หากเราต้องสอบเกือบ 30 วิชาติดกัน ภายในเวลา 20 กว่าวัน โดยเป็นการสอบที่จะตัดสินอนาคตของตัวเอง คุณจะรู้สึกอย่างไร?
ในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นักเรียนหลายคนร่วมกันเรียกร้องให้เลื่อนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยออกไป เพราะการระบาดของ COVID-19 ทำให้หลายโรงเรียนต้องปิดไป แล้วครูต้องมอบหมายงานให้นักเรียนเพิ่มขึ้น เพื่อเป็นตัวชี้วัด ขณะเดียวกัน ที่เรียนพิเศษก็ปิดทำการ และโรงเรียนบางแห่งก็จัดสอบในช่วงเดียวกับที่สอบเข้ามหาวิทยาลัย
เมื่อเด็กไทยต้องสอบติดๆ กันเกือบ 30 วิชา ในกว่า 20 วัน ทำให้เหล่านักเรียนเกิดความเหนื่อยล้า ทั้งทางจิตใจและร่างกาย นำไปสู่ภาวะเครียดกับสถานการณ์ดังกล่าว
The MATTER ขอพาทุกคนไปดูผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียน จากมุมมองของนักเรียน คุณครู นักการศึกษา นักวิชาการ และจิตแพทย์ เพื่อเข้าใจสิ่งที่เหล่านักเรียนต้องเผชิญกัน
ชวัลวิทย์ บุญช่วย หรือ วิน นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) กล่าวไว้ในรายการ มาเถอะจะคุย ว่า “อ่านไม่ทัน ไม่ใช่เพราะว่าทำตัวเอง แต่มันเป็นผลกระทบที่มาจาก COVID-19 เพราะว่า COVID-19 ทำให้เลื่อนเปิดเทอม ทำให้ปิดโรงเรียน ปิดที่เรียนพิเศษ ทำให้แพลนที่เตรียมไว้ในการอ่านหนังสือเตรียมเข้ามหาวิทยาลัย มันพังไปหมดเลย”
ร่มเกล้า ช้างน้อย คุณครูแห่งโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า “การสอบติดๆ กันนี้ ก็เหมือนนักวิ่งมาราธอนที่ถูกบังคับวิ่งตลอดเวลา ไม่มีจุดพัก กับเด็กก็เหมือนกัน สมองมันเหนื่อยเพราะต้องคิดตอนสอบ กลับมาอ่านหนังสือเพื่อจำไปสอบ กลายเป็นสอบแบบนอนสต๊อป ไม่ต่างอะไรกับคนทำงาน 30 วัน โดยไม่ได้พัก”
ครูร่มเกล้า เล่าด้วยว่า นักเรียนบางคนก็กังวลว่าจะได้เข้ามหาวิทยาลัยไหม หลายคนต่างกังวลกันไปหมด เพราะไม่รู้ว่าจะได้เลื่อนสอบหรือไม่ เขาจึงพยายามบอกให้ทุกคนอ่านหนังสือไปอย่างเดียว หากมีอะไรจะช่วยรับให้
“อีกประเด็นที่รู้สึกแย่คือ ผู้ใหญ่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ไม่พร้อมจะทำอะไรให้เด็กเลย เด็กก็ยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีกว่า ไหนบอกว่า เด็กเป็นอนาคตของชาติ แต่กลับไม่เคยทำอะไรเพื่ออนาคตของชาติเลย มันกลายเป็นว่า เขาทำทุกอย่างให้ง่ายกับคนคุมสอบ แต่ยากกับคนที่ไปสอบ”
กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ หรือครูจุ๊ย นักการศึกษาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER ว่า “สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ มันคือการสอบเกือบ 30 วิชา ในกว่า 20 วัน แล้วมันไม่ใช่การสอบเล็กๆ แบบ 10 ข้อเสียเมื่อไหร่ มันคือสอบวิชานึงก็มีเกือบ 100 ข้อ มันหนักมากๆ สำหรับนักเรียน แล้วความหนักหน่วงทางจิตใจกับร่างกายมันส่งผลซึ่งกันและกันอยู่แล้ว”
ครูจุ๊ยเล่าอีกว่า การสอบติดๆ กันหลายวันนี้ส่งผลถึงสุขภาพกายและใจ ซึ่งมาพร้อมการจัดการความเครียดติดต่อกันเป็น 20 กว่าวัน ขณะเดียวกัน ก็มีคำพูดจากผู้ใหญ่ว่า “อดทนเอาสิ” “เรื่องแค่นี้เอง” แต่มันไม่ใช่แค่เรื่องแค่นี้ เพราะนักเรียนต้องสอบติดต่อกันยาวนานขนาดนี้ ซึ่งการเข้ามหาวิทยาลัยมันถือเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อใหญ่ของนักเรียน
“ผู้จัดสอบอาจจะลืมไปว่า ในช่วง COVID-19 การจัดการเรียนการสอบย่อมไม่เหมือนช่วงเวลาปกติ สิ่งที่เด็กๆ เขาสะสมมา มันเหมือนหายไปปีนึง มันมีบางส่วนที่หายไป คุณภาพเขาไม่เหมือนเดิม แต่เขาก็ยังต้องมาสอบเหมือนเดิม แล้วคุณยังไปกระหน่ำซ้ำเติมเขา โดยการยัด จัดให้มันติดๆ กันมากขนาดนี้อีก คุณไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ไม่ได้ตอบสนองต่อสถานการณ์อย่างที่ควรจะเป็น แต่กลับซ้ำเติมชะตากรรมของเด็กๆ เข้าไปอีก ในมุมมองของคนที่มีส่วนในการจัดการศึกษา ถือเป็นวิธีคิดที่แย่มากๆ”
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวไว้ว่า “ผู้ใหญ่ทุกคนที่เคยผ่านการเป็นเด็ก เคยเป็นนักเรียน เคยสอบ ลองถามตัวเองดูว่า การที่ต้องตะลุยสอบ 25-35 วิชาในช่วงเวลายาวนาน 19-26 วันนี่คืออะไร ที่สำคัญ การสอบ O-NET, GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ และข้อสอบรับตรงนี่คือการกำหนดตัดสินไปเลยว่าจะได้เรียนคณะ/สาขาอะไรต่อ”
ผศ.อรรถพล ยังกล่าวด้วยว่า แม้กระทั่งในเกาหลีใต้ ที่ขึ้นชื่อเรื่องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยโหด ก็ยังขยับเวลา ช่วยเหลือเด็กเรื่องการสอบมากกว่านี้ แต่ประเทศไทยกลับยืดหยุ่นเรื่องเวลาน้อยมาก
นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์ เขียนบทความที่เผยแพร่ใน WAY Magazine ว่า “ผมรับผู้ป่วยที่เป็นเด็ก ม.6 มากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่วินิจฉัยโรคเครียด เกือบทั้งหมดที่เครียดเรื่องการสอบ เป็นเพราะพ่อแม่คาดหวังให้สอบได้ดีๆ มีน้อยรายที่เครียดเพราะตัวการสอบจริงๆ พวกเขาเครียดเรื่องพ่อแม่คาดหวังเสียมากกว่า”