ในขณะที่หลายคนรู้สึกว่า Black Panther ยังครองโรงอยู่ รู้ตัวอีกทีหนัง Tomb Raider ฉบับล่าสุดก็ได้เข้าฉายในบ้านเราไปแล้ว ความจริงหนังฉบับรีบูทที่อิงตามเกมรีบูทเรื่องนี้ก็ดูไม่แย่เลยนะ แต่เมื่อดูตัวเลขรายได้ และคะแนนรีวิวจากหลายๆ ที่ ก็ดูท่าทางว่าหนังเรื่องนี้จะเข้าข่ายหนังแป้กไปเสียแล้ว หรือมันจะเป็นคำสาปอะไรที่ทำให้หนังจากวิดีโอเกมไปไม่รอดจริงๆ นะ ?
ประเด็นนี้เหมือนจะเป็นเรื่องที่แฟนหนังกับแฟนวิดีโอเกมถกกันมาชั่วนาตาปีแล้วว่า หนังจากเกมไม่เคยมีอะไรดีพอให้คนดูหนังแฮปปี้ ส่วนคนเล่นเกมก็รู้สึกว่านี่คือหนังที่หลุดมาจากเกมที่พวกเขาเล่นจริงๆ จนมีบางคนพูดขึ้นมาว่า ไม่ว่าคนทำหนังชาติไหนก็ตามควรจะหยุดทำหนังจากเกมได้แล้ว แต่โดยส่วนตัวเราเชื่อว่าการตัดสินหนังแบบนั้นทันทีทันควันก็ดูใจร้ายไปสักหน่อย เพราะฉะนั้นครั้งนี้เราจะค่อยๆ ไล่เรียงกันไปว่า หนังจากวิดีโอเกมมันแย่จนไม่ควรทำซ้ำ หรือจริงๆ แล้วมันมีปมปัญหาอื่นๆ ที่ทำให้หนังมันดีไม่พอกันแน่
*คะแนนที่นำมาอ้างอิงในบทความนี้เป็นการตรวจสอบคะแนนเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2018*
หนังจากเกมเจ๊งจริงหรือ ?
หากเราตัดสินหนังจากวิดีโอเกมด้วยคะแนนรีวิวจากเว็บไซต์ต่างๆ ก็บอกได้ค่อนข้างเต็มปากว่า หนังเกม คือ หนังเจ๊ง อย่าง Tomb Raider ฉบับปี 2018 ได้คะแนนจาก Rotten Tomato 51%, IMDB 6.9/10 และมี Metascore 47 ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ได้สูงเด่นอะไรมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นยอดตัวเลขที่ดีกว่าตัวหนังฉบับก่อนหน้านี้ อย่าง Lara Croft: Tomb Raider ที่ได้ Angelina Jolie รับบทเป็นนางเอกเมื่อปี 2001 ที่ได้คะแนน Rotten Tomato 20% , IMDB 5.8/10 และ Metascore 33
พอเห็นคะแนนของ Tomb Raider แล้วก็เลยอยากจะเช็คคะแนนของหนังเรื่องอื่นๆ ที่ผู้เขียนประทับใจในสมัยก่อนขึ้นมาตงิดๆ อย่างเรื่อง Mortal Kombat ตอนเด็กๆ ก็คิดว่าสนุกไม่หยอกนะ (แถมมาถ่ายเมืองไทยด้วย) ได้คะแนน Rotten Tomato 34%, IMDB 5.8/10, และ Metascore 58 หรือ Silent Hill ที่แฟนเกมหลายคนชื่นชมการปรับเปลี่ยนเนื้อเรื่องบางส่วนให้เหมาะกับคนดูทั่วไป แต่ยังเก็บเอาเนื้อหาจากเกมมาได้ค่อนข้างครบก็ได้คะแนนชวนน้อยเนื้อต่ำใจ แบบนี้ Rotten Tomato 29%, IMDB 6.6/10 และ Metascore 31
แต่หากดูในเรื่องรายได้แล้ว เรื่องจะกลายเป็นอีกแง่มุมหนึ่งทันที อย่าง Lara Croft: Tomb Raider ทำรายได้ไปราวๆ 274 ล้านเหรียญ, Silent Hill ทำรายได้ไปราว 97 ล้านเหรียญ, Mortal Kombat ถือว่าทำรายได้ดีมากๆ เพราะทำเงินถึง 122 ล้านเหรียญในปี 1995 และถ้าดูรายได้หนังจากเกมที่ทำรายได้มากที่สุดตอนนี้ก็คือ Warcraft ที่ทำรายได้มากกว่า 433 ล้านเหรียญ
เพราะฉะนั้น หนังจากวิดีโอเกมไม่ใช่หนังเจ๊งซะทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันก็บอกได้ว่าหนังจากวิดีโอเกมนั้นยังไปไม่ถึงจุดที่เรียกว่าหนังดีเลยแม้แต่เรื่องเดียว ซึ่งผลพวงนั้นทำให้คนดูหนังทั่วไปจดจำว่า หนังจากวิดีโอเกมเป็นว่าที่หนังเจ๊งไปเสียทุกเรื่องมากกว่า
งั้นลองสร้างหนังจากเกมด้วยเนื้อเรื่องใหม่ แต่อิงระบบและบรรยากาศของเกมจะทำให้หนังดีขึ้นไหม ?
ประเด็นนี้ชาแนลที่เสวนาเรื่องเกมในเชิงการผลิตอย่าง Extra Credits เคยออกความเห็น บางทีการทำหนังจากวีดีโอเกมก็ไม่จำเป็นต้องดึงตัวเกมหรือตัวละครไปแบบตรงๆ ก็ได้ คนทำหนังน่าจะลองดัดแปลง ‘ปัจจัยที่ทำให้เกมเป็นที่จดจำ’ แล้วนำมาทำเป็นหนังเรื่องใหม่ที่ไม่จำเป็นต้องอิงกับเนื้อเรื่องของวิดีโอดั้งเดิมโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น ถ้านำเกม Call Of Duty มาเล่าเป็นหนัง ทำไมถึงไม่ลองสร้างหนังสงครามในมุมมองบุคคลที่หนึ่งไปเลยล่ะ?
และภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่ทาง Extra Credits ยกเป็นตัวอย่างว่าเป็นหนังที่ลองดัดแปลง ‘ปัจจัยที่ทำให้เกมเป็นที่จดจำ’ ที่เคยสร้างมาแล้วอย่างเรื่อง Clue ซึ่งทำการดัดแปลงมาจากบอร์ดเกม Cluedo ซึ่งในหนังดังกล่าวเดินเรื่องด้วยตัวละครกลุ่มหนึ่งไปร่วมงานเลี้ยงในคฤหาสน์ที่ในงานต้องใช้นามแฝงแทนชื่อจริง และเมื่ออยู่ๆ มีคดีฆาตกรรมเกิดขึ้น ทุกคนในบ้านหลังใหญ่จึงต้องพยายามพิสูจน์ว่าตนเองไม่ใช่คนร้ายและตามหาว่าใครเป็นฆาตกรตัวจริง
ตัวหนังดัดแปลงแก่นของบอร์ดเกมได้อย่างดี รวมถึงยังทำให้ฉากจบตอนฉายในโรงภาพยนตร์มีหลายแบบคล้ายๆ กับการเล่นบอร์ดเกมจริงๆ ที่คนร้ายจะต้องผันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และมีคะแนน Rotten Romatoes 59%, IMDB 7.3/10 และ Metascore 36 ซึ่งเป็นคะแนนที่ดูเข้าท่าเข้าทีเลยทีเดียว กระนั้น ในด้านรายได้ของหนังเรื่องนี้กลับอยู่ในระดับที่ถือว่าแป้กสนิท เพราะทำเงินในบ้านเกิดเพียง 14 ล้าน 6 แสนเหรียญ จากต้นทุนสร้างประมาณ 15 ล้านเหรียญ
ถ้างั้นแปลว่าวิดีโอเกมยังไม่เคยทำอะไรแบบนี้งั้นหรือ คำตอบก็คือไม่ใช่เสียทีเดียว หนังเรื่องหนึ่งที่ทำเช่นนั้นไปแล้วก็คือ Final Fantasy: Spirit Within ที่อาจจะไม่มีการพกดาบแบบชัดเจน แต่ในเรื่องก็มี โลกที่เต็มไปด้วยมอนสเตอร์, การออกไปนอกเมืองจะต้องไปกันเป็นปาร์ตี้ 4-5 คน, ในปาร์ตี้มีคนทำหน้าที่หลายอย่าง, มีมอนสเตอร์ทั้งแบบลูกกระจ๊อกและตัวบอส ตัวละครเอกรับรู้ถึงพลังบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับศัตรู และในตอนสุดท้ายก็เหมือนจะใช้พลังเวทสุดยอดในการจัดการศัตรูทิ้ง มันก็ดูครบอรรถรสของเกม Final Fantasy อยู่นะ
แต่…หนังเรื่องดังกล่าวได้คะแนน Rotten Tomato 45%, MDB 6.4/10 และ Metascore 49 แย่กว่า Clue เสียอีก ส่วนเรื่องรายได้ก็ย่ำแย่ไม่แพ้กัน จากต้นทุนราว 137 ล้านเหรียญ กลับทำรายได้ในบ้านเกิด 85 ล้านเหรียญ ทั้งยังกล่าวกันว่าตัวหนังเรื่องนี้เป็นเหตุผลหลักที่ Square Soft ต้องยอมรวมบริษัทกับ Enix เพื่อความอยู่รอด
ส่วนไอเดียอีกอันที่ Extra Credits กล่าวเอาไว้ ว่าลองทำหนังแบบประเภทของเกมไปเลย ความจริงหนังเรื่อง DOOM ได้เคยทำเอาไว้เป็นฉากสั้นๆ ก่อนที่จะมีหนัง Hardcore Henry ซึ่งอาจจะไม่ได้ดัดแปลงมาจากวิดีโอเกมแต่ใช้มุมมองแบบเกมยิงบุคคลที่หนึ่งเดินเรื่องตลอดเรื่อง ก็ไปได้ดีในฝั่งรายได้ แต่ในฝั่งคำวิจารณ์ก็ยังไม่ถึงฝัน (Rotten Tomato 50%, IMDB 6.7/10 กับ Metascore 51) เพราะงั้นแนวทางนี้อาจจะไม่ใช่แนวทางที่เวิร์กเสียทีเดียว
หรือเพราะเนื้อเรื่องเกมไม่เวิร์กอยู่แล้ว ?
ถ้าพูดถึงหนังทั่วๆ ไป จุดหนึ่งที่กำหนดความเป็นไปของหนังได้ก็คือตัวเนื้อเรื่อง ยิ่งเนื้อเรื่องน่าสนใจก็จะเป็นแรงจูงใจให้คนตีตั๋วเข้าไปดูหนังได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ามองไปที่วิดีโอเกมซีรีส์ยอดนิยมหลายๆ เกม นั้นมีเนื้อเรื่องตั้งต้นที่ไม่ได้ดีมากขนาดนั้นน่ะสิ อย่างเกมที่เคยทำหนังไปแล้วอย่าง Super Mario ก็เป็นแค่เรื่องของชายหนุ่มที่ไปช่วยเจ้าหญิง, Tekken คนรวยที่มีปัญหาครอบครัว โปรยเงินจัดงานต่อยกันเพื่อเคลียร์ดราม่า, Double Dragon เป็นสองพี่น้องฝาแฝดบุกไปช่วยแฟนสาว ฯลฯ
ตอนที่เป็นเกมอยู่นั้นมันก็ไม่แย่อะไรหรอกครับ แต่พอจะต้องดัดแปลงมาเป็นหนังแล้ว พล็อตที่ว่านี้มันซ้ำอยู่เยอะ คนทำหนังจึงมีความจำเป็นที่จะต้องดัดแปลงโครงเรื่องอะไรบางอย่างไปเพื่อให้เนื้อเรื่องของหนังมีอะไรนอกจากเป้าหมายหลักของตัวเกมบ้าง ซึ่งส่วนใหญ่คนทำหนังก็มักจะใส่อะไรให้เยอะขึ้นมากกว่าทอนออก อย่างล่าสุดผู้เขียนเพิ่งได้เห็นตัวอย่างหนังที่สร้างจากเกม Dynasty Warriors หรือ Sangoku Musou ที่แปลงเรื่องไปเป็น ในเมืองจีนจะมีมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่ได้รับพลังมาจากเทพผานกู่ ที่เรียกว่าพลัง ‘มุโซ’ ซึ่งผู้มีพลังเหล่านี้สามารถครองแผ่นดินได้ …อะหือ เวอร์เกินเกมต้นฉบับไปพอตัวเลย
งั้นแปลว่าเกมจะมีพล็อตห่วยเสมอไปไหม คำตอบก็คือไม่ครับ อย่างช่วงนี้หลายๆ คนน่าจะเห็นหลายๆ เกมที่พล็อตดี อย่าง Nier: Automata ที่ชวนคิดชวนตั้งคำถามว่าแท้จริงการมีชีวิตอยู่คืออะไรกันแน่ ? BioShock ที่เล่าเรื่องเหมือนหนังแอคชั่นทั่วไป แต่อุดมไปด้วยคำถามเชิงปรัชญา, The Last Of Us ที่ทำให้คนเล่นหรือคนดูเกมเข้าใจว่าความสัมพันธ์แบบครอบครัวที่ไม่ได้มาจากครอบครัวนั้นมีอยู่จริง ฯลฯ
ถ้าไม่นับว่าเกมที่ยกชื่อไปเพิ่งออกไม่นานล่ะ ทำไมเราถึงยังไม่เห็นเกมเนื้อเรื่องดีเหล่านี้กลายเป็นหนัง มันยังมีอีกปัญหาที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่ต่อให้ใครเอาเกมเหล่านี้มาดัดแปลงไปเป็นหนังแบบดื้อๆ หนังก็ยังมีโอกาสเจ๊งอยู่ดี
ปัญหาที่น่าจะสำคัญที่สุดของหนังจากวิดีโอเกมก็คือ…
จุดหนึ่งที่สื่อหลายเจ้า รวมถึงตัวผู้เขียนเองก็คิดเห็นตรงกันว่าปัญหาใหญ่ของวิดีโอเกมที่ไม่สามารถทำเป็นหนังได้แน่ๆ ก็คือ ‘ความรู้สึกร่วมจากการเล่น’ ยกตัวอย่าง เช่น หลายคนอาจจะอินกับเกม RoV เพราะเล่นเกมนี้เป็นประจำ เข้าใจว่าฮีโร่แต่ละตัวมีทักษะอย่างไร ควรใช้งานทักษะเหล่านั้นตอนไหน ช่วงต้นเกมควรไปทำอะไรก่อน แล้วช่วงท้ายเกมตัดสินใจแบบไหนถึงเวิร์ก หลังจากนั้นก็รู้ผลแพ้ชนะกัน ซึ่งตรงนี้คุณอาจจะหัวร้อนเพราะแพ้ หรือ ฟินรับประทานจากการอัพเกรดข้ามแรงก์ได้เสียที ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะนำเสนอในหนังที่ดัดแปลงจากวิดีโอเกมได้อย่างไม่เต็มที่ เราอาจได้เห็นท่าพิเศษเหล่านั้นในหนังได้เห็นว่าช่วงเวลาไหนที่ตัวละครทำเรื่องที่สมควร หรือตอนไหนที่ทำอะไรงี่เง่า หนังอาจทำให้เราเห็นความสะใจของตัวเอก และความแค้นเคืองของตัวร้าย ซึ่งการถ่ายทอดเหล่านี้เป็นไปในทางเดียวกัน ดังนั้นต่อให้เกมมีเนื้อเรื่องที่ดี มีการสร้างที่ดี แต่มันก็ไม่สามารถสร้างความรู้สึกเฉพาะคนได้เหมือนเวลาเล่นเกมที่สุดท้ายต่างคนก็จะมีความถนัดในการเล่นเกมแต่ละเกมแตกต่างกันไป
และนี่น่าจะเป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ทำให้หนังจากวิดีโอเกมไปไม่ถึงฝันในแง่การเป็น ‘หนังดี’ เสียที
แล้วทำไมคนทำหนังถึงยังพยายามสร้างหนังจากวิดีโอเกมอีก ?
ถ้าย้อนกลับไปช่วงกลางยุค 1990 เหตุผลในการทำหนังจากเกมเกิดขึ้นจากภาวะที่ฮอลลีวูดต้องการเนื้อหาอะไรใหม่ๆ บ้าง ทำให้สื่อบันเทิงแบบวิดีโอเกมที่เพิ่งทำตลาดวงกว้างมาไม่กี่สิบปี กลายเป็นอะไรที่น่าสนใจดัดแปลงขึ้นมา และนั่นทำให้เราได้หนังจากวิดีโอเกมอย่าง Super Mario Bros., Double Dragon และ Street Fighter หรือเกมที่เราควรจะเก็บมันเป็นภาพความสุขในวัยเด็กอย่าง Mortal Kombat ที่แม้จะไม่ได้ทำฉากโหดให้เหมือนกับเกมเป๊ะๆ แต่ก็น่าจดจำจากการพยายามจำลองเกมมาเป็นหนังคนแสดงได้อย่างดี และมีเพลงเปิดที่โคตรติดหูซึ่งยังมีผับหลายแห่งแอบเอามาเปิดด้วย
ข้ามมาช่วงต้นๆ ของยุค 2000 มีชายท่านหนึ่งนามว่า Uwe Boll ได้ทำการติดต่อซื้อสิทธิ์การดัดแปลงวิดีโอเกมเป็นหนังหลายต่อหลายเกม ในช่วงแรกๆ แฟนเกมก็ดีใจอยู่หรอกที่มีใครสักคนกล้าทำหนังจากเกมดังหลายๆ เกมเสียที จนกระทั่งหนังของตา Boll เริ่มออกฉาย หลายคนจึงรู้ว่า ‘ฉิบหายแล้ว’ เพราะ Uwe Boll ทำหนังได้ไม่สนุกอย่างร้ายแรง จนหลายๆ เรื่องที่เขาสร้างขึ้นนั้นถูกตีตราเป็นหนังที่ห่วยที่สุดในวงการด้วย แต่เหตุผลที่เขาเข็นหนังเกมห่วยๆ ออกมารัวๆ ในช่วงนั้น ก็เพราะเป็นเขาได้รับผลโดยตรงจากการสร้างหนังให้เจ๊งน่ะสิ
ซึ่งเงินที่เขาได้ไม่ใช่เงินจากรายได้ที่ล่อแฟนเกมไปดูในโรง แต่เป็นเรื่องกฎหมายในหลายๆ ประเทศของยุโรป ที่พยายามต้านการมาของภาพยนตร์จากฮอลลีวูดด้วยการเปิดกุศโลบายลดภาษีให้กับผู้สร้างหนังในประเทศนำเอาเงินลงทุนสร้างหนังมาใช้เป็นเงินลดหย่อนภาษีและขอรับเงินคืนได้ โดยเฉพาะในฝั่งเยอรมันที่ระบุว่าสามารถจ่ายภาษีตามสัดส่วนรายได้ของหนัง ซึ่งจริงๆ ตอนนั้นไม่ใช่แค่ Boll ที่ทำ ค่ายหนังใหญ่ก็มักจะตั้งบริษัทสร้างหนังในเยอรมัน (หรือประเทศอื่นที่มีกฏหมายลักษณะคล้ายๆ กัน) เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่เมื่อหนังของ Boll ตีตราว่า ‘เจ๊งแน่นอน’ ก็จะทำให้คนที่เกี่ยวข้องกับ Uwe Boll รวย รวย รวย นั่นเอง… จนกระทั่งทางเยอรมันทำการอัพเดตกฎหมาย การทำหนังห่วยรัวๆ ของ Uwe Boll ก็จบลง
ถ้างั้นทำไมหลังจากยุค 2000 ตอนต้นและหลังจากกฎหมายโดนปรับไปแล้ว ถึงยังมีคนทำหนังจากเกมอีก ? ส่วนหนึ่งก็แน่นอนว่าเจ้าของเงินทุนทำหนัง มองเห็นตัวเลขของคนเล่นเกมที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกหลายสิบล้านคน พวกเขาก็ย่อมอยากจะหารายได้จากกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ อีกส่วนหนึ่งก็คือ เพราะคนสร้างหนังในยุคนี้นั้นเป็นกลุ่มคนที่โตมากับการเล่นเกม และเมื่อพวกเขามีความผูกพันกับมันขึ้นมาแล้ว พวกเขาก็อยากจะสร้างหนังจากเกมในมุมมองของพวกเขาขึ้นมา
แล้วสุดท้ายเราจะได้มีโอกาสเห็นหนังจากวิดีโอเกมที่อยู่ในข่ายหนังดีไหม ผมเชื่อว่าเรามีโอกาส ซึ่งชาแนล Extra Credits ก็ยังยกตัวอย่างไว้ว่า ขนาด Lord Of The Rings ยังใช้เวลาเกือบ 50 ปีถึงจะได้หนังดีๆ ออกมาเลย ฝั่งวิดีโอเกมอาจจะใช้เวลาน้อยกว่านั้นสักหน่อย ลองดูได้จากการที่วิดีโอเกมพัฒนาไปได้มากขนาดในช่วงไม่กี่ทศวรรษนี้ดูสิ
ผมเชื่อว่า ความรัก ผูกผันและชื่นชอบวิดีโอเกม หรือ ‘ความเป็นแฟน’ นี่ล่ะที่จะเป็นอุปกรณ์นำทางให้คนทำหนังสามารถสร้างหนังจากวิดีโอเกมที่ดีออกมา แค่อาจจะต้องร้องเพลงรอกันอีกนิดเท่านั้น
อ้างอิงข้อมูลจาก