บทความโดย ณัฐพล เมฆโสภณ
‘My Buddha is Punk’ คือ สารคดีที่พาเราไปสำรวจชีวิตมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่มีความหลงใหลในบางสิ่งบางอย่าง ลองคิดดูว่าจริงๆ พระพุทธเจ้าเองก็มีความพังก์ ที่ออกนอกกรอบจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ เพื่อจะหาวิธีดับทุกข์ใหม่ๆ เช่นกัน
เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ‘My Buddha is Punk’ (2015) กำกับโดยอันเดรียอาส ฮาร์ตมาน (Andreas Hartmann) ผู้กำกับชาวเยอรมัน ได้นำภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาฉายในเทศกาลภาพยนตร์ ‘Bangkok Underground Film Festival’ ปี 2017 แน่นอนว่านี่เป็นหนึ่งในภาพยนตร์สารคดีที่ได้รับความสนใจล้นหลามจากผู้ชมที่มาร่วมงาน ทั้งเสียงปรบมือหลังสารคดีจบลง และแม้กระทั่งช่วง Q&A ที่มีคำถามกันเข้ามา เหตุผลสำคัญอาจเนื่องมาจากความแปลกใหม่ในการพูดถึงวัฒนธรรมพังก์ในเมียนมาร์ การสะท้อนความคิดของวัยรุ่นชาวพม่าต่อกรณีความรุนแรงในรัฐยะไข่ และความปรารถนาไขว่คว้าสันติสุขในดินแดนบ้านเกิด
My Buddha is Punk เป็นสารคดีความยาว 68 นาที บอกเล่าเรื่องราวชีวิตวัยรุ่นชาวพม่าสุดพังก์นามว่า จ่อว์ จ่อว์ (Kyaw Kyaw) นักร้องนำวง ‘The Rebel Riot’ ผู้มีความฝันอยากจะเห็นเพลงพังก์ได้รับความนิยมในเมียนมาร์ แม้ว่าตอนนี้เมียนมาร์จะเริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่ในสายตาของ จ่อว์ จ่อว์ ประเทศบ้านเกิดของเขายังไม่ได้เปลี่ยนไปนัก และยังเต็มไปด้วยปัญหามากมายที่ยังไม่รับการแก้ไข แทนที่จะนั่งรอให้อะไรหลายๆอย่างดีขึ้นเอง จ่อว์ จ่อว์ และผองเพื่อนวง The Rebel Riot เลือกที่จะใช้เพลงพังก์เรียกร้องและกระตุ้นในชาวพม่าตระหนักถึงปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน และวิจารณ์ปัญหาสังคมต่างๆ รวมถึงการส่งต่อแนวคิดนี้ไปสู่คนรุ่นหลัง
ก่อนที่จะได้มาทำ My Buddha is Punk สมัยเรียนในมหาวิทยาลัยภาพยนตร์บาเบิลส์แบร์ก คอนราด โวล์ฟ (University Film Babelsberg Konrad Wolf) ประเทศเยอรมนี ฮาร์ตมานได้มีโอกาสทำผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องแรกถ่ายทำในประเทศเวียดนาม ชื่อ ‘Day of Rain’ (2010) ซึ่งในภายหลังสารคดีเรื่องนี้ได้จุดประกายให้ฮาร์ตมาน สนใจที่จะทำสารคดีเกี่ยวกับประเด็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำสารคดีขนาดยาวเรื่องที่สอง คือ My Buddha is Punk
“ผมสนใจสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ ตอนที่เมียนมาร์เริ่มกระบวนการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลเผด็จการทหารไปสู่ประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน ผมก็สนใจในตัวคนรุ่นใหม่ในประเทศเมียนมาร์เช่นกัน โดยปกติงานของผมจะสนใจคนรุ่นใหม่เป็นหลัก และสารคดีจะใช้เวลาส่วนใหญ่ติดตามคนรุ่นใหม่เหล่านี้ในช่วงเวลาที่สำคัญของพวกเค้าในการควานหาอัตลักษณ์และตัวตนทางสังคม พวกเขามีความรู้สึกเกี่ยวข้องและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อประเทศของเขาอย่างไรบ้าง ทั้งในช่วงก่อนและหลังกระบวนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย”
ด้วยความสนใจดังกล่าว ผู้กำกับแดนอินทรีเหล็กจึงเริ่มหาข้อมูลจากบทความในหนังสือพิมพ์จนมาเจอข้อมูลเกี่ยวกับพังก์ในเมียนมาร์ เรื่องนี้ยิ่งกระตุ้นความสนใจของฮาร์ตมานให้อยากทำสารคดีมากขึ้น และเริ่มค้นคว้าข้อมูลในอินเทอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก จนในที่สุดเขาก็ได้มาเจอ และเป็นเพื่อนกับจ่อว์ จ่อว์ ซึ่งภายหลังได้ชวนฮาร์ตมานมาที่เมียนมาร์ และเป็นการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ การเจอกันครั้งนี้ทำให้ฮาร์ตมานตัดสินใจว่าจะติดตามชีวิตของจ่อว์ จ่อว์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทนที่จะเลือกนำเสนอเรื่องราวดนตรีพังก์ในเมียนมาร์ทั้งหมดแทน
ฮาร์ตมานใช้เวลาถ่ายทำสารคดีเรื่องนี้รวมทั้งหมดประมาณ 3 ปีด้วยกัน โดยเริ่มถ่ายทำตั้งแต่ช่วงฤดูหนาวปี 2012 เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณ 2 เดือน เพราะเดิมทีผู้กำกับชาวเยอรมันไม่ได้ทำเรื่องขออนุญาตเข้ามาถ่ายทำสารคดีในเมียนมาร์และใช้เพียงแค่วีซ่านักท่องเที่ยว และหลังจากถ่ายทำก็กลับมาทำในส่วนโพสต์โปรดักชัน ตัดต่อ และแปลภาษาจนถึงปี 2015
สารคดีดำเนินเรื่องโดยใช้ฟุตเทจภาพจากการติดตามชีวิตของจ่อว์ จ่อว์ เป็นหลัก ยกเว้นช่วงแรกที่เป็นฟุตเทจจากวิดีโอ เพราะเป็นภาพในอดีตก่อนปี 2012 และน่าสนใจว่า เราจะไม่เห็นการสื่อสารระหว่างตัวเอกและผู้กำกับ ตรงนี้ทำให้คนดูเป็นเสมือนคนที่ติดตามชีวิตของคนหนึ่งๆ เท่านั้น และปล่อยให้บทสนทนา และการกระทำของตัวเอกเป็นสิ่งที่แสดงตัวตนของเค้า
My Buddha is Punk เลือกนำเสนอเรื่องราวของนักร้องสายพังก์ตั้งแต่ได้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ ‘Saffron Revolution’ ในปี 2007 เพื่อต่อต้านเผด็จการทหาร (ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวก็เป็นจุดเริ่มต้นของวง The Rebel Riot เช่นกัน) การใช้ชีวิตประจำวัน การไปนั่งสมาธิที่วัด ขณะที่หนึ่งในจุดที่น่าสนใจในสารคดี คือ การเลือกทิ้งช่วงเวลา และเน้นใช้ฉากการซ้อมดนตรี ฉากพูดคุย หรือถกเถียงระหว่างเพื่อนในกลุ่มของเขา และการพูดคุยกับคนรุ่นใหม่ที่สนใจในพังก์ สิ่งเหล่านี้ทำให้เรามองเห็นทัศนะความคิดของจ่อว์ จ่อว์ ที่พยายามใช้เพลงพังก์เป็นกระบอกเสียงทางความคิดในการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา การแสวงหาสันติสุข และทำให้คนพม่าอีกหลายคนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ ฉากการพูดคุยระหว่างจ่อว์ จ่อว์ กับคนอื่นๆ ยังพาเราไปสำรวจความคิดของวัยรุ่นพม่าต่อการเมืองในประเทศ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางศาสนา และการชาวโรฮิงญา
“ผมคิดว่า เป็นเพราะพวกเขาเติบโตในบรรยากาศของเผด็จการทหาร ซึ่งดนตรี และความเป็นพังก์ให้ความหมายและความรู้สึกตรงข้ามกับความเป็นเผด็จการ คือ ความมีอิสรเสรี ไม่มีผู้นำ ไม่มีคำสั่ง ซึ่งพวกเขาอาจจะมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามต่อความเป็นเผด็จการ
“วง The Rebel Riot ค่อนข้างจะมีชีวิตที่ยุ่งวุ่นวาย และขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความกระตือรือร้น ปกติ พวกเขาจะตื่นเช้าตรู่และเริ่มทำงานเกี่ยวกับเพลงพังก์ ดีไซน์เครื่องแต่งตัวพังก์เพื่อเอาไปขายในร้านของพวกเขา แต่ปัจจุบันร้านปิดไปแล้วเรียบร้อย เพราะว่ารัฐบาลได้สั่งห้ามไม่ให้มีการขายของข้างถนน คือ ทั้งวันของพวกเขามันก็มีแต่เรื่องพังก์ และมันไม่ได้เกี่ยวกับการออกไปเที่ยวเตร่ เสพยา หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ซึ่งแตกต่างจากทัศนคติของใครหลายคนที่มีต่อพังก์ โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับพังก์ในยุโรป “ทุกวันนี้มันเหมือนกับว่าคุณสามารถจะเป็นพังก์ได้ ถ้าคุณไม่อยากหางานทำ หรือทำงานอะไรเลย และคุณอยากจะเป็นพังก์ เพื่อไม่ต้องทำอะไรนั่นแหละ
“พวกเขาค่อนข้างที่จะเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม และอะไรหลายๆ อย่างเลย เช่น โครงการ Foods Not Bombs ซึ่งพวกเขาจะจัดเตรียมอาหารให้คนที่ไม่มีที่อยู่ในอาศัยบนท้องถนนในนครย่างกุ้ง ยกตัวอย่างเช่น ในคืนวันจันทร์ พวกเขาขอรับเงินบริจาคและนำเงินส่วนดังกล่าวไปทำอาหารให้คนที่ไม่มีที่อยู่อาศัย นอกจากนี้ พวกเขายังใช้เวลาไปกับการประท้วงและกิจกรรมในทุกๆวัน”
ขณะที่มุมมองทางศาสนาของจ่อว์ จ่อว์ ที่แสดงออกมาในสารคดีนั้นก็ดูน่าสนใจไม่แพ้กัน ทั้งในเรื่องการเปิดใจรับความแตกต่างทางด้านศาสนา รวมถึงไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการใช้ความรุนแรงในพื้นที่รัฐยะไข่ ซึ่งเป็นความคิดที่ต่างจากกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมสุดโต่งหลายคนทีเดียว และในความคิดของฮาร์ตมาน มุมมองทางด้านศาสนาพุทธของพ่อหนุ่มสุดพังก์ก็ดูจะแตกต่างจากชาวพม่าบางคนเหมือนกัน
“ทั้ง จ่อว์ จ่อว์ และซาร์นี (มือกลองวง The Rebel Riot) เคยบอกผมว่า พวกเขาไม่ได้มองศาสนาพุทธในฐานะศาสนา ทั้งสองคนมีมุมมองทางด้านศาสนาพุทธในแนวทางของเค้าเอง พวกเขาไม่เชื่อ และไม่ทำตามคำสั่ง มันคืออิสระที่จะคิดด้วยตัวของพวกเขาเอง”
บางครั้งการนับถือศาสนาจึงไม่ใช่การทำตามไปซะทุกอย่าง เราควรที่จะได้คิดด้วยตัวเองว่าสิ่งไหนถูก หรือผิด
ช่วงก่อนหน้าที่ผู้กำกับเมืองเบียร์จะได้มีโอกาสมาฉายที่ไทย เขาได้นำภาพยนตร์สารคดีไปฉายตามงานเทศกาลภาพยนตร์ที่ต่างๆเช่นกัน ซึ่งก็ได้รับความสนใจมากมาย แต่น่าเสียดายที่ My Buddha is Punk ยังไม่มีโอกาสได้ฉายในประเทศเมียนมาร์ “อาจจะเป็นปีนี้ หรือปีหน้า มันน่าจะเป็นไปได้ที่จะได้ฉายในเมียนมาร์ แต่แน่นอนว่าบางทีมันอาจจะยาก เพราะชาวพม่าบางคนอ่อนไหวกับชื่อสารคดีเรื่องนี้มาก พวกเราจะพยายามคิดหาวิธีทางที่จะทำให้เรื่องนี้ฉายในพม่าให้ได้”
อนึ่ง ความหมายของชื่อเรื่อง My Buddha is Punk คือ การสื่อถึงความเป็นมนุษย์คนหนึ่ง หรือทุกคนก็คือพุทธองค์ ที่มีความหลงใหลและความสนใจบางอย่างเช่นเดียวกัน มันก็คือตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ที่หลงใหลในวัฒนธรรม และเพลงพังก์ “พวกเขามักจะล้อผมว่า วันหนึ่งพวกเขาจะทำสารคดีเกี่ยวกับตัวผมโดยใช้ชื่อเรื่องว่า My Buddha is Camera เพราะว่าผมมักจะใช้เวลาเพ่งสมาธิ และความสนใจกับการถ่ายทำสารคดี และกล้องถ่ายวิดีโอ มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผม สำหรับพวกเขา ชีวิตก็คือพังก์ และคือ My Buddha is Punk และแน่นอนสำหรับผม มันก็สะท้อนถึงความหลงใหลของตัวผมต่อการทำภาพยนตร์ และมันก็คือความเชื่อของผม
“ทุกๆ คนสามารถมีความหลงใหล ความสนใจในชีวิตที่แตกต่างกัน และนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าใครจะดี หรือเลวกว่ากัน ทุกอย่างมีคุณค่าเท่าเทียมกันหมด แต่มันสำคัญที่คุณต้องมีบางอย่างที่พิเศษสำหรับอัตลักษณ์ของตัวคุณเองที่คุณสามารถเชื่อมโยงกับตัวคุณได้”
My Buddha is Punk จึงเปรียบเสมือนสารคดีที่ติดตามเรื่องราวชีวิตของจ่อว์ จ่อว์ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่มีความหลงใหลในสิ่งที่เรียกว่า พังก์ สุดท้ายพังก์ในความหมายของนักร้องหนุ่มสุดพังก์คนนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ดนตรี หรือวัฒนธรรมเพียงอย่างเดียว แต่พังก์ ในสารคดีกลับเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ขัดเกลาตัวตนของจ่อว์ จ่อว์ทั้งมุมมองทางโลก บุคลิก นิสัย และตัวตน สุดท้ายก็กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่จ่อว์ จ่อว์ใช้เพื่อแก้ไขความไม่ถูกต้อง ไขว่คว้าหาความสงบสุข
ปัจจุบัน ฮาร์ตมานก็เพิ่งมีผลงานภาพยนตร์สารคดีขนาดยาวเรื่องใหม่เป็นเรื่องที่สามชื่อ “A Free Man” (2017) ซึ่งเป็นเรื่องการติดตามคนไร้บ้านชาวญี่ปุ่นคนหนึ่ง ที่ในช่วงวัยเด็กมีความฝันที่อยากจะเป็นนักดนตรีคลาสสิก แต่ในภายหลังตัดสินใจทิ้งการเรียนในมหาวิทยาลัยและหนีออกจากบ้านเพื่อมาเป็นคนไร้บ้านอยู่ใต้สะพานในอดีตเมืองหลวงเกียวโต ทั้งนี้ สารคดีมีการตัดต่อเป็นฉบับสารคดีขนาดสั้นเพื่อฉายในรายการโทรทัศน์ของเยอรมนี ซึ่งได้ออกอากาศไปแล้ว แต่ฉบับยาวยังต้องมาลุ้นกันว่าจะทันได้ฉายปีนี้หรือไม่