การปะทะกันของสองยักษ์ใหญ่, การต่อสู้ของสองคู่ปรับที่ไม่น่าเป็นไปได้, การปะทะกันของดาวยักษ์, การพบพานต้องห้าม หรือประโยคอื่นใดที่ใช้ในการบอกเล่าเรื่องราวแบบนี้ มักจะถูกยกมาใช้ในการพูดถึง หรือการโปรโมทสื่อบันเทิงที่มีการหยิบจับเอาตัวละครสองตัวที่เดิมทีแล้วไม่ได้อยู่ในจักรวาลเดียวกัน แต่มาวันหนึ่งทั้งสองตัวก็มีโอกาสมาปะทะกันแบบไม่มีใครคาดคิด
ตัวอย่างที่เป็นการต่อสู้กันของสองเฟรนไชส์ แบบภาพยนตร์ Godzilla vs. Kong ที่หยิบจับเอาสัตว์ประหลาดไซส์ยักษ์ที่มีจุดกำเนิดฝั่งญี่ปุ่นกับฝั่งอเมริกามาปะทะกัน และกำลังจะเข้าโรงภาพยนตร์จอเงินในช่วงปี ค.ศ.2021 เป็นอาทิ
ด้วยเหตุนี้เราจึงขอพูดถึงภาพยนตร์จำนวนหนึ่งที่หยิบจับเอาตัวละครที่แรกเริ่มเดิมทีแล้ว อยู่คนละค่าย คนละเฟรนไชส์โดยสิ้นเชิง ก่อนจะมาปะทะหน้ากันในจักรวาลใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะมีเหตุการณ์อะไรสักอย่างที่ทำให้สองตัวละครหลักต้องมาปะทะกันเอง แต่จะดวลกันเองแล้วค่อยร่วมมือกันไปตีคนอื่น หรือซัดกันจนได้ผลแพ้ชนะหรือไม่ อันนี้ก็แล้วแต่คนทำภาพยนตร์แต่ละเรื่องเลยล่ะ
Godzilla vs. Kong (2021)
ภาพยนตร์เรื่องที่สามในจักรวาล MonsterVerse ที่นำเอาสัตว์ประหลาดทั้งจากเฟรนไชส์ ก็อตซิลล่า กับ เฟรนไชส์ คิงคอง ให้มาอยู่ในจักรวาลเดียวกัน หรือถ้าบอกว่าภาพยนตร์สามเรื่องก่อนหน้านี้ (Godzilla ฉบับปี ค.ศ.2014, Kong: Skull Island, Godzilla: King of the Monsters) ก็เป็นการปูทางเข้าสู่การฟัดกันครั้งมหึมาในภาคนี้นั่นแหละ
ตามท้องเรื่องระบุว่า Kong ในภาคนี้จะแก่ขึ้นเล็กน้อย จะต้องปะทะกับ Godzilla ทั้งที่สัตว์ประหลาดยักษ์ที่ถูกเรียกว่า ‘ไททัน’ ทั้งสองตัวควรจะทำหน้าที่ต่อสู้กับภัยที่อันตรายต่อดวงดาวที่ชื่อว่าโลกดวงนี้ แต่ในศึกนี้ก็มีองค์กรของมนุษย์อย่าง Apex กับ Monarch คอยเดินหมากอยู่ด้วย ดังนั้นการที่ไททันสองตัวมาเผชิญหน้ากัน อาจจะมีเหตุการณ์อื่นๆ เป็นเบื้องหลังอยู่ด้วย
จากทรงภาพยนตร์อาจจะทำให้หลายคนคิดว่านี่อาจจะเป็นฉากจบของจักรวาลสัตว์ประหลาดยักษ์ แต่ถ้าดูข้อมูลโดยรอบแล้ว จักรวาลนี้น่าจะดำเนินต่อไปอีกสักพัก อย่างที่เห็นได้จากการประกาศสร้างอนิเมชั่นชุด Skull Island ที่จะเล่าเรื่องกลุ่มนักผจญภัยที่เดินทางไปเกาะกระโหลกและน่าจะได้พบเจอกับสัตว์ประหลาดตัวอื่นๆ นอกจากนั้น ทีมสร้างภาพยนตร์ Godzilla vs. Kong ยังเกริ่นๆ ไว้หลายครั้งแล้วว่า มีการวางแผนภาพยนตร์ภาคต่อไปอยู่
King Kong vs. Godzilla (1962)
เราไม่ได้ยียวนกวนบาทาด้วยการเอาชื่อสลับกันนะ แต่เพราะภาพยนตร์ที่ฉายในปี ค.ศ.1962 เรื่องนี้ มีจุดกำเนิดที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยจนเราคิดว่าควรมาบอกเล่าและชวนให้ทุกคนกลับไปรับชมกันสักหน่อย
ไอเดียการสร้างภาพยนตร์นี้มาจากวิลลิส โอ’ไบรอัน (Willis H. O’Brien) มือสต็อปโมชั่นของภาพยนตร์ King Kong อยากจะกลับมาเล่าเรื่องสัตว์ประหลาดสร้างชื่อให้เขาด้วยการร่างแนวคิดในการสร้างภพยนตร์ King Kong Meets Frankenstein
อย่างไรก็ตามจอห์น เบ็ค (John Beck) ที่เป็นโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ที่รับงานมาพัฒนาต่อได้ว่าจ้างจนมีการเขียนบทภาพยนตร์ที่ชื่อ King Kong vs Prometheus ซึ่งเป็นการเลี่ยงไปใช้ชื่อให้พ้องกับนิยายต้นฉบับที่ตัว แฟรงเคนสไตน์ ปรากฏตัว เพราะ Universal Pictures ถือสิทธิ์ชื่อ Frankenstein อยู่นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ด้วยพล็อตเรื่องที่สุ่มเสี่ยงจะโดนยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวูดมาฟ้องร้อง บริษัทสร้างภาพยนตร์ในอเมริกาจึงไม่กล้าสร้างภาพยนตร์ดังกล่าว กอปรกับทาง Toho บริษัทสร้างภาพยนตร์จากแดนอาทิตย์อุทัย กำลังจะมีอายุครบ 30 ปี และเริ่มทำภาพยนตร์ฉลองที่เอาตัวละครจากหนังเรื่องต่างๆ ของตัวเองมาปะทะกัน
บริษัทจากญี่ปุ่นทำการซื้อบทดังกล่าว และให้คุณเซคิซาวา ชินอิจิ (Sekizawa Shinichi) ปรับเอาบท แล้วยกตัวละครที่พวกเขาถือสิทธิ์อย่าง Godzilla เขาไปแทนที่ Frankenstein ทั้งยังมีการปรับเรื่องให้เบาสมองมากขึ้นแต่ในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์สังคมญี่ปุ่นในช่วงนั้นด้วย
ภาพยนตร์ได้รับความนิยมอย่างมากในบ้านเกิด และได้มีโอกาสไปฉายในอเมริกาช่วงปี ค.ศ.1963 และจอห์น เบ็คที่ได้รับสิทธิ์ในการฉายภาพยนตร์ในอเมริกาและอีกบางประเทศ แต่ในเวอร์ชั่นฉายในอเมริกาก็ได้ทำการปรับแก้ภาพยนตร์เล็กน้อย
โดยการเพิ่มตัวละครคนอเมริกาที่ขยายเรื่องราวให้คนดูในหลายประเทศเข้าใจมากขึ้น, มีการเพิ่มฟุตเทจแผ่นดินไหวที่ดูสมจริงกว่าฉบับญี่ปุ่น และในตอนท้าย มีแค่เสียงของคิงคองที่ตะโกนออกมา ต่างจากเวอร์ชั่นญี่ปุ่นที่มีเสียงก็อตซิลล่าด้วย อย่างไรก็ตาม ผลการต่อสู้ของทั้งสองเวอร์ชั่นนั้นไม่แตกต่างกันตามที่เกิดความเข้าใจผิดกันไปในช่วงหนึ่ง
Alien vs. Predator (2004)
สำหรับเรื่องนี้ หลายคนอาจจะจำกันได้ดีเพราะเคยถูกสร้างเป็นภาพยนตร์มาแล้วถึงสองภาค แต่ความจริง Alien vs. Predator เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 นับตั้งแต่ทางบริษัท 20th Century Fox ที่ในช่วงนั้นมีภาพยนตร์แนวสิ่งมีชีวิตต่างดาวสุดดังอยู่ในมือถึงสองเรื่อง เลยเปิดไฟเขียวให้มีการเขียนการ์ตูนที่เอา Alien กับ Predartor มาปะทะกัน
แล้วทีมงานของภาพยนตร์ Predator 2 ก็นำเอากะโหลกของ Xenomorph จากภายพนตร์ Alien ไปประกอบไว้ในช่วงท้ายของเรื่องทิ้งเชื้อให้มีการสร้างภาพยนตร์ภาคต่อไปในอนาคต
หลังจากนั้น Alien vs. Predator ก็ถูกพัฒนากลายเป็นเกม ทั้งในแบบบอร์ดเกม และวิดีโอเกมหลายเวอร์ชั่น ตัวเกมบางเวอร์ชั่นก็อ้างอิงเรื่องราวจากภาพยนตร์ Predator ภาคแรก แต่บางเกมก็อิงเรื่องราวจากภาพยนตร์ Alien เป็นหลัก
กว่าที่การต่อสู้ระหว่างสองสิ่งมีชีวิตต่างดาว (และมีมนุษย์อยู่แถวนั้นด้วย) ก็ปาเข้าไปในช่วงปี ค.ศ.2004 กับ ภาพยนตร์ Alien vs. Predator ซึ่งได้รับความสำเร็จพอสมควร และตามมาด้วยภาพยนตร์ Aliens vs. Predator: Requiem ในปี ค.ศ.2007
หลังจากภาพยนตร์เรื่องที่สองออกฉายและได้รับความสำเร็จน้อยกว่าภาคแรก ทำให้หลายคนคิดว่า แผนการจับเอาเอเลี่ยนมาตีกับพรีเดเตอร์ในภาพยนตร์น่าจะจบลงแล้ว แต่ความจริงแล้วทาง 20th Century Fox มีแผนจะให้ทั้งสิ่งมีชีวิตต่างดาวทั้งสองกลับมาพบกันอีก เพื่อเชื่อมให้ภาพยนตร์ทั้งหมดกลายเป็นจักรวาลเดียวกัน
เห็นได้จากการที่ผู้เขียนบทภาพยนตร์ Predators ฉบับปี ค.ศ.2010 ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ตัวเขาเคยวางแผนให้มีทาง Colonial Marine จากหนัง Alien ไปปรากฎตัว หรือใน The Predator ฉบับปี ค.ศ.2018 ได้มีข่าวหลุดออกมาว่าบทร่างของภาพยนตร์ร่างหนึ่งได้เขียนให้ช่วงท้ายเรื่องมีตัวละคร Ripley กับ Newt จากภาพยนตร์ Aliens มาปรากฏตัว
แต่หลังจากที่ Disney เข้าซื้อกิจการของ 20th Century Fox และเปลี่ยนชื่อเป็น 20th Century Studios ก็น่าจะทำให้แผนการดังกล่าวน่าจะถูกเลื่อนไปอีกสักพัก
Freddy vs. Jason (2003)
ย้อนกลับไปช่วงยุค ค.ศ.1980 มีภาพยนตร์อยู่สยองขวัญอยู่สองเฟรนไชส์ที่สร้างความหวาดกลัวให้กับคนดูมาอย่างมากมายพอกัน จนถึงจุดที่คนดูเคยคิดว่าว เป็นไปได้ไหมที่สองสิ่งนั้นจะมารวมตัวกันอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวได้
เจสันกับเฟรดดี้มีแผนการพัฒนาภาพยนตร์ขึ้นมาในปี ค.ศ.1987 แต่เมื่อตัวละครทั้งสองตัวยังอยู่ในสภาวะที่มีชื่อเสียงกันสุดๆ ผสมรวมกับการที่ผู้ถือลิขสิทธิ์ตัวละครทั้งสองตัวเป็นคนละเจ้ากัน เลยทำให้ความฝันของคนดูหนังในยุคนั้นยังไม่เป็นความจริงขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ก็มีการเปลี่ยนมือผู้ถือสิทธิ์ รวมไปถึงว่า ภาพยนตร์ชุด A Nightmare on Elm Street กับ Friday the 13th ก็เสื่อมความนิยมลง ดังนั้นการหยิบจับเอาแผนงานที่ให้ทั้งสองตัวละครมาจับมือกันสร้างความสยองจึงดูเป็นคำตอบที่เข้าท่ากว่า และนั่นกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้าง Freddy vs. Jason
แต่ในภาวะที่ทั้งสองตัวละครกลายเป็นผลงานที่ไม่ได้สร้างกำไรเหมือนยุครุ่งเรือง ทำให้ค่ายหนังให้ทุนน้อยลง ปรับแก้เรื่องให้ดูรุนแรงน้อยกว่า แถมยังมีการเปลี่ยนนักแสดงเจสัน ทำให้ทรงเรื่องดูมีปัญหาตั้งแต่ก่อนหนังจะเข้าฉาย
แต่ทีมผู้สร้างที่อยากจะพัฒนาหนังเรื่องนี้มานาน ก็ขมวดบทจนกลายเป็นภาพยนตร์ที่ออกฉายในปี ค.ศ.2003 ที่ทำรายได้ไปค่อนข้างดี สวนทางกับความเห็นนักวิจารณ์ที่รู้สึกว่าตัวหนังไม่ได้มีอะไรใหม่ ส่วนแฟนหนังของแต่ละตัวละครก็มองว่าตัวละครอีกฝั่งมีบทมากกว่า
หลังจากนั้น เจสันกับเฟรดดี้ก็มีภาพยนตร์ฉบับรีบูทเข้ามาฉายในโรงภาพยนตร์อีกครั้ง ที่ทำรายได้ไปไม่แย่มากนักแต่ด้วยเหตุผลหลายประการ ทั้งการที่ผู้สร้างดั้งเดิมเสียชีวิต กับความเปลี่ยนแปลงของโลกและคนดูหนังในปัจจุบัน น่าจะทำให้ทั้งตัวละครทั้งสองตัวห่างหายจากโลกเซลลูลอย์ดไปอีกระยะใหญ่
Sadako vs. Kayako (2016)
มีคนกล่าวกันว่า สำหรับประเทศญี่ปุ่นแล้ว ตัวมุกตลกที่สินค้าหลายๆ แบรนด์เล่นกันในช่วงวันที่ 1 เมษายน หรือ วันโกหกเดือนเมษาของแต่ละปีนั้น ถือว่าเป็นการทดลองตลาดก่อน และถ้ามุกนั้นเป็นที่นิยม ก็จะมีการพัฒนาสินค้าให้เกิดขึ้นจริงเป็นการต่อไปในภายภาคหน้า และภาพยนตร์ Sadako vs. Kayako ก็เหมือนจะมาจากผลผลิตอะไรในลักษณะนั้น
กระนั้น เมื่อย้อนตามรายละเอียดข่าวจะพบว่า แผนการจับเอาโคตรผีดุทั้งสองตนให้มาอยู่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกันนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ราวปี ค.ศ.2013 โดยทางโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ Ju-on ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับทางสำนักพิมพ์ต้นสังกัดของนิยาย Ring ที่อยากจะมีการสร้างภาพยนตร์ที่เอาตัวละครเด่นจากทั้งสองเรื่องมาเจอกันในเรื่องเดียว แต่ ณ เวลานั้นยังไม่มีใครกล้ามารับเก้าอี้ผู้กำกับแบบเต็มตัว เลยมีการสร้างคอนเทนต์ท์ไปเป็นมุกในวันโกหกเดือนเมษายนนำทางไปก่อนแทน
และผลจากการยิงมุกดังกล่าว ทำให้โคจิ ชิราอิชิ (Kōji Shiraishi) ผู้กำกับและผู้เขียนบทภาพยนตร์ที่ทำภาพยนตร์แนวสยองขวัญมาแล้วหลายเรื่อง และเขายังทำการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วยตัวเอง ด้วยการให้ตัวละครใหม่ในภาพยนตร์ ได้รับชมวิดีโอเทปต้องสาปของซาดาโกะเข้า และเพื่อหาทางล้างคำสาปดังกล่าว ตัวละครตัวนั้นกลับได้รับคำแนะนำว่า งั้นเอาคำสาปไปเปิดในบ้านที่โคตรผีดุนั่นสิ เผื่อว่าความเฮี้ยนจะตีกันเองจนคำสาปมันหายไป
ด้วยพล็อตที่ดูหลุดกรอบจาก Ju-on และ Ring ที่เป็นผลงานต้นฉบับ ตัวภาพยนตร์เลยได้รับกระแสความนิยมแบบก้ำๆ กึ่งๆ แม้ว่าจะมีแฟนหนังสยองขวัญส่วนหนึ่งมองว่า ถ้ามองให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่แซะหนังต้นฉบับทั้งสองเรื่องก็ถือว่า เป็นหนังที่ฮาเอาเรื่องอยู่ทีเดียว
จุดที่คนจดจำได้เยอะกว่าจากภาพยนตร์เรื่องนี้ อยู่ที่การโปรโมตภาพยนตร์เสียมากกว่า เพราะทั้งผีคายาโกะและผีซาดาโกะ ได้ไปอาละวาดในหลายๆ พื้นที่ ตั้งแต่การทำคลิปสอนมารยาทในโรงภาพยนตร์, การออกสินค้าร่วมกับ Hello Kitty หรือการไปวัดฝีมือกันในสนามเบสบอลจะบอกว่าการโฆษณาสนุกกว่าหนังจริงก็ไม่ผิด
ด้วยฟอร์มหนังที่ไม่ได้โดดเด่น กับกระแสความนิยมภาพยนตร์ทั้งสองเฟรนไชส์ที่ดูลดลงแบบแปรผันตรงกับกาลเวลา ก็ถือว่าเป็นโชคดีที่เราอาจจะไม่ได้เห็นการปะทะกันของผีทั้งสองตัวอีกต่อไปแล้ว
Ultraman vs. Kamen Rider (1993)
อย่าเพิ่งตกอกตกใจไปครับ คุณไม่ได้พลาดการรับชมภาพยนตร์ที่เอาสองฮีโร่ดังจากญี่ปุ่นมาตีกันไปแต่อย่างใด ถึงชื่อตัวภาพยนตร์เรื่องนี้จะชวนให้คิดแบบนั้น แต่จริงๆ แล้ว นี่คือสารคดีที่จับเอาผู้สร้างของฝั่ง มาสค์ไรเดอร์ กับ อุลตร้าแมน มาพูดคุย และมาเปรียบมวยกันถึงผลงานของแต่ละฝั่งฝ่าย
อย่างเช่นการเทียบเคียงระหว่าง ‘ลำแสงสเปเซียม’ กับ ‘ไรเดอร์คิ๊ก’ ที่เป็นท่าไม้ตายของแต่ละฝั่งมีความโดดเด่นอย่างไร, ‘ไคจู’ (Kaiju) หรือ สัตว์ประหลาดต่างดาว กับ ‘ไคจิน’ (Kaijin) หรือ สัตว์ประหลาดดัดแปลง มีที่มาที่ไปอย่างไรกันบ้าง
นอกจากการสัมภาษณ์ทีมงาน, นักแสดง และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามวิสัยของสารคดีแล้ว ในเมื่อมีคำว่า vs. อยู่ในชื่อเรื่องทั้งที เลยมีการถ่ายทำภาพยนตร์สั้นพิเศษชื่อ Super Battle Ultraman vs. Kamen Rider ที่ในตอนต้นเรื่องมี อุลตร้าแมนปล่อยลำแสงเข้าใส่ มาสค์ไรเดอร์หมายเลข 1 ที่กำลังกระโดดเตะ ก่อนที่เรื่องราวจะตัดเข้าเรื่องว่า มีไคจินกับไคจูบุกเข้าทำร้ายผู้คน ทั้งอุลตร้าแมน และ มาสค์ไรเดอร์หมายเลข 1 ต่างออกไปต่อสู้กับสัตว์ประหลาด แต่แล้วสัตว์ประหลาดทั้งสองตัวก็รวมกันเป็นสัตว์ประหลาดตัวยักษ์ อุลตร้าแมน จึงหันหน้าขอความช่วยเหลือ และ มาสค์ไรเดอร์หมายเลข 1 จึงกระโจนออกจากรถแล้วแปลงร่างยักษ์เพื่อร่วมมือกันพิชิตศัตรูร้าย
นอกจากหนังสั้นข้างต้นแล้ว ก็มีซีนพิเศษในช่วงท้ายที่อุลตร้าแมนจะทำการขี่มอเตอร์ไซค์นิวไซโคลนขนาดยักษ์ที่ติดสัญลักษณ์ของหน่วยวิทยะ ก่อนจะมีภาพของ มาสค์ไรเดอร์หมายเลข 1 ที่ทำท่าปล่อยลำแสงสเปเซียมแทน ถึงจะเป็นแค่สารคดีกับภาพยนตร์สั้นสนอง ก็จัดใหญ่สนองความต้องการของแฟนๆ ทั้งสองซีรีส์ได้ไม่น้อยทีเดียว
Universal Classic Monsters
เรื่องราวของ Dracula, Frankenstein และมอนสเตอร์อื่นๆ ปะทะกันมาแล้วหลายรอบตั้งแต่อดีต และอาจจะตีกันต่อในอนาคต
ไอเดียการหยิบเอาตัวละครจากเฟรนไชส์ที่แตกต่างกันนั้น ไม่ได้เพิ่งมาถือกำเนิดในช่วงปี ค.ศ.1990-2000 แต่อย่างใด เพราะถ้าหากย้อนไปในช่วงยุค ค.ศ.1930-1940 ทาง Universal Pictures ที่ได้ซื้อสิทธิ์ในการสร้างภาพยนตร์จากนิยาย Dracula และ The Modern Prometheus ก็ได้ทำการสร้างจักรวาลสัตว์ประหลากของตัวเองมาตั้งแต่ ณ ช่วงเวลานั้น ก่อนที่จะมีการตั้งชื่อเรียกในภายหลังว่ากลุ่มหนังสัตว์ประหลาดนี้เป็น Universal Classic Monsters
Universal Classic Monsters มีตัวละครหลายตัว ทั้ง Dracula, Frankenstein แล้วก็ยังมี The Mummy, The Invisible Man หรือมนุษย์ล่องหน, The Wolf Man หรือมนุษย์หมาป่า, มนุษย์เงือกจากภาพยนตร์ The Creature from the Black Lagoon รวมไปถึง The Phantom of the Opera ก็ถูกจัดหมวดหมู่ไว้กับตัวละครกลุ่มนี้
ถึงแม้ว่านิยายจะไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อเจ้าของเงินทุนสร้างหนังเป็นบริษัทเดียวกัน เลยมีการสร้างหนังรวมสัตว์ประหลาดมาตั้งแต่กาลก่อน อาทิ ภาพยนตร์ House Of Frankenstein ในปี ค.ศ.1944 ที่ตีความให้นักวิทยาศาสตร์คลั่งคนหนึ่งหนีออกจากคุกพร้อมผู้ช่วยหลังค่อม แล้วไปเจอแดรคคิวล่า ก่อนจะพบร่างแฟรงเคนสไตน์กับมนุษย์หมาป่าถูกแช่แข็ง จนกลายเป็นความวุ่นวายขึ้น
ตามมาด้วยภาพยนตร์ House Of Dracula ในปี ค.ศ.1945 ที่แดรคิวล่าเป็นตัวละครหลัก แล้วมีมนุษย์หมาป่า, แฟรงเคนสไตน์ กับตัวละครต่างๆ ที่เข้ามาพัวผันจนกลายเกิดเหตุวิกฤตไปทั่วทั้งเมือง และมีภาพยนตร์เรื่องอื่นๆ อีกมาก ไม่ว่าจะแนวสยองขวัญหรือแนวตลกโปกฮาที่หยิบจับเอามอนสเตอร์เหล่านี้ไปใช้งาน
ทาง Universal Pictures ยังมีความคิดที่จะเอาสัตว์ประหลาดรุ่นคลาสสิกเหล่านี้กลับมาโลดแล่นใหม่อีกครั้งบนจอภาพยนตร์ด้วยการสร้าง Dark Universe โดยเพิ่มเติมเอาตัวละคร Dr. Henry Jekyll กับ Mr. Edward Hyde, Van Hellsing และตัวละครอื่นๆ อีกหลายตัวเพิ่มเข้ามาด้วย แต่ทว่าภาพยนตร์ The Mummy ฉบับปี ค.ศ.2017 กลับล่มไม่เป็นท่า ทาง Universal จึงชะลอแผนการขยายจักรวาลนี้ออกไป
จึงเชื่อมั่นได้ว่าสัตว์ประหลาดจากวรรรณกรรมคลาสสิกกลุ่มนี้ น่าจะมาปะ-ฉะ-ดะกันบนจอภาพยนตร์ให้พวกเราเหล่าคนดูติดตามกันไปอีกยาวๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube Channel: Wikizilla
YouTube Channel: Matt McMuscles