เมืองเป็นทั้งที่อยู่ ที่ทำงาน หรืออาจจะเป็นบ้านเกิด และอาจเป็นสถานที่สุดท้ายของใครหลายคน เมืองใหญ่มักจะดึงดูดคนจำนวนมากให้มารวมตัวกัน เมื่อมีคน แต่ละเมืองก็มีเรื่องเล่าของผู้คนที่อยู่อาศัยในเมืองนั้นๆ
เมืองคือสถานที่ที่สร้างอัตลักษณ์ให้กับคนจำนวนมาก หนังหลายเรื่องจึงบอกเล่าเรื่องราวของเมืองใหญ่ไปพร้อมๆ กับชะตากรรมของตัวละคร The MATTER มาแนะนำหนังที่เล่าเรื่องของ ‘เมืองใหญ่’ ได้อย่างโดดเด่น เริ่มตั้งแต่กรุงเทพฯ กับเรื่อง ‘หมานคร’ หรือเมืองเซอร์เรียลๆ ในฝรั่งเศสกับซีรีส์หนัง ‘City of Love’ ไปจนเรื่องคนแปลกถิ่นในโตเกียวกับ ‘Lost In Translation’
หมานคร
กรุงเทพฯ, ประเทศไทย กับ ‘ความเหนือจริงของเมือง’
หนังชื่อแปลกๆ เรื่องนี้เป็นการดัดแปลงเรื่องสั้นของ คอยนุช หรือ ศิริพรรณ เตชจินดาวงศ์ ที่ออกตัวอย่างชัดเจนตั้งแต่ประโยคโปรโมตของหนังว่า “ภาพยนตร์รัก งดงาม ประหลาดโลก” เรื่องราวของหนังเล่าถึงพระเอกที่เดินทางมาจากต่างจังหวัดเพื่อทำงานในเมืองกรุง พร้อมกับคำเตือนของยายว่า มาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วจะมีหางงอกออกมาจากก้น ก่อนที่เขาจะวนเวียนทำงานในเมืองและเสียนิ้วตัวเองไปในโรงงานอาหารกระป๋องครั้งหนึ่ง พบรักกับสาวอีกคนที่ยึดติดกับหนังสือปกขาว และต้องเจอกับเรื่องราวประหลาดอย่าง ยายที่กลายเป็นจิ้งจก คนขับรถที่รีบไปหาพ่อ ฝนที่ตกลงมาเป็นหมวกกันน็อค ฯลฯ
เมืองคือความเหนือจริง น่าจะเป็นคำนิยามของหนังที่มีให้ต่อเมืองกรุง เพราะสำหรับคนที่ไม่ได้เกิดและโตในเมืองนั้นพวกเขาจะรู้สึกว่า ‘เมือง’ มีทุกอย่างรออยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาอาจจะไม่ได้มีโอกาสพบเจอเลยถ้าใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายในบ้านนอก อย่างที่ตัวหนังนำเสนอว่า เมื่อครั้งพระเอกกลับไปบ้านเกิดนั้นเขาพบว่าทุกอย่างที่ตัวเองคุ้นเคยและรู้จักกลับช้าไปหมด และตัวเขาเองกลายเป็นคนที่อยู่เหนือความจริงกับผู้คนในบ้าน และสุดท้ายเมื่อตัวเอกตัดสินใจอยู่ในเมืองกับคนรัก เขาเองก็กลายเป็นตัวประหลาดที่มีหางงอกจากก้น ซึ่งเราเข้าใจว่านั่นคือสัญลักษณ์ของคนเมืองกรุงที่อยู่กับความเหนือจริงจนยากที่เดินทางออกไปเพื่ออาศัยในดินแดนที่ช้ากว่า ทั้งที่ตั้งอยู่บนโลกความจริงแห่งเดียวกันแท้ๆ
City of God
รีโอเดจาเนโร, ประเทศบราซิล กับ ‘ด้านมืดของเมือง’
รีโอเดจาเนโร เมืองหลวงของประเทศบรซิลที่แสงแดดเจิดจริสพร้อมส่องลงมาสาดกระทบผิวน้ำทะเลให้ส่องประกาย ที่นั่นดูเหมือนจะเต็มไปด้วยโอกาส และมีสถานที่ท่องเที่ยวโดดเด่นอย่าง กริชตูเรเดงโตร์ หรือรูปปั้น Christ The Redeemer ที่ตั้งตระหง่านราวกับจะปกป้องชาวเมืองทุกคน แต่อีกฟากของเมืองแห่งนี้มีสลัมขนาดใหญ่อย่าง ซิดาดี เดอ เดอุส (Cidade De Deus – City of God เมืองแห่งพระเจ้า) ตั้งอยู่ เขตที่มีอาชญากรรมหลายหลากเกิดขึ้นอยู่ทุกอณูของพื้นที่แห่งนี้ และการมีอยู่ของสลัมขนาดยักษ์เป็นเหมือนการส่งสัญญาณบอกทุกคนบนโลกว่า ไม่ว่าเมืองจะสดใสขนาดไหนก็มักมีเงามืดอย่างที่ใครคาดไม่ถึงตั้งอยู่เช่นกัน
หนังเรื่อง City of God ตั้งใจหยิบจับเอาเรื่องในเงามืดนั้นมาให้คนที่มองข้ามมันไปได้เห็น ตัวหนังใช้โครงเรื่องของนิยายชื่อเดียวกันกับหนังมาดัดแปลง ตัวหนังตั้งใจเล่าเรื่องราวของผู้คนที่เกิดและเติบโตในด้านมืดของเมือง ที่หลายคนอาจจะไม่ได้อยากที่จะใช้ชีวิตอาชญากรแต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องใช้ชีวิตเยี่ยงโจร เพราะนั่นคือหนทางปกติในสลัมขนาดยักษ์นี้ แม้ว่าหนังจะทำให้เราเห็นอยู่ว่ามีหลายคนที่อาจจะพอหลุดรอดจากวงจรด้านมืดไปได้บ้าง แต่หนังก็พยายามเล่าว่าสำหรับหลายคน หลายครอบครัว พวกเขาอาจจะติดอยู่ในวังวนไปอีกนาน
แต่เรามองในแง่ดีเช่นเดียวกับทีมผู้สร้างหนังว่า พวกเขาอยากสร้างหนังเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ตระหนกถึงด้านมืดของเมืองและพยายามช่วยคนที่ติดอยู่ในวงจรนั้นให้ไปสู่จุดที่กว่าเดิมได้
Paris, Je T’aime (City of Love)
ปารีส, ประเทศฝรั่งเศส กับ ‘ความรักที่เมืองพร้อมมอบให้’
City of Love ภาพยนตร์ชุดที่เดินทางไปหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก และใช้เมืองเหล่านั้นเป็นตัวละครหลัก เชื่อมโยงเรื่องราวความรักรูปแบบต่างๆ ผ่านหนังสั้นที่มีทีมผู้กำกับและนักแสดงแบบนานาชาติมาบอกเล่าเรื่องราว แต่จะเน้นให้กลุ่มคนทำหนังที่เป็นเจ้าถิ่นมาพูดถึงเมืองของพวกเขาเองเยอะสักหน่อย
ภาพยนตร์ชุด Cities of Love เริ่มต้นโครงการด้วย Paris, Je T’aime เป็นเรื่องแรกที่ตั้งใจให้ผู้กำกับ 22 คน ไปกระจายตัวกันทำหนังบอกเล่าสัมพันธ์รักหลากรูปแบบใน 20 เขตของกรุงปารีส โดยจะมีฉากเชื่อมโยงระหว่างการเล่าเรื่องอีกทีหนึ่ง (แต่ตอนฉายจริงได้ฉายแค่ 18 เขต เนื่องจาก 2 เขตมีเนื้อเรื่องที่โดดเกินไป) ไม่ว่าจะเป็นการพบพานกับความรักครั้งใหม่ การพักใจจากรักที่สูญสลาย การฟื้นฟูรักที่เฉยชา หลายเรื่องเล่าแบบสมจริง แต่บางเรื่องก็เลือกที่จะเล่าแบบเซอร์เรียลตามความถนัดของคำทำหนังอยู่เช่นกัน หรือถ้าจะมองว่าเพราะชีวิตในเมืองมีความเหนือจริงอยู่แล้วก็อาจจะไม่ผิดนัก
ปัจจุบันหนังในชุด Cities of Love มีการทำออกมาแล้วดังนี้ Paris, Je T’aime ที่กล่าวถึงไปแล้ว, New York, I Love You ที่ใช้กรุงนิวยอร์กของอเมริกาในการเล่าเรื่อง Tbilisi, I Love You ที่ใช้กรุงทบิลีซี เมืองหลวงของประเทศจอร์เจียเป็นฉากหลัง Rio, Eu Te Amo ที่ใช้กรุงรีโอเดจาเนโรเมืองหลวงของประเทศบราซิลเล่าเรื่อง และในปี 2018 กำลังจะมีหนัง Berlin, I Love You เข้าฉายอยู่ รวมไปถึงว่ายังมีแผนการสร้างหนังชุดนี้ที่เมืองใหญ่อื่นๆ อีกมาก เพราะสิ่งหนึ่งที่ทุกเมืองใหญ่มอบให้ผู้คนได้ก็คือ ‘ความรัก’
Always: Sunset on Third Street
โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น กับ ‘การขยายตัวของเมือง’
เมื่อประชาชนมากขึ้นการขยายตัวของเมืองก็ต้องตามมาอย่างช่วยไม่ได้ ในหนังเรื่องนี้ได้บอกเล่าเรื่องการพัฒนากรุงโตเกียว หรือถ้าระบุให้ชัดเจนก็คือการพัฒนาหอคอยโตเกียวนับตั้งแต่ที่หอนี้เริ่มก่อสร้าง จนกระทั่งหอคอยดังกล่าวไม่ได้ทำหน้าที่แค่ส่งสัญญาณวิทยุหรือโทรทัศน์ให้หลายพื้นที่ของประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่มันยังกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และถ้าบอกว่าเป็นสัญลักษณ์ใหม่ของชาวญี่ปุ่นในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ไม่ผิดนัก
ตัวหนังดัดแปลงมาจากหนังสือการ์ตูน (ที่ตอนนี้ก็ยังเขียนไม่จบ) และถูกแบ่งสร้างออกเป็นไตรภาค เล่าเรื่องชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในถนนสายที่สามของเขตยูฮิ ถนนที่มีคนหลากหลายมาอาศัยอยู่ด้วยกัน ทุกคนต่างมีเป้าประสงค์บางอย่าง และการพัฒนาเมืองผ่านการสร้างหอคอยโคเกียวทำให้พวกเขาค่อยๆ ได้รับส่วนที่ขาดหายไปในชีวิตมาแบบชัดเจนมากขึ้น สอดคล้องกับฉากหลังของเมืองที่คนดูจะได้เห็นตั้งแต่การเริ่มต้นก่อสร้างหอคอยโตเกียว ไปจนถึงช่วงเวลาที่หอคอนโตเกียวถูกสร้างเสร็จสมบูรณ์ และเมื่อเวลาผ่านไปในหนังภาค 2 กับ ภาค 3 ก็มีเรื่องราวเกิดขึ้นกับกลุ่มครอบครัวตัวละครเอก เช่นเดียวกับหอคอยโตเกียวที่ความสำคัญอาจจะเปลี่ยนไปตามยุค
สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าได้อย่างดีก็คือความเปลี่ยนแปลง การขยายตัวของเมือง และการพัฒนาตัวเมืองไม่ได้เป็นเรื่องน่ากลัวเสมอไป แม้ว่ามันอาจจะดูไม่แฟร์อยู่บ้าง แต่แล้วความเปลี่ยนแปลงนั้นอาจทำให้คนที่อยู่รอบข้างได้พัฒนาตัวของพวกเขาเองได้เช่นกัน
Chungking Express
ฮ่องกง กับ ‘ความเหงาของผู้คนในเมือง’
บางที ฮ่องกงอาจจะเป็นประเทศที่ถ่ายหนังแล้วเล่าเรื่อง ‘เมือง’ ได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ด้วยความที่เป็นเกาะขนาดเล็ก อุดมไปด้วยอาคารสูงและผู้คนที่อาศัยอยู่กันอย่างหนาแน่น และถ้าพูดถึงหนังฮ่องกงที่เล่าเรื่องเมืองกับผู้คน ก็คงไม่พ้นที่จะต้องพูดถึงหนังของ หว่องกาไว ที่เล่าเรื่องความเหงาในดินแดนที่คนอยู่กันหนาแน่นแต่กลับห่างเหินได้อย่างชำนาญนัก
หนังที่แสดงถึงความเบียดเสียดในความเป็นเมืองใหญ่แต่ผู้คนกลับเหงาและโหยหาใครสักคน รวมทั้งยังมีความหว่องอย่างเต็มเปี่ยมแต่ก็ยังเข้าใจได้ไม่ยากนักก็ต้องยกให้ Chungking Express เล่าเรื่องของตำรวจสองคนที่ความรักของพวกเขาดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุด คนหนึ่งตัดสินใจรอเป็นเวลาหนึ่งเดือนเผื่อว่าคนรักจะคืนดี ส่วนอีกคนเพิ่งถูกทิ้งหมาดๆ แต่กลับไม่รู้ตัวเลยว่ามีคนแอบชอบเขาอยู่ใกล้ตัว และเขาอาจจะไม่ได้คิดเปิดใจให้ใครใหม่
แกนเรื่องเป็นการบอกเล่าความรักที่เข้าใจได้ง่ายๆ แต่ด้วยการถ่ายภาพผ่านมุมกล้องที่เหวี่ยงตามความแคบของทางเดินบ้าง ถ่ายลอดช่องว่างระหว่างตู้ตั่งเตียงบ้าง เดินไปถ่ายไปในย่านตลาดร้านค้าต่างๆ บ้าง ถ่ายแล้วดึงภาพให้ช้าลงเพื่อสอดคล้องกับคนเวลารู้สึกเหงาบ้าง เมื่อผนวกเข้ากับคำพูดของตัวละครที่เหมือนบ่นบอกกับตัวเอง ให้ลืมรักที่ผ่านพ้นไปบ้าง หรือพยายามสร้างฝันกลางวันให้กลายเป็นจริงบ้าง ทำให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่าคนเหงาในตัวเมืองใหญ่ไม่ได้มีแค่ในห้วงคำนึงของใครบางคน แต่มันมีอยู่ทั่วไปและไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีสามารถหาคนเหงาอีกคนหนึ่งมาอยู่ด้วยกันเพื่อบรรเทาความเหงาที่เกิดขึ้นในตัวเมืองนี้
Trainspotting
เอดินบะระ, ประเทศสกอตแลนด์ กับ ‘เมืองที่พร้อมต้อนรับการกลับมา’
นี่คือเรื่องราวของกลุ่มเพื่อนที่วนเวียนอยู่กับการติดยา และอาชญากรกรรมเล็กน้อยที่ขยายวงจนกลายเป็นเรื่องที่ทำลายความสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อน นอกจากเนื้อเรื่องที่ทำให้หลายคนจดจำหนังเรื่องนี้ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างของหนังเรื่องนี้คือเมืองเอดินบะระ เมืองหลวงของประเทศสกอตแลนด์ ฉากดำเนินเรื่องใส่ความขลังของความเป็นเมืองเก่า ในขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่มีความทันสมัยอยู่ และก็เหมือนกับเมืองหลวงอีกหลายเมืองในโลกที่ความทันสมัยคอยทำให้พื้นที่อยู่อาศัยเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ชวนให้คิดว่าบางครั้งมันอาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อไล่ทำลายอดีตของใครสักคน
Trainspoting ถูกสร้างออกมาสองภาค เราได้เห็นสภาพเมืองใหญ่ของสกอตแลนด์ทั้งในช่วงยุค 1990 ตอนต้น กับช่วงยุค 2010 เราได้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเมืองอย่างชัดเจน ในขณะเดียวกันเหล่าตัวละครหลักในเรื่องนั้น บางคนยังมีรูปร่างหน้าตาเหมือนเดิมแต่ภายโครงเรื่องภายในเปลี่ยนไปมาก บางคนปรับตัวไปตามสภาพเมืองที่ไม่เหมือนเก่า และบางคนก็ไม่เปลี่ยนไป อาจจะมีร่องรอยที่ทำให้เห็นได้ชัดว่าเวลานั้นพ้นผ่านไปแล้ว แต่ไม่ว่าคุณจะเป็นคนแบบไหน สุดท้ายแล้วเมืองที่เป็นบ้านเกิดและสร้างรูปลักษณ์ตัวตนแรกให้กับคุณก็พร้อมจะต้อนรับให้คุณกลับมาสักครั้งอยู่ดี
La La Land
ลอสแอนเจลิส, สหรัฐอเมริกา กับ ‘ความฝันอันเลือนลางจากความเป็นเมือง’
เมื่อตัวเอกทั้งสองต่างเดินทางมาจากเมืองเล็กเพื่อมาอาศัยอยู่ลอสแอนเจลิส ศูนย์กลางวงการบันเทิงของอเมริกา เพื่อที่พวกเขาจะได้มีโอกาสในหน้าที่การงานที่ดีขึ้น ฝ่ายหญิงนั้นต้องการจะเป็นนักแสดงดัง ส่วนฝ่ายชายอยากจะเป็นนักดนตรีแจ๊สที่ซื่อสัตย์ต่อแนวดนตรีของตัวเอง กระนั้นทั้งสองคนก็ค่อยๆ ละทิ้งความตั้งใจเดิม ฝ่ายหญิงเริ่มถอดใจกับการแสดงที่เหมือนจะไม่ไปไหน ในขณะที่ฝ่ายชายยอมฝืนใจทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบ เหตุจากการที่พวกเขาต้องดิ้นรนอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ และสุดท้ายเมื่อทั้งสองคนสามารถสานฝันที่เคยตั้งเป้าไว้ได้ ‘เมือง’ ก็พรากความสัมพันธ์ของทั้งคู่ไปเป็นค่าตอบแทน
ท่ามกลางความสดใสร่าเริงของภาพยนตร์แนวมิวสิคัลเรื่องนี้ สิ่งที่แฝงอยู่ตลอดเรื่องก็คือ ความฝันอันเลือนลาง เพราะเมืองใหญ่นั้นเป็นสถานที่แห่งโอกาส สถานที่แห่งความคาดหวังคาดฝัน แต่เราก็เห็นตั้งแต่กลางเรื่องว่า การจะคว้าความฝันมาได้นั้นไม่ใช่อะไรที่ง่ายดาย ค่าใช้จ่ายในเมืองใหญ่กินความฝันทั้งสองคนจนเกือบไม่เหลือ สุดท้ายถ้าอยากคว้าความฝันใดสักอย่าง เมืองก็พร้อมจะพรากบางสิ่งไปเป็นค่าตอบแทน แต่ในเรื่องก็ยังทำภาพให้เห็นว่า แม้ว่าจะถูกคิดราคาค่างวดความฝันอย่างไร บางทีมันอาจจะคุ้มแล้วกับผู้ที่เลือกชำระมูลค่าแห่งความฝันนั้น
Lost in Translation
โตเกียว, ประเทศญี่ปุ่น อีกครั้งกับ ‘ความเหงาจากการอยู่ผิดถิ่น’
อีกสิ่งหนึ่งที่อยู่เคียงคู่กับเมืองใหญ่ไปแล้วก็คือ ‘คนต่างชาติ’ กลุ่มคนที่เขยิบตัวจากมาตุภูมิไปสู่แผ่นดินที่ไม่คุ้นเคย อาจจะเพราะเหตุผลทางการงาน การเรียน เหตุผลทางบ้าน ไม่ก็อาจจะอยากลองออกเที่ยวสักครั้ง หรือบางทีมันก็เป็นแค่ความบังเอิญที่เขาอาจจะต้องอยู่ในต่างแดน ที่ที่พวกเขาไม่เข้าใจวัฒนธรรม ที่ที่การสื่อสารนั้นลำบากยากเย็นกว่าปกติ พวกเขาอาจจะมีความสุข ความทุกข์ ความท้าทาย ความเหงา หรืออาจจะมีเรื่องที่ไม่อาจเข้นคั้นความหมายออกมาจากใจได้ – ในดินแดนอันไกลโพ้นจากสถานที่เรียกๆ ว่าบ้าน
ภาพยนตร์ที่บอกเล่าเรื่องความแปลกที่แปลกทางของคนต่างชาติในแดนต่างถิ่นก็คงไม่พ้น Lost in Translation ที่เล่าเรื่องของดาราชายวัยกลางคนกับหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานไม่นาน ทั้งคู่มีเหตุจำเป็นให้ต้องมาอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ดินแดนที่ดูจะไม่ปรานีปราศัยกับชาวต่างชาติที่ไม่พูดภาษาเดียวกันเท่าใดนัก นอกจากนี้หัวใจของคนทั้งสองก็ยังเกิดความพร่องลงไปจากความสัมพันธ์ที่เหมือนจะต่อไม่ติดกับครอบครัว
ถึงแม้ว่าหลายฉากของเรื่องอาจจะดูเป็นความจงใจของผู้กำกับหนังเพื่อสร้างความห่างเหินระหว่างผู้คนให้ชัดขึ้น แต่การดูหนังเรื่องนี้ก็ทำให้คนดูเข้าใจขึ้นมาว่าบางทีความเร่งรีบในเมืองใหญ่ก็อาจจะใจร้ายกับชาวต่างชาติไปสักนิด เพราะฉะนั้นอาจจะเป็นการดีที่คนท้องถิ่นจะยื่นมือช่วยเหลือนักเดินทางต่างแดนเหล่านี้ ถึงมันจะอุดช่องว่างในใจไม่ได้ แต่ก็คงทำให้ความเหงาที่เกิดขึ้นจากเมืองต่างแดนลดลงไม่มากก็น้อย