หนังสือการ์ตูน หรือ มังงะ ผลงานที่มักนำเรื่องยากๆ มาเล่าใหม่ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น เสริมเติมด้วยความโม้เบาๆ เพื่อให้ผู้เสพสามารถอ่านเรื่องได้จนจบทาง เพราะงั้นจึงไม่แปลกที่จะมีคนเหมาไปว่าผลงานส่วนใหญ่ในสื่อนี้จะมีแค่เรื่องสำหรับเด็กๆ แต่ก็อย่างที่เราพูดเสมอๆ ว่า การ์ตูนไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องสำหรับเด็ก ดังนั้นในวันนี้เราเลยจะมาเสวนากันเกี่ยวกับเรื่องจริงจังนิดนึงนั่นก็คือ มังงะที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชน
สื่อมวลชน อ้างอิงตามพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน เป็นคำนาม ที่หมายถึง สื่อกลางที่นำข่าวสาร สาร และเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่มวลชน เช่นหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และภาพยนตร์, นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ เป็นต้น. นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังถูกเรียกด้วยสมญานาม ฐานันดรที่ 4 หรือ The Fourth Estate เนื่องจากสื่อมวลชนเป็นกลุ่มคนที่สามารถแจ้งข่าวส่งต่อให้ผู้อืนจนกลายเป็นฐานอำนาจใหม่ของสังคม
กระนั้น มังงะที่สื่อมวลชนเป็นตัวละครหลัก และโฟกัสเกี่ยวกับการทำงานของพวกเขาก็มีน้อยกว่าที่เรากะไว้ แต่ในจำนวนน้อยนี้ก็มีความน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว
คอลัมนิสต์ประจำ – Hataraki Man
ถึงตัวมังงะเรื่องนี้ จะเล่าเรื่องรวมๆ ของ กองบรรณาธิการนิตยสาร JIDAI รายสัปดาห์ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วก็เล่าเรื่องของตัวละครเอกอย่าง มัตสึทากะ ฮิโรโกะ คอลัมนิสต์ประจำของทางนิตยสารที่ไม่ได้เล่นแค่เรื่องบันเทิงแต่ยังจับประเด็นซีเรียสอย่างเรื่องการเมืองด้วยเช่นกัน มังงะเล่าเรื่องความวุ่นวายในการทำงาน ทั้งในเรื่องของการเป็นคอลัมนิสต์ที่ต้องปั่นงานแข่งกับเวลา และการเขียนประเด็นข่าว ที่ไม่ควรเขียนมั่วนิ่ม หรือนั่งเทียนเขียนลงไปในหน้ากระดาษ (หรือในสมัยนี้ก็เป็นหน้าเว็บไซต์)
นอกจากการทำงานแข่งกับตัวเองตามที่กล่าวถึงข้างต้นแล้ว มังงะเรื่องนี้ก็ข้ามไปพูดถึงการทำงานร่วมกันของคนในนิตยสารเล่มเดียวกันเอง อย่างการทำงานคู่กับช่างภาพที่ต้องมีการปรับตัวเข้าหากัน เพื่อให้ภาพกับบทความมีการสนับสนุนกันอย่างมีเหตุผล หรือการเคารพคอลัมนิสต์คนอื่นๆ ที่เขียนงานร่วมกันในเล่ม เพราะแต่ละคนมีความถนัดที่แตกต่างกัน การทำงานกับบรรณาธิการโต๊ะข่าว และบรรณาธิการบริหาร เพื่อปรับจูนให้บทความสอดคล้องกับทิศทางของตัวนิตยสารและไม่เสียข้อความที่อยากสื่อ ซึ่งแน่นอนนานๆ ทีพวกเขาก็ได้รับกำลังใจจากคนที่ติดตามผลงานด้วย
แม้ว่าตัวมังงะอาจไม่ได้ลงลึกเชิงขั้นตอนการทำงานนักแต่ก็ถือเป็นมังงะที่ทำให้เห็นภาพโดยคร่าวว่า คอลัมนิสต์ประจำนิตยสารในเล่มที่ต้องใช้ทักษะ ความอด และความเข้าใจในเรื่องราวต่างๆ อยู่ไม่น้อย
กองบรรณาธิการ – เล่มนี้ต้องพิมพ์ซ้ำ
มังงะเรื่องนี้อาจไม่ได้เล่าเรื่องของนิตยสารข่าวก็จริง เพราะตัวเรื่องมีฉากหลังดำเนินอยู่ในกองบรรณาธิารนิตยสาร Vibes ที่ยังอยู่รอดในยุค 2010s และเพิ่งรับเด็กใหม่มาทำงาน แต่เด็กใหม่คนนี้กลับเป็นอดีตนักกีฬายูโดระดับติดทีมเตรียมเข้าแข่งโอลิมปิก จนชวนสงสัยว่าคนแกร่งแบบเธอเหมาะอะไรกับการทำงานแนวนี้ ถึงตัวนิตยสารในเรื่องจะเน้นขายไปที่ความบันเทิง แต่ก็ถือว่าบอกเล่าขั้นตอนการทำงานในกองบรรณาธิการก็ได้เป็นอย่างดี
ถ้ามองในมุมคนนอกวงการสื่อมวลชนแล้ว หลายคนคงคิดแค่ว่าเป็นบรรณาธิการ ก็คงไม่ต้องทำอะไรมากมายนัก แค่มีคอนเนคชั่นให้มาก เพื่อติดต่อนักเขียนหลายแบบหลายสไตล์ มีเงินจ้างฟรีแลนซ์ให้ช่วยสนับสนุนงานในส่วนที่ไม่ถนัดไปก็น่าจะพอแล้ว แต่มังงะเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่ามันมีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งอย่างน้อยที่สุดกองบรรณาธิการต้องรู้ว่า ‘ทิศทางสื่อที่ตัวเองเป็นอยู่คืออะไร’ จากนั้นจึงสะท้อนกลับมาที่การทำงานของกองบรรณาธิการแต่ละคนว่า พวกเขาคิดว่าเนื้อหาของนักเขียนที่มีในสังกัดนั้นเหมาะสมกับทิศทางหรือไม่ ถ้างานนักเขียนมีทิศทางที่ห่างจากตัวหน้าสื่อมาก กองบรรณธิการควรดีลอย่างไร
นอกจากเรื่องวุ่นๆ ในฝั่งกองบรรณธิการที่ต้องเครียดกับการควบคุมทิศทางเนื้อหานิตยสารแล้ว มังงะยังเล่าเรื่องของแผนกอื่นๆ อย่างการข้ามไปเล่าฝั่งฝ่ายขายที่มีทั้งคนอ่านกระแสออกว่าควรขายของอย่างไร กับคนที่ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจว่าของในมือนั้นควรไปขายใครบ้าง บางครั้งก็ข้ามไปเล่ามุมมองของผู้บริหารที่ในเรื่องนั้นยังแวะเวียนปลอมตัวมาเป็นพนักงานชั้นผู้น้อยบ้างเพื่อให้เข้าใจว่าการคิดงานหรือการวางตัวของผู้น้อยในปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง
และแน่นอนว่าเหมือนอีกหลายๆ เรื่องที่เราแนะนำกันในวันนี้ ผู้คนที่ปรากฎในเรื่องต่างพยายามเคารพคนทำงานซึ่งกันและกัน อาจมีบ้างที่ไม่ได้รู้สึกเห็นด้วยกับคนในออฟฟิศเดียวกันเอง แต่อย่างน้อยก็ยังไว้ใจและเปิดใจกันในภาคการทำงานที่แต่ละคนถนัดอยู่ ซึ่งจริงๆ เรื่องนี้เราคิดว่าไม่ใช่แค่สื่อหรอกที่ควรทำ แต่เป็นสิ่งที่คนทำงานทุกอาชีพควรทำตาม
ช่างภาพ – ตากล้องต้องกล้า
ก่อนคุยถึงรายละเอียดว่ามังงะเรื่องนี้คุยเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนอย่างไร เราคงต้องยอมรับโดยดุษฏีสองประการก่อน อย่างแรกก็คือมังงะเรื่องนี้ในช่วงท้ายของเรื่องนั้นสามารถใช้คำว่า ‘โม้เหม็น’ ได้อย่างเต็มที่ เพราะคงไม่มีการดวลกันระหว่างช่างภาพระดับต้องเอาชีวิตไปแลกบนโลกนี้ อย่างที่สองก็คือเทคโนโลยีกล้องภายในเรื่องยังอยู่ในสมัยฟิล์ม ทำให้คอมเมนต์บางอย่างของเรื่องเกิดอาการตกยุคแบบแปลกๆ เช่น การดูถูกเซ็นเซอร์การถ่ายรูปอัตโนมัติ หรือการใช้กล้องออโต้โฟกัสนั้นอ่อนหัดกว่าใช้กล้องหมุนมือ เป็นอาทิ
กระนั้น ในยุคนี้ที่ Photojournalism หรือการถ่ายภาพวารสารศาสตร์ เกิดขึ้นได้ง่ายยิ่งกว่าสมัยใด อันเป็นผลพวงจากเทคโนโลยีที่ทำให้กล้องคุณภาพดีราคาถูกลงจนเข้าถึงมือปวงชนได้ง่ายขึ้น ทำให้ความนัยที่แฝงอยู่ในหลายช่วงของมังงะเรื่องตากล้องต้องกล้า กลับกลายเป็นเรื่องที่ช่างภาพในวงการข่าวทุกคนไม่ว่าจะยุคไหนสมัยไหนควรทำตาม
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ช่างภาพควรเคารพแบบที่ถูกถ่ายรูป, ความรู้ที่ช่างภาพควรมี อย่างการรู้จักสถานที่หรือ subject ของสิ่งที่ตนเองจะถ่าย, ความช่างสังเกตสังกาต่อสิ่งโดยรอบ, ความอดทนรอเพื่อจับภาพช็อตเด็ด และในขณะเดียวกันมังงะก็โชว์ด้านแย่ๆ ของตากล้องอย่างการลอบถ่ายรูปโดยไม่ได้รับอนุญาต กับความสุ่มเสี่ยงชีวิตกับการถ่ายภาพบางสิ่งบางอย่าง รวมถึงประเด็นแฝงที่เล่าผ่านในหลายๆ ตอนว่าสุดท้ายแล้วชื่อเสียงจากการถ่ายรูปด้วยวิธีการไม่เหมาะสมนั้นไม่สามารถสร้างชื่อเสียงที่ยืนยาวได้เลย
จุดที่มังงะเรื่องนี้อาจบอกเล่าขาดไป ก็คือการทำงานร่วมกับคนอื่นในทีม (อย่างที่ใน Hataraki Man นำเสนอว่าคอลัมนิสต์กับช่างภาพก็ควรจะถกกันในการกำหนดทิศทางถ่ายรูป) แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่ให้ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิง ซึ่งสะท้อนได้ดีว่าไม่ว่าจะในยุค 1980s ที่มังงะออกตีพิมพ์ครั้งแรก หรือในยุค 2010s ถ้าผู้หญิงมีทักษะ จิตใจและร่างกายที่พร้อมลุย ก็สามารถโดดเด่นในการทำงานสื่อมวลชนด้านนี้เช่นกัน
นักข่าวภาคสนาม – สืบโอซาก้า
มังงะอีกเรื่องที่ออกจะเก่าอยู่สักหน่อย แต่ก็ยังสะท้อนภาพของนักข่าวภาคสนาม และสังคมของนักข่าวญี่ปุ่นได้อย่างดี เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ทานิ อิปเป นักข่าวหนังสือพิมพ์นิซเซ ที่ถูกย้ายให้มาประจำการสาขาโอซาก้า และดูแลข่าวโต๊ะสังคม ซึ่งพาดรวมมาถึงคดีฆาตกรรมต่างๆ ด้วย งานที่ตัวเอกของเรื่องต้องทำนั้นมีหลากหลาย เขาต้องออกหาสกู๊ปในพื้นที่เอง เขียนต้นฉบับเอง อยู่โยงในกะเวลาต่างๆ เพื่อรอคดีที่อาจปรากฎขึ้นอย่างกะทันหัน เป็นตากล้องเองในสถานการณ์ที่ไม่สามารถรอช่างกล้องได้ และถ้าจำเป็นเขาก็ต้องเป็นคนสืบคดีเอง
มังงะเรื่องนี้เล่าเรื่องแบบแช่มช้า และลงรายละเอียดหลายอย่างผ่านตัวอักษรค่อนข้างมาก แต่นั่นทำให้บรรยากาศของเรื่องจริงจัง รวมถึงเป็นการบอกเล่าขั้นตอนการทำงานของนักข่าวภาคสนามอย่างละเอียด ทั้งเรื่องความสัมพันธ์ของนักข่าวกับแหล่งข่าวทั้งหลาย ทั้งแหล่งข่าวประจำที่อย่างตำรวจในหน่วยต่างๆ หรือแหล่งข่าวชั่วครั้งชั่วคราวที่พระเอกเราได้พบเจอในการลงพื้นที่ ซึ่งมีบางคนที่พัฒนามาเป็นคนรู้จักที่พบหน้าและคุ้นเคยไปโดยปริยาย
และด้วยความเป็นการ์ตูนเราเลยได้เห็นตัวละครที่เป็นสื่อมวลชนในอุดมคติอยู่ในเรื่องด้วย แต่ก็น่าคิดเบาๆ ที่ตัวละครดังกล่าว พยายามเขียนข่าวอย่างระมัดระวัง แถมมีข้อมูลครบถ้วน และไม่ทำร้ายญาติผู้เสียชีวิต แต่กลับกลายเป็นตัวละครที่ตายตั้งแต่ช่วงต้นเรื่อง
ผู้แต่งการ์ตูนเล่มนี้ทำให้เราเห็นระบบการทำงานทั้งที่ดีและไม่ดีของสื่อญี่ปุ่น อย่างกรณีคดีลักพาตัวเด็กที่มีการประกาศขอความร่วมมือออกมาชัดเจนจากตำรวจ ให้สื่อทำการนำเสนอข่าวอย่างระมัดระวัง ซึ่งเป็นผลดีต่อเหยื่อที่ถูกลักพาตัว เพราะเคยมีคดีที่ข่าวประโคมเรื่องกันหนักเกินไปจนคนร้ายตัดสินใจสังหารเหยื่อลักพาตัวทิ้ง ในอีกด้านหนึ่งที่สื่อญี่ปุ่นยังต้องรอการตัดสินใจของสมาคมนักข่าว หรือ Kisha Club ในการเลือกว่าจะปั่นข่าวไหน และจะไม่เล่าข่าวไหน ก็ถูกแซะแบบตรงๆ ในมังงะเรื่องนี้ ในระดับที่ตัวละครเอกถึงกับกล่าวว่า ถ้ายังยึดติดกับระบบนี้ ในอนาคตสื่อมวลชนญี่ปุ่นคงถึงกาลอวสานเป็นแน่
ความน่าสนใจอีกอย่างของมังงะเรื่องนี้คือการที่เซ็ตเรื่องให้พระเอกทำงานในโอซาก้า ที่แม้ว่าจะเป็นเมืองใหญ่เหมือนโตเกียวแต่ก็มีความต้องการข้อมูลที่แตกต่างจากเมืองหลวง การทำข่าวจึงต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และในขณะเดียวกันสื่อมวลชนในพื้นที่นี้ก็สามารถนำเสนอให้ทั่วทั้งประเทศรับรู้ได้ แม้ว่าตัวมังงะเดิมจะพูดถึงการออกข่าวแบบเล่มที่อาจฟังดูตกยุคไปแล้ว แต่พอเทียบกับยุคนี้ที่สำนักข่าวออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น เรากลับรู้สึกว่ายังมีช่องว่างให้สื่อที่บอกเล่าเรื่องท้องถิ่นมีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะการทำข่าวนั้นยังเป็นเรื่องของคนกับคนอยู่ แม้ว่าการทำข่าวแบบเรียกเรตติ้งจะทำให้มีคนมาติดตามเยอะก็เถอะ
บรรณาธิการโต๊ะข่าว – บ.ก. ระห่ำทะลักจุด
“คุณกำลังฆ่าคนโดยการนิ่งดูดายหรือเปล่า” ประโยคจบเรื่องของมังงะเรื่องนี้ ที่บอกเล่าการทำงานของ ซาโอโตเมะ บุนยะ บรรณาธิการโต๊ะข่าวสังคมของหนังสือพิมพ์อาคาซึกิ ด้วยตำแหน่งแล้วเขาอาจไม่จำเป็นต้องเดินลุยหาข่าวด้วยตนเอง แต่กระนั้นด้วยสไตล์การทำงานแบบถึงลูกถึงคน เขาชอบที่จะออกภาคสนามไปพบกับข่าวเสียมากกว่า
ผลงานมังงะที่เขียนโดยอาจารย์ซารุวาตาริ เท็ตสึยะ มักมีตัวเอกเป็นชายหนุ่มตัวใหญ่บึ้กและใช้พลังในการแก้ปัญหาส่วนใหญ่ของเรื่อง เพราะฉะนั้นอย่าตกใจที่คุณได้เห็นนักข่าวที่กล้ามสวยที่สุดในโลกจากการ์ตูนเรื่องนี้ แต่ไม่ใช่ว่าตัวมังงะจะไม่มีสาระของการทำงานข่าวเลย มังงะเรื่องนี้พยายามเล่าเรื่องเครียดๆ ตามวิสัยของผู้เขียนที่ชอบวิพากษ์สังคมด้วยสไตล์แรงมาแรงไปอย่างที่เห็นในมังงะเรื่องอื่นๆ ของเขา ทำให้ข่าวที่บุนยะไปทำในเรื่องมักเป็นคดีอาชญากรรมที่สะท้อนมาจากข่าวจริง อย่างคดีที่เกี่ยวข้องกับคนแก่ก็มักโดนมองข้ามจากคนทั่วไป รวมถึงคดีที่เล่าเรื่องฆ่าข่มขืน และคดีอุกฉกรรจ์อื่นๆ อีกมาก
บทเรียนที่เราคิดว่าได้จากมังงะเรื่องนี้ก็คงเป็นเรื่องที่ตัว บ.ก. ไม่จำเป็นต้องทำงานเหมือนอยู่บนหอคอยงาช้าง พวกเขาทำตัวติดดินและโฟกัสกับสังคมโดยรอบได้ ไม่ว่าจะเป็นสังคมในที่ทำงาน หรือสังคมขนาดใหญ่ที่พวกเราใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน อย่างบุนยะที่ทำงานกับลูกน้องหญิงโดยตลอด และได้ข่าวหลายครั้งจากการช่วยเหลือคนในชีวิตประจำวัน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการเตือนใจแก่คนอ่านว่า อาการยอมหักไม่ยอมงอ อาจสร้างความเสี่ยงให้คนทำงานทุกคนอย่างที่ตัวเอกของเรื่องต้องเสียชีวิตในตอนท้าย เพราะไปลูบคมองค์กรลับจนเจอสั่งเก็บและทิ้งประโยคสุดท้ายไว้ให้คนอ่านที่ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือคนอ่านเอาบันเทิงคิดเองต่อไปว่าพวกเขาควรวางตัวอย่างไรในสังคมนี้
นักข่าวการเมือง – คุนิมิตสึ คนจริงจอมกะล่อน
น่าแปลกใจเบาๆ ที่เราพบว่ามังงะที่นำเสนอนักข่าวที่ดีและน่าสนใจ ไม่ได้อยู่ในมังงะที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของสื่อมวลชนตรงๆ แต่กลับเป็นมังงะที่คุยเรื่องการเมืองเสียอย่างนั้น แต่ช้าก่อน ถึงแกนหลักของมังงะอย่าง คุนิมึตสึ จะเกี่ยวข้องกับการเมืองระดับท้องถิ่นที่สะท้อนภาพการเมืองระดับชาติของญี่ปุ่นก็จริง ในเรื่องนี้ก็มี ซาวะ มาสึมิ นักข่าวไฟแรง เป็นนางเอกอยู่นะ ตามท้องเรื่องแล้วเธอเป็นนักข่าวหน้าใหม่มีฝีมือที่ตอนแรกคิดว่าโดนรุ่นพี่กลั่นแกล้งส่งไปประจำการที่จังหวัดเหมือนจะไกลปืนเที่ยง แต่เป้าหมายจริงๆ ของรุ่นพี่คือการนำนกน้อยที่เพิ่งโบยบินในวงการสื่อมวลชน ได้ไปเติบโตในสนามข่าวที่แท้จริง ไม่ใช่การอยู่ในเมืองรอแหล่งข่าวใหญ่ออกมาให้ความเห็นแล้วก็หยิบคำเหล่านั้นมาบอกเล่าไปวันๆ
ซึ่งมังงะเรื่องนี้ก็ทำให้เห็นเช่นนั้นจริงๆ นับตั้งแต่นาทีแรกที่เธอเดินทางมาถึงเมืองชินชิบะซากิ (เมืองสมมุติตามท้องเรื่อง) เธอก็ได้พบว่าศึกการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งใหม่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น แถมเธอยังได้พบตัวเต็งของการเลือกตั้งนับตั้งแต่ที่พวกเขายังไม่มีแนวโน้มจะเป็นตัวเต็ง พบว่าเมืองแห่งนี้มีการคอรัปชั่นแบบชัดเจนมากๆ แต่ก็ไม่ใช่ว่านักข่าวสาวจะกระโดดเข้าไปงับข้อมูลชั้นดีที่เธอเจอมาทันที แทบตลอดการดำเนินเรื่องเธอพูดให้ทั้ง พระเอกอย่างคุนิมิตสึ และคู่แข่งทางการเมืองรับทราบอยู่ตลอดว่า ตัวเธอนั้นเป็นนักข่าว การที่เธอจะเขียนข่าวเพื่อสนับสนุนเฉพาะบุคคลนั้นจะมีผลกระทบอย่างมาก ดังนั้นเธอจึงเลือกไม่เขียนข่าวการเมืองทันที
ในทางกลับกัน นักข่าวสาวจากมังงะเรื่องนี้ก็พูดบ่อยครั้งว่า ถ้าเป็นกรณีการช่วยเหลือประชาชนผ่านข่าวสารที่เธอได้รับมานั้นเป็นเรื่องที่เธอยินดีรับทำ ซึ่งเรื่องที่เธอช่วยประสานงานกับคนในเมืองนี่เองที่ทำให้เธอได้สกู๊ปข่าวเด็ดขึ้นไปอีก (แม้ว่าจะหยอดความโม้เบาๆ ว่า เธอทำงานเกือบทั้งหมดด้วยตัวคนเดียว) อย่างในช่วงหนึ่งของเรื่องที่การเลือกตั้งผู้ว่าใกล้เข้ามา เธอควรโฟกัสกับข่าวการเลือกตั้ง แต่เมื่อมีข้อมูลว่าสถานพยาบาลในท้องที่แจกจ่ายยาจนเยอะเกินไป เธอก็ไปโฟกัสกับการทำข่าวเรื่องนั้นจนกลายเป็นสกู๊ปดัง
การเล่าเรื่องการทำงานสื่อมวลชนในมังงะเรื่องนี้ก็ยังพูดถึงการทำข่าวที่ต้องรับแรงกดดันจากอำนาจมืด ซึ่งจุดนี้เกิดขึ้นในช่วงท้ายของเรื่อง ที่เริ่มคุยถึงวิธีการหาเสียงแบบกึ่งข่าวบันเทิงปนกับการใช้อำนาจเพื่อให้สื่อต่างๆ ระบุว่าในผลโพลล์นั้นผู้เข้าสมัครคนล่าสุดมีกระแสดีแซงหน้าคนอื่นๆ ที่ลงพื้นที่มายาวนาน ซึ่งตัวบรรณาธิการข่าว (รุ่นพี่ที่ส่งนางเอกมาดินแดนไกลปืนเที่ยง) ในเรื่องได้บอกให้นางเอกไปร่วมกันแสดงความเห็นคัดค้านผู้บริหารที่ออกคำสั่งดังกล่าว และตัวของบรรณาธิการเลือกให้นางเอกลงข่าวตามที่หามา ไม่ใช่ข้อมูลที่เมคขึ้น แม้ต้องแลกกับการเสียฐานะการงานของตนเองก็ตามที
แน่นอนว่านี่เป็นแค่เรื่องแต่ง เพราะฉะนั้นนักข่าวในชีวิตจริงอาจไม่ได้เลือกทำอะไรแบบนี้ แต่เราก็คาดหวังว่าจะมีนักข่าวหลายคนที่ยังทำตัวเร่าร้อนอย่างที่นักข่าวในมังงะเรื่องนี้เป็นอยู่
แต่ถึงเรายังไม่ได้เห็นนักข่าวแบบนี้ได้โดยง่าย เราก็ยังได้เห็นคนเขียนมังงะอีกหลายคนที่พยายามเขียนผลงานสะท้อนสังคมจริงๆ แบบที่นักข่าวบางคนอาจเลี่ยงที่จะทำ อย่างในมังงะแทบทุกเรื่องที่เราเล่าไปนั้น ก็เอาคดีข่าวที่เกิดขึ้นจริงมาดัดแปลงและบอกเล่าใหม่ นอกจากนี้พวกเขาก็ไม่ได้หยุดการแสดงความเห็นต่อสังคมไปในยุคใดยุคหนึ่งด้วย อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ ในช่วงที่เกิดเหตุภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ นักข่าวหลายคนอาจไม่กล้าวิพากษ์การทำงานของรัฐเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัยของพื้นที่มากนัก แต่มีคนเขียนมังงะหลายคนสอดแทรกเรื่องนี้ไปในผลงานของพวกเขาเอง อาทิ มังงะเรื่อง Oishinbo ที่เป็นมังงะแนวชิมอาหารก็มีเรื่ององก์หนึ่งพูดถึงการที่วัตถุดิบทำอาหารได้รับผลกระทบจากเมืองฟุกูชิมะ หรือ มังงะเรื่อง Ichi-F: A Worker’s Graphic Memoir of the Fukushima Nuclear Power Plant มังงะในเชิง Comic Essay ที่เล่าขั้นตอนของกลุ่มคนที่ทำงานในพื้นที่ฟุกุชิมะหลังจากที่เกิดเหตุโรงงานนิวเคลียร์ระเบิดโดยละเอียดมากกว่าที่นักข่าวคนไหนในญี่ปุ่นจะกล้าเขียนออกมา
เราคาดหวังว่าในอนาคต เราจะได้เห็นมังงะเรืองอื่นๆ ไปพูดถึงวงการสื่อมวลชนอีกครั้ง เพราะในตอนนี้มีอยู่ไม่กี่เรื่องนักที่คุยเรื่อง New Media หรือสื่อใหม่ที่ผันตัวมาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาก็น่าจะมีผลงานที่กลั่นความรู้ออกมาให้อ่านกันได้ง่ายๆ ต่อไปในอนาคต
ขอขอบคุณ
คุณวีรยศ มุขโต
อ้างอิงข้อมูลจาก