ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะบรรยากาศการล็อกดาวน์รึเปล่า ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้เขียนเองก็เลือกหนังสือชุดที่ปกสีนุ่มๆ ว่าด้วยอาหาร ร้านกาแฟ โดยเฉพาะงานของ ฟูมิเอะ คนโดะ กลับมานอนอ่านที่บ้านเกือบครบทุกเล่ม (ยกเว้นในครึ่งที่ยังว่างของกระเป๋าเดินทางสีฟ้า ที่ขาดตลาดไป)
ก่อนเข้าเรื่องขอแนะนำบางเรื่องที่ได้อ่านแล้ว ส่วนตัวแนะนำ คาเฟ่ลูส เป็นพิเศษ ที่สร้างประกายประหลาดใจได้สมกับการเป็นส่วนหนึ่งของงานแนวสืบสวนสอบสวน ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็สนุกอ่านเพลินทั้ง ทาร์ตตาแต็ง วันที่เหมาะกับซุป ขนมปัง และแมว เล่มหลังสุดค่อนข้างดราม่าเข้มข้น ส่วนทาร์ตตาแต็งจะเน้นความรู้อาหารเยอะหน่อย ส่วน ร้านขนมแห่งความลับ ก็สนุกและได้เข้าสู่โลกของวากาชิหรือขนมญี่ปุ่นที่รุ่มรวย
โดยรวมเราเรียกงานปกนุ่มๆ งานเขียนอ่านง่ายที่มักพูดถึงอาหารการกิน มีฉากเป็นร้านอาหารหรือคาเฟ่อบอุ่นๆ เหล่านี้ว่าเป็นงานเขียนแนว Cozy Mystery สำหรับบ้านเรา งานที่ค่อนข้างครองตลาดคืองานแปลจากนักเขียนชาวญี่ปุ่น ส่วนใหญ่เป็นนักเขียนหญิง งานเขียนส่วนใหญ่ลึกๆ แล้วพูดถึงการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ ปัญหาและเรื่องราวชีวิตร้อยพันที่ค่อยๆ ถูกคลี่ลงบน ‘การอ่าน’ ของเหล่าเจ้าของร้านผู้เฝ้ามองลูกค้าผ่านการกินและพฤติกรรมเท่าที่ตาของคน ‘กึ่งแปลกหน้า’ จะตีความ- และหลายครั้งก็ร่วมเข้าช่วยเยียวชาซึ่งกันและกัน
อันที่จริงงานเขียนแนว Cozy Mystery นี่ ต่อให้ไม่มีโรคระบาดหรือการล็อกดาวน์ ก็น่าจะอยู่ในกระแสความนิยม จากการการเป็นงานเขียนที่ดูนุ่มนวล อบอุ่น อ่านง่าย โดยเฉพาะกระแสความนิยมในวรรณกรรมของนักเขียนหญิงญี่ปุ่นร่วมสมัยที่ขึ้นชื่อเรื่องความละเมียดละไม เชื่อมต่อเรื่องราวในฐานะคนที่เดินและนั่งทานข้าวอยู่ในเมืองใต้แสงสีเหลืองอ่อน – และแน่นอน ใครจะไม่ชอบเรื่องอาหารบ้างล่ะ
ยิ่งช่วงล็อกดาวน์ ส่วนตัวคือเราโหยหาร้านอาหาร โหยหาพื้นที่ที่เราเคยไปในชีวิตประจำวัน และลึกๆ เราอาจกำลังโหยหาการเชื่อมต่อกับผู้คนที่แม้ว่าแค่การนั่งอยู่ท่ามกลางความขวักไขว่ของคนแปลกหน้า เท่านั้นก็ทำให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวเยียวยาขึ้นบ้างได้
Mystery- ความลึกลับของเมืองใหญ่ และพัฒนาการของงานสืบสวน
ความน่าสนใจของงานแนว Cozy Mystery คือมันเป็นวิวัฒนาการของงานเขียนแนวสืบสวนสอบสวน ที่ตัวมันเองมีเองยังรักษาขนบของงานสอบสวนสำคัญไว้อย่างครบถ้วน คือ 1.การสืบสวนด้วยวิธีการแบบ Deductive Reasoning และ 2.การที่เรื่องราวนั้นเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ แต่ว่างานแนวโคซี่นี้ดูจะเป็นการตอบบางอย่างของปัญหาเมืองใหญ่ที่งานสืบสวนเริ่มไว้ในระดับของความวิตกกังวลและความแปลกแยก สู่การเชื่อมต่อกันของผู้คนและเรื่องเล่าในพื้นที่ร้านอาหาร
ตัว Cozy Mystery ถือเป็นพัฒนาการของประเภทวรรณกรรมแนวสืบสวนค่อนข้างน่าสนใจ เดิมคำว่า Cozy Mystery ไม่ใช่คำใหม่ขนาดนั้น แต่เป็นประเภทงานสืบสวนย่อยที่เกิดขึ้นราวช่วงปลายศตวรรษที่ 20 และถ้าเรามองย้อนไปในยุคนั้น คงจะด้วยความที่ผู้หญิงเริ่มมีบทบาทและเป็นกลุ่มนักอ่านงานแนวอ่านเล่น งานแนวโคซี่ในตอนนั้นคืองานที่เขียนขึ้นเพื่อลบภาพงานสืบสวนในยุคทองเช่นงานแนว Hard-Boil ที่ว่าด้วยอาชญากรรมในเมือง เต็มไปด้วยความมืดมนและความรุนแรง
ทว่า งานแนวโคซี่เป็นงานที่มักจะมีตัวละครนักสืบเป็นผู้หญิง มักไม่ใช่นักสืบอาชีพหรืออาชีพที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมโดยตรง แต่ว่ามักจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมโดยบังเอิญซึ่งพวกเธอก็จะได้ไขคดีด้วยทักษะเฉพาะตัวนอกจากการอ่านเรื่องราวหลักฐานหรือผู้คนแบบคลาสสิกแล้ว ก็อาจจะมีการใช้ทักษะส่วนตัวในการ ‘มองเห็น’ สิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ ส่วนตัวเคยอ่านงานกลุ่มฆาตกรรมในร้านคุกกี้ คิดว่าน่าจะจัดเป็นงานแนวนี้ได้ คือนักสืบเป็นเจ้าของร้านขนม และใช้วิธีสืบเรื่องต่างๆ จากรสนิยม ร่องรอยของอาหาร หรือการจับสังเกตลูกค้า
ต่อมาในปัจจุบัน งานแนวโคซี่โดยเฉพาะจากนักเขียนญี่ปุ่นก็เริ่มกลายเป็นงานสืบสวนที่ไม่มีอาชญกรรมเลย คือโอเคอาจจะมีความรุนแรงในครัวเรือน มีความขัดแย้งบ้าง แต่หลักๆ แล้วตัวเรื่องไม่มีการฆ่ากัน ไม่นองเลือด แต่จะพูดถึงเรื่องราวชีวิตที่ค่อนข้างธรรมดาโดยใช้ร้านอาหาร คาเฟ่ หรือร้านขนมในการคลี่คลายหรือเล่าเรื่องราวของลูกค้ารวมถึงตัวเจ้าของร้านในท้ายที่สุด
งานเขียนแนวโคซี่ใหม่จึงยังรักษาทั้งขนบการสืบสวนที่มักใช้การใช้ตรรกะเหตุผลในการตีความและอธิบายเหตุต้นมาจนถึงปลายว่าคนร้ายคือใคร ไปจนถึงว่าในยุคแรกของงานแนวสืบสวนนั้นเกิดขึ้นพร้อมๆ กับสังคมเมือง เป็นห้วงเวลาที่เราเกิดความกังวลเมื่อใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางคนแปลกหน้า ตัวละครนักสืบจึงทำหน้าที่รักษาความยุติธรรม และเป็นผู้อ่านค้นหาอาชญากรภายใต้ใบหน้านับพันให้เราได้นั่นเอง
Cozy- ความสัมพันธ์แบบห่างๆ และการเชื่อมต่อของผู้คน
ดังนั้นถ้าเราดูงานแนวโคซี่แบบญี่ปุ่นที่กำลังขึ้นอันดับขายดีโดยวางลงในสายธารวรรณกรรมสืบสวน งานแนวโคซี่ก็ดูจะเป็นพัฒนาการที่ค่อนข้างดึงเอาขนบของงานสืบสวนมาอยู่ในการอ่านผู้คนในชีวิตประจำวัน จากการให้ภาพฆาตกรรมสุดแปลกประหลาดที่ต้องใช้ทักษะและความรู้พิเศษมาสู่เรื่องราวการอ่านเรื่องราวของผู้คนโดยมีความรู้โดยเฉพาะการครัวประกอบกับการช่างสังเกต
เรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่ตัวเรื่องหลักคือการพบปะผู้คนในร้านอาหาร การพูดคุยและรับทราบเรื่องราวของคนแปลกหน้า ไปจนถึงเรื่องย่อยๆ ที่ถูกเล่าต่อ ของเรื่องราวที่บ้าน ความสัมพันธ์แปลกประหลาด ความขัดแย้งและหนทางอันหลากหลายในครอบครัว ทั้งหมดนั้นก็ล้วนเป็นเรื่องที่เราคุ้นเคยกันดีที่ค่อยๆ ถูกอ่านใหม่ในสายตาของคนนอก
ชุดความสัมพันธ์ที่น่าสนใจของงานแนวนี้ – หมายถึงในแกนเรื่องหลัก คือการพูดถึงความสัมพันธ์ของคนแปลกหน้า หลักๆ มักอยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าของร้านและลูกค้า ซึ่งถือเป็นการเลือกชุดความสัมพันธ์ที่น่าสนใจ คือเหมือนว่าเรื่องราวปัญหาที่ดูสามัญนั้นค่อยๆ ถูกอ่านโดย ‘คนอื่น’ ที่จะไกลก็ไม่ไกล ใกล้ก็ไม่ใกล้ รู้จักกันก็ไม่เชิง อาจจะเคยเจอกันทุกสองสามวันหรือทุกสัปดาห์ ไม่เคยคุยกัน แต่เฝ้ามองพฤติกรรม(โดยหน้าที่ของการบริการ)
ดังนั้น ในบริบทของวรรณกรรมและสังคมญี่ปุ่น- ซึ่งก็เป็นสังคมเมืองคล้ายๆ กับคนไทย การวาดภาพความสัมพันธ์แบบคนแปลกหน้าในบรรยากาศร้านอาหารอันอบอุ่นนี้จึงอาจจะสะท้อนความปรารถนาที่จะเชื่อมต่อกับคนอื่นในเมืองใหญ่อันโดดเดี่ยว งานแนวโคซี่กำลังสร้างพื้นที่ร้านอาหารและคาเฟ่ให้เป็นพื้นที่พิเศษในพื้นเมืองอันชืดชาและเย็นเยียบ
แต่ในคาเฟ่นั้น นอกจากจะมีกาแฟและอาหารอันอบอุ่นแล้ว ในพื้นที่ยังอบอวลไปด้วยเรื่องเล่า ที่แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล่ากันกระจัดกระจายของคนแปลกหน้า แต่เรื่องเล่าเหล่านั้นกลับสามารถเชื่อมโยงต่อกันได้ แลกเปลี่ยนและทบทวนชีวิตซึ่งกันและกันได้ ทำให้เมืองอันเงียบเหงาได้มีเสียงและตัวตนของผู้คนได้ปรากฏขึ้น
Culinary- อาหารการครัว และเรื่องเล่าของผู้หญิง
ประเด็นเรื่องอาหาร การกินอาหาร การทำอาหารและร้านอาหาร ดูจะเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของงานจากญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรมหรือซีรีส์ พื้นที่ครัว การกินอาหาร ไปจนถึงร้านอาหารกลายเป็นพื้นที่สำคัญในการสร้างความสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนเรื่องเล่าของผู้คน
ในวรรณกรรมร่วมสมัยเช่นงานของ โยชิโมโต บานานา นักเขียนหญิงที่ให้ภาพความสัมพันธ์อันแปลกประหลาด การใช้ชีวิตอย่างเดียวดายในเมืองใหญ่ ในเรื่องก็มักจะพูดถึงครัวและอาหารในฐานะความอบอุ่นหนึ่ง ในทำนองเดียวกันซึ่งค่อนข้างคล้ายกับแนวโคซี่มากๆ คือการ์ตูนและซีรีส์ที่พูดถึงพื้นที่ร้านอาหารในฐานะพื้นที่แห่งเรื่องเล่าของผู้คน เรามีทั้งร้านเถ้าแก่ของคนหากินกลางคืนใน Midnight Diner ร้านอิซากายะของสองสาวที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวเล็กๆ ในครัวเรือนและชุมชน เหล่านักกินที่แสวงหาอาหารอร่อยทั้งก่อนและหลังเกษียณเพื่อมองหาความหมายในชีวิต
นอกจากนี้พื้นที่ครัว และเรื่องเล่าตัวละครหลักในงานแนวโคซี่มักจะเป็นผู้หญิง เป็นงานของนักเขียนหญิง และตัวเรื่องเองก็กำลังพูดถึงการต่อสู้ดิ้นรนของผู้หญิง- โดยเฉพาะในบริบทสังคมญี่ปุ่นที่เป็นโลกของผู้ชาย ในเรื่องราวอบอุ่นที่ ‘ดูสบายๆ’ ตามชื่อแนว รวมถึงฉากหลักของเรื่องที่มักจะเป็นร้านข้าว ร้านขนมที่อบอุ่น อันที่จริงเรื่องราวทั้งหมดนี้ล้วนเล่าและกำลังแฝงการต่อสู้ดิ้นรนและปัญหาของผู้หญิงที่กำลังเดินอยู่ในเมืองใหญ่อยู่เท่าๆ กัน
เช่นแกนเรื่องหลักของเรื่อง เราก็จะเห็นความพยายามในการใช้ชีวิตของผู้หญิง ที่แน่นอนมักจะไม่ใช่ผู้หญิงที่เติบโตตามขนบคือแต่งงานมีลูก แต่มักเป็นผู้หญิงโสดที่ไม่ได้เลือกใช้เส้นทางอาชีพการเป็นพนักงานหรือวิชาชีพอื่นๆ แต่เลือกตามความฝันในการมีร้านอาหารของตัวเอง บางเรื่องว่าด้วยผู้หญิงที่เข้าสู่วัยรุ่นและเข้าทำงานในร้านต่างๆ เพื่อทำมาหากินและเลี้ยงชีพตัวเอง
ในบรรดาเรื่องราวเหล่านี้ เราจะเห็นปมขัดแย้งมากมายของผู้หญิงที่เกิดขึ้นจากบริบทสังคม การถูกกดดันเรื่องการใช้ชีวิต การแต่งงาน ความสำเร็จ ประเด็นเรื่องร่างกาย การถูกบังคับเรื่องความงาม ความผอม ไปจนถึงเรื่องย่อยๆ ที่ถูกเล่าของตัวละครอื่นๆ ที่มักจะว่าด้วยปัญหาครอบครัว การเลือกเส้นทางการใช้ชีวิต – ซึ่งพื้นที่ร้านอาหารและคาเฟ่จึงกลายเป็นพื้นที่พักใจของผู้หญิง – คล้ายๆ กับห้องน้ำชาอันเป็นพื้นที่ของผู้หญิงในศตวรรษที่ 18-19 ทั้งห้องน้ำชาและคาเฟนี้แม้ว่าจะผ่านมาร้อยปีก็ดูจะยังเป็นพื้นที่ที่ให้พลังกับผู้หญิงด้วยกัน
จึงไม่แปลก – ที่พอพูดแล้วอาจจะฟังดูแปลก คือในวันสบายๆ เราเลือกที่จะหยิบเรื่องราวที่เล่าอยู่ในคาเฟ่ นั่งอ่านอยู่ในร้านกาแฟ บางครั้งก็เหลือบตาขึ้นมามองผู้คนขวักไขว่ สบตากับเจ้าของร้าน และอาจสงสัยว่าในคนแปลกหน้าที่รายล้อมเราอยู่นี้ ชีวิตของพวกเขาเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเรื่องเล่าที่ล่องลอยอยู่ใต้แสงไฟอ่อนนุ่มนั้น ก็ล้วนเป็นเรื่องที่เราเองเข้าใจได้ และบางครั้งต้องมองสายตาคนอื่น ที่อาจทำให้เราเข้าใจชีวิตและปัญหาของเราดีขึ้นบ้าง
ด้วยทั้งหมดนี้ จากความอบอุ่น เรียบง่าย แต่ก็มีอะไรแอบแฝงอยู่ การบอกเล่าเรื่องราวชีวิตในเมืองใหญ่ ความสัมพันธ์ของผู้คน เสียงของผู้หญิง เรื่องราวที่ซุกซ่อนด้วยกลวิธีการเล่าเรื่องอันค่อยๆ คลี่คลายไขปมแบบงานแนวสืบสวน และแน่นอนกลิ่นกรุ่นของกาแฟและรสชาติของอาหาร คงจะเป็นเหตุผลที่เรานั่งอยู่ในร้านแฟ จิบกาแฟไป มองความเป็นไปที่คล้ายกับเรื่องราวในหนังสือ
อ้างอิงข้อมูลจาก