แม้นิตยสารจะทยอยปิดตัวลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเหล่านิตยสารจะหายไปจากแผงหนังสือเสียหมด
The MATTER ชวนสำรวจแผงหนังสือ เพื่อดูว่านิตยสารหัวไหนที่ยังได้รับความนิยมจากผู้อ่าน ซึ่งหลายๆ เล่มมีความนิยมมากว่า 30 ปีแล้ว เล่มไหนมีรายละเอียดน่าสนใจยังไง ไปดู
Mêü Tü (มวยตู้)
มวยตู้ เป็นนิตยสารที่ลงลึกรายละเอียดกีฬามวยไทยแบบครบเครื่อง ทั้งการสรุปผลการแข่งขันมวยไทยทั่วประเทศ ไม่ว่าจะจากเวทีที่มีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ (หรือที่เรียกกันว่า ‘มวยตู้’ อันเป็นที่มาของนิตยสาร) เวทีที่ไม่มีการถ่ายทอดสด ไปจนการเสวนาแนวโน้มของการถ่ายทอดมวยออนไลน์ (Over-The-Top Content) ทั้งยังพาผู้อ่านไปติดตามมวยไทย มวยสากลในเวทีโลก มีการวิเคราะห์สภาพร่างกายและการฝึกซ้อมของนักมวยแต่ละคนอย่างละเอียด
นิตยสารไม่ได้พูดถึงเพียงการแข่งขันเท่านั้น คอลัมนิสต์ของมวยตู้ยังพาเราไปดูไลฟ์สไตล์ของเหล่านักมวย ไม่ว่าจะการเลือกกินอาหารอย่างไรให้กล้ามสวยงาม ท่าออกกำลังกายท่าไหนที่ดูเซ็กซี่ ไปจนมุมกุ๊กกิ๊ก เรื่องหัวใจของนักมวย ขณะเดียวกันภายในเล่มก็ยังมีคอลัมน์มวยหญิงที่เป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมกันทางเพศอีกด้วย
ซูเปอร์ไฮไลท์ของเล่มที่ผู้อ่านทุกคนไม่ควรพลาดก็คือโปสเตอร์ 4 สี Pin-Up ของนักมวยผู้มีบอดี้งดงามพร้อมกับรายละเอียดเรื่องรูปร่างละเอียดยิบ
Sién Kii Chöne (เซียนไก่ชน)
นิตยสารไม่ได้บอกเล่าแค่เรื่องการคัดเลือกไก่ชนที่เหมาะสมเท่านั้น ในเล่มยังลงรายละเอียดอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฝึกซ้อม ของกินสำหรับเสริมสเตตัสให้ไก่ชนแกร่งขึ้น ยารักษาอาการที่เน้นเฉพาะว่าจะรักษาอาการอะไรก่อน หรือแม้แต่ยาสำหรับบูสท์สเตตัสก่อนสู้กัน (มีทั้งช่วยให้ตีรัว, ช่วยให้ตีแรง, ช่วยฟื้นสตามิน่า ฯลฯ) ในเล่มยังมีสาระเชิงประวัติศาสตร์ที่มาของไก่ชนแต่ละพันธุ์ สัมภาษณ์ผู้เลี้ยงแต่ละคน รวมถึงงบประมาณในการซื้อไก่ชนแต่ละตัว
การที่ผู้ใหญ่บางกลุ่มไม่อยากพัฒนา E-Sports ที่กำลังเป็นเทรนด์โลกในปัจจุบัน เพราะบ้านเรามีสิ่งที่ล้ำไปอีกขั้นนานแล้วนี่เอง
Special Magazine / Prague (แปลก)
นิตยสารวัย 44 ปีที่อยู่ได้ทั้งในร้านตัดผมชายและร้านทำผมหญิง เนื้อหาหลักที่ปรากฏอยู่บนหน้าปกของนิตยสารมักเป็นเรื่องราวที่แปลกประหลาดสมชื่อนิตยสาร และยังยึดคอนเซ็ปต์การนำเรื่องแปลกทั่วโลก ทั้งจาก Inedpendent, Boredpanda, Buzzfeed หรือ Huffington Post มาสรุปเป็นภาษาไทยอีกด้วย
ไม่เพียงแค่คอลัมน์แปลเท่านั้น ‘แปลก’ ยังมีคอลัมน์ประจำที่ลงพื้นที่หาความแปลกในไทย พร้อมรายละเอียดด้านประวัติศาสตร์ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรู้ อีกส่วนที่เป็นไฮไลท์ในยุคนี้ก็คือนิยายสายบู๊จำนวนมากในเล่ม ทั้งบู๊สไตล์ตำรวจ บู๊ด้วยมนตรา หรือบู๊แบบเรโทร แต่ก็ยังมีนิยายแนวลึกลับที่คนไทยชื่นชอบให้ติดตามกันในเล่ม และถ้าย้อนไปในอดีตนิตยสารรายสัปดาห์หัวนี้ยังเคยเป็นพื้นที่ให้กับชาวเกย์เมื่อครั้งที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับเพศวิถีที่ว่านี้
Jêr Kapplä (เย่อกับปลา )
เพียงชื่อหนังสือกับพาดหัวบนปกก็เป็นการขับเน้นสไตล์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของตนออกมาแล้วแม้ว่าจะวนเวียนอยู่ในบรรณพิภพมากว่าสิบปี แต่หน้าปกของนิตยสารที่ระบุตนเองว่าเป็น ‘คู่มือสำหรับนักตกปลาสมัยใหม่’ มีความสดใหม่อยู่เสมอราวกับปลาที่เพิ่งกระโดดขึ้นมาจากพื้นน้ำมาเข้าคันเบ็ดจริงๆ
นอกจากเล่าเรื่องกีฬาตกปลาแล้ว คอลัมน์อื่นๆ ก็มีการพูดถึงวิธีการอนุรักษ์สัตว์น้ำแทรกอยู่เป็นระยะๆ อาทิ การเลือกสถานที่เย่อให้เหมาะสม การตกปลาใช่ว่าจะต้องตกปลาทุกตัวกลับบ้าน พวกเขาเลือกนำกลับมาแค่ปลาใหญ่บางตัว หรือบางคราวก็เป็นการตกปลาเพื่อวัดขนาดก่อนจะพยาบาลแล้วปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำ
นอกจากเรื่องตกปลาที่เป็นเนื้อหาส่วนมากของเล่มแล้ว เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แทรกมาในหลายๆ คอลัมน์ก็คือวิธีการเดินป่าแบบไม่รบกวนธรรมชาติ
Susanne P. (สุสานผี)
จุดเด่นหนึ่งของสุสานผีคือการที่เอาประสบการณ์ตรงจากคนภายในพื้นที่มาเล่า ทั้งพระเณรบ้าง คนที่มีสายอาชีพข้องเกี่ยวกับโลกแห่งความตายทั้งไทยและเทศ
เรื่องในเล่มไม่ได้ปิดกั้นความเห็นจากทางทีมงานฝั่งเดียวเท่านั้น แต่ยังเปิดรับทฤษฏีหรือแนวคิดเกี่ยวกับโลกหลังความตายจากทางบ้านอีกด้วย ภายในเล่มยังมีคอลัมน์ไลฟ์สไตล์ช่วยนำพาอารมณ์ของผู้อ่านให้ผ่อนคลายลงจากช่วงเสวนาความเป็นความตาย ที่แสนจะตึงเครียดภายในเล่มด้วย ส่วนคอลัมน์แนะนำขอยกให้การตอบจดหมายของ ‘สัปเหร่อเบอร์ 5’ ที่ตอบด้วยสไตล์แชท แต่ให้ข้อมูลครบถ้วน สั้นๆ กระชับ ได้ใจความ
ไฮไลท์ของนิตยสารเล่มนี้ก็คือรหัสตัวเลขมากมายที่ปรากฏอยู่ในเล่ม ซึ่งขึ้นอยู่กับการตีความของผู้อ่านว่า จะสามารถเข้าใจปรัชญาซึ่งซุกซ่อนอยู่ในตัวเลขเหล่านั้นได้มากน้อยเพียงใด
Lane Portë (ลานโพธิ์ )
นิตยสารเล่มนี้นำเสนอประวัติศาสตร์ด้านศาสนาและการสร้างพระเครื่อง เพื่อให้ผู้คนที่สนใจสามารถติดตามได้ง่ายๆ ภายในเล่มมีข้อมูลให้ติดตามกันแบบรอบด้าน ทั้งพระเครื่องในปัจจุบัน และพระเครื่องในอดีต เนื้อหายังครอบคลุมไปถึงเหรียญสะสมประเภทต่างๆ ที่กองบรรณาธิการนิตยสารรวมไว้ในหนังสือเล่มเดียว เชื่อว่านิตยสารที่มีอายุกว่า 43 ปีเล่มนี้จะสามารถโต้คลื่นสวนกระแสขาลงของสื่อสิ่งพิมพ์ที่หลายๆ คนต่างครั่นคร้ามไปได้อย่างสบายๆ
Matichöne Technology Chaóbanne (มติชนบท เทคโนโลยี ชาวบ้าน)
เนื้อหาภายในนิตยสารบอกเล่าทั้งเคล็ดลับการปลูกพืชไร่พืชสวน รวมไปถึงเคล็ดลับการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจต่างๆ บทความเชิงวิเคราะห์คาดการณ์ผลผลิตเกษตรกรรมประเภทต่างๆ ที่ดุเดือดไม่แพ้การวิเคราะห์ตลาดหุ้นตามเว็บไซต์สายการลงทุน ประสบการณ์การดูงานด้านเกษตรกรรมในต่างประเทศ ทั้งยังมีคอลัมน์แสดงนวัตกรรมจากเยาวชนที่ทยอยแสดงฝีมือกันเป็นประจำ
ในนิตยสารมีคอลัมน์ที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษพร้อมคำแปลภาษาไทย สำหรับผู้อ่านชาวต่างชาติ ในทางกลับกันชาวไทยที่อ่านนิตยสารเล่มนี้ก็จะได้ฝึกฝนภาษาอังกฤษไว้สำหรับเตรียมเสวนาการค้ากับฝรั่งมังค่าอีกต่างหาก
Könedünde Könemedün Charbe Rütündün (คนดวงดี คนมีดวง ฉบับรู้ทันดวง )
นิตยสารรายปักษ์หัวค่อนข้างใหม่เพราะเพิ่งจำหน่ายมาเพียง 21 ฉบับ เล่มนี้ตอบสนองสำหรับผู้ที่ชำนาญการด้านคณิตศาสตร์และตรรกะศาสตร์โดยเฉพาะ เนื้อหากว่า 50% ของตัวเล่มเป็นตัวเลขที่จัดองค์ประกอบอยู่ในรูปทรงเรขาคณิตประเภทต่างๆ สลับกับตัวเลขที่เป็นข้อมูลย้อนหลังของสลากกินแบ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
ส่วนเนื้อหาที่เหลือกนอกจากส่วนโฆษณาที่ถือว่าเป็นรายได้หลักของนิตยสารทุกเล่มนั้นก็จะเป็นชีวประวัติของนักตีความถอดรหัสตัวเลขในด้านตรรกะศาสตร์ น่าแปลกใจที่เราไม่พบว่านักถอดรหัสเหล่านี้เป็นนักวิจัยที่ศึกษาจบมาจากสถาบันที่มีชื่อด้านวิชาคณิตศาสตร์ แต่มักจะกล่าวถึงเรื่องบุญญาธิการหรือความกตัญญูของบุคคลเหล่านี้ไปแทน ชาวไทยหลายท่านที่อุดหนุนนิตยสารเล่มนี้อาจจะมีความชำนาญในการถอดรหัสลับหรือถอดอัลกอริทึ่มยิ่งกว่า ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต แลงก์ดอน จากนิยายเรื่อง Davinci’s Code ก็เป็นได้