เศก ดุสิต หรือ เริงชัย ประภาษานนท์ เพิ่งได้รับยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2562 นั่นชวนให้นึกถึงผลงานประพันธ์อันลือลั่นของเขาอย่าง ‘อินทรีแดง’
ครับ ผมเองเคยชื่นชอบสวมหน้ากากวีรบุรุษนามดังกล่าวเนืองๆ มิหนำซ้ำ ยังสนใจและหมั่นศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับตัวละครสวมหน้ากากในวรรณกรรมสม่ำเสมอ จึงเล็งเห็นว่าห้วงยามนี้เหมาะเจาะยิ่งนักที่จะลองนำเสนอความเป็นมาของการสร้างตัวละครประเภท ‘ฮีโร่’ สวมหน้ากากผ่านสื่อบันเทิงในสังคมไทย
อินทรีแดง เป็นอาชญนิยายขายดีช่วงปลายทศวรรษ 2490 เริงชัย ประภาษานนท์เริ่มต้นเขียนเมื่อ พ.ศ. 2498 อาศัยนามปากกา ‘เศก ดุสิต’ ซึ่งเจ้าตัวเคยให้เหตุผลว่า “ตอนนั้นเค้ากำลังนิยมชื่อพยางค์เดียวโดดๆ เราคนดุสิต เลยเอา ‘เศก’ ไว้ข้างหน้า ชื่อพระเอกก็คำเดียว อย่าง คมน์ พยัคฆราช, โรม ฤทธิไกร อะไรพวกนี้แหละ คนอ่านก็ชอบ ขอให้เขียนยาวๆ เมื่อจบเรื่องนี้แล้วก็มีเรื่องใหม่แต่พระเอกคนเก่า…กลายเป็นเรื่องชุดไปเลย”
เศก ดุสิตเขียนนวนิยายชุด อินทรีแดง ออกมาหลายเล่ม ตั้งชื่อเรื่องแตกต่างกันไป เพราะยุคนั้นยังไม่นิยมใช้เล่ม 1 เล่ม 2 ก็เปลี่ยนชื่อใหม่ทุกๆ เล่มจนกว่าจะครบชุด อย่างหกเล่มแรกตั้งตามเหตุการณ์และพฤติกรรมสำคัญในท้องเรื่อง ได้แก่ อินทรีแดง, เล็บมังกร, กุหลาบดำ, ชาติทมิฬ, มัจจุราชคำรณ และ มังกรกระเจิง (ตอนนำมาจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2505 ได้ใช้ชื่อชุดว่า มังกรขาว) ยังมีตอนอื่นๆ ที่ทยอยเขียนภายหลังอีก เช่น พรายมหากาฬ, จ้าวนักเลง, ทับสมิงคลา, อวสานอินทรีแดง, อินทรีคืนรัง (อินทรีทอง), มนุษย์ซาตาน, ตุ๊กตาเริงระบำ และ ปีศาจดำ แท้จริง เศก ดุสิตได้ลองเปลี่ยนไปเขียนเรื่องบู๊แบบอื่นบ้าง แต่ก็ต้องกลับมาเขียนชุด อินทรีแดง เนื่องจากเสียงเรียกร้องของนักอ่าน
อาชญนิยายชุด อินทรีแดง ถ่ายทอดเรื่องราวของ ‘โรม ฤทธิไกร’ ชายหนุ่มผู้มีเบื้องหน้าคือนักธุรกิจเจ้าสำราญมาดสำรวย แต่งกายสำอาง ท่าทางเจ้าชู้ หากเบื้องหลังเขาคือผู้ผดุงความยุติธรรมที่ออกต่อสู้กับอาชญากร ไม่มัวรีรอให้กระบวนการยุติธรรมหรือเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาจัดการ โรมอำพรางรูปโฉมตนด้วยการสวมชุดเสื้อกางเกงสีดำ มีซิปเปิดตรงหน้าอก สวมถุงถือมือสีดำและรองเท้าสีดำ บริเวณดวงหน้าสวมหน้ากากรูปหัวนกอินทรีสีแดง พร้อมทั้งคาดสายเข็มขัดหนังที่มีหัวเข็มขัดเป็นรูปอินทรีสีแดง ใครๆ เลยเรียกขานเขาว่า ‘อินทรีแดง’
อินทรีแดง ได้ถูกนำมาสร้างภาพยนตร์เมื่อออกฉายในปี พ.ศ.2502 นำแสดงโดย มิตร ชัยบัญชา พระเอกคนดัง ตอนนั้น มิตรเป็นนักแสดงหน้าใหม่ อายุราวๆ 23 ปี เพิ่งเล่นหนังเรื่องแรกในชีวิตคือ ‘ชาติเสือ’ จากบทประพันธ์ของ ‘อรวรรณ’ หรือ เลียว ศรีเสวก มาเพียงเรื่องเดียว ความที่หน้าตาหล่อเหลาและรูปร่างบึกบึนสูงใหญ่ แลดูสง่าผ่าเผย เศก ดุสิต จึงอยากให้มิตรสวมบทบาท ‘โรม ฤทธิไกร’ ในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากผลงานหนังสือของตน เพราะมิตรมีบุคลิกท่าทางตรงกับตัวละครในบทประพันธ์ แม้มิตรตัวจริงจะดูเรียบร้อย ขี้อาย ไม่ดื่มเหล้าสูบบุหรี่เฉกเช่นโรมก็ตามที
ยินเสียงเล่าอีกว่า มิตรเองก็อยากรับบทบาทอินทรีแดง เขาได้อ่านนวนิยายของเศก ดุสิตที่บ้านของ รังสรรค์ ตันติวงศ์ ผู้อำนวยการสร้าง ชาติเสือ แล้วชอบใจพร้อมทั้งปรารถนาจะเป็นพระเอกเรื่องนี้ รังสรรค์จึงพามิตรไปเจอกับเจ้าของบทประพันธ์
ภาพยนตร์เรื่องแรกที่สร้างขึ้นจากชุด อินทรีแดง ออกฉายในชื่อ ‘จ้าวนักเลง’ มิตร ชัยบัญชาแสดงคู่นางเอกนาม อมรา อัศวนนท์ สามารถทำรายได้เกินกว่า 1 ล้านบาท ส่งผลให้มิตรโด่งดังกลายเป็นพระเอกซุปเปอร์สตาร์ทันที หนังเรื่องนี้ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเอาชื่อดารานำชายมาวางไว้ก่อนชื่อดารานำหญิง ซึ่งเดิมที การโฆษณาหนังนิยมเอาชื่อดารานำหญิงขึ้นก่อน
ภาพลักษณ์อินทรีแดงยึดโยงอยู่กับบทบาทของมิตร ชัยบัญชาเสมอๆ
เขาจะเก็บรักษาชุดอินทรีแดงไว้ด้วยตนเองตลอด เสมือนว่าภูมิใจและผูกพันแน่นแฟ้นกับตัวละครนี้ มิตรแสดงเป็น ‘โรม ฤทธิไกร’ ในภาพยนตร์ชุด อินทรีแดง ทุกตอนนับแต่ต้นทศวรรษ 2500 จวบจนต้นทศวรรษ 2510 ไม่ว่าจะเป็น ทับสมิงคลา, อวสานอินทรีแดง, ปีศาจดำ, และ จ้าวอินทรี มิเว้นกระทั่งเรื่องสุดท้ายที่เขาเล่นหนังอย่าง อินทรีทอง ซึ่งมิตรประสบอุบัติเหตุตกจากบันไดเชือกเฮลิคอปเตอร์จนเสียชีวิตขณะถ่ายทำเมื่อปี พ.ศ. 2513
มีการอ้างอิงกันว่า เศก ดุสิตได้แรงบันดาลใจในการสร้างตัวละคร ‘อินทรีแดง’ มาจากภาพยนตร์ฝรั่งเรื่อง ‘Captain Lightfoot’ ที่ออกฉายปี ค.ศ. 1955 นำแสดงโดย ร็อค ฮัตสัน (Rock Hudson) เนื้อหาเล่าถึง ‘ฮีโร่’ ชาวไอริชผู้เปี่ยมอุดมการณ์และคุณธรรม เขาหาญกล้าต่อสู้กับพวกทหารอังกฤษช่วงต้นทศวรรษที่ 19 โดยตอนออกไปสู้จะสวมหน้ากากสีแดง เศก ดุสิตได้นำเอามาดัดแปลงให้ ‘ฮีโร่’ ของตนสวมหน้ากากรูปนกอินทรี ทั้งๆที่ตอนแรกเคยคิดจะให้สวมหน้ากากสิงโตบ้าง หน้ากากครุฑบ้าง แต่พอตรองดูก็คิดว่าไม่เหมาะสม
ราเชล แฮร์ริสัน (Rachel V. Harrison) นักวิชาการฝรั่งผู้สนใจวรรณกรรมไทยเสนอไว้ในบทความ ‘The Man with the Golden Gauntlets: Mit Chaibancha’s Insi thorng and the Hybridization of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema’ ว่าตัวละคร ‘โรม ฤทธิไกร’ ในเรื่อง อินทรีแดง คล้ายคลึงกับตัวละครฮีโร่ทางฝั่งอังกฤษและสหรัฐอเมริกา และที่คล้ายคลึงมากๆ ได้แก่ ตัวละคร Britt Reid ในเรื่อง ‘The Green Hornet’ กล่าวคือ Reid เป็นหนุ่มนักธุรกิจเพลย์บอย ผู้รั้งตำแหน่งประธานบริษัทและเจ้าของหนังสือพิมพ์ Daily Sentinel แต่เขาจะออกผดุงความยุติธรรมในสังคมด้วยการปลอมแปลงกายและสวมหน้ากาก
เดิมที The Green Hornet เผยแพร่รูปแบบละครวิทยุในสหรัฐอเมริกา แล้วนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์ออกเผยแพร่ช่วงปี ค.ศ.1966-1967 ราเชลยังเสนออีกว่า อินทรีแดง อาจได้รับอิทธิพลจากตัวละครในนวนิยายของนักประพันธ์ไทยอย่าง ป.อินทรปาลิต และตัวละครสวมหน้ากากในภาพยนตร์เรื่อง ‘เห่าดง’ ที่ออกฉายปลายปี พ.ศ.2501 นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน (เป็นหนังเรื่องแรกที่ไชยาแสดง) และ อมรา อัศวนนท์ สำหรับ เห่าดง เป็นนวนิยายของ ‘พนมเทียน’ หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ซึ่งเขียนขึ้นตั้งแต่สมัยยังเรียนชั้นมัธยมในทศวรรษ 2480 แต่มาตีพิมพ์ลงนิตยสารต้นทศวรรษ 2490 และมีกระแสตอบรับจากนักอ่านเกรียวกราว
อันที่จริง ภาพยนตร์ที่มีตัวละครสวมหน้ากากช่วงต้นทศวรรษ 2500 ยังมีเรื่อง ‘พรายดำ’ ที่นำแสดงโดย ลือชัย นฤนาท และเรื่อง ‘ไอ้แมวดำ’ ที่นางเอกคือ ‘ฮีโร่’ สวมหน้ากาก กระทั่งเรื่อง ‘เหยี่ยวราตรี’ ที่ในรูปแบบภาพยนตร์อาจจะออกฉายช้ากว่าอินทรีแดง เลยไม่โด่งดังเทียบเท่า แต่ในรูปแบบนวนิยายที่เป็นผลงานประพันธ์ของ ‘ส.เนาวราช’ หรือ สนิท โกศะรถ นั้น ขายดิบขายดี โด่งดังสนั่นบรรณพิภพ ถ้าเรื่อง อินทรีแดง มีตัวละครขวัญใจนักอ่านเยี่ยง ‘โรม ฤทธิไกร’ ในเรื่อง เหยี่ยวราตรี ก็มี แมน ดำเกิงเดช เศรษฐีหนุ่มนักเปียนโน สันทัดการบรรเลงเพลงคลาสสิคของโมสาร์ตและโชแปง อาจมีบุคลิกภายนอกดูติ๊งต๊องหน่อยๆ ครั้นตอนกลางคืน เขากลับสวมหน้ากากออกปราบปรามวายร้ายทรชนอย่างปราดเปรียวและเฉลียวฉลาด
วรรณกรรมที่ตัวละครสวมหน้ากากนั้น สุชาติ สวัสดิ์ศรี เคยเสนอไว้ในข้อเขียน ‘ประวัติศาสตร์ส่วนตัว ชีวิตการอ่านช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น’ ว่า การสวมหน้ากากให้ตัวละครได้ปรากฏในหนังสือเรื่อง ผู้ร้ายผู้ดี ผลงานแปลของผู้ใช้นามปากกา ‘มาคสิร’ หรือ สมัคร เสาวรส โดยเป็นตัวละครที่สวมหน้ากากเป็นผู้ร้าย ขณะตัวละครพระเอกที่สวมหน้ากากเพิ่งมาเริ่มต้นในงานเขียนเรื่อง เหยี่ยวราตรี ของ ส.เนาวราช และ อินทรีแดง ของเศก ดุสิต อย่างไรก็ดี ตัวละครสวมหน้ากากเคยมีมาก่อนในนวนิยายไทยรุ่นบุกเบิกผ่านฝีมือการเขียนของหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์ ผู้แต่งเพลงชาติไทยที่เราใช้ร้องกันในปัจจุบัน) อย่างเช่น แพรดำ, หน้าผี และ มือมืด ช่วงต้นทศวรรษ 2470 ซึ่งสุชาติตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะมีต้นแบบมาจากเรื่อง The Phantom of the Opera
ผมเองเคยอ่านนวนิยายซีเรียลของหลวงสารานุประพันธ์ ทั้ง แพรดำ, หน้าผี และ มือมืด ลำดับแรกคงต้องขอชี้แจงว่างานเขียนเรื่อง แพรดำ และ หน้าผี ตีพิมพ์ในนิตยสาร เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์ มาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2460 แล้ว (พ.ศ. 2465-2467) และก็จริงอยู่ว่าเป็นนวนิยายแนวสืบสวนที่ตัวละครอำพรางหน้าตาของตนเพื่อไปก่อเหตุระทึกขวัญ ซึ่งบุคคลลึกลับหรือพวกจารชนได้สวมคลุมผ้าแพรสีดำปกปิดใบหน้า หรือสวมชุดผีโครงกระดูกและสวมหน้ากากผี แต่พฤติการณ์ของตัวละครน่าจะเข้าข่ายตัวร้ายเสียมากกว่า และจะเป็นผู้แย่งชิงเอาสิ่งของสำคัญที่ตัวละครฝ่ายดีเก็บรักษาไว้จนพระเอกต้องไปตามเอาคืนมา อย่างเช่น กรณีแย่งชิงตลับเงินในเรื่อง แพรดำ หรือกรณีแย่งชิงสร้อยคอ ในเรื่อง หน้าผี นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว ผมใคร่จะแนะนำเรื่อง ขาวทะโทน ผลงานของ ม.จารูญนาม ซึ่งลงพิมพ์เป็นตอนๆ ในนิตยสาร สมานมิตรบรรเทอง ปลายปี พ.ศ.2469 ด้วย เสน่ห์อย่างหนึ่งของอาชญนิยายซีเรียลเหล่านี้ก็คือ การเชิญชวนผู้อ่านลองส่งจดหมายมาทายปัญหาว่าตัวละครลึกลับน่าจะเป็นใครกันแน่ ราวกับให้ผู้อ่านได้ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ประหลาดตามท้องเรื่องไปพร้อมๆ กัน
ทศวรรษ 2460 และทศวรรษ 2470 นับเป็นช่วงเวลาที่ปรากฏการนำเสนอวรรณกรรมประเภทอาชญนิยายซึ่งจะตัวละครต้องอำพรางรูปโฉมเพื่อปฏิบัติภารกิจลึกลับอย่างแพร่หลาย ขณะเดียวกันก็เริ่มมีการพยายามสร้างตัวละคร ‘ฮีโร่’ ที่จะมาต่อสู้กับตัวร้ายแบบจารชนขึ้นพร้อมๆ กัน สอดคล้องกับข้อมูลที่ เค็นเน็ธ เพอร์รี่ แลนดอน (Kenneth Perry Landon) ระบุว่า ชายหนุ่มชาวสยามช่วงทศวรรษ 1930 ลุ่มหลงในตัวละคร ‘ฮีโร่’ ในภาพยนตร์ฮอลลีวูดที่เข้าฉายในเมืองไทย ตัวละคร ‘ท้าวมิก’ ก็เป็นชื่อหนึ่งที่มักถูกพาดพิง กระทั่งว่าเคยมีโจรที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมได้สารภาพว่าเขาเลียนแบบวิธีการมาจากตัวละครในหนังฝรั่ง
ในทัศนะของผม จุดเปลี่ยนสำคัญที่ตัวละครลึกลับอำพรางโฉมของตนเพื่อปฏิบัติภารกิจพิเศษ หรือจะพูดง่ายๆว่าจำพวกตัวละครสวมหน้ากากปกปิดตัวตน ได้แปรภาพลักษณ์จากเดิมที่มักเป็นตัวร้ายมาเป็นตัวพระเอกในวรรณกรรมนั้น น่าจะเริ่มเกิดขึ้นจริงจังในทศวรรษ 2480 โดยเฉพาะช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 อันเป็นยุคสมัยที่ ‘จารชน’ ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่เพื่อชาติเช่นกัน ไม่ใช่บุคคลร้ายกาจ และเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่นักอ่านนิยมชมชอบตัวละครแบบนี้ ก็เพราะลึกๆ แล้ว พวกเขากำลังหมดความศรัทธาต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทางการ จึงรู้สึกโหยหา ‘ฮีโร่’ แบบลึกลับมาช่วยเหลือคนในสังคมอีกแรง แน่นอนว่า อินทรีแดง ย่อมก่อตัวขึ้นมาจากบริบททำนองนี้เช่นกัน
ความผาดโผนของตัวละครวีรบุรุษสวมหน้ากากในสื่อบันเทิงต่างๆ นับแต่ทศวรรษ 2490 จนถึงทศวรรษ 2500 มองเผินๆ อาจดูเป็นแนวเรื่องล้าสมัยของปัจจุบัน แต่ก็ใช่จะสูญหายไปตามกาลเวลาปลิดปลิว โดยเฉพาะเรื่อง อินทรีแดง ดูเหมือนจะมีความอมตะจนถูกนำมาผลิตซ้ำนำเสนอสู่สายตาสาธารณชนบ่อยหน และทุกๆ ครั้งก็ได้รับความนิยมมิเสื่อมคลายเลยทีเดียว
นั่นคงสะท้อนว่าสังคมไทยยังรอคอย ‘ฮีโร่’ อยู่กระนั้นหรือ?
เอกสารอ้างอิง
คริส สารคาม. นักเขียนในอดีต. กรุงเทพฯ : แสงดาว, 2542
ณรงค์ จันทร์เรือง. เย็นน้ำหมึก. กรุงเทพฯ : มติชน, 2554
พนมเทียน. เห่าดง. กรุงเทพ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2556
ม.จารูญนาม. ‘ขาวทะโมน’. สมานมิตรบรรเทอง. 1(5), (15 กันยายน 2469)
วีระยศ สำราญสุขทิวาเวทย์. หนังกับหนังสือ. กรุงเทพฯ: ห้องสมุด, 2552
เศก ดุสิต. อินทรีแดง เล่ม 1-4. กรุงเทพ : ณ บ้านวรรณกรรม, 2539
สมัคร เสาวรส. ผู้ร้ายผู้ดี. พระนคร : ผดุงศึกษา, 2508
สมิทธิ์ ถนอมศาสนะ. ‘ดาบศักดิ์เหล็กน้ำพี้ แพรดำ หน้าผี: จินตนาการ “ชาติ” ในนวนิยายช่วงทศวรรษ
2460’. วารสารมนุษยศาสตร์ ฉบับบัณฑิตศึกษา มหาวิทยาลัยรามคำแหง. ปี 6 ฉ. 1
(มกราคม-มิถุนายน 2561)
สารานุประพันธ์, หลวง. ‘หน้าผี.’ เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์. 8(2)-8(9), (2466-2467)
สารานุประพันธ์, หลวง. แพรดำ. เสนาศึกษาและแผ่วิทยาศาสตร์. 6(12),(มกราคม 2465)
สุชาติ สวัสดิ์ศรี. ‘ประวัติศาสตร์ส่วนตัว ชีวิตการอ่านช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น’ ใน ด้วยรัก เล่มที่ 5
ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม. ฉัตรทิพย์ นาถสุภา บรรณาธิการ.กรุงเทพฯ: บริษัท สำนักพิมพ์
สร้างสรรค์ จำกัด, 2556
ส. เนาวราช. เหยี่ยวราตรี. พระนคร : บางกอก, 2500
Landon, Kenneth Perry. Siam in Transition: A Brief Survey of Cultural Trends in the Five
Years Since the Revolution of 1932. London, Oxford University Press, 1939
Harrison, Rachel. ‘The man with the golden gauntlets: Mit Chaibancha’s Insi Thorng and the
hybridization of red and yellow perils in Thai Cold War action cinema.’ in Day, T.(ed.).
Cultures at War: The Cold War and Cultural Expression in Southeast Asia. Ithaca,
N.Y.: Southeast Asia Program, Cornell University, 2010. pp. 195-226