหัวที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูนรกที่หลับใหลไปตามเสียงพิณคู่ใจของเขา (คุ้นๆ เหมือนเคยเจอฉากนี้ในหนังพ่อมดหน้าผากสายฟ้าสักเรื่อง)
รายละเอียดในภาพยนตร์นั้นถูกปรับให้เข้าใจได้ง่าย ไม่ได้เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ ลักพาตัวขึ้นบุษบก แต่เป็นอะไรที่มันสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในโลกของเรา ความน่าสนใจของเรื่องนี้คงจะเป็นการเอาเรื่องราวมาปรับให้เข้ากับโลกความเป็นจริงที่ไม่ใช่ปกรณัม แบบไม่ประดักประเดิดนี่แหละ
Black Orpheus (ค.ศ.1959)
กำกับโดย มาร์แซล กามูส์ (Marcel Camus)
ใช่แล้ว เส้นเรื่องเดียวกับเรื่องที่แล้วไม่มีผิด แต่เรื่องนี้ความรักที่คาบเส้นระหว่างโลกคนเป็นและคนตายจะไปเกิดขึ้นที่กรุง Rio de Janeiro ท่ามกลางเทศกาลอันครึกครื้น โชคชะตาพาให้ Orfeo (รับบทโดย Breno Mello) และ Eurydice (รับบทโดย มาร์เปสซา ดอว์น (Marpessa Dawn)) ได้มาพบเจอและตกหลุมรักกัน
โดยก่อนหน้านี้ Eurydice ได้หลีกหนีชายหนุ่มที่เธอเชื่อว่าจะมาฆ่าเธอ จนได้มาหลบลี้อยู่กับลูกพี่ลูกน้องอย่าง Serafina (รับบทโดย เลีย การ์เซีย (Léa Garcia)) แต่จนแล้วจนรอด เธอก็ถูกเอาตัวไปยังยมโลกตามตำนาน มาดูกันว่าในเวอร์ชั่นนี้ พระเอกของเราจะตามเธอกลับมาได้หรือไม่
แม้จะมาจากเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่ทั้ง Orpheus (ค.ศ.1950) และ Black Orpheus (ค.ศ.1959) มีสเน่ห์ที่แตกต่างกันไป ทั้งเรื่องภาพและการเล่าเรื่อง จะเรียกว่าเป็นอาหารชนิดเดียวกันแต่ต่างรสชาติกันก็พอจะเปรียบให้เข้าใจได้ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ลองดูทั้งสองเรื่องเพื่ออรรถรสที่หลากหลาย
The Lighthouse (ค.ศ.2019)
กำกับโดย โรเบิร์ต เอ็กเกอรส์ (Robert Eggers)
เป็นเวลา 4 สัปดาห์ที่ Thomas Howard (รับบทโดย โรเบิร์ต แพตตินสัน (Robert Pattinson)) ถูกว่าจ้างให้ไปเฝ้าประภาคารร่วมกับ Thomas Wake (รับบทโดย วิลเลม เดโฟ (Willem Dafoe)) นายประภาคารที่มีอารมณ์แปรปวนดั่งท้องทะเลและรับมือยาก เช่นเดียวกับคลื่นที่คอยซัดประภาคารซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โลกยังคงหมุนไปตามเดิม แต่คืนวันบนประภาคารนั้นช่างผ่านไปอย่างเชื่องช้า ความกดดันจากทั้งภายในและภายนอกประภาคาร ทำให้เขาแทบไม่อยากมีชีวิตอยู่ในที่แห่งนี้อีกต่อไปแล้ว
โดยเนื้อเรื่องที่เล่าในภาพยนตร์ เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงอย่าง The Smalls Lighthouse Tragedy เมื่อมีชายหนุ่มสองคนติดอยู่บนประภาคาร แต่แล้วคนหนึ่งจากไปแต่ศพของเขายังอยู่ข้างๆ คนเป็นอีกคนจึงต้องอยู่ร่วมกับศพอย่างอยู่นั้น (แต่ในภาพยนตร์จะเป็นยังไงต้องดูเอง)
แต่ปกรณัมกรีกจะเป็นเนื้อหาในส่วนของรายละเอียดเล็กน้อย ตำนานแห่งท้องทะเลอย่างนางเงือกที่มักจะโผล่มาแว้บๆ ให้มนุษย์ตกใจเล่น หรือเรื่องของ Proteus เจ้าแห่งท้องทะเลที่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของน้ำได้ตามใจ เพราะถือเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เป็นต้น
แม้จะไม่ได้มีส่วนมากในเนื้อเรื่อง แต่ความเข้มข้นของภาพยนตร์ก็มากพอที่จะทำให้เราใส่พานแนะนำ และไม่อยากให้พลาดเรื่องนี้
O Brother, Where Art Thou? (2000)
กำกับโดย Coen Brothers
นักโทษทั้งสามอย่าง Everett (รับบทโดย จอร์จ คลูนีย์ (George Clooney)), Pete Hogwallop (รับบทโดย จอห์น เทอร์ทูร์โร (John Turturro)) และ Delmar O’Donnell (รับบทโดย ทิม เบลค เนลสัน (Tim Blake Nelson)) ได้หลบหนีออกจากที่คุมขังมาได้ และมุ่งหน้าไปยังบ้านของ Everett เพื่อกลับไปเอาเงินมหาศาลจากการปล้นที่ซ่อนเอาไว้
แต่กว่าจะไปถึงที่นั่นได้ เขาพบเจอกับอุปสรรคและเรื่องราวมากมายที่ไม่ต้องเดาก็พอรู้ว่าหลุดมาจากปกรณัมกรีก และการเดินทางฝ่าฝันอุปสรรคเพื่อกลับบ้านของพวกเขา ก็ยิ่งการันตีว่านี่คือเรื่องราวที่ดัดแปลงมาจาก Odyssey ของ Homer ที่มีเรื่องราวยาวเหยียด เพราะแทบจะมีรายละเอียดทุกอย่างก้าวที่เดินทาง
ภาพยนตร์ตลกร้ายจากสองพี่น้องโคเอ็นยังคงเป็นความบันเทิงชั้นเยี่ยมให้กับเราเสมอ อย่างเรื่องนี้ ไม่ว่าจะดูแบบรู้เรื่องราวปกรณัมกรีกมาบ้างหรือไม่รู้เลย ก็ยังคงบันเทิงไปกับภาพยนตร์ไม่ต่างกัน