เคยมั้ย เวลาไปแถวสยาม จตุจักร หรือข้าวสาร พอฝรั่งมาถามทางหรือคุยด้วยแต่ละทีนี่เหงื่อออกมือ ได้แต่ยิ้มแห้งๆ และส่งภาษามือให้ ในใจนี่ก็ภาวนา ขออานิสงส์ที่ดูรายการอิงลิชออนทัวร์ โดย นีน่า-กุลนัดดา ปัจฉิมสวัสดิ์ ทุกตอน ส่งผลให้การสื่อสารครั้งนี้สำเร็จทุกประการเทอญ สาธุ
อย่างที่อาจารย์แม่เคยว่าเอาไว้ “โลกก้าวไกล ลูกต้องก้าวให้ทัน” แต่ถ้าก้าวมาแล้วหลายปีดีดัก ก้าวมาตั้งแต่ประถมจนจบมหา’ลัย เข้าอายุ 20 ปลายแล้วก็ยังก้าวไม่ทัน พูดภาษาอังกฤษได้แค่ snake snake fish fish ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ ให้ chin up 45 องศา ตวัดปลายผม 15 เซนติเมตร ฝึกพูดต่อไป แล้วสไลด์มือถือดู 7 วิธีพัฒนาการสปีคอิงลิชจากคนภาษาอังกฤษดีที่เราไปถามมาให้
เอ้า จริตฝรั่งมา Are you ready? Here we go!
1. ภัทรภร ตระการไทย
อาชีพ : อาจารย์พิเศษภาษาอังกฤษ
“มีวิธีฝึกการพูดทั้งจากการดูหนังและฟังเพลง การดูหนังจะฝึกให้เราเลียนแบบโทนเสียงการแสดงอารมณ์ในสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้มีจริตจะก้านคล้ายฝรั่ง เช่น จากเรื่อง Mean Girls มีประโยคที่น่าจดจำคือ “You can’t sit with us!” เราก็จะได้รู้ว่า “ยูแค้นซิทวิธธัส!” ต้องใส่โทนเสียงสูงต่ำอย่างไรเพื่อสื่ออารมณ์ว่าอีกฝ่ายไม่มีสิทธิ์มานั่งร่วมโต๊ะด้วย
แต่ที่ชอบที่สุดคือฝึกจากเพลง เพราะเพลงหนึ่งๆ นั้นสั้น (แค่ 3-5 นาที) สามารถเปิดฟังได้บ่อย รถติดก็ฟัง เดินทางไกลก็ฟัง เราจะได้เรียนรู้คำศัพท์ การออกเสียง การพูดประโยคอย่างง่ายๆ ที่สำคัญคือได้เรียนรู้แกรมมาร์อย่างไม่รู้ตัว เช่น Can’t help falling in love สำนวน can’t help จะตามด้วย gerund (verb + ing)
การฟังเพลงนั้นมีคุณประโยชน์อย่างมหาศาล ที่ทุกวันนี้พูดภาษาอังกฤษได้ต้องขอยกคุณงามความดีให้กับเพลงเลยค่ะ
นอกจากนี้ก็ยังชอบดูสัมภาษณ์ดาราผ่านรายการใน Youtube เช่น รายการของ Ellen Degeneres ซึ่งสนุกสนานเฮฮาและได้อัพเดทชีวิตดาราด้วยค่ะ”
2. ศิลป์ศุภา โยคะกุล
อาชีพ : Retail assistant for fashion and skincare brand
“จริงๆ ต้องขอบคุณแม่ เพราะแม่ให้ดูหนังหรือพวกการ์ตูนดิสนีย์ภาษาอังกฤษตั้งแต่เด็กๆ เป็นเสียง original ไม่มีพากย์ไทย ตอนแรกมันก็ยากที่จะเข้าใจนะ แต่พอฟังบ่อยๆ ก็เริ่มชินหู จนโตขึ้นมาอ่านซับไตเติ้ลออกมันก็ง่ายขึ้น ทีนี้พอฟังรู้เรื่องบางทีก็ปิดซับไตเติ้ลไปเลย หรือถ้าเรื่องไหนยากหน่อยก็เปิดซับเป็นภาษาอังกฤษเอา เดี๋ยวนี้ดู Netflix ก็ดูแต่ซับอังกฤษ แล้วด้วยความที่อยู่ออสเตรเลีย เวลาไปดูหนังในโรงมันไม่มีซับไตเติ้ลเลย เราก็ต้องตั้งใจฟังมากขึ้น พอดูไปบ่อยๆ จะเริ่มชินแล้วก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งซับอีกต่อไป
อีกอย่างคือฟังเพลงสากลมาตั้งแต่เด็ก บริทนีย์ สเปียร์ส, คริสติน่า อากีเลร่า อะไรพวกนี้ โตมาเลยคุ้นสำเนียง เลียนสำเนียงได้ง่าย ที่สำคัญมันอยู่ที่การฝึกฟังและพูดตาม ต้องทำบ่อยๆ หาเพื่อนมาฝึกด้วยกันก็จะยิ่งสนุก”
3. ครรชิต รองไชย (Ph.D., MA., MEng., BA. Cambridge)
อาชีพ : อาจารย์มหาวิทยาลัยเทคนิคไทย-เยอรมัน ขอนแก่น
“วิธีส่วนตัวของผมคือ ให้ภาษาอังกฤษมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปเลย ดูทีวีภาษาอังกฤษ ฟังเพลงภาษาอังกฤษ คิดเป็นภาษาอังกฤษ อ่านหนังสือภาษาอังกฤษ ผมตกลงกับพี่สาวและเพื่อนบางคนว่าคุยกันเป็นภาษาอังกฤษครับ ส่งไลน์ อีเมลเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งคอมพิวเตอร์ โปรแกรมต่างๆ เฟซบุ๊กเป็นอังกฤษให้หมด หาเพื่อนหาแฟนต่างชาติ ทำยังไงก็ได้ให้เราหลับแล้วฝันเป็นถาษาอังกฤษให้ได้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้นครับ เราต้องยอมแลกด้วยหยาดเหยื่อแรงกาย
หลายคนคิดว่าถ้าได้ไปอยู่เมืองนอกแล้วใช้อังกฤษเก่งเอง ผมว่าไม่จริงเลย เราต้องฝึกฝนอีกเยอะครับ แล้วถ้าเราอยู่เมืองไทยยิ่งต้องฝึกฝนหลายเท่าตัว ส่วนเรื่องแกรมมาร์ อย่าไปเสียเวลานั่งท่องจำมัน ดูบ้างเวลาสงสัยเท่านั้น เทคนิคการพูดออกเสียงให้ดีผมมีเทคนิคอีกเยอะที่คงต้องอธิบายอีกยาว เอาย่อๆ นะ หัดพูดเสียงต่ำๆ ในลำคอนิดๆ คนที่พูดอีสานได้จะได้เปรียบเพราะโทนเสียงภาษาอังกฤษกับภาษาอีสานมีส่วนที่คล้ายกัน เวลาพูดอังกฤษใช้สำเนียงอีสานจะช่วยได้”
4. กันต์กนิษฐ์ มิตรภักดี
อาชีพ : กองบรรณาธิการ
“ถ้าสกิลอ่านเขียน เราตกลงกับตัวเองว่าจะอ่านแต่หนังสือหรือบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษเท่านั้น มันจะได้ทั้งคำศัพท์และโครงสร้างประโยค ส่วนสกิลฟังพูดก็เทคนิคคล้ายกัน คือดูแต่หนังซาวด์แทร็ก ฟังเพลงภาษาอังกฤษ จริงๆ การดู youtube ก็ช่วยได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นคลิปสอนภาษาอังกฤษหรอก คลิป prank ตลกๆ ก็เวิร์ก สำหรับเราพอฟังรู้เรื่องมันจะพูดได้เอง
เวลาพูดก็อย่างที่หลายคนน่าจะบอกแล้วเนาะ คืออย่าอาย พูดไปเลย ผิดแกรมมาร์ก็ช่างมัน สำเนียงไทยๆ ก็ไม่เห็นเป็นไร แต่อาจต้องฝึกฟังว่าฝรั่งเค้า stress เสียงยังไงแล้วทำตาม เพราะถ้า stress เสียงบางคำผิดอาจทำให้ไม่เข้าใจได้”
5. บุญสิตา ภุมรินทร์
อาชีพ : นิสิต
“เริ่มจากการสื่อสารก่อนการศึกษาทฤษฎี ฟังเพลงภาษาอังกฤษ จะได้เรียนรู้โครงสร้างกับสำนวนอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่กลัวและไม่อายที่จะพูดผิด ไม่เข้าใจก็ถาม ยิ่งยุคนี้ซึมซับการใช้จริงจาก native speaker ได้ง่ายๆ เช่น หารายการหรือ series ที่ชอบดู เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมของเขา มากกว่าที่คิดว่าจำเป็นต้องศึกษา”
6. ณวรา หิรัญกาญจน์
อาชีพ : Foreign Rights Agent
“ของเราฝึกจากการอ่านนิยาย อ่านเรื่องสั้นภาษาอังกฤษ ตั้งมิชชั่นว่าต้องอ่านนิยายภาษาอังกฤษอย่างน้อยเดือนละ 1-2 เล่ม บางทีเวลาอ่านก็จะอ่านออกเสียงด้วย เหมือนให้คำพวกนั้นมันเข้าหู เข้าหัว ถึงเวลาใช้จริงมันก็จะคุ้นๆ
นอกจากนั้นก็ follow พวกบล็อกเกอร์ค่า บล็อกเกอร์จะมีภาษาง่ายๆ อ่านสบาย เป็นวิธีลัดที่ได้จำประโยคภาษาอังกฤษแบบไม่ formal ได้ดี ภาษาแบบนี้เวิร์คมากเวลาเอาไปใช้พูด หรือติดต่องานแบบไม่ทางการ แถมบางทียังได้แพทเทิร์นประโยคแบบน่ารักๆ มาใช้ด้วย”
7. ขวัญแก้ว รอดรัตน์
อาชีพ : ครูสอนภาษาอังกฤษ
“ตอนนี้ก็ฝึกจากยูทูบเบอร์ ซึ่งมีเยอะมากกกก มีทั้งแบบสอนภาษากันตรงๆ แบบวาไรตี้โชว์สนุกสนานบ้าบอ หรือแบบไม่มีคอนเทนต์อะไรเลย แค่มาเล่าเรื่องชีวิตตัวเองให้ฟังเฉยๆ ซึ่งเราว่ามันดีตรงที่มันเป็นภาษาที่คนพูดจริงๆ ไม่ใช่ภาษาวรรณกรรมเหมือนที่อาจจะเจอในเพลงหรือภาพยนตร์ แถมโต้ตอบผ่านทางคอมเมนต์ได้ด้วย สนุกดีออก
เลือกยูทูบเบอร์หล่อๆ จะทำให้มีกำลังใจในการเรียนมากขึ้นด้วยนะ”