16 มกราคม วันครูของประเทศไทยวนกลับมาหาเราอีกครั้งหนึ่งแล้ว ถือเป็นโอกาสดีอีกครั้งหนึ่งที่เราจะได้แวะเวียนกลับไปทักทายคณาจารย์ที่อยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ และเป็นโอกาสอันดีที่เราจะขอพูดถึงครูในสื่อบันเทิงต่างๆ กันอีกสักครั้งหนึ่ง
เราเคยได้พูดถึงครูในฟากการ์ตูนญี่ปุ่นมาก่อน แล้วยังพาดพิงไปถึงครูในฝั่งหนังนิดๆ หน่อยๆ ปีนี้เราเลยขอพูดถึงครูในหนังกันแบบเต็มๆ บ้าง แต่จะให้พูดถึงครูทุกคนก็อาจจะไม่ไหว เพราะมีอยู่เยอะเหมือนกันอย่าง ครูปิยะ ในหนัง ครูบ้านนอก ที่สละชีวิตเพื่อการศึกษาของนักเรียนในท้องถิ่น, ครูปราณี ในหนังเด็กหอ ที่ใช้ความดุดันเคลือบกลบความเป็นห่วงใย หรือ Pai Mei ยอดจอมยุทธ์สุดเฮี้ยบจาก Kill Bill ที่มีวิชาสุดยอดติดตัว
เพราะฉะนั้น The MATTER จะขอหยิบยกตัวอย่างคุณครูในหนังที่ทำตัวออกนอกกรอบหรือพร้อมทะลายกำแพงเดิมๆ ที่อาจจะทำให้การเรียนติดขัด พร้อมคำพูดจากในหนังที่พวกเขาเป็นคนพูดออกมา และเราเชื่อว่าหลายๆ คำ จากหลายๆ ครูนั้น ช่วยชี้แนะชีวิตของเราได้ดีทีเดียว
คำเตือน : มีการพูดถึงเนื้อหาของหนังเล็กน้อยถึงปานกลาง
“Don’t ever call my students trash.”
“อย่ามาเรียกนักเรียนของฉันว่า ขยะ”
คุณครู Eikichi Onizuka จากเรื่อง Great Teacher Onizuka
คุ้นหน้าคุ้นตาครูคนนี้จากการ์ตูนก็จริง แต่เรื่องนี้ก็มีหนังคนแสดงออกมาให้ดูกันจริงๆ ในปี 1999 ด้วย วีรกรรมของครู Eikichi Onizuka ที่ทำให้หลายคนคุ้นเคยก็มีทั้งการย้อมหัวทอง ติดเกม ติดการ์ตูน แสดงความหื่นทางเพศอย่างเกินหน้าเกินตา แต่เพราะแบบนี้ทำให้เด็กนักเรียนวัยรุ่นที่มีความขบถอยู่ในตัวยอมเปิดใจได้ง่ายกว่า แม้ในทีวีซีรีส์เวอร์ชั่นแรกและฉบับหนังโรงคนแสดงในปี 1999 ได้ Takashi Sorimachi มาแสดงเป็นตัวเอกอาจจะไม่ได้ย้อมผมทองตามต้นฉบับการ์ตูน แต่ยังเก็บความเฮี้ยวไว้ครบถ้วน รวมถึงการแสดงของเขายังทำให้เราเชื่อว่า ครูโอนิสึกะยังเป็นครูจอมระห่ำที่ไม่ยอมทิ้งนักเรียนคนไหนไว้กลางทางเพราะการไม่รับฟังของผู้ใหญ่ไม่ต่างกับในฉบับการ์ตูน
ฉบับหนังขาดฉากแอ็กชั่นดุๆ อย่างในการ์ตูน แต่ด้วยมาดของ Sorimachi ก็ทำให้คนดูหลายคนติดภาพการรับบทนี้ของเขาไปแล้ว ถ้าจะมีคนอื่นมาแสดงอีกทีหลังก็อาจจะลำบากอยู่สักหน่อยล่ะ
“I’m a teacher, it doesn’t matter what color I am.”
“ไม่สำคัญว่าผิวฉันจะสีอะไร แต่ใจฉันคือครู”
คุณครู Erin Gruwell จากเรื่อง Freedom Writers
หนังสร้างมาจากหนังสือของ Erin Gruwell ครูสอนวรรณกรรมภาษาอังกฤษที่ได้เข้าสอนในช่วงเวลาและชุมชนที่มีปัญหาการแบ่งแยกสีผิวอย่างหนัก แถมนักเรียนยังพร้อมใจที่จะไม่เรียนต่ออีกต่างหาก ด้วยเหตุนี้เธอจึงต้องออกจากกรอบเดิมของการเป็นครูปกติ ทำงานเพิ่มเติมเพื่อหาทุนรอน แล้วเปิดโลกเพื่อสอนให้เด็กได้รับรู้ว่า บางทีสิ่งที่กำหนดความต่างไม่ใช่ตัวสังคม แต่มาจากใจตนเอง และตัวเธอเองก็พร้อมที่จะสอนให้เด็กเชื่อมั่นในตัวครูผู้พร้อมสอนวิชาให้กับศิษย์ทุกคนไม่ว่าศิษย์คนนั้นจะมีผิวสีอะไร
ในหนังเรื่องนี้ยังมีคุณครูอีกหลายคนที่สอนอะไรดีๆ ให้คนดูอีกมาก และยังมี Imelda Staunton แสดงเป็นครูใหญ่ที่ค้านนางเอกเกือบทั้งเรื่อง ซึ่งหนังเรื่องนี้เข้าฉายก่อนเธอรับบท Dolores Umbridge จากเรื่อง Harry Potter พอดี ถ้าบอกว่าเธอมาซ้อมการแสดงความน่าหงุดหงิดให้คนดูรับชมมาก่อนก็ไม่ผิดนักนะ
“So let’s just give this everything we got. We may fall on our faces, but if we do, we will fall with dignity! With a guitar in our hands, and rock in our hearts!”
“จงทุ่มทุกอย่างที่เรามี แม้จะล้มหน้าคว่ำ แต่เราจะล้มคว่ำด้วยเกียรติยศ พร้อมกับกีตาร์ในมือและเลือดร็อคในหัวใจ”
คุณครู Dewey Finn จากเรื่อง School of Rock
โอเคครับ ถึงแม้บท Dewey Finn ที่แสดงโดย Jack Black จะถือว่าเป็นครูในแง่วิชาการที่ไม่ค่อยดีเลย เพราะเขาแค่สวมชื่อเพื่อนไปรับบทเป็นครูตัวแทนเพื่อรับเงินเดือนแบบเนียนๆ ถึงอย่างนั้นสิ่งที่ครูคนนี้เริ่มจุดไฟให้นักเรียนในเรื่องก็คือ การพยายามทำอะไรให้เต็มที่ ไม่ใช่หยุดยอมแพ้อยู่แค่ครึ่งๆ กลางๆ ซึ่งคำพูดและการกระทำของครูนอกรีตคนนี้ได้ผลเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่เป็นการจุดไฟให้ตัวของเขาเองลุกขึ้นมาสู้อีกครั้ง แม้ว่าตอนจบ Dewey จะต้องออกจากโรงเรียนของเด็กๆ แต่เขาก็ยังก้าวมาเปิดโรงเรียนสอนวิชาร็อคต่อไป การออกจากกรอบนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การหาคนช่วยลากออกจากกรอบนั้นหายาก ซึ่งในเรื่องนี้นำเสนอชอตนี้ได้ดีเลย
“I was there to push people beyond what’s expected of them. I believe that’s an absolute necessity.”
“ฉันจะคอยผลักดันให้คนไปอยู่ในจุดเหนือกว่าที่พวกเขาคาดไว้เสมอ ฉันเชื่อว่านั่นคือความจำเป็นขั้นสุด”
คุณครู Terence Fletcher จากเรื่อง Whiplash
อาจจะไม่แปลกนักถ้าอาจารย์สอนดนตรีจะดูไม่เหมือนครูในสายสามัญทั่วไป และสำหรับ Terence Fletcher ครูสอนวิชาดนตรีแจ๊สในสถาบัน Shaffer น่าจะพิสดารกว่าครูสอนดนตรีทั่วไปขึ้นไปอีกขั้น เพราะเขาใช้วิธีการสอนแบบรุนแรง กดดันทั้งจิตใจและร่างกายของนักเรียน ระดับที่ตบหน้าบ้าง ปาของใส่บ้าง จนทำให้ถูกร้องเรียนในการสอน แต่เป้าประสงค์ที่เขาทำรุนแรงขนาดนี้ก็เพราะอยากสร้างนักดนตรีที่พัฒนาตัวเองไปไกลกว่าจุดเดิม คล้ายๆ กับ ประโยค “ศิษย์นั้นต้องไปได้ไกลกว่าตัวเรา” ที่ปรากฎในหนัง Star Wars: The Last Jedi
เราไม่ได้สนับสนุนการทำร้ายร่างกายแต่อย่างใด เช่นเดียวกับในหนังเรื่องนี้ที่ตัว Fletcher ก็ถูกปลดออกจากการสอนไป เราแค่อยากหยิบยกขึ้่นมาให้เห็นว่ามีครูบางคนที่สุดโต่งจนทะลุออกจากกรอบเพื่อให้เกิดการพัฒนาขึ้นมาอยู่ด้วย
“Just when you think you know something, you have to look at in another way. Even though it may seem silly or wrong, you must try.”
“ในวันที่คุณคิดว่าตัวเองรู้บางอย่าง จงลองมองในด้านตรงข้าม แม้มันจะดูผิดและโง่เง่าแค่ไหน แต่คุณต้องลอง”
คุณครู John Keating จากเรื่อง Dead Poets Society
ทั้งโรงเรียนและคุณครูในเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องสมมติ แต่ก็เป็นการมโนบนพื้นฐานโลกแห่งความจริงเพราะพูดถึงโรงเรียนชายล้วนที่มีกรอบสังคมแน่นหนา เพื่อให้เด็กในสถาบันทำตามคุณงามความดีอย่างที่ถูกสร้างไว้มาหลายสิบปี ในโรงเรียนที่เฮี้ยบสุดๆ แบบนี้ John Keating อาจารย์สอนวรรณกรรมกลับสอนด้านวิชาการแบบไม่เหมือนใคร เขาเปิดโสตให้นักเรียนในโรงเรียนนี้ได้รับรู้ว่าบางครั้งพวกเขาควรจะค้นหาคุณค่าในตนเองก่อนจะสายเกินกว่าที่พวกเขาจะแก้ปัญหาใดๆ ได้
บทเรียนสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เรามองว่าสามารถใช้ได้ทุกวัยก็คือการไม่ยึดติดกับมุมมองเดิมๆ บางครั้งมุมที่อาจจะดูงี่เง่า มันอาจจะกลายเป็นมุมที่ช่วยให้เราเข้าใจปัญหาชีวิตมากขึ้นก็ได้ อย่าไปดูถูกมุมมองนั้นก่อนที่เราจะได้ลองไปมองมันจริงๆ
“ข้ายินดีที่ได้พบคนมีฝีมืออย่างเอ็ง ดูแลสืบทอดดนตรีนี้ต่อไปให้ดีเถอะเจ้าศร”
คุณครู ขุนอินทร์ จากเรื่อง โหมโรง (The Overture)
ครูหรือศัตรู? เราพูดถึงครูนอกกรอบมาแล้วก็นึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาในหัว แม้ว่าเรื่องจะอยู่ในกรอบขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมขั้นสุดก็ตาม แต่ในช่วงไฮไลต์ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่เป็นการดวลเพลงกันระหว่าง ศร กับ ขุนอินทร์ ที่คนดูหลายคนน่าจะคิดว่าฉากนี้คือการไฟต์กันระหว่างตัวเอกกับตัวร้าย และใครสักคนควรจะพ่ายแพ้ไป
แต่เมื่อฉากนี้จบลงกลับมีการเฉลยว่า ทั้งสองไม่ได้หมางเมินต่อกัน และความเป็นคู่ต่อสู้กันนั้นเป็นเพียงมุมมองของคนนอกเท่านั้น เพราะมุมที่ทั้งคู่มองกันเองนั้น คือการเป็นครูที่แลกเปลี่ยนความรู้วิชาซึ่งกันและกัน ถือว่าเป็นบทเรียนที่อยู่นอกกรอบที่เรียกว่า อคติ ของทุกคนที่ติดตามฉากนี้ออกไป และบ่งบอกว่าการเรียนรู้นั้นไม่มีวันจบ และใครไม่ว่าจะวัยไหนก็สามารถเป็นครูได้ หากเขามีความชำนาญในด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าตัวของเรา จงเคารพในความรู้ของตัวคนมากกว่าที่จะยึดมั่นถือมั่นในศักดิ์ของตน