ท่ามกลางกองนิยายสืบสวนสอบสวนมากมาย งานของสำนักพิมพ์ Biblio กลับโดดเด่นและมีเนื้อหาครองใจนักอ่าน
หากพูดถึงประเภทของนิยายที่มาแรงในช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นนิยายสืบสวนสอบสวน ซึ่งมาพร้อมกับเนื้อหาสุดเข้มข้น พาเราดำดิ่งไปกับคดีอาชญากรรมอันแสนซับซ้อน ตื่นตาไปกับเทคนิคและแผนการอันแสนแยบยล ตลอดจนการสวมบทบาทนักสืบจำเป็นเพื่อตามหาคนร้าย
นั่นคือสิ่งที่ทำให้แฟนงานสืบสวนสอบสวนเลือกหยิบนิยายแนวดังกล่าวขึ้นมาอ่าน ทว่างานประเภทนี้จากสำนักพิมพ์ Biblio กลับมีเรื่องราวมากไปกว่าปริศนาซับซ้อนซ่อนเงื่อน จนสามารถชนะใจบรรดานักอ่านได้
อะไรคือจุดร่วมสำคัญของงานสืบสวนสอบสวนสไตล์ Biblio ที่ดึงดูดความสนใจจากนักอ่านได้นะ? The MATTER ชวนคุยกับ จี—จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ Biblio ตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการนำนิยายมาแปล ไปจนถึงเบื้องหลังของงานสืบสวนสอบสวนแต่ละชิ้นที่แฝงด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย
จุดเริ่มต้นของ Biblio สู่นิยายสืบสวนสอบสวน
เดิมทีตัวผมเองมีความสนใจในนิยายญี่ปุ่นอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็ทำงานแปลนิยายฝั่งญี่ปุ่นมามากพอสมควร เมื่อเริ่มทำสำนักพิมพ์ Biblio ในปี 2020 ผมและทีมจึงได้ตั้งทิศทางกันว่า เราอยากจะสื่อสารเรื่องอะไรกันในช่วงวางแนวทางและทิศทางของกลุ่มนิยายแปลญี่ปุ่น
ในช่วงเวลานั้น พวกเราตั้งใจอยากสื่อสารนิยายญี่ปุ่นแนวฟีลกู้ด พูดถึงเรื่องราวชีวิตของผู้คนผ่านแง่มุมความเป็นจริง พร้อมทั้งนำเสนอเรื่องราวแฟนตาซีของนิยายญี่ปุ่นที่มอบคุณค่าอะไรบางอย่างให้กับคนอ่าน โดยเมื่ออ่านแล้ว คนอ่านจะต้องรู้สึกว่าชีวิตยังมีความหวังและมีเป้าหมายให้เราได้ไปต่อ
เมื่อนิยายแนวฟีลกู้ดของ Biblio เริ่มสื่อสารออกไปได้สักพัก ก็มีนิยายอีกหนึ่งแนวที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ นิยายแนวสืบสวนสอบสวน เราเลยเริ่มต้นด้วยผลงานของ ฮิงาชิโนะ เคโงะ (Keigo Higashino) เรื่องผู้พิทักษ์ต้นการบูร และความลับใต้ทะเลสาบ
หนังสือ 2 เรื่องดังกล่าวถือเป็นหลักไมล์เล็กๆ ของเราที่ทำให้เริ่มรู้แล้วว่า เราอยากเล่านิยายแนวสืบสวนสอบสวนแบบไหน แล้วคาแรกเตอร์ของเราต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ซึ่งทำให้นิยายแนวสืบสวนสอบสวนของเรามันน่าสนใจ แต่ก็ยังสามารถสะท้อนความเป็นตัวเองได้อยู่ด้วย
ในมุมของคนทำหนังสือ คิดยังไงกับตลาดนิยายแปลฝั่งญี่ปุ่น
ย้อนกลับไปช่วงปี 2020-2022 ตลาดนิยายแปลญี่ปุ่นถือว่ากลับมาบูมอีกครั้งหนึ่งเลย ต้องบอกว่าสำนักพิมพ์ต่างๆ ในบ้านเราก็เลือกนำนิยายญี่ปุ่นเข้ามาแปลค่อนข้างหลากหลายเลยทีเดียว แถมยังมีรูปแบบที่แตกต่างกันพอสมควรเลยด้วย แต่ตลาดนิยายแปลญี่ปุ่นที่บูมมากที่สุดในช่วงเวลานั้นคือ แนวฟีลกู้ด ซึ่งเป็นนิยายแนวอบอุ่นและสะท้อนชีวิตในด้านที่มีความหวัง คนทำหนังสือหลายคนเลยเลือกหยิบนิยายกลุ่มนี้ออกมาสื่อสารกัน
2 ปีหลังจากนั้นถึงจะเป็นช่วงหวนกลับมาอีกครั้งของนิยายประเภทที่ผู้อ่านอย่างเราคุ้นเคยกันดี นั่นคือนิยายแนวสืบสวนสอบสวน ซึ่งการกลับมาในครั้งนี้มีทั้งงานสืบสวนแบบคลาสสิค คดีฆาตกรรมแนวพิสดาร รวมถึงแนวพล็อตเรื่องแปลกใหม่ การกลับมาของงานแนวดังกล่าวครั้งนี้ทำให้ตลาดหนังสือคึกคักกันมากขึ้น
แม้ในบางช่วง ความนิยมในแนวสืบสวนจะลดลงไปบ้าง แต่มันก็ยังคงอยู่ในใจคนอ่านเสมอมา เพียงแต่ต้องการคลื่นที่พัดมันกลับมา ทำให้คนอ่านรู้สึกคีกคักอีกครั้งหนึ่งเท่านั้นเอง
นั่นทำให้เห็นได้เลยว่า แต่ละสำนักพิมพ์ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเคยทำหนังสือแนวไหนมาก่อน ต่างก็ต้องเปิดพื้นที่ให้กับนิยายแนวสืบสวนสอบสวนเช่นกัน ซึ่งผมรู้สึกว่าเป็นเรื่องดีนะ เพราะนิยายแนวสืบสวนของญี่ปุ่นเองก็มีหลายประเภท หลายแนว แถมมีตัวเลือกน่าสนใจออกมาอยู่เสมอ จนเรียกได้ว่าตลาดนิยายแปลฝั่งสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นแทบจะมีให้เลือกทุกรสชาติเลยตอนนี้ และผมเองคิดว่ามันคือแนวที่มาแรงสุดในช่วงเวลานี้ด้วย ดังจะเห็นได้จากงานสืบสวนคลาสสิกของเอโดงาวะ รัมโป (Edogawa Ranpo) ของสำนักพิมพ์ JLIT, นิยายคดีฆาตกรรมในซีรีส์ชุดมรดกโลกของญี่ปุ่นจากฮัมมิงบุ๊คส์ งานซีรีส์สืบสวนของฮิงาชิโนะ เคโงะ จากสำนักพิมพ์ไดฟูกุ หรืองานสืบสวนของสำนักพิมพ์ Prism ที่ออกมามากมายก็ตาม
พื้นที่ของนิยายแนวสืบสวนในทุกวันนี้เป็นยังไง
นิยายแนวสืบสวนสอบสวนไม่เคยหายไปไหนเลยนะ มันยังคงอยู่ในความสนใจของคนอ่านบ้านเรามาตลอด เพียงแต่ว่าคลื่นของความเปลี่ยนแปลงดันนำพานิยายประเภทอื่นเข้ามาคั่นเวลาของคนอ่าน แต่ถ้าเราสังเกตให้ดีๆ นิยายแนวสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นออกมาเป็นระยะอยู่แล้ว
แค่มันกลับมาพีคอีกครั้งในช่วง 2 ปีหลังมานี้ เพราะคนอ่านบ้านเราชอบงานวรรณกรรมที่มีสาระ มีเนื้อหาจับต้องได้ และที่สำคัญมันต้องบันเทิง ให้ความตื่นเต้นและให้ความสนุกได้ด้วย แถมเนื้อหาจะต้องชวนให้คนอ่านได้คิดอะไรบางอย่าง ได้ใช้สมอง พร้อมทั้งคิดตามว่าปริศนาในนิยายเล่มนี้มันคืออะไร
มันคือการให้คนอ่านได้สนุกกับการสวมบทบาทเป็นนักสืบ ในขณะที่เขากำลังอ่านนิยายเล่มนั้นๆ อยู่ ซึ่งตัวผมเองก็คิดว่าความสนุกแบบนี้มันถูกผลิตซ้ำมาตลอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นผ่านสื่อภาพยนตร์ หรือผ่านวรรณกรรมร่วมสมัย ที่มีนักเขียนหน้าใหม่ผลิตงานมากระตุ้นความสนใจของเหล่าคนอ่านได้เหมือนกัน
ตัวอย่างเช่น งานของอุเก็ตสึ (Uketsu) นักเขียนแนว J Horror หน้าใหม่ กับบ้านวิกล คนประหลาด ทั้ง 2 ภาค ในขณะที่นักเขียนหน้าใหม่จุดประกายงานชิ้นใหม่ออกมา มันก็ทำให้คนอ่านได้หันกลับไปสนใจภาพรวมของงานสืบสวนญี่ปุ่นทั้งหมด เลยทำให้เราได้เห็นงานเก่าๆ หลายเล่มที่ถูกเอามาแปลใหม่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมนิยายแนวสืบสวนญี่ปุ่นไม่เคยตกขอบความสนใจของคนอ่านนานเกินไป อีกทั้งเวลากลับมาทีมันก็กลับมาแบบตูมตามเลยเช่นกัน
แล้วถ้าต้องเลือกหยิบต้นฉบับแนวสืบสวนมาสักเรื่อง ทาง Biblio จะมองถึงเรื่องใดเป็นสำคัญ
สำหรับงานสืบสวนสอบสวน ผมพยายามมองหาคาแรคเตอร์บางอย่างในงานแนวนี้ ผมคิดว่างานแนวสืบสวนของญี่ปุ่นร่วมสมัย คือการผสมผสานกันระหว่างงานสืบสวนกับศาสตร์อื่นๆ ที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกันสักเท่าไหร่ เช่น สถาปัตยกรรมกับการสืบสวน อย่างในบ้านวิกลคนประหลาด ซึ่งเป็นนิยายสืบสวนเล่มแรกๆ เลย ที่เอาแนวสืบสวนมาผสมกับเรื่องแผนผังบ้าน แถมใส่ความอยากรู้อยากเห็นเข้าไปให้เราอยากติดตามต่อ หรืองานของยูกิ ชินอิจิโร (Yuki Shinichiro) กับ#ถึงเวลาเล่าความจริง ก็ใช้ความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องของชาวบ้านของคนเรา มาผสมเข้ากับคดีอาชญากรรมท้องถิ่นจนได้งานที่น่าติดตามออกมา
ผมรู้สึกว่างาน J Horror ในสมัยใหม่ ค่อนข้างตั้งใจเล่นกับความอยากรู้อยากเห็นของคนอ่านมากขึ้นกว่าเดิม โดยมันพยามทำให้คนอ่านได้มีส่วนร่วม ผ่านการใช้ความคิดของตนเองในการแกะรอยปริศนา ด้วยเหตุนี้เองมันเลยทำให้งานแนวสืบสวนร่วมสมัยได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จมากขึ้น
เหมือนว่างานแนวสืบสวนของ Biblio จะเชื่อมโยงกับปัจจุบันด้วย
อย่างที่บอกไปว่า ภาพรวมของตลาดมีนิยายแปลค่อนข้างเยอะและหลากหลายอยู่แล้ว เราจึงพยายามหานิยายร่วมสมัยที่พูดถึงสังคมปัจจุบัน หรือถ้าหากไม่ได้พูดถึงสังคมปัจจุบัน ก็ต้องตั้งคำถามต่อสังคมปัจจุบันได้ด้วยเช่นกัน
ผมมองว่านิยายญี่ปุ่นร่วมสมัยมีการนำองค์ประกอบบางอย่างมาเชื่อมโยงกับสังคมปัจจุบัน ซึ่งมันก็ถูกเอามาปรับแต่งให้เข้ากับนิยายสืบสวนสอบสวนแบบญี่ปุ่นด้วย จนทำให้เกิดผลผลิตใหม่ๆ ของนิยายแนวนี้ขึ้นมา ผมคิดว่ามันถือเป็นสัญญาณที่ดีที่นิยายแปลญี่ปุ่นในบ้านเรามีให้เลือกมากมายจากนักเขียนหน้าใหม่ๆ
ตัวอย่างเช่น งานของอาซาคุระ อากินาริ (Akinari Asakura) ผู้เขียนคดีดราม่าทวีตล่าฆาตกร ที่พูดถึงชายผู้แทบไม่ได้เล่นโซเชียลมีเดียอะไรเลย กับการถูกกกล่าวหาบนทวิตเตอร์ว่าเป็นฆาตกร พอถูกพูดถึงมากๆ ก็กลายเป็นไฟลามทุ่ง คุกคามชีวิตส่วนตัว ซึ่งในฐานะเหยื่อของโซเชียลมีเดีย เขาเลยต้องหาให้ได้ว่าใครทำแบบนี้กับเขา และใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรตัวจริง
แม้ว่าหน้าตาโดยรวมของนิยายจะพูดถึงการสืบหาคนร้าย ทว่าธีมหลักของเรื่องนั้นพูดถึงการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแจ้งข่าวสาร ดังที่เราจะเห็นได้จากสื่อโซเชียลปัจจุบัน เรามักจะใส่ความคิดเห็นและเสริมประเด็นต่างๆ เข้ามา โดยไม่รู้เลยว่าจริงหรือไม่ ซึ่งบางครั้งมันอาจส่งผลให้คนบริสุทธิ์ได้รับผลกระทบจนชีวิตพังไปเลยก็ได้
เป็นความตั้งใจของเราในการหานิยายที่สดใหม่ในเรื่องความคิดของผู้เขียน เพื่อมาช่วยกันทำให้นิยายสืบสวนสอบสวนไม่ได้เป็นเรื่องแค่มาสืบกันว่าใครตาย หรือตายยังไง แต่อาจมีคำถามที่ใหญ่กว่านั้น หรือสำคัญกว่าเรื่องการสืบสวนทั่วไป
อะไรคือเอกลักษณ์สำคัญของงานสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่น
ในมุมมองของผม สิ่งที่ทำให้นิยายสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นแตกต่างจากที่อื่นๆ คือวัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในนั้น เพราะคนญี่ปุ่นเป็นคนเก็บรายละเอียด ให้ความสนใจ และให้ความสำคัญแม้แต่กับอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ในเนื้อหา ซึ่งมันก็คือคำใบ้ต่างๆ ที่ผู้เขียนทิ้งเอาไว้ เพื่อนำมารวบรวมเป็นเบาะแสหรือหลักฐาน
ผมเลยรู้สึกว่าวิธีการเข้าหารายละเอียดต่างๆ ในงานสืบสวนสอบสวนของญี่ปุ่นไม่ได้เวอร์จนเกินไป รวมถึงคนอ่านในไทยที่เสพวัฒนธรรมความเป็นญี่ปุ่นมานาน เลยค่อนข้างเข้าใจความเป็นตัวละครญี่ปุ่น ทั้งความคิดและการกระทำ ทำให้คนอ่านไทยค่อนข้างจะเปิดรับวิธีการคิด หรือวิธีการเล่าเรื่องในนิยายของญี่ปุ่นได้ค่อนข้างมากกว่า
อีกทั้งวิธีการเล่าเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน การตัดสินใจของตัวละครซึ่งอาจมีไม่สมเหตุสมผลบ้าง แต่ในภาพรวมใหญ่ๆ มันค่อนข้างจะทำให้เราเชื่อในการกระทำ หรือวิธีการที่ตัวละครแสดงออกมา รวมถึงการตัดสินใจของแต่ละตัวละคร เพราะมันมีจุดเชื่อมโยงกับความเป็นคนเอเชียอยู่
สุดท้ายผมคิดว่ามันคือความสนุก ซึ่งอาจไม่ได้สนุกแบบเข้มข้นไปทุกหน้าเหมือนนิยายฝั่งตะวันตก และอาจไม่ได้เฉลยปมมาปุ๊บแล้วเราหงายท้องตกเก้าอี้ แต่นิยายญี่ปุ่นจะมีความน้ำนิ่งไหลลึก ให้เราได้ค่อยๆ ซึมซับรายละเอียดของตัวละคร บรรยากาศ วิธีคิด จนเราเหมือนกำลังถูกดึงเข้าไปสู่โลกของนิยายเล่มนั้น
ความเป็นนิยายญี่ปุ่นไม่ได้บีบให้คนอ่านเข้าไปหาปริศนาเพียงอย่างเดียว แต่มันมีเรื่องของวัฒนธรรม สังคม เมือง หรืออะไรต่างๆ เข้ามาแวดล้อมเกี่ยวข้อง จนกลายเป็นโลกที่เราจับต้องได้ สัมผัสได้มากกว่า
ความแตกต่างของงานแปลจากฝั่งตะวันตกและเอเชียคืออะไร
งานสไตล์ตะวันตกที่เราทำมาจะมีจุดเด่นในเรื่องการเล่นกับจิตวิทยาของมนุษย์ค่อนข้างสูง รวมถึงสามารถสร้างพล็อตเรื่องอันแข็งแรงมากๆ ขึ้นมา เหมือนกับสร้างโลกใบใหม่ใบหนึ่งขึ้นมา พร้อมให้คนอ่านเดินเข้าไปในโลกนั้น และเชื่อไปกับมันว่า ฉาก สถานที่ หรือตัวละครเหล่านี้มีอยู่จริง
เช่น บ้านหลอนสุดท้ายที่ปลายถนน ของคาทริโอนา วอร์ด (Catriona Ward) ซึ่งนำเสนอเรื่องราวของบ้านที่มีคนอาศัยอยู่ด้วยกัน 2 คนพร้อมกับแมวอีก 1 ตัว มันจะเล่าผ่านมุมมองของแต่ละคน รวมถึงตัวของแมวเองด้วย ในตอนแรกเราเองก็สงสัยว่าทำไมต้องเล่าผ่านแมว แต่พออ่านไปเรื่อยๆ จนถึงจุดไคลแม็กซ์ของเรื่อง เรากลับทึ่งเลยว่าสิ่งที่เขาเล่ามา หรืออะไรก็ตามที่ผู้เขียนทิ้งประเด็นไว้ตอนแรก มันถูกนำกลับมาเคลียร์ปริศนาในท้ายเรื่องอยู่เสมอ
ผมเลยรู้สึกว่านักเขียนฝั่งตะวันตกค่อนข้างเก่ง และทำการค้นคว้าข้อมูลมาอย่างดี ทั้งพฤติกรรมของตัวละคร อาการทางจิตของฆาตกร รวมถึงชั้นเชิงในการหลอกล่อคนอ่านก็ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
ถ้าเป็นนิยายสืบสวนสอบสวนจากฝั่งเอเชีย จะมีในเรื่องของความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมตามที่กล่าวไป ทำให้อะไรหลายๆ อย่างที่เขาเล่ามาเข้าถึงเราได้ง่ายกว่า ในขณะเดียวกัน ก็มีปมปริศนาเล็กๆ ถูกทิ้งเอาไว้อยู่ และไม่ได้โฉ่งฉ่างมาก พอมันถูกเฉลยขึ้นมา เราก็จะรู้สึกว่าตรงฉากเล็กๆ นี้เองนี่หว่า หรือตรงนี้นี่เองที่เป็นข้อต่อสำคัญของการคลี่คลายปมปริศนาทั้งหมด
จุดเด่นอีกอย่างของสืบสวนจากเอเชีย คือการเป็นงานสืบสวนสอบสวนที่มีหัวใจ หรือมีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น หลายๆ เรื่องสะท้อนคุณค่าความเป็นมนุษย์ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะงานของญี่ปุ่น ซึ่งงานฝั่งเอเชียจะทำให้เราเห็นว่า ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะดีหรือเลวยังไง มนุษย์ทุกคนต่างมีแรงขับเคลื่อนในการกระทำเหล่านั้น และเราในฐานะผู้อ่านจึงทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินเรื่องนั้น ถึงแม้เราจะตัดสินเรื่องนั้นอย่างตรงไปตรงมา ทว่าเราก็อาจมองเห็นความเป็นมนุษย์ของอีกฝ่ายด้วยเช่นกัน
ในอนาคต นิยายสืบสวนสอบสวนจะยังเป็นหนึ่งในกระแสหลักของฝั่งญี่ปุ่นอยู่ไหม
ความน่าสนุกของการมองภาพรวมในอนาคตของนิยายจากฝั่งญี่ปุ่นคือ เรารู้ว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงแน่นอน เพราะมันจะต้องมีนิยายประเภทใหม่ๆ เข้ามาสร้างความสดใหม่ให้กับตลาดนิยายญี่ปุ่น เพียงแต่ตอนนี้อาจมองภาพได้ไม่ชัดมาก คงต้องรอดูกันอีกสักระยะ แต่ผมคิดว่าตลาดนิยายญี่ปุ่นมันค่อนข้างใหญ่โตเหมือนกับมหาสมุทร เราอาจหาปลาได้จากไม่กี่น่านน้ำ ทว่ามันยังมีอีกหลายพื้นที่ที่รอให้เราเข้าไปหยิบหนังสือที่น่าสนใจมาทำอยู่เช่นกัน
ผมรู้สึกว่านิยายญี่ปุ่นยังมีลูกเล่นให้เอามาใช้เล่าอีกเยอะมาก อาจต้องบอกเลยว่าตัวผมเองก็ติดตามอยู่เหมือนกัน ว่าเทรนด์ในอนาคตข้างหน้า นิยายประเภทไหนหรือแนวใดจะขึ้นมาได้รับความสนใจในตลาดมากกว่า
แต่แน่นอนว่าถ้ามีเมื่อไหร่ Biblio จะต้องเป็นหนึ่งในสำนักพิมพ์ที่ทำออกมาแน่นอน เพราะเราเองก็ชอบความแปลกใหม่ และความน่าสนใจในคอนเซ็ปต์ของนิยายญี่ปุ่นร่วมสมัยอยู่แล้ว
แนะนำ 3 เล่มจาก Biblio ที่ไม่ควรพลาดหน่อยได้ไหม
เล่มแรกนี้จะไม่แนะนำก็คงไม่ได้ เพราะเป็นเล่มที่คนพูดถึงกันเยอะสุด นั่นคือบ้านวิกลคนประหลาด ทั้งเล่ม 1 และ 2 ของอุเก็ตสึ หลายคนอาจมองว่ามันเป็นเรื่องสถาปัตยกรรมกับการสืบสวน แต่ในทั้ง 2 เล่มนี้ เราจะได้เห็นถึงความแตกต่าง โดยเฉพาะในเล่ม 2 เราจะได้เห็นว่า จริงๆ แล้วบ้านคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น บ้านจะซับซ้อนแค่ไหนมันก็มาจากจิตใจของคนเรา
เรารู้สึกเลยว่า ความซับซ้อนของแผนผังบ้าน ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของความบิดเบี้ยวในจิตใจของมนุษย์เวลาที่ถูกกระทำเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เรากำลังตื่นเต้นกับการไขปริศนาในบ้านแต่ละหลัง เราก็จะได้เห็นถึงความโหดร้ายของผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตกเป็นเหยื่อของพวกเขา พออ่านจบเราถึงจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ทั้งในด้านดีและไม่ดีมากขึ้น รวมไปถึงถึงคนอีกมากมาย ผู้ถูกลูกหลงไปกับเหตุการณ์เหล่านี้ ซึ่งจะเห็นได้เลยว่า พวกเขาเองก็เป็นน่าสงสารเช่นกัน
เล่มถัดมาคือ ความลับ ของฮิงาชิโนะ เคโงะ อาจเป็นงานเก่าหน่อย และไม่ได้สืบสวนสอบสวนจ๋ามากก็จริง แต่สำหรับตัวผมตอนได้อ่านเล่มนี้ กลับรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ตั้งคำถามใหญ่มากในเรื่องของศีลธรรม ลองคิดดูว่าถ้าคุณอยู่ในจุดที่ถูกสลับตำแหน่งในมุมมองเรื่องศีลธรรมล่ะ คุณจะมองเรื่องเหล่านี้ด้วยความคิดเดิมอยู่ไหม
เนื้อหาของนิยายจะพูดถึงครอบครัวที่มีสามี ภรรยา และลูกสาว ซึ่งวันหนึ่งภรรยากับลูกสาวเกิดอุบัติเหตุ ฝ่ายภรรยาเสียชีวิต แต่ลูกสาวฟื้นขึ้นมาด้วยจิตสำนึกของภรรยา พูดง่ายๆ ก็คือแม่ฟื้นขึ้นมาในร่างของลูกสาวตนเอง และคนที่รู้ความลับเรื่องนี้คือผู้เป็นสามีและพ่อในคนเดียวกัน เมื่อศีลธรรมถูกสลับที่ทางจึงเกิดคำถามว่า ผู้เป็นพ่อจะมองลูกสาวและภรรยาตัวเองด้วยสายตาแบบไหน
เคโงะเป็นคนที่เก่งมากในเรื่องของการสร้างกรอบและบิดมุมมองทางศีลธรรม เพื่อให้คนอ่านได้ลองคิดอีกมุม ส่วนตัวผมคิดว่าเขาไม่ได้ตั้งใจจะตั้งคำถามที่มันดูวิปลาสนะ แต่เขาเพียงต้องการสื่อว่า ในความเป็นจริง ศีลธรรมเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่งในมุมของปัจเจกมันอาจจะใช้ศีลธรรมชุดเดียวกันตัดสินไม่ได้หรอก เราจึงอาจต้องเข้าใจความป็นมนุษย์มากขึ้น และถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะมีเปอร์เซนต์รสชาติสืบสวนสอบสวนน้อยสุด แต่บอกได้เลยว่าความเข้มข้นของความอยากรู้ต่อสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป มันสนุกยิ่งกว่าเรื่องสืบสวนจริงๆ เสียอีก
เล่มสุดท้ายคงต้องเป็นเล่ม สืบคดีปริศนา ผู้พิพากษา AI ของทาเคดะ จินโซ (Takeda Jinzo) แม้ว่าเขาจะเป็นนักเขียนหน้าใหม่ แต่งานเขียนของเขาเล่มนี้กลับได้รับรางวัลมากมาย เนื้อเรื่องจะพูดถึงโลกอนาคตที่มีเอไอเข้ามาพิจารณาคดีในชั้นศาลแทนมนุษย์ ทำให้การพิจารณาคดีประหยัดค่าใช้จ่ายของประชาชนและรวดเร็วขึ้นมาก ซึ่งตัวเอไอก็ทำหน้าที่ได้ดีมาตลอด ทว่ากลุ่มคนต่อต้านก็มีอยู่ในสังคมเหมือนกัน อย่างตัวเอกของเรื่องผู้เป็นทนาย แถมยังเป็นแฮ็คเกอร์ด้วย เขาจึงรู้ถึงช่องโหว่ของเอไอตัวนี้ เขามองว่าเอไอเป็นเพียงเครื่องจักรตัวหนึ่ง ถ้ามีคนฉลาดกว่าเอไอพวกเขาก็สามารถเปลี่ยนผิดให้เป็นถูกได้เช่นกัน
ฉะนั้นจึงเป็นการโต้เถียงกันระหว่างความยุติธรรมฉบับเอไอกับความยุติธรรมฉบับมนุษย์ ที่พยายามจะหาความถูกต้องของเรื่องนี้ ผมมองว่าความน่าสนใจของเรื่องนี้มันมีคดีสืบสวนอันเป็นเส้นเรื่องหลัก ขณะเดียวกัน ในโลกอนาคตซึ่งเราไม่สามารถต่อต้านเทคโนโลยีได้ ตัวเราจะปรับเข้ากับโลกเอไอได้อย่างไร
บางเรื่องมันเป็นเรื่องที่มนุษย์ต้องทำให้สำเร็จด้วยตัวเอง เราก็ต้องทำ แต่ถ้าบางเรื่องเอไอสามารถเป็นสะพานเชื่อมให้สำเร็จได้ดีขึ้น มันก็เป็นเรื่องที่ดีเช่นกัน แต่ในอีกมุมหนึ่ง ถ้าจะต้องมอบหมายหน้าที่สำคัญให้เอไอเป็นผู้กระทำแทน เราเองอาจต้องตั้งคำถามกลับมาว่า เราในฐานะมนุษย์ทำหน้าที่นี้ได้ดีแล้วหรือยัง ถ้าเราทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ดีอยู่แล้วแบบที่เอไอแทรกมาไม่ได้ โลกก็คงน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมรึเปล่า
มันเป็นนิยายที่กระตุ้นให้เรากลับมามองตัวเองมากขึ้น ว่าเราทำหน้าที่ของตัวเองได้ดีพอหรือยัง และในการทำหน้าที่ของตัวเอง เราใช้สายตาที่เป็นธรรมมากพอไหม ผมเลยมองว่าตัวนิยายมันมอบคำถามใหญ่ๆ ให้เราได้คิดมากกว่าการตัดสินว่า เอไอดีหรือไม่ดีกับสังคมมนุษย์
นี่แหละคือเสน่ห์ของนิยายฝั่งญี่ปุ่น ที่ไม่ได้มุ่งเน้นให้เราบันเทิงไปกับพล็อตเรื่อง เพื่อไขปริศนาเพียงอย่างเดียว แต่เราจะได้ตั้งคำถามถึงคุณค่าและความเป็นคนในปัจจุบันจากงานเขียนเหล่านี้ด้วย