อนิเมชั่น Aggretsuko ซีซั่น 5 (และเป็นซีซั่นสุดท้าย) ออนแอร์ทางเน็ตฟลิกซ์ไปเมื่อกุมภาพันธ์ 2023 ทว่าดูเหมือนผู้คนจะไม่ได้ให้ความสนใจเท่าไร รอบตัวผู้เขียนไม่มีใครดูกันสักคน บนหน้าฟีดของโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็แทบไม่มีคนโพสต์ถึง ไม่เพียงแต่ทุกคนกำลังอินจัดกับการแก้แค้นของมุนดงอึนแห่ง The Glory แต่ดูเหมือนตัวซีรีส์ Aggretsuko จะค่อยๆ หมดเสน่ห์ลงด้วยปัจจัยหลายประการ
ต้องย้อนความกันหน่อยว่า Aggretsuko คือตัวละครแพนด้าแดงชื่อ ‘เรตสึโกะ’ จากค่าย Sanrio ในยามปกติเธอคือสาวออฟฟิศสามัญธรรมดา แต่ด้วยความเครียดสารพัดจากที่ทำงาน เธอจึงมีงานอดิเรกคือการร้องคาราโอเกะเพลงเมทัล และจะแปลงร่างเป็น ‘เรตสึโกะผู้เกรี้ยวกราด’ (Aggressive Retsuko) ผู้คำรามบทเพลงด้วยความอัดอั้นอันล้นทะลัก
Aggretsuko เปิดตัวในปี 2016 และได้รับความนิยมทันที สาเหตุหลักน่าจะมีสองข้อด้วยกัน หนึ่ง มันเป็นตัวละครที่แปลกแตกต่างจากผลงานที่ผ่านมาของ Sanrio ที่เน้นความน่ารักมุ้งมิ้ง (เช่น Hello Kitty, Cinnamoroll หรือ Gudetama) เรตสึโกะนั้นมีทั้งด้านสดใสและด้านมืดในตัวเอง และสอง- Aggretsuko เปิดตัวด้วยแอนิเมชั่นสั้นๆ ความยาวตอนละหนึ่งนาทีว่าด้วยเรื่องราวในที่ทำงานของเรตสึโกะ เธอต้องเจอกับทั้งเจ้านายจอมโหดหรือเพื่อนร่วมงานจุ้นจ้าน ซึ่งสังคมออฟฟิศแบบนี้เป็นอะไรที่ทุกคนเชื่อมโยงได้ ผู้ชมจึงเข้าใจเป็นอย่างดีเวลาที่ตัวเอกฟิวส์ขาด
อนิเมชั่นเวอร์ชั่นหนึ่งนาทีของ Aggretsuko มีจำนวนถึง 100 ตอน ออกอากาศช่วงปี 2016-2018 ทางสถานี TBS ของญี่ปุ่น ผู้เขียนจำได้ว่าช่วงนั้นที่ญี่ปุ่นมีของที่ระลึกจากตัวะครนี้ออกมาเพียบ (อันนี้จำแม่นเพราะตัวเองซื้อกระบอกน้ำ Aggretsuko มาด้วย ผลคือใช้ไปสองเดือน ลายก็เริ่มลอก…) และด้วยความที่แฟนคลับช่วยกันแปลซับไตเติ้ลเป็นภาษาต่างๆ ความนิยมของ Aggretsuko จึงไปไกลถึงระดับโกลบอล ผู้คนหลายสัญชาติพากันคอสเพลย์เป็นเรตสึโกะ (ซึ่งคอสไม่ยาก เพราะเป็นชุดสาวออฟฟิศ) หรืออย่างที่สหรัฐอเมริกาก็มีอีเวนต์ของ Aggretsuko ในหลายเมือง ผู้เขียนถึงขั้นต้องไหว้วานให้เพื่อนที่เรียนอยู่ที่นั่นช่วยซื้อเสื้อที่ระลึกมาให้
เมื่อ Aggretsuko โด่งดังพอสมควร มันก็แตกไลน์เป็นซีรีส์ 10 ตอน (ตอนหนึ่งยาวประมาณ 15 นาที) ในเน็ตฟลิกซ์ ซีซั่นแรกออกอากาศปี 2018 และได้เสียงตอบรับเป็นบวก เนื่องจากเป็นการต่อยอดเรื่องราวมาจากเวอร์ชั่นหนึ่งนาที เนื้อเรื่องหลักจึงเป็นความวายป่วงในที่ทำงานของเรตสึโกะ รวมถึงตัวละครเพื่อนร่วมงานของเธอที่มีรูปลักษณ์เป็นสัตว์นานาชนิด อาทิ เพื่อนจิ้งจอกสาวจอมสอดรู้, รุ่นน้องกวางตาใสน่าหมั่นไส้, รุ่นพี่เหยี่ยวสาวผู้แสนเย่อหยิ่ง ฯลฯ นอกจากนั้นยังสะท้อนปัญหาต่างๆ ในสังคมญี่ปุ่น เช่น ความไม่เท่าเทียมทางเพศ หรือการใช้อำนาจมิชอบในที่ทำงาน
แต่จะเล่าแต่เรื่องในออฟฟิศตลอดคงไม่ได้ เนื้อเรื่องน่าจะวนไปวนมาเป็นรูทีนตามสไตล์มนุษย์เงินเดือน ซีซั่นต่อมาของ Aggretsuko จึงเริ่มสร้างสรรค์ให้พล็อตออกไป ‘ไกล’ จากที่ทำงานของเรตสึโกะ ฟังดูเหมือนจะเป็นเรื่องดี แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ซีรีส์นี้เริ่มดิ่งเหว อย่างซีซั่น 2 (2019) ที่ตัวเอกได้พบรักกับเศรษฐีหนุ่มสุดเท่ก็ดูเหลือเชื่อและไม่สมเหตุสมผลชนิดที่ละครหลังข่าวยังเลิกทำพล็อตแบบนี้ไปแล้ว แถมปมหลักของซีรีส์ยังว่าด้วยความลังเลที่จะแต่งงานของเรตสึโกะ จริงอยู่ว่ามันคือปัญหาคลาสสิกของทุกคน ผู้เขียนก็ยังรู้สึกว่าเนื้อหาช่างเชยเหลือเกิน แต่เพื่อนผู้ใช้ชีวิตในญี่ปุ่นให้ความเห็นว่านี่แหละคือภาพสะท้อนของสังคมญี่ปุ่นที่ภายนอกดูล้ำสมัย หากภายในเต็มไปด้วยความคร่ำครึ (ประเทศนี้ยังใช้แฟ็กซ์กันอยู่จ้า)
ส่วนซีซั่น 3 (2020) ของ Aggretsuko ยิ่งออกทะเลไปกันใหญ่ เพราะอยู่ดีๆ เรตสึโกะก็ได้เดบิวต์เป็นไอดอลสายเมทัล (!?) เป็นซีซั่นที่ดูแล้วได้แต่เกาหัวแกรกๆ ว่าอิหยังหว่า ส่วนซีซั่น 4 (2021) เน้นที่ความสัมพันธ์ของเรตสึกะกับไฮดะ ไฮยีน่าหนุ่มขี้อายที่แอบชอบเธอมานานหลายปี ซีซั่นนี้ถือว่าเป็นผู้เป็นคนขึ้นบ้าง เพราะมันกลับมาพูดเรื่องออฟฟิศคัลเจอร์อีกครั้ง เรตสึโกะมักจะขัดแย้งกับคุณตัน เจ้านายผู้อารมณ์ร้อนและทำงานด้วยวิธีแบบโบราณ แต่เรื่องคลี่คลายโดยทำให้ผู้ชมเห็นว่าวิธีการ ‘โอลด์สคูล’ ของคุณตันก็มีข้อดีและเหตุผลของมัน
Aggretsuko ซีซั่น 5 (2023) ถูกประกาศว่าจะเป็นซีซั่นสุดท้ายของซีรีส์นี้ ซึ่งผู้เขียนดูแบบตามหน้าที่ ไม่ได้คาดหวังอะไรสักนิด โดยเรื่องหลักๆ ก็ต่อเนื่องจากซีซั่นที่แล้วคือโฟกัสที่เรตสึโกะและไฮดะ ทั้งคู่ย้ายมาใช้ชีวิตด้วยกัน แต่มีสถานะกลับตาลปัตร จากเดิมที่ไฮดะเป็นฝ่ายช่วยเหลือเรตสึโกะ ตอนนี้เขาลาออกจากงาน กลายเป็นพนักงานร้านสะดวกซื้อที่ใช้ชีวิตไปวันๆ เรตสึโกะต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้กำลังใจแฟนหนุ่ม แต่ให้พูดตามตรงผู้เขียนออกจะรำคาญความเหลาะแหละของไฮดะอยู่ไม่น้อย
ต่อมาเรื่องราวหักมุมว่าไฮดะนั้นมาจากตระกูลร่ำรวย พ่อเป็นนักการเมืองผู้ทรงอิทธิพล น้องชายของเขากำลังลงสมัคร ส.ส. ส่วนทางด้านเรตสึโกะดันจับพลัดจับผลูได้ลงสมัครเลือกตั้งด้วย ถึงตรงนี้ผู้เขียนเตรียมกุมขมับแล้วว่าเรื่องมีแววจะได้ออกทะเลแบบซีซั่น 3 แน่นอน ทว่าแม้เนื้อหาของซีซั่น 5 จะดูเวอร์วังและไม่น่าเชื่อถืออยู่หลายจุด แต่สารที่พยายามจะสื่อออกมาก็น่าสนใจไม่น้อย
ไม่ต้องใช้ความสังเกตมากนัก เราจะพบว่า Aggretsuko พูดถึงการปะทะกันระหว่าง ‘ความเก่า’ และ ‘ความใหม่’ อยู่เสมอ อย่างในซีซั่น 2 เรตสึโกะต้องเจอพนักงานรุ่นน้องเด็กเจน Z ที่ดูจะอ่อนไหวกับเรื่องบางเรื่องจนชวนอึ้ง หรือซีซั่น 4 ที่เธอเผชิญกับหัวหน้าที่เป็นคนจากยุคสมัยก่อนหน้า แต่ไม่ว่าจะคู่ขัดแย้งใด ซีรีส์ก็มักจะเลือกหาทางลงด้วยการให้เรตสึโกะสามารถหาทางประนีประนอมหรือสมานฉันท์ได้ ทั้งความเก่าที่เธอไม่คุ้นเคยหรือความใหม่ที่เธอไม่เข้าใจ
ทว่าท่าทีของซีซั่น 5 นั้นจริงจังต่างออกไป มันพูดถึงภาพใหญ่ขึ้น ว่าด้วยการไม่ลงรอยของคนหนุ่มสาว (โดยมีตัวแทนคือเรตสึโกะและไฮดะ) กับบรรดาพวกผู้ใหญ่ คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ ลามไปถึงพวกคนใหญ่คนโตที่มีอำนาจในสภา ซีรีส์ให้ภาพว่าเรตสึโกะที่อยู่ดีๆ ต้องไปเล่นการเมืองเอาเข้าจริงแล้วไม่ได้สนใจเรื่องพวกนี้สักนิด แต่ก็ให้เหตุผลด้วยว่าคนรุ่นใหม่ไม่ใส่ใจการเมืองไม่ใช่เรื่องการละเลยวางเฉยเท่านั้น แต่หลายครั้งที่พวกเขารู้สึกว่าถูกกดทับด้วยระบบเก่าๆ ที่ยากจะเปลี่ยนแปลง พวกเขาจึงคิดว่าการมีส่วนร่วมใดๆ ล้วนเปล่าประโยชน์
ถึงกระนั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘แรงเฉื่อย’ ทางการเมืองของเหล่าหนุ่มสาวญี่ปุ่นเป็นสิ่งขึ้นชื่อของประเทศ สถิติว่าคนรุ่นใหม่ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันน้อยมีให้เห็นทุกปี (แต่เพราะญี่ปุ่นเป็นสังคมผู้สูงอายุด้วย) หรือถ้าสังเกตข่าวม็อบข่าวประท้วงก็จะมีแต่ลุงๆ ป้าๆ มาร่วม แทบไม่เห็นนักเรียนนักศึกษาสักคน ซึ่ง Aggretsuko ขับเน้นประเด็นนี้ด้วยตัวละครชิคาบาเนะ เด็กสาวมืดมนที่ใช้ชีวิตตามร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ เธอไม่ใช่ไม่สนใจเรื่องการเมืองสังคม แต่เธอแทบจะไม่สนใจเรื่องใดๆ อีกต่อไป เพราะแค่การใช้ชีวิตแต่ละวันก็ดูเป็นเรื่องเหนื่อยเหลือทน
หากแทนที่จะเลือกวิธีการประนีประนอมแบบซีซั่นก่อนหน้า มาคราวนี้เรตสึโกะลุกขึ้นมาท้าชนกับคนรุ่นเก่าและระบบเก่าที่เธอไม่พอใจ แม้จะใช้วิธีเดิมๆ ประเภทการหาเสียงด้วยการคำรามเพลงเมทัล ความคับข้องใจที่พรั่งพรูออกมาก็โดนใจมวลชนและกลายเป็นตัวแทนเสียงของคนรุ่นใหม่ หรือกระทั่งตัวละครน้องชายไฮดะที่ทำตัวอยู่ในกรอบมาตลอด สุดท้ายก็ยอมแตกหักกับพ่อด้วยการหาเสียงในแบบของตัวเอง จึงเห็นได้ว่าทั้งสองตัวละครกำลังดิ้นรนที่จะไม่ยอมถูกกดทับอีกต่อไป โดยอาจใช้แนวทางที่ต่างกัน