งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ 18-29 ตุลาคมนี้ แม้ว่าหลายคนจะยังเคลียร์เล่มเก่าที่ดองจากงานหนังสือเมื่อต้นปีไว้ไม่ทันหมด แต่พอถึงงานหนังสือทีไรก็อดซื้อเล่มใหม่ไม่ได้สักที แล้วงานหนังสือตุลานี้จะซื้อเล่มไหนดีนะ
The MATTER ชวนเหล่าคนทำหนังสือจากหลากหลายสำนักพิมพ์มาร่วมแนะนำว่า งานหนังสือในอีกสามสี่วันข้างหน้ามีปกใหม่ปกไหนที่น่าสนใจ หรือปกไหนที่แม้จะไม่ถึงขนาดใหม่แกะกล่องแต่น่าอ่านบ้าง ลิสต์เอาไว้ในใจแล้วเตรียมไปซื้อมาอ่านกัน
ณัฏฐพรรณ เรืองศิรินุสรณ์ และ กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ – บรรณาธิการสำนักพิมพ์ openw orlds
ศาสนา : ประวัติศาสตร์ศรัทธาแห่งมวลมนุษย์ (A Little History of Religion)
เขียนโดย Richard Holloway / แปลโดย สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
เป็นเล่มที่ร้อยเรียงเรื่องราวของศาสนาทั่วทุกมุมโลกได้อย่างสนุกและมีชั้นเชิง อ่านแล้วเพลินเหมือนดูละครศาสนาฉากใหญ่ที่เต็มไปด้วยจุดไคลแมกซ์และพล็อตหักมุม ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าศาสนาหาใช่ตัวละครพ่อพระที่ขาวสะอาดเสมอไป เพราะในบางคราวมันทั้งมืดหม่นและมือเปื้อนเลือด บอกเลยว่าเล่มนี้สมควรเป็นหนังสืออ่านประกอบวิชาศาสนามากๆ เพราะคุณจะได้เห็นศาสนาในมุมใหม่ที่ไม่ใช่แค่ ‘เครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของมนุษย์’ อย่างที่เราคุ้นเคย
มหัศจรรย์เกาหลี : จากเถ้าถ่านสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม (Korea : The Impossible Country)
เขียนโดย Daniel Tudor / แปลโดย ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ
เล่มนี้จะพาเราไปรู้จักเกาหลีใต้ให้ลึกซึ้งกว่าแค่เคป๊อปและกิมจิ แต่จะขุดไปถึงรากโสมซึ่งในอดีตเคยจมอยู่ใต้เงื้อมเงาของประเทศมหาอำนาจ ล้มลุกคลุกคลานจากภัยสงคราม ถูกครอบงำจากผู้นำเผด็จการ กระทั่งก้าวขึ้นมายืนหยัดทัดเทียมเป็นประเทศที่รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและรุ่มรวยทางวัฒนธรรม ไม่ว่าคุณจะเป็นติ่งเกาหลีหรือไม่ เราขอแนะนำให้ลองอ่านดู เพราะเรื่องราวของประเทศนี้เขาไม่ธรรมดาจริงๆ
อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (The Internet of Things)
เขียนโดย Samuel Greengard / แปลโดย ทีปกร วุฒิพิทยามงคล
เล่าเรื่องระบบอัจฉริยะที่สิ่งของหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล หรือ ‘พูดคุย’ กันได้เอง เช่น เมื่อรถสามารถขับเคลื่อนอย่างไร้คนขับโดยอาศัยข้อมูลจากถนนและยานพาหนะอื่นๆ หรือบ้านที่ควบคุมอุณหภูมิ ระบบไฟ หรือแม้แต่ฝักบัวอัตโนมัติที่มนุษย์ไม่ต้องออกคำสั่งใดๆ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่งเกิดขึ้นแล้ว และจะทวีความสามารถรวมถึงความสำคัญต่อชีวิตและการงานของเราขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้
ปาลิดา พิมพะกร – Co Founder, Typhoon Studio
ความจนกับคนจร ในปารีสและลอนดอน (Down and Out in Paris and London)
เขียนโดย จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) / แปลโดย บัญชา สุวรรณานนท์ / สำนักหนังสือไต้ฝุ่น
สารคดีคลาสสิกของจอร์จ ออร์เวลล์ ผู้เขียน แอนิมอล ฟาร์ม : สงครามกบฏของสรรพสัตว์ (Animal Farm) และ พม่ารำลึก (Burmese Days) เป็นบันทึกประสบการณ์ในวัยหนุ่มที่ได้เข้าไปคลุกคลีกับชีวิตคนจรจัดและผู้ใช้แรงงานในย่านเสื่อมโทรมของปารีสและลอนดอน เพื่อหาประสบการณ์จริงมาใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับงานเขียน ที่ตีแผ่ถึงความยากจนและความทุกข์ยากในการใช้ชีวิต
ออร์เวลล์บันทึกเรื่องราวชีวิตของตนเองและผู้คนที่ได้รู้จักทั้งในช่วงตกงาน หรือตอนที่ได้ทำงานเป็นคนล้างจานในภัตตาคารที่ปารีส ตลอดจนช่วงที่ต้องกลายเป็นคนเร่ร่อนเมื่อย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่ประเทศอังกฤษ
การไม่มีงานทำ ไม่มีเงินใช้ ต้องขายแม้กระทั่งเสื้อผ้าเก่าๆ เพื่อแลกกับเงินจำนวนน้อยนิดสำหรับซื้ออาหารประทังชีวิตให้อยู่รอดวันต่อวัน หรือการได้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของเพื่อนผู้ร่วมชะตากรรม ทำให้ออร์เวลล์สัมผัสถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นโดยตรง เขาจึงถ่ายทอดออกมาได้อย่างเห็นภาพ บวกกับสำนวนการแปลที่มีสีสัน ทำให้อ่านสนุกจนแทบวางไม่ลง
หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ (Momose Kocchi wo Muite)
เขียนโดย เออิจิ นาคาตะ / แปลโดย ปิยะวรรณ ทรัพย์สำรวม / สำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน
ผลงานรวมเรื่องสั้นของนักเขียนญี่ปุ่นผู้สร้างชื่อจากการเขียนเรื่องสืบสวน ลึกลับ แฟนตาซี แฝงอารมณ์ละมุนโรแมนติก ปนเหงาและหม่นเศร้า ‘เออิจิ นาคาตะ’ หรือที่นักอ่านไทยคุ้นเคยกันมาบ้างแล้วจากนามปากกา ‘โอตสึ อิจิ’
หันมาทางนี้เถอะนะ, โมโมเสะ เป็นงานเดบิวต์เล่มแรกของเออิจิ นาคาตะ ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนกลายเป็นภาพยนตร์ชื่อเรื่องเดียวกันในปี 2014 และเป็นละครเวทีในปี 2016
รวม 4 เรื่องสั้นของเออิจิเล่มนี้เล่าเรื่องความรักแตกต่างมุมมอง ภายใต้บรรยากาศที่ไม่ถึงกับหม่นมัวน้ำตาคลอ แต่ก็ไม่ได้โรแมนติกหวานจ๊อย เพราะเคลือบคลุมไปด้วยความกังวล สงสัย หรือการต้องค้นหาอะไรบางอย่าง ความไร้เดียงสาของเหล่าตัวละคร การปิดบังความรู้สึกที่แท้จริง หรือการเก็บงำความลับเล็กๆ ทำให้พวกเขาต้องพบกับความปั่นป่วนวุ่นวายใจ จนต้องย้อนกลับไปทบทวนและสำรวจเบื้องลึกของจิตใจว่านั่นมันใช่สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ หรือเปล่า
Once in the Wild
เรื่องและภาพโดย ต้องตา จิตดี / สำนักพิมพ์ซันเดย์ อาฟเตอร์นูน
เพลง-ต้องตา จิตดี นักดนตรีสาวจากวง Plastic Plastic และผู้เขียนหนังสือ Nice to Meet Me! ออกเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อแสวงหาประสบการณ์ชีวิต เมืองควีนส์ทาวน์ ประเทศนิวซีแลนด์ คือจุดหมายล่าสุดของเพลง ทำให้หญิงสาวผู้หลงใหลในธรรมชาติ และสนุกกับการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ได้ผจญภัยเก็บเกี่ยวบทเรียนที่เธอไม่เคยคิดฝันว่าจะได้พบเจอ
ผลงานเล่มนี้ของเพลงยังคงถ่ายทอดออกมาด้วยเรื่องเล่าที่อบอุ่นละมุนละไม อ่านแล้วรู้สึกถึงความตื่นเต้นดีใจของเธอที่ได้ลองเหวี่ยงตัวเองออกไปจากชีวิตที่คุ้นเคย และได้แรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ทำให้อยากออกเดินทางอีกครั้งเมื่อได้เห็นรูปถ่ายผ่านสายตาของเธอ
ชมพูนุท ดีประวัติ – บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ a book
Horrorstor เฮี้ยนสิงห้าง
เขียนโดย เกรดี เฮนดริกซ์ / แปลโดย โตมร ศุขปรีชา
ตามชื่อเป๊ะ เรื่องนี้ว่าด้วยห้างที่มีผีเฮี้ยนสิงสู่อยู่ ไม่ใช่ตัวเดียว แต่เป็นกองทัพ และห้างนี้ก็เป็นห้างเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างขึ้นเพื่อเลียนแบบอิเกีย แค่พล็อตเรื่องก็ฟ้องชัดว่า ‘เกรดี เฮนดริกซ์’ -ผู้เขียน เข้าถึงไลฟ์สไตล์วงการค้าปลีกระดับมหภาคในปัจจุบันเป็นอย่างดี ที่เรามักมีแบรนด์ออริจินัลที่ชูอุดมการณ์ดีงามในการใช้ชีวิต พอแบรนด์นั้นดังระดับโลกขึ้นมา ก็จะมีแบรนด์เลียนแบบที่หน้าตาและคาแรกเตอร์โขกกันมาเป๊ะๆ ดังเช่นห้างเฟอร์นิเจอร์ผีสิงในหนังสือเล่มนี้ มันคือวรรณกรรมสยองขวัญที่เขียนขึ้นเพื่อคนเจนล่าสุดโดยเฉพาะ เพราะนี่คือยุคสมัยที่เรามีห้างค้าปลีกเป็นสรณะในชีวิต และท่ามกลางสินค้าดีไซน์ล้ำๆที่ผลิตซ้ำอยู่เกลื่อนห้างนี่แหละ ที่เหล่าผีคนบาปจะกระชากวิญญาณคุณ ถามว่าเลือดสาดเลยไหม? ยิ่งกว่านั้นอีก!
Manali & Julley มะนาลี แอนด์ จูลเลย์
เขียนโดย ตินกานต์ / ภาพโดย พจชพล
สองหนุ่มสาวคู่รักที่ไม่ใช่มนุษย์สายแอดเวนเจอร์ แต่หาญกล้าออกทริปขี่บิ๊กไบค์ตะลุยหิมาลัย มะนาลีคือชื่อเมืองต้นทาง และจูลเลย์คือคำทักทาย คำกล่าวลา และคำขอบคุณในภาษาทิเบต พวกเขานำมาตั้งเป็นชื่อพาหนะคู่ใจสองคัน ที่พาพวกเขาค่อยๆไต่ความสูงมากขึ้นๆ จนต้องนอนในความหนาวระดับติดลบเท่าไหร่ไม่รู้ แต่ไม่กล้าแม้แต่จะออกจากเต้นท์มาเข้าห้องน้ำกลางดึก ช่วงระหว่างวันก็ตะลุยสองล้อท้าแดดแรงจนเผาจนเกรียมไปทั้งตัว พวกเขามุ่งหน้าสู่การ์ดุงลา ถนนที่ได้ชื่อว่าสูงที่สุดในโลก และกลับลงมาพร้อมกับความทรงจำแห่งสรวงสวรรค์ บนดวงดาวต้องมนต์ที่เรียกขานกันว่าหิมาลัย
Nowhere Girl
เรื่องและภาพโดย Juli Baker & summer
จูลี่เบเกอร์แอนด์ซัมเมอร์ เป็นนามปากกาของป่าน ชนารดี ฉัตรกุล เด็กสาวที่เราพูดได้เต็มปากว่ามหัศจรรย์ ทั้งแง่สไตล์การวาดภาพ การใช้สีสันของเธอ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือมุมมองอันละเอียดอ่อนที่เธอมีต่อโลก ต่อผู้คนที่พานพบ ต่อบทเพลง และสรรพสิ่งรอบตัว หลังจากพาตัวเองไปฝึกงานที่เบอร์ลินสามเดือน เธอก็ค่อยๆ ถ่ายทอดเรื่องราวจากความทรงจำ ด้วยลายเส้น สีสัน และการเล่าเรื่องที่จับใจในแบบเรียบง่าย กลายมาเป็นไดอารี่เล่มนี้ การใช้ชีวิตนอกเซฟโซนของเด็กสาวคนหนึ่ง กับแฟลตเมตและเพื่อนต่างชาติที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ซึ่งกลายมาเป็นเพื่อนรักกัน จะทำให้คุณหวนระลึกถึงความหมายของมิตรภาพและความรื่นรมย์ในการใช้ชีวิตได้อีกครั้ง
ปฏิกาล ภาคกาย – บรรณาธิการบริหาร Salmon Books
THAIS IN WORLD HISTORY ผจญไทยในแดนเทศ
เขียนโดย อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ
หนังสือของสำนักพิมพ์แซลมอนที่อยากแนะนำในรอบนี้ขอแบ่งออกเป็นสามเล่มสามประเภทครับ เล่มแรกคือ ‘THAIS IN WORLD HISTORY ผจญไทยในแดนเทศ’ โดย ‘อาชญาสิทธิ์ ศรีสุวรรณ’ นักเขียนผู้คลั่งไคล้ประวัติศาสตร์และเล่าเรื่องราวในอดีตได้สนุกมาก โดยเล่มนี้เกี่ยวกับคนไทยที่บังเอิญไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สำคัญของโลก เช่น เคยมีคนไทยอยู่ในเรือลำที่เยอรมนียิงตอร์ปิโดใส่ช่วงสงครามโลก, เคยมีคนไทยสอนหนังสือฟิเดล คาสโตร, เคยมีคนไทยอยู่ในแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก และเคยมีคนไทยมีตั๋วเรือไททานิกไว้ในครอบครอง
QUARTER-LIFE CRISIS
เรื่องและภาพโดย TUNA DUNN
เล่มที่สองเป็นการ์ตูนสี่ช่องเล่าเรื่องราวรัก เศร้า เหงา เพี้ยนของวัยรุ่น ความพิเศษของเล่มนี้อยู่ตรงที่เป็นภาษาอังกฤษทั้งเล่ม ประกอบกับความเป็นหนังสือกึ่งๆ อาร์ตบุ๊ก เราเลยตั้งใจจัดทำออกมาในรูปแบบปกแข็งด้วยครับ
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งเศร้า
เขียนโดย จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
เล่มสุดท้ายเป็นรวมเรื่องสั้นคัดสรรในรอบ 7 ปี หรือจริงๆ ก็คือตั้งแต่ ‘จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์’ เริ่มเขียนวรรณกรรมมา โดยคอนเซ็ปต์ของเล่มนี้ จะตั้งคำถามถึงความเหนือจริงในสังคมที่เต็มไปด้วยความเศร้า เป็นรวมเรื่องสั้นที่อ่านง่าย แถมยังมีอารมณ์ขันของผู้เขียนที่กวนไม่ใช่น้อย อยากชวนอ่านครับ จะได้มาเศร้าร่วมกัน
เชษฐกิฎา ชาติวิทยา – ซับเอดิเตอร์สำนักพิมพ์อมริ นทร์
สิงโตนอกคอก
เขียนโดยจิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท
จิดานันท์อาจจะดูเหมือนเป็นนักเขียนหญิงหน้าใหม่ แต่เธอฝึกปรือวิทยายุทธอยู่บนเส้นทางสายหนังสือมานานแล้ว เรื่องสั้นไม่กี่หน้า เร้าอารมณ์ หลากความรู้สึก บางเรื่องแรกเริ่มอาจกดดันหดหู่ ค่อยคลี่คลายไปสู่ความหวัง แต่ท้ายสุดจบด้วยความหวังที่เจือความเศร้าอีกครา ตัวละครชื่อต่างชาติในเซตติ้งช่วงเวลาและสถานที่ที่ดูห่างไกล แต่ชี้ชวนให้สะดุดคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัว
ลืมตาตื่นอีกครั้งในเวลาอันสมควร
เขียนโดย ปองวุฒิ รุจิระชาคร
ปองวุฒิเป็นนักเขียนที่มีผลงานสม่ำเสมอและเขียนหนังสือหลากหลายแนว และเรื่องสั้นบอกเล่าเรื่องราวที่พบเห็นในสังคมก็เป็นอีกแนวที่เขาถนัด ‘ลืมตาตื่นอีกครั้งในเวลาอันสมควร’ เป็นรวมเรื่องสั้นแบบไทย ๆ ที่มีกลิ่นอายของนักเขียนรุ่นใหญ่ในอดีต เรื่องเล่านิ่ง ๆ เรื่อย ๆ ดูเหมือนเรียบ ๆ และสามัญแต่ชวนหยุดตรึกตรองเมื่อจบเรื่อง
แนะนำให้อ่านสลับกับสิงโตนอกคอกของจิดานันท์ จะได้รสชาติแปลกใหม่เหมือนกินส้มตำไทยสลับกับสปาเกตตี้คาโบนาร่า
ชีวิตดีทันทีเมื่อมีธรรม – พระพรหมมังคลาจารย์ (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ)
อ่านเพราะเป็นงาน แต่ไม่น่าเชื่อว่าจะเพลิดเพลิน อ่านไปอ่านมาเห็นสภาพสังคมไปอีก เล่มนี้ทำให้จิตใจสงบได้โดยไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเพียงอย่างเดียว เพราะทุกลมหายใจเข้าออกที่เป็นสมาธิก็เหมือนการปฏิบัติธรรม
ศิษฏา ดาราวลี – บรรณาธิการบริหาร Bunbooks
I’m Fine | Cafe | And you.
เรื่องและภาพโดย Monsty Planet
เล่มนี้แนะนำชาว #cafehopping ทั้งหลาย เพราะว่า เราอาจจะหาดูรูปถ่ายร้านกาแฟสวยๆ ได้ไม่ยาก แต่คนที่หลงรักร้านกาแฟจนเก็บดีเทลมานั่งวาดรูปจริงจังอย่าง Monsty Planet ก็หาได้ไม่ง่าย
ในเล่มจะพูดถึง 15 ร้านกาแฟ ที่เลือกโดยคนรักร้านกาแฟ 15 คน เช่น หมี จิรณรงค์—อาร์ตไดฯ และคอลัมนิสต์ readthecloud, ป่าน-ชนารดี juli baker and summer, ซันเต๋อ ยศนันท์ ฯลฯ ผ่านการพูดคุยและถ่ายทอดความประทับใจออกมาเป็นภาพวาดน่ารักๆ ฝีมือของ Monsty Planet
เราว่า ภาพสวย เยอะ และมีความตั้งใจของคนวาด เกินราคาปกเลยอะ :p
BREAKFAST MOMENT – มื้อเช้านี้ดีจับใจ
เขียนโดย ต่อจันทน์ แคทริน บุณยสิงห์
สำหรับคนชอบทำอาหาร หนังสือทำอาหารของเช้า—ต่อจันทน์ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง เล่มนี้พูดถึงอาหารเช้า 30 เมนู มีทั้งอาหารเช้าแบบไทย อาหารเช้าแบบสากล แต่พาร์ตที่เราชอบสุดในเล่มเป็นการส่วนตัวคือ อาหารเช้าหากินยากของประเทศที่เช้าเดินทางไปเที่ยว อย่างซุปชีสใส่พริกของภูฏาน, แซนด์วิชม้วนของไต้หวัน
ขนาดเป็นคนไม่ชอบทำอาหาร เห็นแล้วยังอยากตื่นเช้ามาทำอาหารเช้าเลย
“FAIRYTALES CAN’T TELL EVERYTHING”—เจ้าชาย, ไม่ได้กล่าว
เขียนโดย พี่เพลีย
พี่เพลียเคยเขียน เรียนหมอหนักมาก ไว้กับสำนักพิมพ์แซลมอนเมื่อสองปีก่อน หลังจากนั้นเราก็รอว่าเมื่อไหร่พี่เพลียจะเขียนเรื่องการทำงานหมอตามออกมา แต่พอเอาเข้าจริง หนังสือเล่มที่สองของพี่เพลียกลับมาในเรื่องของการเติบโตทางความคิดตัวเอง ที่นอกจากจะไม่เกี่ยวกับความเป็นหมอแล้ว (หลังจากที่พยายามจะเขียนเรื่องหมอต่อมาตลอดสองปีอะนะ) ยังเชื่อมโยงไปถึงความเป็นติ่งวอลต์ ดิสนีย์ของตัวเอง ซึ่งอ่านแล้วอาจจะเหมือนการได้เห็นพัฒนาการเติบโตของผู้ชายคนหนึ่งตั้งแต่วัยเด็ก ผ่านการเรียนรู้และทำความเข้าใจตัวเองผ่านเรื่องราวการบันดาลใจของเทพนิยายต่างๆ
ส่วนเหตุผลที่เปลี่ยนสำนักพิมพ์จากแซลมอนมาเป็นบัน ก็ไม่มีอะไรมาก คือจะให้พี่เพลียไปเขียนว่าตัวเองอยากเป็นเจ้าหญิงให้ บ.ก. กาย—สนพ.แซลมอน อ่าน มันคงเขินน่ะ
นิวัต พุทธประสาท – บรรณาธิการสำนักพิมพ์เม่นวร
Misbehaving เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม
เขียนโดย Richard H. Thaler / แปลโดย ศรพล ตุลยะเสถียร และ พิมพัชรา กุศลวิทิตกุล / สำนักพิมพ์ openworlds
เล่มแรกที่อยากแนะนำเป็นหนังสือที่น่าอ่านมากๆ เล่มหนึ่ง แม้หนังสือจะออกสักระยะหนึ่งแล้ว แต่ที่อยากแนะนำอีกทีก็เพราะว่าผู้เขียน Richard H. Thaler เพิ่งได้รับรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2017 นี่เอง หนังสือ Misbehaving หรือ ‘เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม’ ฟังดูแล้วน่าจะยาก แต่เล่มนี้สนุกมาก เขียนจากประสบการณ์และเข้าใจง่ายบวกกับอารมณ์ขัน ทำให้สามารถอ่านหนังสือหนาเล่มจบในเวลาไม่นานนัก
ทำลาย, เธอกล่าว
เขียนโดย วรรษชล ศิริจันทนันท์, สิรินารถ อินทะพันธ์, เพณิญ, ศรีนิติ สุวรรณศักดิ์, ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์, ปอ เปรมสำราญ, จิราภรณ์ วิหวา, ภวิล เฟย์, ตวงพร ปฏิปทาพานิชย์ และ พิมพ์สิริ เพชรน้ํารอบ / สำนักพิมพ์เม่นวรรรกรรม
เล่มที่สอง เป็นเล่มที่ผู้อ่านไม่ควรพลาด ‘ทำลาย, เธอกล่าว’ รวมเรื่องสั้นจากสิบนักเขียนหญิงรุ่นใหม่ที่พวกเธอมาปล่อยของ ปล่อยความคิด ปล่อยหัวจิตหัวใจในการเขียนหนังสือเล่มนี้ ถ้าต้องการเข้าใจผู้หญิงยุคนี้ ว่าอ่อนโยน ละเมียดละไม กร้าวแกร่ง หรือคิดอะไรอยู่ ต้องอ่าน เป็นเล่มที่แนะนำจริงๆ
อาจารย์หมา
เขียนโดย ธันยพร หงษ์ทอง / สำนักพิมพ์บอนไซ
เล่มสุดท้าย หนังสือออกใหม่ถอดด้ามมากๆ ‘อาจารย์หมา’ บอกตามตรงว่ายังไม่ได้อ่าน แต่ชื่อคนเขียนอย่าง ธันยพร หงษ์ทอง นักเขียนสาวรุ่นใหม่ที่น่าจับตามากๆ คนหนึ่ง มีผลงานเล่มล่าสุดก็คงต้องซื้อมาอ่านกัน หนังสือเล่มที่แล้วของเธอคือ ‘ระหว่างทางกลับบ้าน’ ก็สร้างความประทับใจไม่น้อย และขอบอกว่าหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เขียนเฉพาะให้คนรักหมาเท่านั้น แต่ยังเหมาะกับทุกๆ คน