ช่วงปี ค.ศ.2020-2021 นี้ ถ้าจะพูดว่ามีการ์ตูนเรื่องไหนจากฟากฝั่งนิตยสารโชเน็นจัมพ์ ที่ยังตีพิมพ์อยู่ เราก็คงต้องยกผลงานเรื่อง Jujutsu Kaisen หรือ มหาเวทย์ผนึกมาร ผลงานมังงะของอาจารย์อาคุทามิ เกะเกะ (Akutami Gege) ที่หลายคนน่าจะติดตามและติดใจกันในอยู่ช่วงเวลานี้
สำหรับท่านที่ไม่ได้ติดตามผลงานเรื่องนี้ เราขออธิบายคร่าวๆ ว่า มหาเวทย์ผนึกมาร เล่าเรื่องของกลุ่มนักเรียนและคณาจารย์ของโรงเรียนเฉพาะทางไสยศาสตร์กรุงโตเกียว ที่คอยทำหน้าที่ผนึกของต้องสาปต่างๆ ภายในประเทศญี่ปุ่น แต่เรื่องก็วุ่นวายเมื่อ อิตาโดริ ยูจิ เด็กหนุ่มที่มีร่างกายแข็งแกร่งเกินมาตรฐานได้กินนิ้วของเรียวเมน สุคุนะ ที่ถือว่าเป็นของต้องสาประดับพิเศษ ทำให้ตัวเลือกในชีวิตของเขาเหลือเพียงสองทาง นั่นคือ การยอมโดนประหารในฐานะของต้องสาปแต่โดยดี หรือจะยอมทำหน้าที่เป็นภาชนะ แล้วกินนิ้วที่เหลืออีก 19 ของเรียวเมน สุคุนะ ก่อนจะจบชีวิตเพื่อผนึกคำสาปที่แกร่งที่สุดเอาไว้
ณ ขณะที่เขียนบทความอยู่นี้ เนื้อเรื่องของ ‘มหาเวทย์ผนึกมาร (Jujutsu Kaisen)’ ในตัวมังงะต้นฉบับถือว่าอยู่ในช่วงที่ทำให้คนติดตามต้องเอามือจิกหมอน จิกเบาะ แล้วรอลุ้นกันว่าเรื่องราวจะเดินไปทางทิศไหนต่อไป และเชื่อว่าบางท่านก็ไปอินกันต่อในฉบับอนิเมะที่เปิดให้รับชมแบบถูกลิขสิทธิ์ผ่านบริการสตรีมมิ่งหลายเจ้ากันด้วย
และเราคิดว่าหลายท่านอาจจะอยากหาอะไรในบรรยากาศที่ใกล้กันแบบไม่มากก็น้อย เราก็เลยไปหาผลงานการ์ตูนที่ใกล้เคียงกัน เผื่อว่าหลายท่านยังอยากจะเพลิดเพลินกับเนื้อหาของการ์ตูนสายนี้ครับ
ผู้ผนึกมาร
ผืนดินของตระกูลคาราสุโมริ มีพลังพิเศษที่ดึงดูดให้ปีศาจเข้ามาในพื้นที่ มิหนำซ้ำผืนดินดังกล่าวยังทำให้ปีศาจที่รุกรานเข้ามามีความแข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย เพราะอย่างนั้น ทำให้มีกลุ่มบุคคลที่ต้องคอยรับผิดชอบในการดูแลปกป้องไม่ให้ปีศาจเข้ามาอาศัยอยู่ในผืนดินแห่งนี้ ด้วยการใช้วิธีการ ‘ผนึก’ เพื่อกำจัดปีศาจ
และปัจจุบันผู้ที่รับผิดชอบการดูแลผืนดินตรงนี้ก็คือ สุมิมูระ โยชิโมริ กับ ยูกิมูระ โทกิเนะ เด็กวัยรุ่นชาย-หญิง ผู้สืบทอดของตระกูลที่รับหน้าที่ผนึกมาร และเคยเป็นเพื่อนสนิทสมัยเด็ก ก่อนที่จะมีเหตุให้สองคนไม่กลับมาพูดคุยกัน แต่ที่พวกเขาไม่รู้ก็คือ การผนึกพื้นที่นี้มีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานลับอื่นและเรื่องราวที่ยิ่งใหญ่มากกว่านั้น
ผลงานการ์ตูนเรื่องนี้ของอาจารย์ ทานาเบะ เยลโลว์ (Tanabe Yellow) ที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.2003 – 2011 มีบรรยากาศที่ชวนให้คิดถึงมหาเวทผนึกมาร อยู่เบาๆ เพราะมีทั้งเรื่องราวของต้องสาปที่ยิ่งใหญ่ กับกลุ่มคนจำนวนไม่มากที่ต้องรับหน้าที่ปิดผนึกพลังอันชั่วร้ายไปพลาง กำจัดปีศาจที่บุกเข้ามาเพราะอยากจะได้พลังไปพลาง มิหนำซ้ำยังต้องรอรับมือกับกลุ่มคนที่ต้องการจะปลุกพลังต้องสาปไปใช้ในทางที่ผิด อย่างไรก็ตามด้วยความที่เรื่องราวของ ผู้ผนึกมารค่อนข้างชัดเจนว่าสถานที่เกิดปัญหาอยู่ที่ใด และมีการขยายเรื่องราวไปเฉพาะส่วนที่ตัวเอกไม่เคยรับรู้มาก่อนเป็นหลัก
ผู้ผนึกมารยังเคยถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะจำนวน 52 ตอน แต่เนื้อหาในหลายช่วงนั้นจะไม่สอดคล้องกับตัวมังงะเนื่องจากตัวอนิเมะถูกสร้างก่อนที่มังงะจะเดินเรื่องถึงช่วงอวสานอยู่หลายปีทีเดียว
ทวิดารามหาองเมียวจิ
เอมมะโด โระคุโร่ เคยตั้งเป้าจะเป็นองเมียวจิ เพื่อปัดเป่าโชคร้าย และ ‘เคงาเระ’ ปีศาจที่มาจากมิติที่ถูกเรียกว่า มางาโนะ อย่างไรก็ตามเด็กชายผู้นี้ก็ถอดใจจากความฝันนั้นไปเนื่องจากโศกนาฏกรรมครั้งหนึ่ง จนกระทั่งเขาได้เจอกับ อาดาชิโนะ เบนิโอะ เด็กหญิงลึกลับที่มีพลังในการขจัดเคงาเระเช่นกัน กระนั้นเมื่อทั้งสองคนได้ค่อยๆ ทำความรู้จักกันมากขึ้นก็ได้ถูกองค์กรที่ดูแลเหล่าองเมียวจิมาจับคู่ให้กลายเป็น ‘ทวิดารา’ และให้ทั้งสองหมั้นหมายกัน เพื่อแต่งงานมีทายาทที่มีพลังแข็งแกร่ง แต่เบื้องหลังของการกระทำนี้อาจจะมีเหตุผลอื่นใดรออยู่อีกด้วย แล้วเด็กหนุ่มสาวทั้งสองจะผ่านพ้นเรื่องราวเหล่านั้นได้หรือไม่
ผลงานมังงะของอาจารย์ สุเคโนะ โยชิอากิ (Sukeno Yoshiaki) ถ้าดูจากภาพปกหนังสือการ์ตูนเล่มแรกๆ หลายท่านอาจจะคิดว่านี่เป็นเรื่องราวการต่อสู้น่ารักของเด็กๆ แต่จริงๆ แล้ว ผลงานเรื่องนี้เป็นการ์ตูนแอ็กชั่นระดับปล่อยพลังอลังการ แม้จะมีการปราบปีศาจที่คล้ายกับมหาเวทย์ผนึกมาร แต่ฝั่งทวิดารามหาองเมียวจิ มีทั้งองค์กรดูแลองเมียว ระดับชั้นขององเมียวจิ รวมถึงองเมียวจิระดับสูงจะมีอาวุธประจำกาย ก็ทำให้มีกลิ่นชวนให้นึกถึง ‘ดาบพิฆาตอสูร’ อยู่บ้าง แต่บอกได้เลยว่า เรื่องราวในเรื่องนั้นมีความสนุกที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน
ทวิดารามหาองเมียวจิ เคยถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะจำนวน 50 ตอน ออกฉายครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ.2016-2017 ตัวคุณภาพของอนิเมะไม่ได้ย่ำแย่ แต่ตัวเนื้อหาของอนิเมะมีการดัดแปลงให้แตกต่างจากมังงะไปพอสมควร ดังนั้นถ้าจะเสพเรื่องนี้ให้เต็มอรรถรส อาจจะต้องรับชมกันทั้งสองแบบกันครับ
คุจากุ
ย้อนกลับไปการ์ตูนเก่ากันสักนิดบ้างกับผลงานสร้างชื่อของอาจารย์โอกิโนะ มาโคโตะ (Ogino Makoto) ผู้ล่วงลับ และเชื่อว่างานเรื่องนี้น่าจะเป็นผลงานที่ส่งอิทธิพลให้กับนักเขียนรุ่นหลังในการยำใหญ่เพื่อให้นักบวชญี่ปุ่นเข้าต่อสู้กับสัตว์ประหลาดจากปกรณัมและเรื่องเล่าต่างๆ จากทั่วโลก
คุจากุ เป็นชื่อของนักบวชหนุ่มที่เดินทางไปทั่วญี่ปุ่น แรกเริ่มเดิมทีเขาก็เพียงแค่เดินทางเพื่อปราบปีศาจร้ายไปพร้อมกับการฝึกตนให้เก่งกาจขึ้น โดยใช้การใช้มนต์คาถาคู่กับวัชระในการขจัดสิ่งชั่วร้าย แม้ว่าด้วยลักษณะนิสัยภายนอก อาจจะทำให้หลายคนมองว่าพระหนุ่มองค์นี้เป็นแค่คนตะกละตะกลาม แถมยังดูชิลจัดกับสรรพสิ่ง แต่แท้จริงแล้วเขาเป็นร่างอวตารของ พระมหามยุรี, ลูซิเฟอร์, และ เมเล็ก ทาอุส*(อ่านคำอธิบายเพิ่มเติมด้านล่าง) ผู้มีพลังสูงส่งระดับที่สามารถทำลายล้างโลกทั้งใบได้ แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะฝึกตนและปกป้องโลกนี้ต่อไป
คุจากุ ถือว่าเป็นผลงานโดดเด่นของอาจารย์โอกิโนะ มาโคโตะ ที่อาจารย์วนเวียนกลับมาเขียนหลายต่อหลายครั้ง นับตั้งแต่ภาคแรก Kujaku Ou ที่ฉบับลิขสิทธิ์ภาษาไทยของทางสยามอินเตอร์คอมิกส์ใช้ชื่อภาคว่า คุจากุ ภาคกำเนิด, Kujaku Ou: Taimaseiden ฉบับลิขสิทธิ์ภาษาไทยของทางสยามอินเตอร์คอมิกส์ใช้ชื่อภาคว่า คุจากุ เทวฤิทธิ์พิชิตมาร, Kujaku Ou: Magarigamiki, Kujaku Ou: Rising, และ Kujaku Ou: Sengoku Tensei ฉบับลิขสิทธิ์ภาษาไทยของทางบูรพัฒธ์ใช้ชื่อภาคว่า คุจากุ ภาคคำสาปเซ็นโกคุ ซึ่งเป็นผลงานที่เขียนไว้จนถึงช่วงที่อาจารย์เสียชีวิตในเดือนเมษายน ปี ค.ศ.2019
การ์ตูนเรื่อง คุจากุ ได้รับความนิยมอย่างมากและถูกผลิตเป็นอนิเมชั่นแบบ OVA ในช่วงปี ค.ศ.1988 – 1994 ทั้งยังเคยถูกทางฝั่งฮ่องกงสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดงถึงสองภาคในปี ค.ศ.1988 กับ ค.ศ.1990 (ในประเทศใช้ชื่อไทยว่า ‘ฤทธิ์บ้าสุดขอบฟ้า’) อย่างไรก็ตามผู้เขียนขอแนะนำให้ติดตามมังงะต้นฉบับที่จัดเต็มทั้งฉากแอ็กชั่น, ฉากเซอร์วิส, การนำเอาตำนาน-ความเชื่อ-ข่าวลือ มาหลอมรวมกัน เพื่อใช้สร้างสัตว์ประหลาดตัวใหม่ และดีไซน์ของทั้งฝั่งพระเอกกับตัวร้ายที่โดดเด่นอยู่ไม่น้อยครับ
Tokyo Babylon
ยังขอหยิบจับการ์ตูนเก่ามาสักนิดมาคุยกันอีกเรื่อง และมีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับ ‘คำสาป’ ที่อยู่ใน ‘ตัวเมือง’ ซึ่งเป็นแนวคิดที่มหาเวทย์ผนึกมาร พูดถึงในระดับหนึ่ง แต่ในผลงานสร้างของกลุ่มนักเขียนหญิงชื่อดังอย่าง CLAMP จะโฟกัสให้เกี่ยวข้องกับ ‘กรุงโตเกียว’ กับผลงานเรื่อง Tokyo Babylon
เรื่องราวเกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1990 สุเมรางิ ซุบารุ องเมียวจิสุดแข็งแกร่งและเป็นผู้นำรุ่นที่ 13 ของตระกูลสุเมรางิ ที่คอยรับใช้จักรพรรดิของญี่ปุ่นมาตั้งแต่กาลก่อน เขาอาศัยอยู่ในกรุงโตเกียวกับ สุเมรางิ โฮคุโตะ พี่สาวฝาแฝดที่มีความโผงผางกว่าน้องชายทั้งยังชื่นชอบในแฟชั่นทันสมัย และมักจะเตรียมเสื้อผ้าหลากสไตล์ให้กับตัวเธอและน้องชาย นอกจานี้ทั้งสองคนยังสนิทสนมกับ ซากุระสึกะ เซย์ชิโร่ สัตว์แพทย์ แต่มีอีกหน้าหนึ่งคือการเป็นทายาทของตระกูลองเมียวจิมือสังหารที่รับงานฉากหลังให้กับประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น ในขณะที่ ซุบารุ คอยปกป้องคนในโตเกียวจากสิ่งเหนือธรรมชาติ เขาก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเองที่มีให้เซย์ชิโร่เป็นความรู้สึกอะไรกันแน่
ถึงตัวเรื่องจะบ่งบอกว่าตัวละครเอกเป็นองเมียวจิถึงสองคน แต่ในเรื่องนี้ไม่ได้พูดถึงหลักการการความสัมพันธ์ระหว่างธาตุแต่อย่างใด แต่จะเล่าเรื่องของสิ่งเหนือธรรมชาติที่เกิดขึ้นจากจิตใจคนในเมืองใหญ่ ผสมด้วยแนวคิด LGBTQ ตามที่กลุ่มนักเขียนของ CLAMP ถนัดถนี ดังนั้นผลงานเรื่องนี้อาจจะไม่ได้มีฉากแอ็กชั่นหวือหวา แต่เป็นการสำรวจจิตใจผู้คนที่าจจะมีอันตรายมากล้นจนกลายเป็นคำสาปขึ้นมาก็เป็นได้
ทั้งนี้ Tokyo Babylon เคยถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นจำนวน 2 ตอน ออกวางจำหน่ายในช่วงปี ค.ศ.1992 กับ ค.ศ.1994 และเคยมีแผนการสร้างอนิเมะในปี ค.ศ.2021 แต่มีการพบว่าทีมงานสร้างอนิเมะได้ทำการลอกเลียนแบบเครื่องแต่งกายของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมีการประกาศยุติงานสร้างกับทีมงานชุดแรกไป และขณะที่เขียนบทความนี้ได้มีการระบุว่าจะทำการสร้างอนิเมะโดยใช้ทีมงานอื่นแทน
เจ้าหญิงนักล่าผีดิบ
ในโลกที่มีเหล่า ‘ผีดิบ’ หรือคนตายที่มี ‘อาวรณ์’ ต่อโลกใบนี้มากพอจนเปลี่ยนตัวตนเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ และมีนักบวชนิกายโคกอนที่ฝึกตนเองเข้าต่อกรกับเหล่าผีดิบ นอกจากนั้นแล้ว นักบวชจำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพในการใช้เทวฤทธิ์ จะถูกแต่งตั้งเป็น ‘พระผู้พิทักษ์’ ที่ได้รับอาวุธพิเศษและผูกพันธ์กับ ‘เจ้าหญิงซากศพ’ เหล่าหญิงสาวที่ถูกผีดิบฆ่าตายแต่ยังมีแรงปรารถนาจะมีชีวิตต่อบนโลกและผ่านพิธีปลุกเสกของลัทธิโคกอน จนได้รับพลังพิเศษ เพื่้อที่จะสังหารผีดิบ 108 ตน ก่อนจะได้ขึ้นสวรรค์เป็นการต่อไป เรื่องราวของการ์ตูนเรื่องนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อ เจ้าหญิงซากศพ โฮชิมุระ มาคินะ ได้มาพบกับ คางามิ โอริ และชะตากรรมของทั้งสองคนที่เกี่ยวพันผีดิบมากกว่าที่คาดไว้
ผลงานมังงะของอาจารย์อาคาฮิโตะ โยชิอิจิ (Akahito Yoshiichi) แนวคิดของเรื่องที่ให้ ผีดิบ ต่อสู้กับ เจ้าหญิงซากศพ นั้นเป็นการใช้ ‘คำสาป’ ปะทะกัน และคำสาปที่แกร่งกว่าจะเป็นฝ่ายชนะ ซึ่งเป็นแนวคิดในลักษณะเดียวกับมหาเวทผนึกมาร แต่จุดที่เจ้าหญิงนักล่าผีดิบ ตีความเพิ่มเติมคือการหยิบจับเอาความเชื่อผีดิบจากหลากประเทศมาเชื่อมโยงกัน เลยทำให้เห็นผีดิบที่มีคำสาปพิสดารกว่าเรื่องอื่นๆ รวมไปถึงว่าเราจะได้เห็นหน่วยงานปราบปีศาจที่ไม่ได้มีแค่จากฝั่งญี่ปุ่นเท่านั้นด้วย
และเหมือนกับเรื่องด้านบนก่อนหน้านี้หลายเรื่อง เจ้าหญิงนักล่าผีดิบ เองก็เคยถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะ แต่ก็เหมือนกับเรื่องก่อนหน้านี้ที่ตัวอนิเมะเดินเรื่องกันไปคนละทางเพราะตอนสร้างอนิเมะนั้นมังงะยังไม่เสร็จสมบูรณ์นั่นเอง
Ga-Rei ล้างพันธุ์อสูรกาย
นิมุระ เคนสุเกะ เป็นเด็กหนุ่มที่มีความสามารถในการเห็นผี และใช้ชีวิตแบบหลีกเลี่ยงการปะทะกับสิ่งเหนือธรรมชาติมาโดยตลอด จนกระทั่งเขาได้พบกับ ซึจิมิยะ คางุระ เด็กสาวที่เชื่อมต่อกับเทพศักดิ์สิทธิ์ ‘เบียคุเอย์’ ที่เปิดเผยว่า แท้จริงแล้วในประเทศญี่ปุ่นมีหน่วยงานรับมือภัยพิบัติเหนือธรรมชาติที่คอยกำจัดผู้รุกรานจากภพแห่งรัตติกาล แต่ปัจจุบันนี้แกนกลางของเหตุการณ์วุ่นวายต่างๆ จากภพแห่งรัตติกาล ก็มี อิซายามะ โยมิ หญิงสาวที่เคยเป็นผู้ปราบปีศาจที่เก่งกาจที่สุด และเคยเป็นเหมือนพี่สาวของ คางุระ เป็นผู้ก่อเรื่อง
ผลงานของอาจารย์เซงาวะ ฮาจิเมะ (Segawa Hajime) ที่มาในแนว แอ็กชั่น พ่วงตลก พ่วงดราม่า ในเรื่องเดียวกัน ถ้าถามว่ามีจุดร่วมกับ มหาเวทย์ผนึกมาร ตรงไหนบ้าง จุดหนึ่งก็คงเป็นการวางพล็อตให้มีหน่วยงานรับมือสิ่งเหนือธรรมชาติ กับเหล่าภูติพรายในเรื่องที่มีความรู้สึกนึกคิดของตัวเองอย่างชัดเจนขึ้นมา อีกส่วนหนึ่งก็คงเป็นการที่ตัวละครหลักโดยส่วนใหญ่จะมีภูมิหลังที่ไม่สอดคล้องกับฉากหน้าที่เห็นในช่วงแรกของเรื่อง และภูมิหลังนั้นเป็นแรงผลักดันให้ตัวละครทุกตัวอย่างชัดเจน แต่ตัวมังงะก็มีความ Male Gaze และเซอร์วิสค่อนข้างจะมากตามแนวทางของนิตยสารที่ตีพิมพ์มังงะต้นฉบับ
Ga-Rei ล้างพันธุ์อสูรกาย ก็เคยถูกดัดแปลงเป็นอนิเมะเช่นกัน แถมยังเป็นการดัดแปลงที่แปลกกว่าปกติสักหน่อย เพราะตัวอนิเมะจะใช้ชื่อว่า Ga-Rei: Zero ที่ย้อนไปเล่าเรื่องของ ซึจิมิยะ คางุระ กับ อิซายามะ โยมิ ก่อนเนื้อเรื่องว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์เช่นไร และทำไมทางเดินของทั้งสองจึงไปคนละทิศทางกัน รวมถึงคำถามที่น่าสนใจของเรื่องที่ว่า คุณจะฆ่าคนเพราะความรักได้หรือไม่
ผลงานมังงะเรื่องนี้ยังเคยมีข่าวว่าจะได้รับการดัดแปลงสร้างเป็นซีรีส์หรือภาพยนตร์คนแสดงในฟากฝั่งฮอลลีวูดอีกด้วย แต่ ณ เวลานี้ยังไม่มีความคืบหน้าใดใด เกี่ยวกับงานสร้างเท่าใดนัก
มืออสูรล่าปิศาจ
หากคุณเรียนอยู่ที่โรงเรียนประถมโคโมริ แล้วมีปัญหากับคำสาป ภูติพราย หรือภัยเหนือธรรมชาติอื่นใดก็ตามที ให้ปรึกษาคุณครูประจำชั้นประถมปีที่ 5 ที่ชื่อ นูเอโนะ เมสุเกะ หรือ ครูนูเบ ที่มีความสามารถทางวิญญาณ และที่สำคัญเขามีไพ่ตายเป็น ‘มืออสูร’ มือข้างหนึ่งที่ผนึกพลังของอสูรจากนรกเอาไว้ และนูเบใช้พลังนั้นในการต่อสู้กับสิ่งเหนือธรรมชาตแบบอื่นแทน แต่ถ้าพลาดพลั้งเขาเองก็อาจจะถูกอสูรกลืนกินได้เช่นกัน
ผลงานการ์ตูนเข้าข่ายคลาสสิกจากยุค 1990 ของอาจารย์มาคุระ โช (Makura Shou) กับ อาจารย์โอคาโนะ ทาเคชิ (Okano Takeshi) ที่เอาเรื่องผี, คำสาป, ตำนานเมือง ไปจนถึงความรู้สึกของผู้คนมาผูกกัน เพื่อให้ครูนูเบที่เป็นตัวเอกมาจัดการ ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ได้เป็นการทำลายล้าง แต่เป็นการทำความเข้าใจว่าต้นตอของปัญหาเกิดมาจากอะไร ก่อนที่จะกำจัดเรื่องเหล่านั้นออกไป เพื่อเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน แม้ว่าจะไม่ใช่ทุกครั้งที่ทำได้แบบนั้นก็ตาม
มืออสูรล่าปิศาจ ภาคดั้งเดิมตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1993 ถึงปี ค.ศ.1999 ก่อนที่อาจารย์เจ้าของผลงานทั้งสองท่านจะกลับมาเขียนเรื่องราวของนูเบต่อใน มืออสูรล่าปีศาจ NEO ที่ตีพิมพ์ตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ.2014 ถึงปี ค.ศ.2018 และมีภาคเสริม มืออสูรล่าปิศาจ S ออกตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.2018 ถึงปี ค.ศ.2021 ช่วงแรกการ์ตูนเดินเรื่องแนวสยอง แต่ภายหลังก็เอาเรื่องราวคุณธรรมมาเล่าเรื่องมากขึ้น และในภาค NEO กับ S ก็มีการวิพากษ์เรื่องผู้ปกครอง, สภาพสังคม รวมไปถึงวิธีการเข้าหานักเรียนของครูในปัจจุบัน ผ่านเหล่าอสูรที่กลายเป็นลักษณะที่มาจากคำสาปเกาะกินใจผู้คนมากขึ้น
ด้วยความที่เป็นผลงานคลาสสิกระดับนึง มืออสูรล่าปีศาจ เลยมีอนิเมะออกฉายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1996-1997 และมีตอนพิเศษตามมาอีกหลายตอน รวมไปถึง ซีรีส์คนแสดงที่ฉายในช่วงปี ค.ศ.2014 อีกด้วย สำหรับท่านที่สนใจการ์ตูนผีๆ ก็อยากให้ลองหาเรื่องนี้มารับชมสักครั้ง
ไขปมปริศนาภูต
สำหรับนักอ่านที่ชื่นชอบ คำอธิบายยาวๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ, ตัวละครมีทักษะเข้าข่ายแทบจะไร้พ่ายแต่ก็ไม่ถึงจุดที่ไร้เทียมทาน และศัตรูที่มีความลึกลับยากจะเข้าใจได้ ซึ่งเป็นส่วนที่ มหาเวทย์ผนึกมาร ทำไว้ได้อย่างสนุกสนาน และเราเชื่อว่าผลงานมังงะอีกเรื่องที่เล่าประเด็นข้างต้นเหล่านี้ได้สนุกไม่แพ้กันก็คือหนังสือการ์ตูนเรื่อง ‘ไขปมปริศนาภูต’
การพบกันของสองบุคคลที่เกี่ยวพันกับภูติพรายและสิ่งเหนือธรรมชาติ คนหนึ่งคือ อิวานางะ โคโตโกะ สาวน้อยที่ผู้สูญดวงตาและขาไปอย่างละ 1 ข้าง และกลายเป็นเทพแห่งเชาว์ปัญญาให้กับเหล่าภูตพราย อีกคนหนึ่งคือ ซากุราคาวะ คุโร่ ชายหนุ่มที่มีความสามารถพิเศษในระดับที่ ภูติพราย ยังรับรู้แถมยังสะพรึงกลัว
อย่างไรก็ตาม เมื่อสาวน้อยกับชายหนุ่มมาพบกัน เทพแห่งเชาว์ปัญญาเกิดตกหลุมรักชายหนุ่มต้องสาปเสียทันที และเมื่อทั้งสองคนได้ทำความรู้จักกัน ก็กลายเป็นว่าพวกเขาอาจจะเป็นคู่หูที่ดีที่สุดในการรับมือกับคดีเหนือธรรมชาติ ที่อาจจะไม่ใช่ทั้งภูตพรายหรือคำสาป ที่จำเป็นต้องใช้ความสามารถของคนทั้งสองในการไขปริศนา
เรื่องราวสลับซับซ้อนแบบนี้ เพราะเดิมทีแล้ว ไขปมปริศนาภูต เป็นนิยายที่เขียนโดยอาจารย์ชิโรไดระ เคียว (Shirodaira Kyo) นักเขียนที่เคยแต่งเรื่องให้กับมังงะหลายเรื่องมาก่อนอย่าง Spiral ผ่าเกลียวปริศนา, ล่าล้างกางเขนเลือด และ Zetsuen No Tempest ปมปริศนา ศึกมหาเวทย์ The Civilization Blaster ซึ่งจุดเด่นผลงานทุกเรื่องที่กล่าวไปก็คือ ความซับซ้อนซ่อนเงื่อนของเรื่องที่มีปมหลายชั้น จนบางทีคนอ่านอาจจะคาดไม่ทัน แม้ว่าจะมีการหยอดเฉลยไว้ตั้งแต่ต้นเรื่องแล้วก็ตาม
ส่วนตัวฉบับมังงะก็ได้อาจารย์คาทาเสะ ชาสิบะ (Katase Chasiba) รับหน้าที่วาดภาพ ซึ่งก็มีลายเส้นที่ละเอียดสวยงาม ทั้งยังเก็บจุดเด่นของตัวละครในเรื่องได้อย่างดี จนทำให้คนที่ตามอ่านฉบับมังงะสามารถเสพตัวอักษรจำนวนมากในเล่มได้ลื่นไหลกว่าที่คิด
ไขปมปริศนาภูต ก็ได้ถูกสร้างเป็นอนิเมะเหมือนผลงานดังๆ อีกหลายเรื่องเช่นกัน และการดัดแปลงอนิเมะของผลงานเรื่องนี้ค่อนข้างโชคดีที่ทีมผู้ผลิตอนิเมะทำการการหยิบจับเนื้อเรื่องหนึ่งคดีมาสร้างเป็นอนิเมะความยาว 12 ตอน และเล่าเรื่องค่อนข้างซื่อตรงต่อผลงานต้นฉบับอยู่ไม่น้อย หรือถ้าจะมองว่าการได้ยินเสียงพากย์ของตัวละครถือว่าเป็นกำไรสำหรับผู้ที่เคยอ่านฉบับนิยายหรือมังงะมาก่อนแล้วก็ไม่ผิดนัก
ข้อมูลเพิ่มเติม
*Melek Taus//Melek Tawus/Malak Tawus/Malik Tous – เทพนกยูง หนึ่งในเทวทูตทั้งเจ็ดของพระเจ้าตามความเชื่อของชาวยาซิดี (Yazidism) ที่สืบทอดกันด้วยลักษณะการบอกเล่า (Oral Tradition) และมีตัวเนื้อหาความเชื่อบางส่วนพ้องเกี่ยวกับศาสนายูดา, คริสต์, และอิสลาม อย่างในกรณีของเทพนกยูงนี้ ตามความเชื่อของชาวยาซิดีเชื่อว่าเป็นเทพที่อยู่ในสวนสวรรค์ร่วมกับอดัม และเป็นเป็นเทพนกยูงที่ชักจูงให้อดัมออกมาจากสรวงสวรรค์ แต่เหตุผลที่เทพนกยูงชวนอดัมออกจากสรวงสรรค์นั้นแตกต่างไปกันตามการสืบทอด อย่างเช่นความเชื่อหนึ่งระบุว่าเพราะเทพนกยูงต้องการให้อดัมเติบโตขึ้นด้วยตัวเอง เหตุข้างต้นนี้ทำให้ผู้คนที่ไม่ได้เข้าใจถึงรากเหง้าของกลุ่มศาสนานี้มองว่า ชาวยาซิดี ต่อต้านพระเจ้า และเป็นเหตุผลที่ทำให้ผู้เขียนมังงะคุจากุ เอาความเชื้อนี้มาผสมรวมกับ พระมหามยุรี ที่เป็นเทพนกยูงตามความเชื่อมหายาน และ ลูซิเฟอร์ ที่มุมมองชาวคริสต์ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นผู้ชักจูงให้อดัมออกจากสรวงสวรรค์ จนทำให้ตัวเอกอย่าง คุจากุ กลายเป็นร่างอวตาร์ของเทพสามองค์ในหนึ่งบุคคลได้นั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลเพิ่มเติม
YouTube แชนแนล Religion For Brakefast – Yazidi Religion Explained